หวังหารือวิษณุ แก้รัฐธรรมนูญ หวั่นใช้หมื่นล.

“ภูมิธรรม” บอกอยู่ระหว่างทาบทามทีมทำประชามติ-แก้รัฐธรรมนูญ  รับอยากคุย “วิษณุ” เพราะเป็นกูรูกฎหมาย แบ่งรับแบ่งสู้ทาบคนก้าวไกล ชี้โควตาไม่ควรเกิน 30 เก้าอี้ เดี๋ยวอุ้ยอ้ายไป อยากทำประชามติน้อยที่สุด เพราะหากทำ 3-4 ครั้งใช้งบกว่าหมื่นล้าน  “ประธานสภาสูง” เห็นด้วย แต่ยกตัวอย่างมะกันแก้รายมาตรา

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นายภูมิธรรม​ เวชยชัย​ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ว่า จะพูดคุยกันภายใน 1-​2 สัปดาห์ เพื่อให้การตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเรียบร้อย​ ส่วนไทม์ไลน์การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ขอให้นัดประชุมในครั้งแรกก่อน ซึ่งจะได้เห็นไทม์ไลน์​ วัตถุประสงค์​ ขอบเขต เป้าหมาย​ รวมถึงการร่างกฎหมายลูกต่างๆ​

“ผมหวังว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น สมมุติว่ารัฐบาลครบ 4 ปี ผมอยากเห็นการเลือกตั้งครั้งหน้า มีกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ และมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ให้สำเร็จ เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง” นายภูมิธรรมระบุ

นายภูมิธรรมยังกล่าวอีกว่า ได้ทาบทามผู้ที่มาร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยพูดคุยทั้งนายเอกชัย ไชยนุวัติ​ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ​ มหาวิทยาลัยสยาม, น.ส.สิริพรรณ นกสวน​ สวัสดี​ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายนิกร​ จำนง​ ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคชาติไทยพัฒนา​ ซึ่งบุคคลเหล่านี้สนใจ แต่ต้องพูดคุยในรายละเอียด เพื่อให้ทุกคนที่เข้ามาร่วมเกิดความสบายใจ ส่วนนายพงศ์เทพ​ เทพกาญจนา อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค​เพื่อไทย​ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทาบทาม

เมื่อถามว่า จะทาบทามนายวิษณุ​ เครืองาม​ อดีตรองนายกรัฐมนตรีหรือไม่  นายภูมิธรรมระบุว่า นายวิษณุ​ยังไม่มีโอกาสได้คุย แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากคุยเพราะเป็นผู้รู้ เป็นคนที่เชี่ยวชาญในกฎหมาย รวมถึงทั้งหลายท่านที่เคยมีบทบาท เราจะได้เอาความคิดเห็น ส่วนจะเชิญคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 มาร่วมด้วยหรือไม่นั้น ยินดีต้อนรับทุกคน แต่ต้องคุยกันในรายละเอียดและกรอบแนวทางว่าเป็นอย่างไร

ถามต่อว่า ได้ทาบทามตัวแทนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เข้าร่วมหรือไม่ นายภูมิธรรมระบุว่า พรรคการเมืองพยายามเชิญมาร่วมให้มากที่สุด แต่เรามีข้อจำกัดเรื่องปริมาณจำนวนคน เมื่อลิสต์รายชื่อก็เกิน 30 คน ใหญ่มากเกินไปก็ทำงานลำบาก แต่ถ้าไม่ได้เป็นคณะกรรมการก็เข้ามามีส่วนร่วม พบปะพูดคุยแสดงความคิดเห็น

เมื่อถามถึงงบประมาณในการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและประชามติรวมแล้วประมาณเท่าใด นายภูมิธรรมกล่าวว่า การทำประชามติตามศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประมาณ 3-4 ครั้ง จะใช้งบประมาณครั้งละประมาณ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ในแนวทางที่พูดคุยกันให้ชัดเจน แต่พยายามจะทำให้การทำประชามติน้อยครั้งที่สุด เพราะหากทำครบ 3-4 ครั้งตามที่ศาลวินิจฉัยจะใช้งบประมาณสูงถึงหมื่นล้านบาท

ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวในเรื่องนี้ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและ สส.เป็นหลัก ส่วน สว.ไม่มีอะไรขัดข้องในการดำเนินการร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ สว.ก็มีบางประเด็นที่ต้องเสนอให้แก้ไข แต่ต้องฟังรัฐบาลก่อน ถ้ารัฐบาลเห็นอย่างไรก็คงมีความเห็นในแนวทางนั้น ส่วนรูปแบบจะทำอย่างไร จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล

เมื่อถามว่า ดูเหมือนจะมีการรื้อทั้งฉบับ นายพรเพชรกล่าวว่า ยังไม่ทราบ อยู่ที่นโยบายของรัฐบาล อะไรที่จำเป็นเร่งด่วน หรืออะไรที่เห็นว่าควรต้องทำอย่างยิ่ง ก็ทำก่อน ทำได้ในหลายอย่าง คราวที่แล้วก็แก้มา แต่แก้น้อยไปหน่อย เพียงเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง ส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์การตั้งคณะกรรมการขึ้น ถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลาหรือไม่นั้น เรื่องนี้วิเคราะห์ไม่ได้

 เมื่อถามว่า สว.ที่จะเสนอเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง นายพรเพชรกล่าวว่า เกี่ยวกับองค์ประกอบในการสรรหาองค์กรอิสระ เพื่อให้แยกกันให้ชัดเจนว่าองค์กรอิสระจะดำเนินการสรรหาเป็นอย่างไร ส่วน สว.จะพิจารณาเฉพาะการตรวจสอบประวัติและความประพฤติในทางจริยธรรมของผู้ที่ได้รับการสรรหา ทำให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการบาลานซ์ก่อนที่จะมีความเห็นชอบจาก สว.

“เมื่อรัฐธรรมนูญใช้มาระยะหนึ่งก็ควรแก้ไข ฝ่าย สส.อาจจะมีหลายประเด็น และการแก้ไขที่ผมเห็นด้วยเสมอคือหลายประเทศเขาก็แก้ไขโดยไม่ต้องแก้ไขทั้งฉบับ อย่างสหรัฐอเมริกา เขาก็ใช้มาตั้งแต่เกิดปฏิวัติอังกฤษ เขาใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นตลอดมา แต่มีการแก้ไขมาแล้ว 27 ครั้ง” นายพรเพชรกล่าว

นายพรเพชรยังกล่าวถึงวาระ สว.ที่จะอายุครบ 5 ปีในเดือน พ.ค.2567 ว่าเมื่อครบ 5 ปี ก็จะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดย สว.จะทำหน้าที่ต่อไปจนกว่ามี สว.ชุดใหม่ โดย สว.ชุดใหม่จะเข้ามาทำหน้าที่ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการสรรหาตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องทำ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือนในการพิจารณา

วันเดียวกัน นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กถึงการยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีเนื้อหา 5 หน้ากระดาษเอ 4 มีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) \\งบแห่งชิเลือกตั้ง (มีแนวทางที่จะทบทวนประกาศหรือคำสั่งของ คสช. และหัวหน้า คสช.ที่ยังมีผลใช้บังคับในปัจจุบัน ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้ โดยหลักการแล้วย่อมเป็นเรื่องที่ดี และมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่บัญญัติว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวก และสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

“การเลิกดังกล่าวยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 279 วรรคแรก ตอนท้ายที่ระบุว่า การยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี” นายพิชิตระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' จ่อบิน ตรวจบึงบอระเพ็ด แม่น้ำน่าน-เจ้าพระยา จ.สุโขทัย - ชัยนาท 31 ส.ค. นี้

'ภูมิธรรม' เตรียมบิน ตรวจบึงบอระเพ็ด แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมประชุมแนวทางการบริหารจัดการน้ำ จ.สุโขทัย - ชัยนาท 31 ส.ค. นี้

ช่วยนักโทษติดคุกหมด เสรีพิศุทธ์ถอนตัวงัดหลักฐานมัดแก๊งชั้น14/ปชป.มีมติร่วมรบ.

"นายกฯ อิ๊งค์" อารมณ์ดีนัดสื่อให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง 30 ส.ค. "ภูมิธรรม" มั่นใจเสถียรภาพรัฐบาล หลังดึง

“ภูมิธรรม” เคาะ 68 มาตรการ คุมเข้มนำเข้าสินค้าและบริการไม่ได้มาตรฐานและผิดกฎหมายจากต่างประเทศ

“ภูมิธรรม” เคาะ 68 มาตรการ คุมเข้มนำเข้าสินค้าและบริการไม่ได้มาตรฐานและผิดกฎหมายจากต่างประเทศ พร้อมปรับกฎระเบียบรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก