"ผบ.ทร." เตรียมชงข้อมูลเครื่องยนต์จีนใส่เรือดำน้ำให้ "สุทิน" สัปดาห์หน้า มั่นใจปลอดภัยทดแทนเครื่องยนต์เยอรมันได้ เพิ่มรับประกัน 8 ปี เผยเคยหารือเยอรมนีแล้วแต่ไม่สำเร็จ พร้อมเดินหน้ากู้ รล.สุโขทัย จ่อเลือกเอกชนใหม่ ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 21 กันยายน พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงข้อสรุปเรื่องเครื่องยนต์ของจีนที่จะติดตั้งในเรือดำน้ำที่ ทร.ไทยว่าจ้างอู่ต่อเรือจีนในการจัดสร้างว่า ปีที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบข้อมูลที่จีนนำเสนอ รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อมูลและเครื่องยนต์ และได้ยื่นข้อเสนอในการรับประกันเครื่องยนต์ดังกล่าว ล่าสุดกองทัพเรือจีนได้เสนอมาที่กองทัพเรือไทย ควบคู่กับแนวทางพิจารณาแก้ไขข้อตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อที่จะขยายระยะเวลาในการสร้างเรือดำน้ำออกไปอีกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการบริหารโครงการเรือดำน้ำได้เสนอเรื่องขึ้นมาที่กองทัพเรือ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายอำนวยการที่เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาเสร็จ กองทัพเรือก็จะนำเสนอรัฐบาลว่าแนวทางที่จีนนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนเครื่องยนต์ จากเครื่องยนต์ของเยอรมนีเป็นเครื่องยนต์ของจีนนั้นเป็นอย่างไร
“กองทัพเรือเชื่อมั่นว่าข้อมูลที่ได้รับ รวมถึงการตรวจสอบเครื่องยนต์ของจีนที่เป็นเครื่องกำเนิดเครื่องไฟฟ้าของเรือดำน้ำสามารถใช้ทดแทนและเทียบเคียงเครื่องยนต์ของเยอรมันได้ โดยไม่ทำให้เกิดผลเสียในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งาน และไม่ทำให้เสียคุณค่าทางยุทธการ ส่วนเรื่องการรับประกัน จากเดิมตามข้อตกลงเดิมเป็นการรับประกันชิ้นส่วนของเรือน้ำภายหลังส่งมอบเป็นระยะเวลา 2 ปี ก็จะสนับสนุนในการรับประกันเครื่องยนต์ดังกล่าวเป็นระยะเวลา 8 ปีพร้อมอะไหล่ พร้อมเจ้าหน้าที่มาดูแลเครื่องยนต์ที่ประเทศไทย รวมถึงการซ่อมบำรุงในช่วงของ 8 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาในการอัปเกรดเรือดำน้ำตามช่วงระยะเวลา ก็เป็นข้อมูลที่กองทัพเรือจะสรุปและนำเสนอรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหมภายในสัปดาห์หน้า”
พล.ร.อ.เชิงชายกล่าวอีกว่า ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ สภาวะแวดล้อมของโลกและประเทศรอบบ้าน ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีเรือดำน้ำในการรักษาสมดุลของความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค ส่วนการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อโครงการหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องพิจารณาและนำเสนอเข้าพิจารณาในส่วนของครม.และรัฐบาลต่อไป
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีจะเจรจากับทางเยอรมนีนั้น ความจริงกองทัพเรือได้เคยเจรจากับทางการเยอรมนีผ่านทางผู้ช่วยทูตทหารตั้งแต่ทราบปัญหา ซึ่งทางผู้ช่วยทูตทหารเยอรมนีและเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ก็ได้แจ้งข้อมูลนี้ว่า ทางเยอรมนีไม่สามารถขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำตามกฎของการห้ามการส่งออกในกรณีที่สามารถนำไปใช้เป็นอาวุธสงครามให้กับทางการจีนได้
“และกองทัพเรือก็ได้ทราบข้อมูลจากทางกองทัพเรือจีนว่า แม้ปัจจุบันทางเยอรมนีก็ไม่ส่งออกเครื่องยนต์ของเยอรมนีเพื่อติดตั้งในเรือน้ำที่จีนต่อเองด้วย เพราะฉะนั้นโดยสรุปแล้วจีนเองก็ต้องผลิตเครื่องยนต์เพื่อใช้กับเรือดำน้ำของตัวเองในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งจีนมีการพัฒนาเรือน้ำ แล้วก็ต่อเรือดำน้ำอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นในอนาคตจีนก็ต้องใช้เครื่องยนต์ของจีนเองในการติดตั้งกับเรือดำน้ำ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ก็จะอยู่ในข้อพิจารณาเพื่อเสนอกับรัฐมนตรีกลาโหม
เมื่อถามย้ำว่า จะยืนยันกับ ครม.กับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมไปตามที่จะได้ส่งเรื่องขึ้นไปใช่หรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชายกล่าวว่า ก็ยืนยันเป็นข้อมูลให้กับทางรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งตามข้อตกลง ถ้ามีการแก้ไข ข้อตกลงจะต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างเรือดำน้ำเพิ่มเติมอีกประมาณเกือบ 3 ปี เพราะต้องอยู่ในขั้นตอนการผลิตเครื่องยนต์ก่อน แล้วมาติดตั้งกับเรือดำน้ำที่มีการต่อไว้แล้วในระดับหนึ่ง
เมื่อถามถึงท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ดูเหมือนอยากได้เรือดำน้ำของทางเยอรมนี พล.ร.อ.เชิงชายกล่าวว่า ก็ต้องต้องพิจารณาภายหลังจากที่รัฐบาลพิจารณาว่าจะเดินหน้าต่อโครงการเรือดำน้ำของจีน หรือจะเปลี่ยนเป็นโครงการอื่น ซึ่งก็ต้องไปเริ่มพิจารณารายละเอียดกันใหม่ แต่การเริ่มต้นโครงการใหม่ ปัญหาคือเรื่องงบประมาณ เพราะว่าการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นลักษณะจัดหาแบบแพ็กเกจ ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง อย่าลืมว่าการตั้งโครงการเรือดำน้ำเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เราตั้งโครงการเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่าโครงการ 36,000 ล้านบาท เป็นเรือดำน้ำมาตรฐาน ปัจจุบันราคาน่าจะสูงขึ้นกว่าในอดีต และถ้าเป็นการจัดหาเรือดำน้ำทั่วไป ก็จะต้องจัดหาอย่างน้อย 2 ลำ ซึ่งน่าจะใช้งบประมาณมากกว่า 36,000 ล้านบาท การตั้งงบประมาณขนาดนั้น เกรงว่างบเสริมสร้างของกองทัพเรืออาจจะไม่เพียงพอ ถ้าจะต้องตั้งงบประมาณสูงขนาดนั้น
พล.ร.อ.เชิงชายยังกล่าวถึงความคืบหน้าการกู้เรือหลวงสุโขทัยว่า เดิมการกู้เรือได้มีการประมูลยื่นซองมาแล้ว เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.66 ซึ่งบริษัทที่เสนอเข้ามาได้มีการตรวจสอบเอกสารทั้ง 16 บริษัท พบว่าทุกบริษัทส่งเอกสารไม่ครบตามที่กำหนด ทางคณะกรรมการรับซองฯ จึงได้พิจารณายกเลิกการประมูลไปก่อน แล้วกำหนดให้แต่ละบริษัทยื่นซองใหม่ พร้อมแจ้งว่าบริษัทใดขาดเอกสารใดบ้าง เพื่อความเป็นธรรม จากนั้นก็จะมายื่นซองใหม่ ไม่มีการล้มประมูล ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ จึงเป็นเพียงแค่บริษัทที่มาเสนอ เท่าเทียมกันหมด ก็คือยื่นเอกสารไม่ครบ เพราะฉะนั้นเหมือนเริ่มต้นใหม่
"โดยช่วงต้นถึงกลางเดือน ต.ค.66 จะให้ยื่นซองใหม่ ถือเป็นความเท่าเทียม จึงไม่ได้มีการเปลี่ยนหรือล้มประมูลใดๆ ทั้งสิ้น" พล.ร.อ.เชิงชายกล่าว
เมื่อถามว่า จะไม่มีการการล็อกสเปกให้กับบริษัทที่นามสกุลหนุนภักดีใช่หรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชายชี้แจงว่า “ไม่มีหรอกครับ คนนี้แค่นามสกุลพ้องกับว่าที่ ผบ.สส.เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกัน”.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"