"ปดิพัทธ์" หลังพิงระเบียบการคลัง แจงทุกเม็ดทริปยกคณะดูงานสิงคโปร์ จ่อโชว์ใบเสร็จ ลั่นหักส่วนที่เหลือคืนทุกบาท ขณะที่ "เจี๊ยบ อมรรัตน์" จารึกผลงานใหญ่ล่าแม่มดปีใหม่ ลั่นโพสต์ชี้เป้า ไม่ผิด กม. PDPA “พิเชษฐ์” นั่งไม่ติด ปัดผลาญงบ ฟื้นชีพรัฐสภาจังหวัด ชี้ไม่ซ้อนงานศูนย์ดำรงธรรม อนาถหนัก! นักการเมืองไทยแย่งโควตา ปธ.กมธ.ไม่ลงตัว ต้องจับฉลากล้วงไข่
เมื่อวันพุธ เวลา 10.30 น. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 แถลงชี้แจงกรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณ เพื่อไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ว่า งบประมาณที่ได้ตั้งไว้ครั้งแรกก็เป็นไปตามระเบียบการคลัง ในส่วนของค่าใช้จ่ายของรองประธานสภาฯ คนที่ 1 เพราะฉะนั้นกรณีที่หลายคนกังวลว่างบประมาณที่ตั้งไว้นั้นสูงเกินไปหรือไม่ ข้อเท็จจริงคือเป็นการตั้งในตอนที่เรายังไม่ได้มีการจองโรงแรม จองตั๋วเครื่องบินจริง และยังไม่สามารถลงรายละเอียดในทริปได้ เจ้าหน้าที่โครงการจึงตั้งโครงการและงบประมาณตามสิทธิที่อยู่ในระเบียบทุกประการไว้ก่อน ซึ่งค่าใช้จ่ายจริงบางส่วนก็สามารถเปิดเผยได้ในวันนี้ และจะเปิดเผยแบบละเอียดได้เลยในช่วงที่เดินทางกลับมา
นายปดิพัทธ์กล่าวถึงส่วนของงบรับรองที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามากเกินไปหรือไม่ว่า เนื่องจากตอนที่ตั้งงบประมาณไว้ตอนแรก เรายังไม่ทราบโปรแกรมละเอียด ยังไม่ได้มีการหักออก เช่น เมื่อสถานทูตเลี้ยงรับรองเรา เราจะหักส่วนนี้ออกจากเบี้ยเลี้ยงของคณะที่ไป ทำให้จ่ายเบี้ยเลี้ยงไม่เต็ม หรือในกรณีที่เราไปพบปะกับคนงานไทย นักศึกษาไทยในสิงคโปร์ ตนก็ใช้งบรับรองนี้ในการดูแลและรับประทานอาหารง่ายๆ ร่วมกัน หักลบกลบหนี้แค่ไหน เท่าไหร่ อย่างไร ส่งกลับคืนคลังทั้งหมด ทั้งนี้ ตนยินดีที่จะแสดงใบเสร็จทั้งหมดว่าใช้ไปเท่าไหร่ อย่างไรบ้าง
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการล้างท่องบประมาณหรือไม่ เพราะเป็นช่วงปลายงบประมาณ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า งบประมาณที่จัดไว้ประมาณล้านเศษ เทียบกับงบประมาณที่ค้างมีมหาศาล ถ้าจะล้างท่อจริงต้องไปประเทศที่มีค่าใช้จ่ายมากกว่านี้ เราใช้เท่านี้ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเคลียร์ท่อ
เมื่อถามถึงกรณีที่นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ที่ปรึกษารองประธานสภาฯ คนที่ 1 ได้โพสต์ข้อความละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย นายปดิพัทธ์กล่าวว่า เบื้องต้นพบว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจริงๆ แต่เนื่องจากนางอมรัตน์ไม่ใช่ สส. จึงไม่มีการตรวจสอบในสภา เชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะมีกระบวนการด้านจริยธรรมอย่างแน่นอน ส่วนของรองประธาน เราต้องทราบข้อเท็จจริงอื่นๆ จากทางผู้ร้องเรียนและผู้ถูกกล่าวหาด้วย หากพบว่ามีความผิดจริง ก็พร้อมเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนางอมรัตน์ออกจากที่ปรึกษารองประธานสภาฯ
ขณะที่นางอมรัตน์แถลงว่า ขอโทษสิ่งที่เกิดขึ้นในทางสังคม และกฎหมาย ตนเองยินดีน้อมรับถ้าจะมีเรื่องทางกฎหมายต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากอาการเหลือทนที่ถูกกระทำมายาวนาน คิดว่าต้องใช้มาตรการทางสังคมกับบุคคลที่ไม่มีตัวตนด้วย ส่วนตัวมองว่า การเปิดเผยข้อมูลอยู่ในกรอบที่ไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือกฎหมาย PDPA เพราะตนเองไม่ได้บอกชื่อจริง เลขบัตรประชาชน ทะเบียนรถ บ้านเลขที่ และพิกัดหมู่บ้านที่ชัดเจน ฉะนั้นเรื่องนี้ก็ไปว่ากันในชั้นศาล แต่ทางสังคมคือตนเองถูกกระทำจนทนไม่ได้จนต้องปกป้องตัวเอง และมองว่าตนเองเป็นเหยื่อ ที่ถือว่าปกป้องตัวเอง และคิดว่าคุ้มค่า เหมือนเป็นไฟฉายส่องแสงให้เห็นว่าใครเป็นใคร เพื่อป้องปรามไม่ให้คนคนนี้ทำร้ายใครด้วยการโพสต์ เพราะถ้าปล่อยให้อยู่ในมุมมืดก็จะทำไปอีกเรื่อยๆ
ด้านนายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีแนวคิดฟื้นรัฐสภาจังหวัดว่า นายพิเชษฐ์ ได้เสนอแนวคิดดังกล่าวต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ให้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และดูปัญหาอุปสรรคต่างๆ เท่านั้น ต้องรอผลการศึกษา
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 แถลงกรณีที่มีข่าวกล่าวหาว่าเตรียมผลาญงบประมาณในการจัดตั้งรัฐสภาจังหวัดว่า วันนี้เป็นการประชุมนัดแรก เพื่อที่จะฟื้นการจัดตั้งรัฐสภาจังหวัด เพราะต้องการให้ภารกิจรัฐสภาเข้าถึงประชาชน โดยในการประชุมยังไม่ไปถึงไหน ยังไม่มีเรื่องของงบประมาณ ดังนั้นที่ออกมาว่าตนเองจะผลาญงบและเตรียมที่จะคอร์รัปชันนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการจัดตั้งรัฐสภาจังหวัด มีอยู่เดิมแล้วตั้งแต่สมัยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เริ่มไว้ที่ 6 จังหวัด ซึ่งครั้งนั้นไม่มีการทุจริตหรือคอร์รัปชัน แต่เกิดการปฏิวัติเมื่อปี 2549 และถูกสภานิติบัญญิติแห่งชาติ (สนช.) มาประเมินและให้ยุติลง ทั้งนี้ เราเห็นว่าการจัดตั้งรัฐสภาจังหวัดถือว่ามีประโยชน์ โดยจะเริ่มต้นใหม่ในปี 2568 เพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การเข้าชื่อนำเสนอกฎหมายต่างๆ ดังนั้นจากนี้ไปถ้ามีรัฐสภาจังหวัด การเข้าชื่อกฎหมายก็จะง่ายขึ้น
นายพิเชษฐ์กล่าวต่อว่า ส่วน สส.หลายคนที่ไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าจะเป็นการผลาญงบครั้งใหญ่นั้น ต้องชี้แจงให้เข้าใจว่าฝ่ายนิติบัญญัติเตรียมขยับขยายที่จะตอบสนองต่อประชาชนมากขึ้น หลังจากถูกรัฐประหารไปทั้ง 2 ครั้ง เราจึงเริ่มต้นที่จะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น
เมื่อถามว่า ตกลงต้องใช้งบเท่าไหร่ นายพิเชษฐ์กล่าวว่า ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้งบเท่าไหร่ เพราะเป็นการประชุมครั้งแรก หากจะกำหนดก็จะใช้เกณฑ์เดิมใน 6 แห่งที่เคยทำไว้ เพื่อที่จะดำเนินการในจังหวัดต่างๆ ต่อไป
เมื่อถามย้ำว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้งบค่อนข้างเยอะ ถือว่าคุ้มค่าหรือไม่ นายพิเชษฐ์กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีการพิจารณาว่าใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาใช้งบประมาณตามที่รัฐสภาอนุมัติ หากมีการทุจริตก็ต้องมีหลักฐาน มีเพียงการประเมินว่าอาจใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ซึ่งการประเมินของ สนช.ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะปฏิวัติ เพื่อมาประเมิน ซึ่งการประเมินในครั้งนั้นเป็นไปตามอำนาจเผด็จการมากกว่า
ถามว่า มีการมองว่ารัฐสภาจังหวัดอาจจะซ้ำซ้อนกับศูนย์ดำรงธรรม นายพิเชษฐ์กล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อนแน่นอน ซึ่งศูนย์ดำรงธรรมเป็นการรับเรื่องร้องเรียนฝ่ายบริหาร ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภาก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเราตรวจสอบฝ่ายบริหารด้วยซ้ำ ดังนั้นประสิทธิภาพของรัฐสภาหากได้กระจายไปอยู่ภูมิภาคเราก็จะสามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น
วันเดียวกัน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดสรรโควตาประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ 35 คณะ ว่า คาดว่าจะมีข้อยุติก่อนวันที่ 21 ก.ย. อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ามีอีก 3 กมธ.ที่ยังอยู่ระหว่างเจรจา คือ คณะ กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ, คณะ กมธ.แรงงาน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยต้องการ และคณะ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่พรรคเพื่อไทยต้องการ นายปกรณ์วุฒิกล่าวอีกว่า สำหรับโควตาประธาน กมธ.ของพรรคก้าวไกลนั้น หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลเลือกตั้งซ่อม สส.ระยองแล้วเมื่อ 19 ก.ย. ทำให้พรรคต้องได้โควตาเพิ่มอีก 1 คณะ เป็น 11 คณะ อย่างไรก็ดี ไม่จำเป็นต้องคำนวณโควตาใหม่ เพราะตามสัดส่วนแล้วจะทำให้โควตาประธาน กมธ.ของพรรครวมไทยสร้างชาติลดไป 1 ที่นั่ง ดังนั้นใช้การเจรจาระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรครวมไทยสร้างชาติเท่านั้น
ขณะที่นายพิเชษฐ์ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ระบุว่า ในวันที่ 21 ก.ย. เวลา 13.30 น. ตนจะเตรียมกล่องใส่ไข่ 8 ใบ กับกล่องใส่ไข่ 35 ใบ เพื่อแก้ปัญหากรณีที่ตกลงกันไม่ได้ ก็จะให้ตัวแทนพรรคการเมืองจับฉลาก ยืนยันว่า การให้จับฉลากในกล่องถือว่ายุติธรรมที่สุดแล้ว เพราะเราเหลือเวลาทำงานเพียงแค่ 1 เดือน ก่อนจะปิดสมัยประชุม ดังนั้นต้องเร่งให้การเลือก กมธ.จบในวันที่ 27 ก.ย. เพื่อประชุม กมธ.นัดแรก ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ ซึ่งจะเหลือการประชุม กมธ.อีก 4 นัด หลังจากนั้น สส.จะได้ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่ปิดสมัยประชุม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ