“ชาดา” ปัดปราบผู้มีอิทธิผล 6 เดือนไม่สำเร็จจะพิจารณาตัวเอง แต่ 6 เดือนจะเริ่มเห็นผล-เข้มข้นขึ้น หลังนับ 1 ตั้ง คกก.แล้ว ลั่นไม่หนักใจ ตำรวจกองปราบฯ ตั้งอัยการเป็นที่ปรึกษาข้อกฎหมายเอาผิด ม.157 ตร. 13 นาย คาดสัปดาห์ชัดเจน พร้อมส่งเรื่องศาลทุจริตภาค 7 นำ 6 ตร.ขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ "บิ๊กโจ๊ก-บิ๊กเด่น" แจงการโอนคดีไร้ปัญหา “ดีเอสไอ” จ่อรับเป็นคดีพิเศษ “กำนันนก” เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล ฮั้วประมูล ภายในสัปดาห์นี้
ที่พรรคภูมิใจไทย วันที่ 19 กันยายน นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ชี้แจงถึงกรณีที่ให้สัมภาษณ์สื่อที่ระบุว่า “หากแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพล 6 เดือนไม่สำเร็จก็พร้อมพิจารณาตัวเองนั้น” ว่า ขอเรียนชี้แจงว่า จากคำสัมภาษณ์ดังกล่าว เป็นประโยคที่ติดต่อกัน จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งตนบอกว่า 6 เดือนจะเริ่มเห็นผล ภาพจะเริ่มชัดขึ้น เพราะ 6 เดือนเริ่มจะเห็นผล เนื่องจากการปราบปรามผู้มีอิทธิพลมีมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งเปรียบเสมือนไฟไหม้ฟาง วูบวาบมาหลายครั้ง แต่ตนไม่ต้องการทำงานแบบนี้ ซึ่งจะต้องมีการใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล ในการตรวจสอบ รวมถึงดูให้เป็นธรรม เช่น ขอยกตัวอย่างตามหลักอาชญาวิทยาว่าคนไหนถ้าเลิก หรือเลิกจริงๆ ตนก็จะให้โล่ แต่ถ้าทำอีกก็จะหนักว่าเดิม 2 เท่า ส่วนใครที่ประพฤติดีเราก็ต้องตอบแทน แต่ถ้าเลวเราก็ต้องจัดการ
"ส่วนความคืบหน้าขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา แล้วจากนี้ก็ต้องดูถึงวิธีการทำงาน ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังได้กำชับในที่ประชุม ครม. และได้สั่งการมาที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทยมาแล้ว และท่านอนุทิน ก็ได้สั่งผมมาอีกทีหนึ่ง ซึ่งผมได้มีกรอบระยะเวลาการทำงานแล้ว ทั้งนี้มองว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากนักธุรกิจซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะระบบราชการต้องเจอแบบนี้ ต้องเจอคนที่ผ่านงานในแบบซีอีโอ หรือผู้บริหารงานในบริษัทขนาดใหญ่ในทำธุรกิจ ก็จะมีวิธีการจัดการในแบบของเขา"
นายชาดากล่าวย้ำว่า เรื่องนี้ตนไม่ได้แก้ตัว แต่บอกว่า 6 เดือนจะเข้มข้นขึ้น ยืนยันว่าจะนำทุกทฤษฎีมาใช้เพื่อไม่ให้ปัญหาผู้มีอิทธิพลเกิดขึ้นกับคนไทยโดยไม่จบไม่สิ้น ส่วนความคืบหน้าในการทำบัญชีรายชื่อผู้มีอิทธิพล ขณะนี้แต่ละส่วนก็ได้ดำเนินการแล้ว และหลังจากนี้ก็ต้องมาดำเนินการกันอีกทีว่าจะต้องทำกันแบบไหน
"ไม่มีอะไรหนักใจ ผมมีท่านนายกฯเศรษฐา มีท่านอนุทิน รมว.มหาดไทย มอบอำนาจให้มาก็ทำอย่างเต็มที่ อย่างที่ผมบอกว่าไม่มีใครใหญ่กว่าผม มีที่ใหญ่กว่าผมก็คือนายกฯ เศรษฐา (ตัวใหญ่กว่าผม) และหัวหน้าพรรคผม” นายเศรษฐากล่าว
ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป) พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.3 บก.ป. เรียกประชุมตำรวจชุคคลี่คลายการเสียชีวิตของ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในงานเลี้ยงบ้านนายปวีณ จันทร์คล้าย หรือกำนันนก หลังจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มีคำสั่งโอนคดีมาให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เป็นผู้รับผิดชอบคดีว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าทาง บช.ก.และ บก.ป.ได้มีการประชุมคณะพนักงานสอบสวน คณะพนักงานสืบสวน เกี่ยวกับเรื่องการโอนสำนวนมาที่ บช.ก. ไม่ว่าจะเป็นคดีฆ่า คดี 157 ขณะนี้ได้ทำหนังสือไปที่ศาลทุจริตภาค 7 เพื่อขอโอนฝากขังมาที่ศาลทุจริตกลาง และได้ทำหนังสือไปที่กรมราชทัณฑ์เพื่อขอโอนการฝากขังผู้ต้องหามาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์เดียวกัน เราจะประมวลเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเดียวกันเพื่อประโยชน์ของการอำนวยความยุติธรรมในชั้นศาลทุจริต เป็นคดีหลายกรรมเกี่ยวเนื่องกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตำรวจทั้ง 6 นายจะถูกควบคุมตัวที่เดียวกันกับกำนันนกหรือไม่ พ.ต.อ.วิวัฒน์ตอบว่า เรื่องนี้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้จัดการ ส่วนการดำเนินคดีกับตำรวจ 13 นาย ระหว่างนี้เรามีการสอบสวนเพิ่มเติม ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุตำรวจภูธรภาค 7 ตอนนี้สำนวนโอนมาที่ตำรวจสอบสวนกลาง ไม่ได้เป็นการทำใหม่ เป็นการเพิ่มเติมในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้สมบูรณ์ที่สุด อะไรที่เราสงสัยต้องมีการขยายผลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ส่วนกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ใช้ในการดำเนินคดี วันที่ 18 ก.ย. พฐ.ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลเทคนิคบางส่วน แต่ยังไม่มีอะไรเพิ่มเติมกล้องวงจรปิดมีทั้งหมด 15 ตัว ไม่ทำงาน 2 ตัว ตั้งแต่เดือนสิงหา ส่วนกล้องอีกตัวหนึ่งที่ทำงานถึงเวลา 10 โมงในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจสอบพบว่ากำนันนกอยู่ที่บริเวณนั้น แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตัดประเด็นว่าใครไปดึงปลั๊กหรือปิดกล้อง เพราะเรื่องนี้เป็นฝ่ายเทคนิคผู้ชำนาญการที่ต้องเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้อีกทีหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า กล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ถ้ากู้ 2 ตัวที่สาดมาบริเวณงานเลี้ยงไม่ได้ จะเอาผิดกำนันนกได้หรือไม่ พ.ต.อ.วิวัฒน์ตอบว่า วงจรปิดที่เกิดเหตุเป็นหลักฐานสำคัญทางคดี แต่อย่าลืมว่ามีกล้องวงจรปิดโดยรอบที่เกิดเหตุอีกหลายตัว เรายังมีประจักษ์พยานที่สามารถระบุว่าวันเกิดเหตุ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
แจงโอนคดีไร้ปัญหาขัดแย้ง
ส่วนที่มีตำรวจให้การขัดแย้งกับข้อเท็จจริงกี่คน พ.ต.อ.วิวัฒน์กล่าวว่า มีอยู่ไม่มาก เนื้อหาสำคัญในสำนวนไม่ขอตอบ แต่ถ้าใครดูพฤติการณ์แล้วละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. กำชับต้องถูกดำเนินคดีทุกคนอย่างตรงไปตรงมา โดยจะปรึกษากับอัยการและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกฎหมาย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว วันนี้ให้ทางอัยการมาเป็นที่ปรึกษา สัปดาห์หน้าถ้ามีความชัดเจนว่าใครเกี่ยวข้อง อาจจะมีการดำเนินคดีเพราะ ผบช.ก.ได้เร่งให้ทำงานทุกวัน แต่ขอให้เจ้าที่ได้ทำงานดูพยานหลักฐานให้ละเอียดรอบคอบ
ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. วิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากประเทศจีนมาที่ประชุม บช.ภ.7 ประเด็นเกี่ยวกับการประชุมคณะทำงานตรวจสอบธุรกิจของกำนันนกว่า เป็นการบูรณาการการตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน มีประเด็นหลักๆ ได้แก่ เส้นทางทางการเงินและการหัวประมูลโครงการต่างๆ โดยมีตัวแทนของทุกหน่วยงานมาเข้าร่วม ทั้งนี้ ไม่ได้วางกรอบเวลาในการทำงาน แต่ว่าอย่างไรก็ต้องรวดเร็วที่สุด สามารถย้อนตรวจสอบได้ทั้งหมด พื้นที่ของ จ.นครปฐมนั้นเป็นพื้นที่ที่แปลก ไม่มีประชาชนคนไหนมาร้องเรียนตำรวจเลย จึงอยากจะแจ้งกับประชาชนว่า หากคนใดได้รับความเดือดร้อนในกรณีของนายปวีณ ไปสร้างความเดือดร้อนโดยตรงหรือมีลูกน้องของนายประวีณเข้าไปเกี่ยวข้อง สามารถมาพบตนที่ตำรวจภูธรภาค 7 ได้เลย จะได้เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี
ในกรณีการเสียชีวิตของ พ.ต.ต.ศิวกร ที่ทาง บช.ก.มีการแถลงในลักษณะที่ว่าอาจจะต้องเริ่มต้นใหม่ ในเรื่องของการทำสำนวน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าทำใหม่นั้นหมายถึงอย่างไร เพราะทุกวันนี้ทาง บช.ก. และเป็นผู้สอบสวนอยู่แล้ว ไม่ได้มีใครไปก้าวก่าย เพราะว่าคดีที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องใช้การสืบสวนนำการสอบสวน เพราะว่าที่เกิดเหตุ ณ วันที่เกิดเหตุนั้นเละเทะไปหมดแล้ว จึงจะต้องใช้ตำรวจภูธรภาค 7 แต่ในเรื่องการสอบสวนนั้น ผบ.ตร.ได้โอนไปยัง บช.ก.ตั้งเเต่วันเเรกเเล้ว อย่าได้มองว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ให้มองเป็นเรื่องของการทำงานร่วมกันจะดีกว่า ส่วนในการตั้งข้อหา 157 นั้น ชุดสืบสวนได้ทำรายงานสืบสวนส่งไปแล้ว หลังจากนั้น บช.ก.ก็จะต้องไปพิจารณาว่าจะแจ้งข้อหาอย่างไรบ้าง
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวด้วยว่า วันนี้สังคมคงเห็นเเล้วว่าสังคมไทยในปัจจุบัน ที่มีการพูดถึงในการเลือกผู้ว่าฯ ท้องถิ่นเองนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะว่าในแต่ละท้องถิ่นเองยังมีผู้ที่มีอิทธิพลระดับนี้กระจายอยู่ทั่ว ยังจะต้องเป็นการพิจารณาเพื่อแต่งตั้งไปก่อน
ขณะที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีการโอนคดีการเสียชีวิตของ พ.ต.ต.ศิวกรไปให้บก.ป.รับผิดชอบดูแล เพราะ ผบ.ตร.ไม่พอใจการดำเนินงานของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์หรือไม่ว่า ความจริงไม่ใช่ตามที่กระแสสังคมระบุ เป็นการตีความที่คลาดเคลื่อน ในคดีที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (บช.ภ.7) เป็นเจ้าของสำนวนได้เสนอเรื่องมาว่าหลักฐานส่วนใหญ่ในคดีการเสียชีวิตอยู่ที่กองปราบฯ เรียบร้อยแล้ว ตนจึงทำการอนุมัติคดีให้กองปราบฯ รับผิดชอบเพียงเท่านั้น ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ก็ยังมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลทุกอย่าง และตนไม่ได้ถือว่าเป็นการลิดรอนอำนาจ เป็นการตีความผิดไปเอง
ดีเอสไอจ่อรับเป็นคดีพิเศษ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า คดีการเสียชีวิตของ พ.ต.ต.ศิวกร เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล ตนเล็งเห็นว่าหากทาง บช.ภ.7 ดำเนินการต่อ เจ้าหน้าที่อาจจะหนักใจ อาจจะมีข้อมูลรั่วไหล หรืออาจจะมีตำรวจในพื้นที่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับผู้ต้องหา ส่วนคดีความผิดเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่จำเป็นที่จะต้องโอนให้ ป.ป.ช.ดำเนินการภายใน 30 วันอยู่แล้ว การที่โอนคดีมาที่ บก.ป. จึงไม่ได้แตกต่างอะไรเป็นพิเศษ
เมื่อถามว่า ได้พูดคุยส่วนตัวกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ถึงเรื่องนี้หรือไม่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พูดคุยกันแล้ว ไม่รู้ว่าสื่้อจะตีความไปทางใด ยอมรับว่าสื่อมีมาก หลายช่องทาง ตนต้องหนักแน่น ต้องเดินหน้าทำงานอื่นต่อไป ในภาพรวมยังมีภารกิจต่างๆ ที่สำคัญรออยู่
สืบเนื่องจากกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ “กองฮั้วประมูล” กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ออกหมายเรียก 58 บริษัท ที่เคยยื่นซื้อซองราคาในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่ไม่เข้าร่วมในขั้นตอนการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) นำร่อง 2 โครงการ ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของนายประวีณ หรือบริษัททั้งหมดถูกข่มขู่ไม่ให้เข้าร่วมการประมูลหรือไม่ มาสอบปากคำวันที่ 18-20 ก.ย.นี้
ที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ อาคารเอ ชั้น 7 กองฮั้วประมูล เป็นวันที่ 2 ได้ออกหมายเรียกตัวแทนอีก 20 บริษัท เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ โดยแหล่งข่าวระบุว่า พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ ได้รายงานความคืบหน้าให้ รมว.ยุติธรรมทราบเป็นระยะๆ ซึ่งพนักงานอัยการที่เชี่ยวชาญกฎหมายท่านหนึ่ง ให้ความเห็นว่า “กำนันนก” มีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษทุกประเด็นตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ม.21 วรรค 1 (ง) คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน และเมื่อดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ โดยคาดว่าภายในสัปดาห์นี้ กฎหมายบังคับให้พนักงานอัยการมาทำการร่วมสอบสวนกับดีเอสไอตั้งแต่เริ่มต้นคดี ซึ่งจะมีรูปแบบการดำเนินคดีตามมาตรฐานสากล
ส่วนการสอบปากคำวันแรก (18 ก.ย.) บริษัทเข้ามาพบดีเอสไอ จำนวน 12 บริษัท ให้ข้อมูลตามเอกสารที่ปรากฏ ส่วนอีก 8 บริษัท ขอเลื่อนให้เหตุผลว่ากำลังเตรียมเอกสารและเนื้อหารายละเอียดยังไม่ครบ บางรายชี้แจงว่าตัวแทนผู้จัดการบริษัทไม่สะดวกเพราะหมายเรียกกระชั้นชิดเกินไป อย่างไรก็ตาม ทุกบริษัทต้องเข้ามาชี้แจงเพราะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบ หากไม่มาพบตามนัดหมายที่กำหนด โดยไม่แจ้งเหตุหรือมีเหตุอันสมควรอย่างอื่น อาจจะมีความผิดตามกฎหมายมีโทษจำคุก 1 ปี ตามกฎหมายดีเอสไอ
ต่อมาเวลาประมาณ 11.09 น. ตัวแทนของบริษัท กษิดิศเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เดินออกมาจากห้องกองคดีฯ ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าเหตุใดถึงถอนตัวไม่ร่วมยื่นประมูลโครงการดังกล่าวต่อ ตัวแทนของบริษัท กษิดิศเอ็นจิเนียริ่งฯ บอกว่า ตนไม่ได้ยื่นประมูล และไม่รู้จักกับกำนันนก ส่วนวันนี้ตนเข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ไปหมดแล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ