ยุติMOUยุบสภาฯ ‘ชลน่าน’ไม่ผูกมัด

เชียงใหม่ ๐ "ชลน่าน" ยันแก้ รธน.เสร็จยุบสภาเป็น MOU พรรคก้าวไกลถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนรัฐบาลเศรษฐาจะยุบสภาหรือเปล่าต้องดูบริบท เพราะรัฐบาลไม่ผูกมัด ต้องคำนึงถึงพื้นฐานที่ว่าจะเกิดประโยชน์สุขกับพี่น้องประชาชน

     เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2566 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์หลังมีการนำคำสัมภาษณ์ของตนเองที่ระบุว่าหากแก้รัฐธรรมนูญเสร็จจะยุบสภา ว่าถ้าให้ตอบในนามจุดยืนของรัฐบาล ตนไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากต้องพูดคุยกัน  ซึ่งเราเริ่มต้นด้วยการทำงานกับพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ MOU กับพรรคก้าวไกลก็ถูกยกเลิกไป ทำให้ต้องมาจับมือกับ 11 พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเราเองก็มีเจตนาที่จะทำเหมือนที่ทำ MOU กับก้าวไกล คือต้องไปทำประชามติก่อน ถ้าพี่น้องประชาชนเห็นชอบด้วยว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คำถามคือถ้าเราพ่วงคำว่าการตั้ง ส.ส.ร. มันก็จะมีคำตอบตรงนั้น และเอาคำตอบตรงนั้นมาแก้ 2 ระบบผ่านกระบวนการรัฐสภา นำไปสู่ขั้นตอนการทำประชามติ

     "เมื่อทำประชามติหมายความว่ารัฐธรรมนูญถูกแก้ ก็จะมีการยกร่าง ใช้เวลากี่เดือนก็ว่ากันไป และจะเข้าสู่กระบวนการนำเสนอเพื่อเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  และทำประชามติขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะนำมาใช้"

     นพ.ชลน่านกล่าวว่า ส่วนจะมีการยุบสภาหรือไม่ ต้องไปดูบริบทที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่าทำเสร็จในเวลาเท่าไหร่ หากทำเสร็จเร็วก็จะเป็นเงื่อนไขว่าสามารถตอบสนองต่อความต้องการพี่น้องประชาชนได้หรือไม่ เพราะรัฐบาลไม่ได้ผูกมัด

     เมื่อถามว่า ต้องคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ในเรื่องการยุบสภา รมว.สาธารณสุขตอบว่า เป็นขั้นตอนที่เราเขียนไว้อยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติถ้าเราทำเองในฐานะผู้ดูแลเรื่องนี้ก็ต้องไปตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องกระบวนการวิธีการว่าเขาจะเห็นด้วยตามนี้หรือไม่อย่างไร หากมีมติเห็นชอบตามนี้ ก็ต้องผลักดันไปตามนี้ ทั้งนี้ ต้องคุยกันและต้องคำนึงถึงพื้นฐานที่ว่าจะเกิดประโยชน์สุขกับพี่น้องประชาชน

     ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ชัดเจน แถลงไปแล้วว่าจะนำคณะทำงานเข้ามาเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  การทำประชามติเพื่อนำเข้าสู่สภา ซึ่งเป็นเวทีที่จะใช้เป็นเวทีถกเถียงกันในประเด็นความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ประกาศไปแล้วในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกชัดเจน

      นายเศรษฐายังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าขอให้นายพิธาโชคดีในเรื่องต่างๆ ที่นายพิธาจะไปทำ อันนี้น่าจะไปถามหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะดีกว่า วันนี้ตนมาในบทบาทฝ่ายบริหารแล้ว ก็ขอให้นายพิธาเดินทางในชีวิตการเมืองที่ถูกต้องและเป็นที่ชื่นชมของทุกคน

     นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนเป็นฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยเคยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2 ครั้ง โดยไม่แตะหมวดหนึ่งและหมวดสอง ตอนหาเสียงเราก็มีนโยบายแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อได้เป็นพรรคแกนนำรัฐบาลแล้วพรรคก็จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจุดมุ่งหมายคือการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เพราะต้องได้เสียงสนับสนุนจากทั้ง สว.และ สส. ฝ่ายค้านด้วย เราต้องหาแนวทางว่าในทางปฏิบัติสิ่งใดจะเป็นไปได้มากที่สุด โดยยึดประโยชน์ต่อส่วนรวม ตอนนี้คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคอยู่ระหว่างรับฟังเสียง สส.ทั้ง 141 คน เมื่อได้ข้อสรุปจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป

     เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลเริ่มตั้งไข่แล้ว  คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จเมื่อใด เขาตอบว่า เราเห็นความตั้งใจของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก เป็นจุดเริ่มต้นการรับฟังเสียงทุกภาคส่วน พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง หวังว่าเรื่องดังกล่าวจะเดินหน้าอย่างไม่ล่าช้า ตามขั้นตอนจนบรรลุเป้าหมายได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยยึดประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ

     ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการปรับลดคณะกรรมการ รวมถึงคำสั่งต่างๆ ที่ออกโดย คสช. จะถือเป็นการสังคายนาเลยหรือไม่ ว่าขออย่ามองว่าเป็นการสังคายนา ตนมองว่าเป็นการชี้แนะจากนายเศรษฐาเกี่ยวกับคณะกรรมการต่างๆ ที่มีถึง 174 คณะ และคำสั่ง คสช. หากกระทรวงไหนมองว่าคณะกรรมการหรือคำสั่งอะไรล้าสมัยไปแล้ว ก็สามารถปรับแก้หรือแจ้ง ครม.ให้ยกเลิกได้เลย แต่หากคำสั่ง คสช.อะไรที่มีลำดับชั้นเท่า พ.ร.บ. ต้องนำไปพิจารณาในสภา  ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก

     เมื่อถามว่า การกำกับดูแลคณะกรรมการกฤษฎีกา จะถือว่ารับผิดชอบงานด้านกฎหมายหรือไม่ นายสมศักดิ์ ตอบว่า ตนไม่ได้เรียนจบด้านกฎหมายมา  แต่ตนเข้าใจงาน ไม่ใช่ว่ารองนายกฯ จะเป็นผู้ร่างกฎหมาย แต่รู้ว่ากฎหมายไหนที่เสียสมดุลหรือล้าสมัยไปแล้ว เพราะมีผู้ที่ชำนาญในการร่างกฎหมายให้อยู่แล้ว ในฐานะ สส. ก็เสนอว่าต้องการประเด็นนี้หรือไม่ต้องการ ก็เท่านั้น

     นายสมศักดิ์กล่าวถึงกรณีที่นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลรัฏฐาธิปัตย์ว่า  โฆษกรัฐบาลไม่ได้เป็นนักกฎหมาย แต่เป็นนายสัตวแพทย์ จึงขอเวลาให้ท่านปรับตัว เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจ อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของโฆษกรัฐบาล ไม่ต้องลงรายละเอียดลึก แต่หากผู้สื่อข่าวไปถามแบบลึกๆ ท่านก็จะตอบลึก ก็จะยุ่งอยู่เหมือนกัน ดังนั้นขอให้เรียนรู้กันไป 1-2 สัปดาห์น่าจะเข้าที่เข้าทาง

     ผู้สื่อข่าวถามว่า เชื่อมั่นหรือไม่ในการทำหน้าที่ของโฆษกรัฐบาล นายสมศักดิ์กล่าวว่า ท่านเป็นคนมีความสามารถ คนเก่ง ชอบสร้างความชัดเจนและความกระจ่างให้กับสื่อมวลชน ซึ่งจะไม่เหมือนตนที่ส่วนใหญ่มักจะยอมแพ้สื่อมวลชน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง