นายกฯจัดหนักวปอ.อภิสิทธิ์ชน

"เศรษฐา" คุมความมั่นคงเอง จัดหนัก วปอ. "อภิสิทธิ์ชน" สร้างคอนเนกชันเพื่อตัวเอง วอนเผื่อแผ่คนตัวเล็กในสังคม "ภูมิธรรม" จ่อดึงทุกพรรค-กลุ่มวิชาชีพต่างๆ ร่วมแก้ รธน. ย้ำไม่แตะสถาบัน "ก้าวไกล" หวั่นตั้ง กก.ศึกษาประชามติแค่ยื้อเวลา-ย้อนหลักการ-ยอมต่ออำนาจเดิม

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14  กันยายน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีกระทรวงกลาโหมกำกับดูแลเองใช่หรือไม่ว่า ตนดูแลเรื่องความมั่นคงเอง  ซึ่งเรื่องของความมั่นคงมีหลายมิติ ทั้งภายในและภายนอก รวมถึงความมั่นคงกับประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในอดีตอาจจะมีการพูดจากันที่รุนแรงไปนิดหนึ่ง พยายามลดช่องว่างระหว่างสถาบันทหารกับประชาชน โดยให้มีการสื่อสารที่ดีขึ้น มีการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เช่น การสมัครใจเกณฑ์ทหารเป็นบางส่วน ใช้พื้นที่ของกรมทหารให้ประชาชนทำการเกษตร หรือการให้ทหารมาช่วยเหลือในเรื่องภัยพิบัติ

ส่วนแนวทางยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น เรื่องนี้ต้องปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กฎหมายบางข้อที่ไม่ได้ใช้ และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและการปฏิบัติหน้าที่ของราชการให้ยกเลิกไป ถ้ายกเลิกไม่ได้ให้นำกลับเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง

เมื่อถามว่า การสื่อสารเรื่องกฎหมาย ต้องมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย หรือผู้ที่สามารถมาสื่อสารเรื่องกฎหมายได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ขอรับไปปรับปรุง แล้วจะแจ้งมาอีกครั้งจะดำเนินการอย่างไร เพราะหากยังไม่ครบ 100% อาจจะยังไม่รีบแถลง เข้าใจว่าประชาชนอยากทราบเรื่องที่เราคิดอยู่ทำอยู่ต่อไป

ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ  นายเศรษฐาเป็นประธานรับฟังการแถลงผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ.รุ่น 65 โดยมีนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม รวมถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมรับฟัง ซึ่งถือเป็นภารกิจแรกของนายเศรษฐาที่มาร่วมงานของกองทัพ หลังจากยอมรับว่าจะเข้ามาดูแลเรื่องความมั่นคงเอง

นายเศรษฐากล่าวว่า หลายเรื่องเป็นนโยบายของรัฐบาล เช่น การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน บทบาทของกองทัพในการช่วยเหลือประชาชน เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เชิญตนมาพูด ณ ที่นี้ ทุกคนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถหลายทาง ประสบความสำเร็จอย่างสูง  เป็นผู้บริหารผู้นำก็คิดทั้งในภาครัฐและเอกชน เป็นความหวังของประเทศ และหลายคนอาจจะมายืนอยู่จุดที่ตนยืนในอนาคต

 “ผมไม่มีโอกาสเข้ามาศึกษาในสถาบันแห่งนี้ แต่อยากฝากว่าเรื่องความรู้ไม่เป็นที่สงสัยว่าเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ทุกศาสตร์ ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งพบปะสมาคม สานสัมพันธ์อันดีของทุกๆ ท่าน ความแข็งแกร่งของศิษย์เก่าเป็นที่ประจักษ์ของเรา ทุกคนสร้างสายสัมพันธ์คอนเนกชันของท่านในประเทศ ทำให้พวกท่านเป็นบุคคลพิเศษหรือเรียกว่าอภิสิทธิ์ชนก็ว่าได้ เป็นท็อป 1% หรือน้อยกว่านั้นของประเทศนี้ ในสถาบันที่ทรงคุณค่าอย่างมาก ซึ่งหลายคนอยากเข้ามา แต่ก็ไม่มีโอกาสได้รับการคัดเลือกเข้ามาอยู่ในที่นี้ คอนเนกชันที่ท่านได้รับจากสถาบันนี้ จะสามารถให้ประโยชน์กับหน้าที่การงานของทุกท่าน  ต่อยอดธุรกิจได้อย่างมหาศาล แต่ผมขอฝากและวิงวอนอ้อนวอนจากใจจริง ขอให้ทุกท่านใช้ความรู้ความสามารถและสายสัมพันธ์จากที่นี้ให้เกิดประโยชน์ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรของรัฐ ไม่ได้ใช้แต่สิทธิ์ แต่ให้ดูถึงหน้าที่และความเหมาะสม เพราะทุกสายตาในประเทศจับจ้องกันอยู่ เพราะท่านเป็นบุคคลพิเศษ เป็นบุคคลที่จะเป็นผู้นำของประเทศนี้" นายเศรษฐาระบุ

นายกฯ กล่าวด้วยว่า คอนเนกชันเหล่านี้ไม่ใช่จะเป็นประโยชน์แก่ท่านอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงองค์กร และขอให้แพร่กระจายไปยังครอบครัวและชุมชน ถือเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยเหลือคนตัวเล็ก ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ช่วยให้พวกเขายืนอยู่ในสังคมได้ในสภาวะที่ลำบากในปัจจุบัน ความสำคัญของพวกท่านจะสามารถช่วยสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ที่เพื่อนร่วมชาติเผชิญอยู่ ท่านก็จะได้ชื่อว่าเป็นส่วนที่ส่งต่อสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกหลานด้วย

ทางด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตลอด 4 ปีของรัฐบาลที่ผ่านมา มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายร่าง แต่ที่สุดไปไม่ได้ หลายฉบับตกไป หลายฉบับค้างที่วาระ 2 วาระ 3 ในที่สุดไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และตัดสินว่าอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้อำนาจประชาชน ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องไปถามประชาชนก่อนถึงจะแก้ได้ ทางปฏิบัติจึงต้องถามประชาชนก่อนว่าจะแก้หรือไม่แก้ และถ้าแก้จะแก้ด้วยกระบวนการแบบไหน อย่างไร ดังนั้นหากไม่เคลียร์ให้จบก่อน แต่ละกระบวนการจะค้างไม่คืบหน้า

ส่วนประเด็นหมวดหนึ่งหมวดสองนั้น รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่แก้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ แต่ปัญหาที่มีอยู่คือเรื่องเกี่ยวกับการได้มาซึ่งอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ได้มาอย่างไร และทำให้กระบวนการเอื้ออำนวยต่อการบริหารประเทศ ต่อการรักษาสิทธิเสรีภาพประชาชน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ให้มีความคิดเห็นที่หลากหลายในการช่วยกันคิดให้กระบวนการเดินหน้าไปได้ หาจุดที่พอดีให้เดินหน้าไปได้ จะค่อยๆ แกะไปทีละเปลาะ นำไปสู่การแก้ไขที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และจะเป็นการเปิดประตูบานแรกจนได้รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นออกมา หลังจากนี้จะเร่งตั้งคณะกรรมการที่มีมาจากทุกฝ่ายตามที่นายกฯ ได้สั่งการให้ดึงการมีส่วนร่วมของทุกคนเข้ามา และให้รายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่อง

เมื่อถามว่า การได้มาซึ่งคำถามที่จะให้ทำประชามติจะใช้เวทีรัฐสภาหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เวทีรัฐสภา จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะคุยแล้วนำไปสู่การตัดสินของประชาชน ถ้ามีความเห็นต่างจะนำมาปรับปรุงเพื่อลดช่องว่างความเห็นต่าง ทั้งนี้ อาจจะเริ่มต้นจากการนำทีมที่ปรึกษาของแต่ละพรรคการเมืองมาพูดคุยกัน แล้วขยายตัวไปสู่กลุ่มวิชาชีพ หากเห็นพ้องกันทั้งกลุ่มธุรกิจ ประชาชน ข้าราชการ จะทำให้การขยับไปสู่การลงประชามติไม่ยากลำบาก

ขณะที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า มีความกังวลว่าการตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาอีกชุด จะไม่ได้นำไปสู่มุมมองอะไรที่เพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญจากที่เคยถูกแสดงมาหมดแล้ว แต่อาจมีวัตถุประสงค์ของการยื้อเวลา ย้อนหลักการ ยอมต่ออำนาจเดิม ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่าสามารถชี้แจงรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง เพื่อคลายข้อกังวลของตนและประชาชนบางส่วน โดยรัฐบาลควรระบุให้ชัดถึงองค์ประกอบและกระบวนการทำงานของคณะกรรมการศึกษาชุดนี้ เพื่อให้ความมั่นใจว่าความเห็นที่ถูกรับฟังจะเป็นความเห็นที่รอบด้าน และเป็นไปตามสัดส่วนของความเห็นที่มีอยู่ในสังคมจริงๆ

 “ทางออกที่เรียบง่ายที่สุดคือการที่ ครม.ออกมติให้เดินหน้าจัดทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับหลักการของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.เลือกตั้ง เพราะหากประชาชนทั่วประเทศเห็นชอบอย่างท่วมท้น จะเป็นอาวุธที่สำคัญและชอบธรรมที่สุดเดินหน้าสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” นายพริษฐ์ระบุ

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัวแทนไอลอว์ (iLaw โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) นำโดย น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยตัวแทนจาก we watch เดินทางมายื่นเรื่องทวงถามความคืบหน้าต่อ กกต. ในการนำรายชื่อกว่า 2.1 แสนรายชื่อ เพื่อยื่นทำประชามติเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ เนื่องจากเวลาผ่านมาแล้ว 15 วัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ช่วยนักโทษติดคุกหมด เสรีพิศุทธ์ถอนตัวงัดหลักฐานมัดแก๊งชั้น14/ปชป.มีมติร่วมรบ.

"นายกฯ อิ๊งค์" อารมณ์ดีนัดสื่อให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง 30 ส.ค. "ภูมิธรรม" มั่นใจเสถียรภาพรัฐบาล หลังดึง