‘ทนง’เฉ่งดิจิทัล1หมื่นบาท รัฐแบกหนี้-ไม่กระตุ้นศก.

“เศรษฐา” เดินสาย ถวายเครื่องสักการะสมเด็จพระสังฆราช ยิ้มแย้มถือฤกษ์เข้าคลังวันแรก  สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ราบรื่น คล้องช้างพวงมาลัยไม่ขาด!! ตัดเกรดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เต็ม 10 ให้ 11   คะแนน ยืนยันแหล่งเงินมีแน่ ขอเวลาพิจารณา 1 เดือนพร้อมชี้แจง "ขุนคลัง" ยุคทักษิณติงไม่ช่วยเศรษฐกิจอะไรเลย   จะเป็นภาระหนี้ของรัฐ กระทบงบประมาณ วินัยการเงินก็เสียหาย เพราะเพิ่มหนี้ 5 แสนล้าน

 เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14  กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน    นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถือฤกษ์วันพระ แรม 14 ค่ำ เดือน 9 ปีเถาะ เดินทางมายังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อเข้าเฝ้าถวายเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยมีนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลงานสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติร่วมงานด้วย ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงนายกรัฐมนตรีได้วางพวงมาลัยถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บริเวณด้านข้างพระอุโบสถ

ก่อนที่จะเข้าสู่พระตำหนักอรุณ เพื่อเข้าเฝ้ากราบนมัสการสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายเครื่องสักการะ เปิดกรวยกระทงดอกไม้ถวายธูปเทียนแพ พานดอกบัว ผ้าไตรและเครื่องไทยธรรม ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก มีพระดำรัส  ก่อนที่นายกฯ จะกราบทูลลา

จากนั้นนายกรัฐมนตรีเดินทางไปยังวัดไตรมิตรวิทยาราม เพื่อถวายเครื่องสักการะสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี  โดยเมื่อเดินทางถึง เข้าสู่กุฏิสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กราบนมัสการถวายเครื่องสักการะ เปิดกรวยกระทงดอกไม้ถวายธูปเทียนแพ พานดอกบัว ผ้าไตรและเครื่องไทยธรรม โดยสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนีสนทนาธรรม ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะกราบลาสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี และเดินทางกลับทำเนียบรัฐบาล

นายเศรษฐาเผยถึงการเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ว่า “ท่านได้ประทานพรหลายเรื่อง ท่านทรงให้ความกรุณาอย่างมาก ได้พูดคุยกันนานพอสมควร”

ต่อมา เวลา 13.07 น. นายเศรษฐา พร้อมด้วยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ได้ฤกษ์เข้าทำงานที่กระทรวงการคลังอย่างเป็นทางการวันแรก หลังจากได้รับโปรดเกล้าฯ และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว โดยมีนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ว่าที่ปลัดกระทรวงการคลัง  พร้อมด้วยอธิบดี ผู้บริหาร หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และข้าราชการกระทรวงการคลัง รอรับอย่างชื่นมื่น

ทั้งนี้ นายเศรษฐาและ รมช.การคลัง ได้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง โดยเริ่มจากพระพรหมเอราวัณ, ศาลพระภูมิเจ้าที่, พระคลังมหาสมบัติ, พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นสื่อมวลชนให้ความสนใจขั้นตอนการคล้องช้างคู่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง ซึ่งมีความเชื่อว่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่จะต้องคล้องพวงมาลัยหลังช้าง หากพวงมาลัยขาดจะเป็นฤกษ์ที่ไม่ดี ซึ่งนายเศรษฐาคล้องช้างในเวลา 13.14 น. ปรากฏว่าราบรื่น พวงมาลัยไม่ขาดทั้งสองฝั่ง โดยนายเศรษฐามีสีหน้ายิ้มแย้มตลอดเวลาที่สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจุดต่างๆ ของกระทรวง

ต่อมานายเศรษฐาได้ประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลังนัดแรก พร้อมด้วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลังทุกแห่ง โดยมอบหมายนโยบายส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีในการประชุม

นายเศรษฐากล่าวต่อผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอย ประชาชนได้รับความเดือนร้อนเป็นอย่างมาก และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่านโยบายของรัฐบาลปัจจุบันจะดำเนินการในเรื่องใดบ้าง โดยกระทรวงการคลังมีหน้าที่ต้องสนับสนุนในทุกๆ เรื่องที่รัฐบาลจะดำเนินการ ซึ่งเรื่องสำคัญมี 2 เรื่อง คือ 1.การทำนโยบายจะมีการใช้งบประมาณสูง ดังนั้นเรื่องวินัยการเงินการคลังต้องมีความสำคัญมาก สามารถตอบสังคมได้ว่าคลังนำงบประมาณไปใช้ในเรื่องใด และในระยะยาวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสัดส่วนหนี้สาธารณะจะเป็นอย่างไร ในระดับใดที่มีความเหมาะสม

2.ได้ให้นโยบายผู้บริหารเรื่องวิธีการทำงาน เรื่องของความเป็นธรรมในการทำงาน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการที่เราบริหารจัดการราชการ เรื่องระบบเส้นสาย ระบบการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ระบบการปูนบำเหน็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นใจข้าราชการ หลายท่านทุ่มเทการทำงาน เพื่อหวังเลื่อนตำแหน่งใหญ่ การทำงานถ้ามีผลงานที่ดี ก็ควรได้รับการปูนบำเหน็จที่เหมาะสม วิธีการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมจากนักการเมืองที่ใช้เส้นสาย หรือผู้มีอำนาจทั้งหลาย เข้ามาใช้อิทธิพล ในฐานะ รมว.การคลัง ก็จะช่วยเหลือข้าราชการ และจะเป็นเกราะกำบังให้ข้าราชการทั้งหมด ทำงานได้อย่างสบายใจและมีประสิทธิภาพ

“กระทรวงการคลังได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจว่าสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นอย่างไร และนโยบายรัฐบาลหลายๆ เรื่องที่ต้องออกมา อาจจะเจออุปสรรคบ้าง จะมีวิธีการแก้ไขและวิธีการทำงานอย่างไร”

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เมื่อมีการดำเนินการที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นกรุงไทย ออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็ได้มอบหมายว่าให้ไปดูว่าจะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไรบ้าง โดยไม่ทำให้วินัยการเงินการคลังเสียไป

นายเศรษฐากล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า คลังยืนยันว่าแหล่งเงินมีแน่นอน โครงการนี้เกิดขึ้นแน่นอน ทำได้แน่นอน แต่ขอเวลาพิจารณา คาดว่าไม่เกิน 1 เดือนจะได้ข้อสรุป และชี้แจงให้รับทราบว่าแหล่งเงินที่นำมาใช้ในโครงการจะมาจากไหน ปัจจุบันไม่อยากพูดไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความไม่ชัดเจน ถ้าเกิดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จะถูกกล่าวหาว่าไม่ชัดเจนอีก อยากให้ใจเย็นๆ ซึ่งมีหลายทางเลือก ต้องไปพิจารณาว่าทางไหนเหมาะสมที่สุด และมีผลกระทบในวงกว้างน้อยที่สุด

“เราจะใช้ข้อมูลดาต้าเบสจากแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพราะผ่านการยืนยันตัวตนด้วยระบบ KYC เรียบร้อยแล้ว และหลังจากนี้จะมีการเขียนบล็อกเชนมากำกับ”

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หากมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน คิดว่านโยบายนี้จะได้คะแนนเท่าไร นายเศรษฐาตอบทันทีด้วยความมั่นใจว่า “11 คะแนนครับ”

วันเดียวกันนี้ ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี  ได้กล่าวในงานสัมมนา ThaiPublica  Forum เวทีปัญญาสาธารณะ 2566 หัวข้อ TRANSFORM THAILAND : สิ่งที่เห็นและอยากให้ประเทศไทยเป็น? จัดโดยสำนักข่าว ThaiPublica ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่า ถ้าเป็นตนจะนำเงินกว่า 5 แสนล้านบาทใส่เข้าไปในกองทุนหมู่บ้าน ที่ทั้งประเทศมีอยู่ 7 หมื่นหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 6 ล้านบาท เพราะเป็นคนจน เงิน 6 ล้านบาทนี้ถ้าทำ Transition digital change ดีๆ ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันภายในหมู่บ้านรัศมี 4 กม. ถ้าเป็นการแจกเงินเหล่านี้จะหมดไป แต่ถ้าเป็นกองทุนแล้วให้กู้ยืม  ดอกเบี้ยจะกลับมาให้รัฐ 2% หรือ 3%  ไม่หมดไป ทำให้รัฐมีเงินกลับมา และการใช้งบประมาณก็น้อยมาก จะได้ประโยชน์มากกว่า  เงินดิจิทัลที่จะอยู่ในบล็อกเชนนี้จะมีการซื้อขายหมุนเวียน ไม่ไปไหน และเงินไม่หมด เงินเป็นแค่ตัวกลางของการแลกเปลี่ยน เพราะถ้าเอาเงินไปให้เขาใช้แล้วจบ เท่ากับเงินย้ายไปอยู่กับคนรวยเหมือนเดิม จากมือคนจนไปสู่มือคนรวย 

นอกจากนี้ การแจกเงินไม่ควรแจกทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ควรแยกกลุ่มคนออกมา และเน้นการแจกไปที่กลุ่มคนจนหรือกองทุนหมู่บ้าน เพราะสำหรับคนรวย เงิน 1 หมื่นบาท จะไม่ได้นำไปใช้ลงทุน อาจฝากธนาคารไว้เฉยๆ แต่ถ้าเป็นการแจกให้หมู่บ้านต่างๆ จะทำให้เกิดการลงทุนตามมา ซึ่งไม่ใช่การบริโภคอย่างเดียว

"ดิจิทัลวอลเล็ตที่ว่า แทนที่จะแจกก็เป็นการให้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน แล้วไปสอนให้เขารู้จักวิธีการดูแล วิธีการสร้างผลผลิต สร้างรายได้ ซื้อขายกันเอง ไม่ให้ออกนอกระบบ ขอฝากรัฐบาลเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าแนวคิดนี้เป็นการต่อยอดกองทุนหมู่บ้านและโอทอป ซึ่งเดี๋ยวนี้สามารถสร้างแพลตฟอร์มขายออนไลน์ได้ แต่คราวนี้รัฐบาลควรเป็นผู้ทำแพลตฟอร์มให้สินค้าโอทอป"

ดร.ทนงยังโยงเรื่องเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทกับปัญหาหนี้ครัวเรือนว่า ขณะนี้ หนี้ครัวเรือนไทยสูงมาก ประมาณ 3 ล้านล้านบาท หรือ 90% ของจีดีพี 4 ปีในช่วงโควิดเพิ่มขึ้นมา 20% ตรงนี้ต้องช่วยเขา ที่เขาเกิดหนี้ เพราะเราช่วยเหลือเขาไม่มากพอ เช่น พักหนี้หรือพักดอกเบี้ย แม้จะยากมาก ซึ่งหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปดูแล แต่ดูแลได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น 

 "ผมมองว่าทำยังไงก็ได้ให้เงินไปสู่คนจน หนี้ครัวเรือนที่ค้างอยู่ 3 ล้านล้านบาท ถ้าไม่แก้ก็จะกระทบการออมของประเทศ เงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท  ที่รัฐบาลให้ก็จะถูกเอาไปใช้หนี้แทน ไม่ช่วยเศรษฐกิจอะไรเลย ไม่เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเงินก็จะไปอยู่กับคนที่ปล่อยกู้ที่เป็นนายทุนทั้งหลาย ในเชิงเศรษฐกิจมหภาค เงิน 5 แสนล้านนี้จะเป็นภาระหนี้ของรัฐ กระทบงบประมาณ วินัยการเงินก็เสียหาย เพราะเพิ่มหนี้ 5แสนล้าน สุดท้ายระบบการผลิตไม่เกิด  ซึ่งไม่ช่วยให้คนทำมาหากิน แต่ช่วยให้คนเอาเงินไปชำระหนี้ ดังนั้นเรื่องหนี้จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแล และเงินที่ให้ต้องทำให้เงินมันอยู่ในระบบการทำมาหากินให้ได้ ที่ผ่านมากองทุนหมู่บ้านหลายกองทุนพิสูจน์แล้วว่ายังมีเงินเหลือ หมุนเวียนอยู่ แม้ว่าบางหมู่บ้านจะไม่มีเหลือก็ตาม" ดร.ทนงกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง