ตั้งกก.ศึกษาทำประชามติ

"ครม.เศรษฐา" มอบ "ภูมิธรรม" ตั้งกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติแก้ รธน. เปิด ปชช.ร่วมออกแบบประชาธิปไตย ย้ำต้องรอบคอบไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ลั่นเปิดฟังความเห็นทุกฝ่าย เคาะแบ่งงาน 6 รองนายกฯ เน้นคุมกระทรวงในสังกัด  "โฆษกรัฐบาล" เผยนายกฯ สั่งสำรวจคำสั่งเก่า คสช. เสนอ 25 ก.ย. ไร้ประโยชน์ยกเลิกหมด "สุทิน" แจงตั้ง "บิ๊กเล็ก" เลขาฯ รมว.กลาโหม อย่ามองเด็กเก่า  "บิ๊กตู่-ป้อม"

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 13 ก.ย. เวลา 08.22 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เดินทางถึงทำเนียบฯ ด้วยรถยนต์ส่วนตัวยี่ห้อเลกซัส สีดำ ป้ายแดง ทะเบียน ถ-6506 เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 โดยรถมาจอดที่ตึกบัญชาการ 1 ซึ่งเป็นห้องประชุม ครม.

นายเศรษฐาสวมเสื้อผ้าไทยสีน้ำเงิน พร้อมถือเอกสารในมือ มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส กล่าวสวัสดีทักทายสื่อมวลชน   เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าง่วงหรือไม่ หลังเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ประชุมสภาปิดดึก นายกฯกล่าวว่า ง่วงนิดหน่อย เมื่อคืนดึก นอนไปได้ 4 ชั่วโมง จากนั้นนายกฯ ได้เดินขึ้นตึกบัญชาการ 1 โดยมีนายชัย วัชรงค์ ว่าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มารอรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม.ครั้งนี้ มีเรื่องเพื่อพิจารณา 2 เรื่อง และมี ครม.แจ้งลาประชุม 1 คน คือ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

จากนั้น เวลา 09.09 น. นายเศรษฐาเป็นประธานการประชุม ครม.นัดแรก  พร้อมกล่าวเริ่มการประชุมตอนหนึ่งว่า  ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยเป็นกำลังใจให้และช่วยตอบคำถามฝ่ายค้านในช่วงการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาตลอด 2 วันที่ผ่านมา เมื่อคืนดึกไปหน่อย แต่ขอบคุณทุกคนที่อุตส่าห์อยู่เป็นเพื่อนกัน และหลังจากแถลงนโยบายเสร็จสิ้นแล้ว เราทุกคนก็ต้องเริ่มทำงานเต็มรูปแบบทันที

นอกจากนี้ ช่วงหนึ่งในการประชุม  นายกฯ ยังได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความเห็นต่างของคนไทยตามรูปแบบประชาธิปไตยในที่ประชุมด้วย

ภายหลังการประชุม ครม. เวลา 11.55 น. นายเศรษฐาแถลงผลประชุมว่า มีการสรุปวาระ ครม.หลายเรื่อง โดยเรื่องแรกที่มีการพูดคุยกันคือการจัดตั้งคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติครบ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีหน้า เพื่อให้สมพระเกียรติ และขอให้ประชาชนมีส่วนร่วม

"เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องที่ทุกคนอยากให้มี อยากให้เกิดขึ้น เราจึงมีการสั่งการไปเลยเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในรัฐธรรมนูญปี 2560 เห็นชอบให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรองนายกฯคนที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ โดยใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ  เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน" นายกฯ ระบุ

ด้านนายภูมิธรรมกล่าวว่า รัฐบาลถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ  และจะเริ่มดำเนินการโดยเร็วที่สุด ซึ่งเราเคยพูดแล้วว่าแต่ละฝ่ายมีความเห็นซึ่งแตกต่างกัน และมีความขัดแย้ง แต่เราไม่ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเรื่องติดขัด

ลุยทำประชามติแก้ รธน.

ถามว่า จะมีการให้ทำประชามติก่อนที่จะดำเนินการใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ก็จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกัน แล้วทำเป็นกระบวนการต่างๆ ให้เร็วที่สุด ส่วนการทำประชามตินั้น จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามกระบวนการ โดยจะต้องขจัดความขัดแย้ง และแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เร็วที่สุด ซึ่งรายละเอียดจะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง

ซักว่า มีการคาดการณ์หรือไม่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนเท่าไหร่ในการทำประชามติ นายภูมิธรรมกล่าวว่า จะต้องไปพูดคุยกันว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร

"การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะเห็นได้จากการแก้ไขในครั้งที่ผ่านมา ที่มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แต่ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบ ผ่านเพียงฉบับเดียว และมีความขัดแย้งเกิดขึ้น จนถึงขั้นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าอำนาจหน้าที่อยู่ตรงไหน และอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ แม้แต่เรื่องกระบวนการการเข้าสู่การทำประชามติ ซึ่งมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้นในการแก้ไขครั้งนี้ จะต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมาย และไม่ใช้งบประมาณมากจนเกินไป" นายภูมิธรรมกล่าว

เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลได้มีการพูดคุยกันหรือไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยกัน ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เดี๋ยวคงต้องหารือกัน ซึ่งจะทำอย่างไรก็ได้เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ และให้มีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น รวมถึงการหลีกเลี่ยงการเกิดความขัดแย้งต่างๆ ในอนาคต

ส่วนนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญว่า พรรคเพื่อไทยเคยยื่นแก้ไขไปแล้ว 2 วาระ แต่ติดคําสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้เอากลับไปฟังความเห็นของประชาชน ดังนั้นในรอบนี้จึงจะต้องมีการทำประชามติให้ประชาชนมีส่วนแสดงความเห็น ว่าประชามติควรมีคำถามอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าเราคิดเอง แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม เมื่อได้แนวทางแล้วจึงจัดทำประชามติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีข้อสังเกตว่าการแก้ไขนี้ต้องมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และต้องไม่แก้หมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

ถามถึงแนวทางแก้รัฐธรรมนูญที่จะถามความเห็นประชาชนก่อนตั้งเป็นคำถามประชามติจะใช้วิธีการอย่างไร นายชัยกล่าวว่า นายกฯ แต่งตั้งให้นายภูมิธรรมตั้งคณะกรรมการเชิญชวนตัวแทนประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นเพื่อให้ได้ความเห็นร่วมกันว่าควรตั้งประเด็นถามประชามติอย่างไร เพราะการทำประชามติแต่ละครั้งใช้งบหลายพันล้านบาท จึงต้องออกแบบให้ชัดเจนถามทีเดียวให้ได้เรื่อง ส่วนรายละเอียดจะคัดเลือกประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นอย่างไรยังไม่ทราบ แต่เรามีหลักการว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ซักถึงกรอบระยะเวลาในการรวมความเห็นเพื่อตั้งคำถามประชามติ  โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า  นายกฯ ระบุให้ดำเนินการเร็วที่สุด โดยไม่ได้วางกรอบเวลาไว้

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมากลุ่ม iLAW (ไอลอว์) รวมถึงภาคส่วนต่างๆ เคยมีความเห็นเกี่ยวกับคำถามที่จะให้ทำประชามติออกมาบ้างแล้ว ทำไมไม่นำมาเป็นแนวทางเพื่อทำประชามติ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ข้อเสนอไอลอว์ รวมถึงภาคส่วนต่างๆ เราจะรับฟัง ถ้าไม่มีความเห็นอื่น ก็จะพิจารณาจากแหล่งดังกล่าวเป็นหลัก แต่ก็มีประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่มีความเห็นต่าง เราจึงต้องรับฟัง

"การดำเนินการเช่นนี้ไม่ใช่การทำงานซ้ำซ้อน เพราะถ้าฟังแต่แนวคิดที่ออกมา ก็จะมีคนออกมาท้วงติงว่าไม่ได้แสดงความคิดเห็น เพราะประเทศมีความหลากหลาย คนที่มีความเห็นต่างก็มี อย่าไปมองว่ารัฐบาลจะดึงเวลา ขอให้รัฐบาลได้ทำความเข้าใจ จะได้ไม่ไปเถียงกันทีหลัง" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

เคาะแบ่งงานรองนายกฯ

มีรายงานว่า ในที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบเรื่องมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ดูแลงาน ก.เกษตรและสหกรณ์, ก.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ก.พาณิชย์ และ ก.สาธารณสุข รวมทั้งดูแลงานในส่วนของสนง.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, สนง.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ, สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน), สนง.คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สนง.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, สนง.คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ดูแลงาน ก.คมนาคม, ก.ยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ), กรมประชาสัมพันธ์, สนง.คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สนง.ราชบัณฑิตสภา นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ ดูแลงาน ก.ต่างประเทศ, ก.ท่องเที่ยวและกีฬา, ก.วัฒนธรรม, สนง.คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, สนง.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สนง.คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และ สนง.คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ดูแลงาน ก.อุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ก.มหาดไทย, ก.แรงงาน, ก.ศึกษาธิการ, สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องการมหาชน) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลงาน ก.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ดูแลงาน ก.พลังงาน, ก.อุตสาหกรรม

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลงาน กรมประชาสัมพันธ์, สนง.คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก, สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สนง.ราชบัณฑิตยสภา, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน),  สนง.พัฒนาพิงคนคร (องค์การหาชน),  สนง.พัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การหาชน), สนง.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

นอกจากนี้ ครม.มีมติเห็นชอบมอบหมายให้รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ ตามลำดับ ดังนี้ ในกรณีที่นายกฯ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ครม.มอบหมายให้รองนายกฯ เป็นผู้รักษาราชการแทนนายกฯ ตามลำดับ ดังนี้  1.นายภูมิธรรม เวชยชัย 2.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 3.นายปานปรีย์ พหิทธานุกร 4.นายอนุทิน ชาญวีรกูล 5.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ 6.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ครม.ยังมีมติเห็นชอบตามที่ ก.กลาโหม เสนอแต่งตั้ง พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ดำรงตำแหน่งเลขานุการ รมว.กลาโหม ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.เป็นต้นไป

ขณะที่นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเพิ่มติมว่า ที่ประชุม ครม. นายกฯ ได้สั่งการในที่ประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนบทบาทภาครัฐ จากการเป็นผู้กำกับดูแล หรือคุณพ่อที่รู้ดี ให้ไปดูในทุกกระทรวงที่ผ่านมาว่ามีมติ ครม.อะไรบ้าง ที่ตั้งคณะกรรมการต่างๆ ซึ่งเลขาฯ ครม.ระบุว่ามี 178 ชุด จึงมีคำสั่งให้ไปดูว่าคณะกรรมการทุกชุดที่ถูกตั้งขึ้นมามีอะไรบ้างที่ควรให้มีต่อ พร้อมด้วยเหตุผล และส่งกลับมาในวันที่ 25 ก.ย. ถ้าไม่มีเหตุผลและข้อเสนอที่ดีพอ ก็ให้ยกเลิกทั้งหมด รวมถึงให้กระทรวง ทบวง กรม ที่ในอดีตรับคำสั่งหรืออำนาจจาก คสช. แล้วยังต้องปฏิบัติการตามนั้น ให้ไปทบทวนว่าคําสั่ง คสช.อันไหนที่ยังมีความจำเป็นต้องคงไว้หรือไม่ หากไม่เสนอมาในวันที่ 9 ต.ค. ให้ถือว่ายกเลิก

ล้างคำสั่งมาตรา 44 คสช.

ถามถึงกรณีการจะยกเลิกคำสั่ง คสช. จะใช้วิธีการใดในการดำเนินการ นายชัยกล่าวว่า มติ ครม.ก็ยกเลิกได้ ตอนนี้รัฐบาลนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ยกเลิกได้อยู่แล้ว

ย้ำว่ามติ ครม.สามารถยกเลิกมาตรา 44 ได้หรือไม่ โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวว่า คำสั่งอะไรก็ตามของ คสช. ภายในวันที่ 9 ต.ค. ถ้าไม่มีเสนอเข้ามาว่าจะขอใช้ต่อให้มีผลยกเลิกทันที ซึ่งเป็นกลไกที่มีคำสั่งออกมาเรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่เสนอเข้ามายกเลิกเลย เมื่อถามย้ำว่าเรื่องดังกล่าวเป็นข้อสั่งการนายกฯ หรือเป็นมติคณะรัฐมนตรี นายชัยตอบว่า เป็นข้อสั่งการ

นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวถึงการแต่งตั้ง พล.อ.ณัฐพลเป็นเลขาฯ รมว.กลาโหม และ พล.อ.สมศักดิ์ เป็นที่ปรึกษา รมว.กลาโหม ว่าเพราะมีคุณสมบัติและรู้เรื่องกองทัพมาช่วย รวมถึงมีจิตใจที่อยากมาช่วยงานตน มีความรู้และมีความสามารถ เข้าใจเรื่องระบบการบริหารของกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่าไม่ใช่เด็กฝากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

"ท่านพักผ่อนแล้ว ไม่ควรมองว่าทุกคนที่ช่วยงานกองทัพเป็นลูก พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ ไปเสียหมด  ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี คงจะเข้ามาอีกล็อต พร้อมกับของทุกกระทรวง" นายสุทินกล่าว

ต่อมา นายสุทินถือฤกษ์วันที่ 13 เวลา 13.13 น. เข้ากระทรวงกลาโหม ได้สักการะเจ้าพ่อหอกลอง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงกลาโหม ก่อนที่จะเข้าพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศผสม 3 เหล่าทัพ ณ ลานอเนกประสงค์ภายในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นพลเรือนคนแรกที่ไม่ได้เป็นนายกฯ แต่ได้รับการตรวจแถวกองเกียรติยศ ก่อนประชุมมอบนโนบายการทำงานให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ

มีรายงานว่า ที่นายสุทินถือฤกษ์เลข 13 ถือเป็นเลขมงคลชีวิตของนายสุทิน ซึ่งรับราชการครูวันแรกในวันที่ 13 เป็น สส.สมัยแรก ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ในวันที่ 13 และหลายเหตุการณ์ในชีวิตที่ตรงกับเลข 13 จึงถือฤกษ์วันที่ 13 ก.ย.66 เวลา 13.13 น. เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ รมว.กลาโหมวันแรกเช่นเดียวกัน

ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายไชยา พรหมา และนายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นย้ำการดูแลเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ให้อยู่ดีมีสุข มีรายได้อย่างมั่นคง

เช่นเดียวกับที่กระทรวงมหาดไทย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย ในฐานะโฆษกมหาดไทย  กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ลงนามคำสั่งมอบหมายอำนาจหน้าที่ โดยนายอนุทินดูแลงาน กรมการปกครอง กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นต้น ส่วนนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ดูงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกำกับดูแลการประปานครหลวง, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ดูกรมการพัฒนาชุมชน กรมที่ดิน และกำกับดูแลการประปาส่วนภูมิภาค, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ดูงานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และองค์การตลาดและองค์การจัดการน้ำเสีย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด 

‘อันวาร์’ โชว์ภาพคู่ ’ทักษิณ’ ถกดับไฟใต้-แก้วิกฤตเมียนมา ตอกย้ำ ‘อิ๊งค์‘ นายกฯตัวปลอม!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่ารู้สึกยินดีที่ได้พบกับอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยและเพื่อนรักอย่าง ดร.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อหารือกันอย่างน่าสนใจ ครอบคลุม และมีประโยชน์ รวมทั้งในฐานะที่ปรึกษาไม่เป็นทางการของมาเลเซียในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน