แถลงนโยบายวันสุดท้ายระอุ! ก้าวไกลพาเหรดขยี้ไม่ตรงปก อัดทำตัวเหมือนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวง ซัดเป็นนายกฯ ส้มหล่น จี้ถามวันเวลาขึ้นค่าแรง “เศรษฐา” แจงปรับแน่ 400 บาทเร็วที่สุด เด็ก ปชป.อัดเป็นโรคหลงลืมประชาชน “รมช.การคลัง” หน้านิ่งแจงยุคนี้ไม่มีเงินทำเป็นรัฐสวัสดิการได้ สุริยะประกาศแล้วรถไฟฟ้า 20 บาทจะทำใน 3 เดือน เส้นสีแดง-ม่วง ส่วนอีก 2 ปีทำทุกเส้น “ชวน” เปิดสาเหตุไม่เลือกเสี่ยนิด พร้อมกรีดเรื่องเลือกปฏิบัติและไฟใต้ “เศรษฐา” ลั่นจะเป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน
เมื่อวันอังคารที่ 12 กันายน 2566 เป็นวันที่สองและวันสุดท้ายในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
โดยก่อนเวลาประชุม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลในวันแรกว่า เป็นบรรยากาศที่ดี สร้างสรรค์ และมีการแบ่งสรรเวลาได้ดี ซึ่งมีข้อเสนอบางข้อที่เรานำกลับไปพิจารณาได้
เมื่อถามว่า คิดว่ารัฐบาลชี้แจงได้เคลียร์หรือไม่ ซึ่งสมาชิกบางส่วนอาจตั้งข้อสังเกตเรื่องนโยบาย นายกฯ กล่าวว่า พยายามให้เคลียร์ที่สุด เรายังไม่ได้เข้าบริหารเลย ซึ่งต้องไปดูรายละเอียดของแต่ละกระทรวงอีกทีในเรื่องงบประมาณ วิธีการทำงาน กรอบเวลา และกฎหมาย ซึ่งต้องเห็นใจนิดหนึ่ง เพราะยังไม่ได้เข้าไปบริหารเลย จะสั่งการเพื่อทำอะไรก็ตามสามารถสั่งได้หลังแถลงนโยบาย
ถามอีกว่า หลายๆ นโยบายสมาชิกทวงถามที่พรรคเพื่อไทย (พท.) หาเสียงไว้ แต่กลับไม่ได้ลงรายละเอียดในการแถลงนโยบาย นายเศรษฐากล่าวว่า นโยบายคือนโยบายหลักโดยรวม นโยบายด้านคมนาคม ด้านการยกระดับความเป็นอยู่พี่น้องประชาชน สิทธิเสรีภาพเราพูดครอบคลุม ส่วนแผนการปฏิบัติการ ต้องไปดูอีกทีหลังจากที่ได้เข้าไปบริหารจัดการแล้ว
เมื่อถามว่า ในการประชุม ครม.นัดแรกวันที่ 13 ก.ย. จะมีประเด็นอะไรสำคัญที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลที่จะพิจารณาเลยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เป็นคำถามที่ดี จะมีเยอะมากในการประชุม ครม.วันที่ 13 ก.ย.นี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน วีซ่าฟรี และอีกหลายๆ เรื่อง ซึ่งมีเรื่องเยอะมาก
ถามต่อว่า แสดงว่ามีอะไรจะเซอร์ไพรส์ประชาชนตั้งแต่ ครม.นัดแรกเลยใช่หรือไม่ นายเศรษฐายิ้มพร้อมกับกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าจะทำให้แปลกใจหรือเซอร์ไพรส์มีอะไรบ้าง แต่มีนโยบายเยอะและหลายๆ อย่างจะเป็นการตอบโจทย์สิ่งที่แถลงนโยบายไปบ้างในเบื้องต้น และหลายๆ พรรคการเมืองที่มาร่วมในรัฐบาลของประชาชนนี้ที่เสนอนโยบายให้กับพี่น้องประชาชนก็จะพยายามนำมาทำให้ได้เร็วที่สุด ฉะนั้นจะมีหลายเรื่อง
ทั้งนี้ การอภิปรายนโยบายรัฐบาลในวันที่ 11 ก.ย.นั้น สำนักประชุมสภาได้สรุปไว้ว่า ครม.ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 24 นาที คงเหลือเวลา 3 ชั่วโมง 35 นาที, สว.ใช้เวลา 3 ชั่วโมง 21 นาที คงเหลือ 1 ชั่วโมง 38 นาที, สส.พรรคร่วมรัฐบาลใช้เวลา 3 ชั่วโมง 1 นาที คงเหลือ 1 ชั่วโมง 58 นาที, สส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ใช้เวลา 7 ชั่วโมง 32 นาที เหลือเวลา 6 ชั่วโมง 27 นาที และเวลาของประธานใช้เวลา 31 นาที คงเหลือ 29 นาที ดังนั้นเวลาที่ใช้รวมทั้งสิ้น 15 ชั่วโมง 50 นาที คงเหลือ 14 ชั่วโมง 9 นาที
คลอดแผนปราบยาเสพติด
ต่อมาในเวลา 09.10 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมแถลงนโยบายของรัฐบาล โดยให้สมาชิกอภิปรายต่อเนื่องจากวันที่ 11 ก.ย. โดยไม่เช็กองค์ประชุม โดยนายวีระศักดิ์ ภูครองหิน สว. ได้อภิปรายเสนอแนะให้รัฐบาลปรับกรอบเวลาแก้ปัญหายาเสพติดจากที่กำหนดไว้ในกรอบระยะกลางและยาวเป็นระยะสั้น เพื่อให้ทำได้ทันที โดยเฉพาะการกำหนดนิยามผู้เสพ คือผู้ป่วย ต้องทำความเข้าใจที่ชัดเจน ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระดับนโยบาย
จากนั้นนายเศรษฐาชี้แจงว่า ปัญหายาเสพติด รัฐบาลที่มาจากประชาชนถือว่าสำคัญมาก มีการเรียกร้องจากประชาชนไม่ด้อยไปกว่าเรื่องของเศรษฐกิจปากท้อง เรื่องผู้เสพเป็นผู้ป่วยเราจัดการแน่นอน ส่วนเรื่องการจัดการเกี่ยวกับผู้กระทำความผิด การยึดทรัพย์ ยังเป็นปัญหาอยู่ รัฐบาลตระหนักดีถึงความสำคัญถึงการยึดทรัพย์โดยเร็ว รวมถึงการทำลายยาเสพติดที่จับได้
“เราตระหนักถึงปัญหานี้ดี จึงอาจมีแผนระยะสั้นเพื่อเร่งรัด ยืนยันว่าเราให้ความสำคัญสูงสุดให้สถาบันครอบครัวกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง เรื่องยาเสพติดมีความสำคัญ แต่ต้องใช้เวลาพอสมควร โดยอาทิตย์นี้จะประชุมคณะกรรมการทั้งหมด และวางแผนระยะสั้น กลาง และยาว ก่อนแถลงต่อประชาชนอีกครั้ง”
ต่อมาเวลา 09.50 น. นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายเรื่องนโยบายแรงงานว่า ท่านอย่าลบนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำออกจากเพจพรรคเพื่อไทย อย่าทำเหมือนบางพรรคที่หาเสียงไว้ตอนปี 2562 ว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทต่อวัน พอทำไม่ได้ก็แอบไปลบจากเพจพรรค มันจะว้าวุ่นเอา ล้อพรรคอื่นไว้เยอะ จึงไม่ขออะไรนายกฯ มาก ขอเพียงให้ท่านเป็นคนที่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับผู้ใช้แรงงานตามที่หาเสียงไว้
“ค่าจ้างขั้นต่ำใครสั่งให้ท่านถอดค่าจ้างขั้นต่ำออกจากนโยบาย หรือกลุ่มทุนผูกขาดที่นั่งร่วมโต๊ะอาหารกับท่าน หรือพรรคการเมืองสั่งท่าน ท่านอย่ายอม เป็นนายกฯ อย่ายอมให้รัฐมนตรีขี่คอ เสียชื่อหมด” นายเซียกล่าว และว่า เมื่อคืนนายกฯ ชี้แจงว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เร็วที่สุด อยากถามว่าเร็วที่สุดเมื่อไหร่ 1 ต.ค.2566, 1 ม.ค.2567 หรือ 1 ม.ค.2570 วันไหน เอาให้ชัดๆ ไปเลย พี่น้องแรงงานจะได้ทราบว่านโยบายที่หาเสียงไว้จะทำแน่นอนภายในวันที่ไหร่ ถ้ากั๊กไม่ชัดเจน อาจมีแรงงานว่ากะล่อนหลอกลวงเหมือนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คำพูดคนเราสำคัญ ท่านเคยฟังนิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะหรือไม่ เรื่องนี้ใช้งบไม่มาก ใช้แค่ความกล้าหาญ ทำตามสัญญาเหมือนตอนหาเสียง ถ้าทำได้ก็จะยกระดับชีวิตแรงงาน ถ้าทำได้จะมีเกียรติศักดิ์ศรี ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน
จากนั้น นายศิริโรจน์ ธนิกกุล สส.สมุทรสาคร พรรค ก.ก. อภิปรายต่อเนื่องเรื่องแรงงานว่า ดูเหมือนรัฐบาลใหม่ลืมพี่น้องแรงงานทั้งระบบ เพราะนอกจากคำว่าทำให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงระบบสวัสดิการที่เหมาะสม และการเปิดรับแรงงานต่างด้าวแล้ว นายกฯ ไม่ได้กล่าวถึงพี่น้องแรงงานอีกเลย ไม่มีรายละเอียดว่าเข้าถึงระบบสวัสดิการเหมาะสมคืออะไร หรือเปิดรับแรงงานต่างด้าวจะแตกต่างอะไรกับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ เคยทำมาบ้าง ซึ่งนโยบายของพรรค พท.ที่หาเสียง ค่าแรง 600 บาทในปี 2570 ค่าแรงขึ้นทันทีปีหน้าจำได้หรือไม่ หรือเงินเดือน 25,000 บาทปริญญาตรี จำได้หรือไม่
“นายเศรษฐาพูดว่า เดินทางมา 60 วัน ไข้ขึ้นมา 11 วันแล้ว เหนื่อยขนาดนี้ ผมไม่เอากระทรวงดีๆ ไปให้พวกนั้นหรอก แต่สุดท้ายกระทรวงแรงงานกลับตกไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ทั้งที่พรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีนโยบายเกี่ยวกับแรงงานที่ชัดเจน เหตุใดนายกฯ จึงมอบให้พรรคนี้ดูแลกระทรวงแรงงาน”
ก้าวไกลอัดนายกฯ ส้มหล่น
จากนั้นนายศิริโรจน์ได้สวมใส่เสื้อไรเดอร์สีเขียว พร้อมกล่าวว่า เคยเป็นไรเดอร์ส่งอาหารมาก่อน พี่น้องไรเดอร์เหล่านี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำงาน ปัญหาเกิดในทุกแพลตฟอร์ม ผิดหวังกับคำแถลงของนายกฯ เป็นอย่างมาก เพราะท่านลืมสิ่งที่ท่านให้ความหวังกับไรเดอร์ไปแล้ว หวังว่าสิ่งที่ตั้งคำถาม พวกท่านจะมีคำตอบในทุกประเด็น เพื่อคลายความกังวลให้พี่น้องแรงงาน รวมไปถึงสิ่งที่พรรคท่านได้หาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง จะไม่ใช่การโฆษณาเพื่อให้ได้มาเพื่อคะแนนเสียงเท่านั้น แต่จะมุ่งมั่นตั้งใจให้แรงงานไทย ประชาชนทุกคนอยู่ดีกินดี มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ให้สมกับการเป็นนายกฯ ของประชาชน ไม่ใช่นายกฯ ส้มหล่นอย่างที่ใครเขาว่ากัน
เมื่อมีการอภิปรายถึงจุดนี้ นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประท้วงการทำหน้าที่ของประธานที่ประชุม พร้อมเรียกร้องให้เคร่งครัดการบังคับใช้ข้อประชุมรัฐสภา เพราะเวทีรัฐสภาไม่ใช่โรงแสดง ประธานผ่อนปรนข้อบังคับทำให้สภาไร้ระเบียบและวินัย ทั้งที่ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐบาลเขียนไว้ชัดเจนว่า การอภิปรายต้องไม่วนเวียน เสียดสี ไม่ทำให้ใครเสียหาย ไม่นำเอกสารยืนอ่านโดยไม่จำเป็น แต่ปัจจุบันมีนักอ่านเก่งๆ ในสภา เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี
ต่อจากนั้น น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร สส.ขอนแก่น พรรค พท. ลุกประท้วงนายศิริโรจน์ และขอให้ถอนคำพูดที่ระบุพาดพิงนายกฯ ว่าเป็นรัฐบาลส้มหล่น ถือเป็นการด้อยค่า เพราะข้อเท็จจริงคือ เมื่อพรรค ก.ก.ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ต้องส่งไม้ต่อมาให้พรรค พท. และนายกฯ ได้รับการเลือกจากรัฐสภาและได้รับการโปรดเกล้าฯ ดังนั้นขอให้ถอนคำพูด เพราะทำให้เกิดความเสียหายกับนายกฯ ที่ยังไม่ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ
ทำให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ลุกขึ้นตอบโต้การอภิปรายของ สส.พรรคก้าวไกล เพื่อสะท้อนปัญหาของผู้ใช้แรงงานกลุ่มไรเดอร์ ดังนั้นกรณีที่ สส.ทักท้วงแสดงว่าไม่ได้ให้ความสนใจปัญหาความเดือดร้อน และเข้าหาตอนหาเสียงเท่านั้น
ขณะที่การประท้วงของ สส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทยนั้น นายวิโรจน์ได้ย้ำคำว่า นายกฯ เศรษฐาเป็นนายกฯ ส้มหล่นอยู่หลายครั้ง โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประท้วงจาก สส. 3 พรรคยังคงตอบโต้กันไปมา เพราะ สส.ก้าวไกลไม่ยอมถอนคำพูด ทำให้นายพัฒนา สัพโส สส.สกลนคร พรรค พท. ลุกขึ้นประท้วงนายวิโรจน์ว่า “ผมได้ยินข่าวว่าจะอภิปรายสร้างสรรค์ ผมให้เกียรติทางน้องๆ ประเด็นนี้อยากให้ถอนและจบ เพื่อเดินต่อ”
ทำให้นายวิโรจน์ลุกประท้วงกลับว่า “เรียกผมว่าน้องๆ ผมไม่มีพี่ชายสันดานแบบเขา” ทำให้นายพรเพชรต้องยกมือเพื่อห้ามศึกและปิดไมโครโฟนของทั้ง 2 ฝั่ง ก่อนวินิจฉัยให้ สส.พรรคก้าวไกล ทั้งนายวิโรจน์และนายศิริโรจน์ถอนคำพูดที่ไม่เหมาะสมและตามที่ถูกประท้วง จากนั้นให้การอภิปรายนโยบายรัฐบาลดำเนินต่อไป ซึ่งการประท้วงดังกล่าวกินเวลาประชุมไปประมาณ 15 นาที
จากนั้นเวลา 10.40 น. นายเศรษฐาได้ชี้แจงว่า ได้นั่งฟังอยู่ก็ใจเย็นกันนิดหนึ่ง เรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องสำคัญ หลายคนมีความเป็นห่วง สังคมต้องได้รับการดูแล มีรายได้ที่เหมาะสม เพียงพอต่อการใช้จ่ายประจำวัน เรื่องนี้เราจะเจรจาสามฝ่ายระหว่างแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล เพื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่ 400 บาทโดยเร็วที่สุด
ต่อมา นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า รัฐบาลของท่านเหมือนเรือที่พาคนไทยออกเดินทางท่ามกลางคลื่นปัญหาที่หลากหลาย ประชาชนมีความคาดหวังสูงว่ารัฐบาลชุดใหม่จะนำพาคนไทยฝ่าคลื่นไปได้ แต่วันนี้เริ่มไม่มั่นใจว่าเรือของนายกฯ และรัฐบาลจะพาประชาชนไปได้ถึงไหน เพราะหลายนโยบายที่ไม่ตรงปก หลายนโยบายไม่มีอยู่จริง หลายนโยบายเขียนไว้ผิวเผิน ไม่มองลึกถึงต้นตอของปัญหา คลื่นใต้น้ำ เช่น ปัญหาทุนผูกขาด คอร์รัปชัน โครงสร้าง และไม่มั่นใจเรื่องความไม่เหมาะสมของรัฐมนตรี ผิดฝาผิดตัว เอาตำรวจมาคุมการศึกษา เกษตร สิ่งแวดล้อม และอาจมีตัวแทนกลุ่มทุนยักษ์ใหม่ด้านเกษตร อาหาร พลังงาน มานั่งบริหารบางกระทรวง แย่กว่านั้นประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดหรือไม่
“ที่ปัญหาที่ผมเป็นห่วงกับรัฐบาลนี้คือ โรคหลงลืมประชาชน ที่ท่านได้หาเสียงไว้กับประชาชน พี่น้องฝากรัฐบาลไว้กับโรคหลงลืมประชาชนด้วย”
เศรษฐาลั่นไม่ลืมประชาชน
ต่อมาเวลา 11.23 น. นายเศรษฐาชี้แจงว่า ไม่ลืมแน่นอน รัฐบาลนี้มาจากประชาชน ไม่หลงลืมถึงความยากแค้นของประชาชน ขนาดยังไม่ได้รับอำนาจเต็มที่ก็ลงพื้นที่ไปแล้ว ลงไปรับฟังความคิดเห็นแล้ว ลงไปฟังประชาชน มีความตั้งใจอย่างจริงจัง จึงขอบคุณสำหรับคำเตือนที่ให้มา
ต่อมานายถวิล เปลี่ยนศรี สว. อภิปรายว่า ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงการปฏิบัติตามหลักยุติธรรมและนิติธรรม พร้อมยกตัวอย่างกรณีนักโทษชายหนีคดีอยู่ต่างประเทศหลายปี และล่าสุดกลับมาประเทศไทย พบว่าได้รับสิทธิพิเศษตั้งแต่วันแรกที่เดินทางกลับ และอยู่ในเรือนจำไม่กี่ชั่วโมง ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงการวางหลักและมาตรฐานตามกระบวนการยุติธรรม อย่าให้กรณีที่เกิดขึ้นนั้นกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่ทำให้ความรู้สึกของคนทั้งประเทศและเกิดเหตุที่ไม่มีใครคาดคิดขึ้น
ต่อมาเวลา 12.35 น. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ลุกขึ้นชี้แจงในเรื่องพลังงานว่า เรื่องราคารัฐบาลจะเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยการแก้ไขปัญหาระยะสั้นจะต้องเร่งแก้ไขทันทีเท่าที่ทำได้ภายใต้โครงสร้างปัจจุบัน แต่ระยะยาวเราก็ต้องดูเรื่องราคาพลังงานเหล่านี้ ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าว่าจะปรับปรุงอย่างไร เพื่อให้เกิดโครงสร้างระยะยาวที่สามารถทำให้เกิดการให้พลังงานที่เพียงพอในราคาที่เป็นธรรม เหมาะสมกับประชาชน
“ขอให้สมาชิกมั่นใจได้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนมากกว่าการทำธุรกิจด้านพลังงาน เราจะทำให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงการให้บริการด้านพลังงานในราคาที่เหมาะสม และจะวางโครงสร้างในระยะยาวเพื่อให้เกิดความมั่นคงในด้านพลังงาน” นายพีระพันธุ์กล่าว
ต่อมาเวลา 13.12 น. นายเศรษฐา ลุกขึ้นชี้แจงย้ำถึงการพักหนี้เกษตรกรว่า รัฐบาลตระหนักดีถึงความเดือดร้อนของประชาชนทุกคน นอกเหนือจากปากท้องแล้ว เรื่องการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรก จะมีเรื่องการพักหนี้เข้าสู่ที่ประชุมเป็นเรื่องเร่งด่วนจะทำให้ได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยเป็นการพักหนี้ทั้งต้นและดอก พร้อมแผนสร้างรายได้ ขณะที่เรื่องของรายได้ครูและข้าราชการนั้น ถือเป็นภาคส่วนสำคัญในการดูแลประชาชน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ และรับปากว่าจะไปดูแลเรื่องรายได้ให้เหมาะสมกับงบประมาณ โดยรักษาไว้ซึ่งวินัยการเงินการคลัง
จากนั้น เวลา 13.20 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ลุกขึ้นชี้แจงว่า การแก้ปัญหาการพักหนี้เกษตรกร เชื่อมั่นว่าภายในไตรมาสนี้จะเดินหน้าแก้ปัญหาได้ ส่วนการพูดถึงสวัสดิการถ้วนหน้า เราต้องตื่นจากความฝันและอยู่กับความเป็นจริง เนื่องจากจีดีพีของไทยต่ำกว่าประเทศที่ทำสวัสดิการถ้วนหน้ามาก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่การจัดเก็บภาษียังไม่สามารถอยู่ในจุดที่เราทำสวัสดิการถ้วนหน้าได้ จริงๆ เราเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลกันมาช่วงหนึ่ง ทราบดีว่าข้อจำกัดคืออะไร อยากถามกลับว่าหากท่านต้องการให้ทำสวัสดิการถ้วนหน้า ท่านคาดว่าจะเอางบประมาณมาจากไหน หรือจะเอาเงินมาจากการขายทรัพย์สินของรัฐมาทำสวัสดิการถ้วนหน้า หรือจะขายกองทุน กู้แบงก์ แต่สำหรับรัฐบาลนี้ เราตระหนักเรื่องวินัยการเงินการคลัง ฉะนั้นเราคงทำแบบนั้นไม่ได้
ต่อมา นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล อภิปรายเรื่อง PM 2.5 ว่า หลังจากอ่านคำแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดนี้แล้ว กังวลใจเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหาใหญ่อย่าง PM 2.5 ที่นายกฯ ระบุว่าเป็นวาระแห่งชาติ กลับไม่มีนโยบายใดๆ ที่เป็นรูปธรรมเลย ขอแนะว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าท่านอาจต้องหาเสียงด้วยวิธีที่เขียนไว้ท้ายนโยบายเลยว่า นโยบายนี้สามารถทำได้จริง นโยบายนี้ใช้เพื่อการหาเสียงเท่านั้น หรือนโยบายนี้ทำได้ต่อเมื่อร่วมรัฐบาลกับพรรคอะไร เอาให้มันชัด เพื่อให้คนเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์นี้ไปเลือกท่านเพิ่มขึ้น
ย้ำ 3 เดือนรถไฟฟ้า 20 บาท
สำหรับการแถลงนโยบายรัฐบาลในช่วงบ่าย มีรัฐมนตรีทยอยชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่สมาชิกซักถาม ทั้ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ชี้แจงกรณีรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเป็นนโยบายที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมแน่นอน แต่เนื่องจากเส้นทางมีระบบแตกต่างกัน ดังนั้นการเก็บ 20 บาทตลอดสายเท่ากันทุกเส้นทางต้องใช้เวลาพอสมควร ส่วนเส้นทางที่รัฐจะดำเนินการได้เองคือสายสีแดงกับสายสีม่วง จะดำเนินการทันที เพราะกระทรวงคมนาคมทำเองภายใน 3 เดือน
“ภายใน 2 ปี ประชาชนจะได้ใช้รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง 20 บาทตลอดสาย การที่ไม่สามารถเห็นผลได้ทันที เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจา และวางระบบตั๋วร่วม นโยบายนี้จะทำเพื่อคนทุกกลุ่ม นอกจากช่วยคนรายได้น้อย ยังช่วยให้คนใช้รถยนต์มาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ลดปัญหามลพิษ” นายสุริยะกล่าว
จากนั้นเวลา 17.09 น. นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.อภิปรายว่า สาเหตุที่ไม่เห็นชอบนายเศรษฐาเป็นนายกฯ นั้น ไม่ใช่เพราะขาดคุณสมบัติ แต่เนื่องจากนายเศรษฐามาจากพรรคการเมืองที่เลือกปฏิบัติกับประชาชน เมื่อครั้งที่พรรคไทยรักไทย (ทรท.) เคยมีนโยบายว่าพัฒนาเฉพาะจังหวัดที่เลือกเรา ซึ่งตนเองและเพื่อนเคยรณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านเลือก อยู่ๆ มาวันหนึ่งจะให้เลือกคนที่มาจากพรรคนี้เป็นรัฐบาล เท่ากับหักหลังชาวบ้าน
นายชวนกล่าวอีกว่า นายกฯ คนที่ 30 คือนายกฯ ที่ถูกตรวจสอบเข้มข้นที่สุด นำประวัติการทำธุรกิจมาเปิดเผย นายเศรษฐาคุณสมบติไม่ด้อยกว่าคนอื่นๆ แต่ข้อเสนอแนะที่ดีคืออย่าล้ำเส้น อย่าต้องหนีออกต่างประเทศ อย่าทำอะไรก็ตามที่เป็นปัญหาหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว การที่ต้องตรวจสอบความเป็นไปได้ของนโยบายอันเกิดจากผู้ปฏิบัตินั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่จะแนะนำนายกฯ คือเราจะหนีชะตากรรมเรื่องคดี คือต้องไม่โกง
ทั้งนี้ ในระหว่างการอภิปรายนั้น นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) และอดีตสมาชิกพรรค ทรท. ประท้วงว่าขอให้พูดเฉพาะเรื่องนโยบาย ไม่อยากให้พูดเรื่องความหลังมาก ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่านายชวนยังไม่ได้ทำผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
จากนั้นนายชวนอภิปรายต่อว่า ข้อวิตกกังวลนักธุรกิจมาทำการเมืองจะมีปัญหาหรือไม่ นักธุรกิจมาทำการเมืองไม่แปลก แต่ขอว่าอย่าทำธุรกิจเป็นการเมือง อย่านำธุรกิจส่วนตัว ส่วนพวกพ้องมาทำการเมือง ถ้าทำวิธีนี้ไม่เพียงกระทบส่วนร่วมบ้านเมืองเท่านั้น เพื่อนตนเองที่ติดคุก 10 คน เพราะทำธุรกิจเป็นการเมือง หลายคนเป็นคนดีแต่เพราะเกรงใจลูกพี่ ก็มีอันเป็นไปอย่างน่าเสียดาย เป็นโอกาสอันดีที่ได้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ อย่างน้อยก็คิดว่ามีความเข้าใจเรื่องบาปบุญคุณโทษ มาจากครอบครัวที่ดี คงรู้ว่าคนที่ถูกเอาเปรียบ เลือกปฏิบัติ นอกจากขัดต่อระบอบประชาธิปไตยแล้ว เราไม่ควรมองข้ามหรือละเลย
'ชวน' กรีด 4 ปีไม่โกงรอดคุก
นายชวนยังอภิปรายถึงปัญหาไฟใต้ว่า ตัวเลข 7,520 คือชีวิตที่เสียไปในภาคใต้ในเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปี 2547-2566 สถานการณ์ใน 3 จังหวัดมีนโยบายอย่างไร ซึ่งในเอกสารแถลงนโยบายรัฐบาล 14 หน้าไม่มีเขียนไว้ คงจะอยู่ในภาคผนวก ถือเป็นครั้งแรก นับแต่ปี 2548 เป็นต้นมานโยบายความสงบไม่มีการพูดถึง แม้นายกฯ จะกล่าวถึงในวันโปรดเกล้าฯ ครม.เล็กน้อย แต่ถ้าเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทำไมไม่เขียนไว้ใน 14 หน้า
ทำให้ น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประท้วงนายชวน เพราะพูดจาสอดเสียด และไม่อยู่ในประเด็น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกว่า 20 ปี พูดซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์วินิจฉัยขอให้นายชวนพูดอยู่ในเนื้อหา เพราะเรื่องที่พูดอยู่นั้นลึกเกินไปกว่านโยบายรัฐบาล
นายชวนกล่าวตอนท้ายว่า เชื่อว่านายกฯ จะแก้ไขปัญหานี้ และคำแนะนำที่ดีที่สุด คือพระบรมราโชวาทในหลวง ทรงแนะนำว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เราจะใช้วิธีแก้แค้นนอกกฎหมาย อาจสะใจคนบางกลุ่ม แต่เป็นที่มาของปัญหา ทั้งนี้ หากทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ท่านนายกฯ จะปลอดภัยเมื่อครบ 4 ปีหรือไม่ครบก็ตาม โดยไม่ต้องติดคุกอันเกิดจากการทุจริต ไม่ไปอยู่ในกลุ่มโคตรโกง โกงทั้งโคตร
จากนั้นเวลา 17.42 น. นายเศรษฐาชี้แจงว่า น้อมรับคำแนะนำและข้อควรระวัง ยืนยันแม้จะเป็นนักธุรกิจมาก่อน แต่การที่มายืนตรงนี้ก็รักประเทศชาติ มีความต้องการอยากเห็นประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความตั้งใจมาด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ตั้งใจทำประโยชน์ให้ประเทศ มีความเข้าใจถึงปัญหาที่ประชาชนเผชิญอยู่
นายเศรษฐากล่าวต่อว่า การสูญเสียชีวิตประชาชนไปกว่า 7,500 คน ในภาคใต้ช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ก็เศร้าใจมาตั้งแต่ก่อนเข้าสนามการเมือง อย่าว่าแต่ 7,500 คน แค่ชีวิตเดียวก็ไม่ควรสูญเสีย ถือว่ามากเกินไปสำหรับประเทศนี้ เราเห็นตรงกันการสูญเสียไม่ควรเกิดขึ้น ส่วนวิธีแก้ปัญหาและการเข้าใจถึงความลึกของปัญหาอาจต่างกัน มั่นใจว่ารัฐบาลที่มาจากประชาชน โดยพรรคร่วม 11 พรรค ให้ความสำคัญกับความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเลือกปฏิบัติเป็นข้อถกเถียงมานาน ได้ยินนายชวนกล่าวถึงการเลือกปฏิบัติ ก็น้อมรับสิ่งที่ท่านพูด แต่ก็มีข้อมูลว่า รัฐบาลไทยรักไทยสมัยก่อนเกิดวิกฤตสึนามิ นายทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ขณะนั้นก็ลงพื้นที่ไปดูแลชาวภูเก็ตและจังหวัดข้างเคียงอย่างเต็มความสามารถ เป็นที่ชื่นชมของชาวโลก การเลือกปฏิบัติต่อพื้นที่ใดในประเทศไทยโดยผู้บริหารสูงสุดของประเทศเป็นสิ่งที่ไม่บังควร
“เราเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะมี สส.ภาคใต้หรือไม่ ก็เป็นความตั้งใจสูงสุดของผมในฐานะนายกฯ ต้องให้ความเสมอภาค เท่าเทียมกับประชาชนทุกคน ตั้งแต่ยังไม่ได้รับอำนาจเต็มที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน จังหวัดแรกที่ลงไปคือ จ.ภูเก็ต แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ สส.แม้แต่คนเดียว และอีก 2 สัปดาห์จะลงไปติดตามงานอีก ดูเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินนานาชาติ จ.ภูเก็ต ซึ่งทีมงานเสนอมาว่าเพื่อเข้าถึงทั่วถึงไม่ควรใช้สนามบินนานาชาติภูเก็ต ควรใช้คำว่าสนามบินอันดามัน อินเตอร์เนชั่นแนล ครอบคลุมไปถึง จ.พังงา กระบี่ ระนอง ทั้ง 4 จังหวัดนี้ไม่มี สส.เพื่อไทยแม้แต่คนเดียว ยืนยันว่าการมาอยู่จุดนี้ เจตนารมณ์ชัดเจนคือจะเป็นนายกรัฐมนตรี จะนำพารัฐบาลที่เป็นของคนไทยทุกคน”.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ