เอกชนชงแผนแก้ศก. เงินดิจิทัลท้าทายรบ.

ส.อ.ท.เตรียมทำข้อเสนอชงนายกฯ แก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น-กลาง-ยาว ดูแลวิกฤตพลังงาน เผยความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.ต่ำสุดในรอบปี ชี้นโยบายดิจิทัลการบ้านใหญ่รัฐบาล ที่มาของเงินและรูปแบบการจ่าย ค้านขึ้นค่าแรงทันที 400 บาท

เมื่อวันที่ 12 กันยายน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า  ส.อ.ท.เตรียมจัดทำข้อเสนอ (Position Paper) ยื่นให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พิจารณาเกี่ยวกับแนวทางและการปฏิบัติในการแก้ไขเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ลงลึกรายละเอียดแต่ละด้าน รวมถึงการดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และการแก้ปัญหาด้านราคาพลังงาน ที่ขณะนี้ภาคเอกชนมีความกังวลแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทั้งนี้ คาดว่าจะจัดทำแล้วเสร็จช่วงปลายเดือน ก.ย. หรือต้นเดือน ต.ค.นี้

 “แนวนโยบายการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีนั้น ควรศึกษาถึงข้อดีและผลกระทบที่จะตามมาให้รอบด้านก่อน ดังนั้นควรผ่าตัดโครงสร้างทั้งระบบเพื่อแก้ไขแบบยั่งยืน ส่วนเรื่องค่าไฟที่ผ่านมา ส.อ.ท.เรียกร้องให้ค่าไฟฟ้าลดลงอยู่ที่ 4.25 บาท/หน่วย ซึ่งค่าไฟงวดปัจจุบันเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 ลดลงมาอยู่ที่ 4.45 บาท/หน่วย จากงวดก่อนหน้าอยู่ที่ 4.70 บาท/หน่วย เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะให้ของขวัญแก่ประชาชน ถ้ายิ่งต่ำกว่านี้ก็ยิ่งดี ส.อ.ท.จะทำการบ้านอย่างละเอียดเป็นข้อเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณา โดยจะหาโอกาสพูดคุยกับนายกฯ เพื่อทำงานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น" นายเกรียงไกรระบุ

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค.2566 อยู่ที่ระดับ 91.3 ปรับตัวลดลง จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 92.3 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง และต่ำสุดในรอบ 1 ปี เนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ โดยเฉพาะสหรัฐ จีน และยุโรป ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง

นอกจากนี้ เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า มีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวนจากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค อีกทั้งผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลผสม

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.5 ลดลงจากเดือนก่อนคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 100.2 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและไม่แน่นอน กระทบต่อภาคส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2566 รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า และผู้ประกอบการยังกังวลนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายด้านพลังงาน

ดังนั้น ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะให้เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25% ต่อปี รวมถึงกำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ ให้ส่วนต่างลดลง เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกัน เสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศทดแทนอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัว เช่น มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี มาตรการเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เป็นต้น รวมถึงออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

นายเกรียงไกรยังได้แสดงความเห็นต่อนโยบายรัฐบาลว่า นโยบายดิจิทัล วอลเล็ตเป็นโครงการตามหลักเศรษฐศาสตร์ เข้าใจได้ว่ามีจุดประสงค์เพื่อต้องการจุดประกายและฉุดเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจให้เคลื่อนอย่างแรงเป็นยาแรงกระชากทีเดียว ซึ่งความท้าทาย คือ 1.การใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาทจะเป็นอย่างไร และ 2.การใช้เงินก้อนนี้จะมาจากไหน การใช้งบประมาณจะเป็นภาระการคลังหรือไม่ เป็นโจทย์ที่คนวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความกังวลค่อนข้างมาก ความท้าทายที่ 3 บล็อกเชนจะได้ผลสัมฤทธิ์จริงหรือไม่ ความท้าทายที่ 4 ข้อจำกัดในการใช้เงินภายในระยะรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตร จะมีสินค้า/ร้านค้าตอบสนองประชาชนได้หรือไม่ เป็นคำถามเดียวกับทุกคน

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายแล้ว ทีมงานรัฐบาลคงต้องนำข้อกังวลเหล่านี้ไปแก้โจทย์และออกแบบนโยบายที่สามารถตอบสนอง มีจุดอ่อนให้น้อยที่สุด ปิดจุดรั่ว เพิ่มจุดแข็งให้ได้มากที่สุด เพราะบางแห่งไม่มีบริการรองรับ ต้องออกแบบเฉพาะ เป็นการบ้านใหญ่

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า สิ่งที่เอกชนย้ำ คือนายกฯ บอกว่าจะมีข่าวดีทันทีคือ เรื่องการลดค่าพลังงาน ค่าไฟ ค่าน้ำมัน การพักหนี้เกษตรกร ช่วยบรรเทาค่าครองชีพ ถ้าลดภาระเหล่านี้ได้จะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินทางอ้อมให้กระเป๋าประชาชนได้จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนกรณีนายกฯ ระบุจะดำเนินการนโยบายค่าขั้นต่ำ 400 โดยเร็วที่สุดนั้น ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งหากขึ้น 400 บาททันที ผู้ประกอบการที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว แต่ต้องมีต้นทุนการจ้างที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% สุดท้ายอาจนำไปสู่การเลิกกิจการและเลิกจ้าง การขึ้นค่าแรงทันทีจึงเป็นการแก้ปัญหาหนึ่ง แต่ไปสร้างปัญหาใหม่ ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้เลยโดยไม่สร้างผลกระทบใครคือ มาตรการลดค่าครองชีพ เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าและเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค  จากนั้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้วค่อยมาคุยกันเรื่องขึ้นค่าแรงยังไม่สายเกินไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง