นโยบายไม่ตรงปก! ฝ่ายค้านจวกไร้รูปธรรมมาตรฐานต่ำกว่ายุค‘บิ๊กตู่-ปู’

“เศรษฐา” ใช้เวลา 50 นาทีร่ายนโยบายรัฐบาล ลั่น 4 ปีเป็นการวางรากฐานให้อนาคตลูกหลาน เอาแน่ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แก้รัฐธรรมนูญไม่แตะหมวด 1-2 “ศิริกัญญา” สวมบทดุ ซัดแถลงไร้จีพีเอสว่าประเทศจะเดินไปทางไหน ให้คะแนนต่ำกว่ายุค “ประยุทธ์-ยิ่งลักษณ์” นโยบายเหมือนคำอธิษฐาน เหน็บมาจากภาคเอกชนแต่กลับขาดความทะเยอทะยาน เตือนบริหารประเทศไม่ใช่การพนันที่จะเทหมดหน้าตัก “จุรินทร์” ซัดน้ำท่วมทุ่ง ผวาแจกหมื่นซ้ำรอยทุจริตเชิงนโนบาย เตือนรัฐบาลเอาจริงเรื่องนิติธรรมโดยเฉพาะ น.ช.ทักษิณ

เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ถือเป็นวันแรกในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

โดยเวลา 07.59 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมาถึงอาคารรัฐสภา ซึ่งทันทีที่มาถึงก็ได้นำพวงมาลัยสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก่อนให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกในการเดินทางเข้ารัฐสภาเป็นครั้งแรกว่า เป็นเกียรติและตื่นเต้น เพราะไม่เคยมาเลย พร้อมยืนยันว่าในการแถลงนโยบายไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะเตรียมตัวมาดีและทีมงานก็พูดคุยกันแล้ว

ทั้งนี้ บรรดารัฐมนตรีต่างแสดงความพร้อมในการชี้แจงนโยบายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม 

กระทั่งเวลา 09.30 น.จึงได้เริ่มเปิดประชุมรัฐสภา โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ชี้แจงถึงกรอบเวลาการอภิปรายว่า เป็นวันที่ 11-12 ก.ย. รวมเวลาพิจารณา 30 ชั่วโมง แบ่งเป็นประธานที่ประชุม 1 ชม. ครม.แถลงและชี้แจง 5 ชม. สว. 5 ชม., สส.พรรคร่วมรัฐบาล 5 ชม. และ สส.ฝ่ายค้าน 14 ชม. โดยฝ่ายค้านจะแบ่งเวลาอภิปรายวันละ 7 ชม.

ต่อมานายเศรษฐาได้แถลงนโยบายรัฐบาลว่า รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง รัฐบาลมีกรอบนโยบายบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ได้แก่ กรอบระยะสั้นต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างรวดเร็ว ส่วนกรอบระยะกลางและระยะยาว จะเสริมขีดความสามารถให้ประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายเศรษฐากล่าวต่อว่า สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันประเทศไทยเปรียบเหมือนคนป่วย ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 จนมีความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุน นโยบายเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นตัวจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีนโยบายเร่งด่วนอีก 4 ข้อเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.การแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ด้วยการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 2.ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 3.ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และ 4.การแก้ปัญหาความเห็นแตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้มีรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์

ลั่นเป็น 4 ปีแห่งการวางรากฐาน

“รัฐบาลจะหารือแนวทางทำประชามติ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบกติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัย เป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง โปร่งใส เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ”

นายเศรษฐายังได้แถลงถึงนโยบายระยะกลางและระยะยาว รวมถึงแนวทางสร้างรายได้ โดยระบุถึง

เป้าหมายที่จะทำให้รายได้เกษตรกรทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายใน 4 ปี รวมถึงนโยบายสร้างและขยายโอกาสให้ประชาชน การปลดล็อกกฎระเบียบสุราพื้นบ้าน การบริหารรูปแบบการกระจายอำนาจ หรือผู้ว่าฯ ซีอีโอ การสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ (ซอฟต์เพาเวอร์) การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการร่วมกันพัฒนากองทัพที่จะเปลี่ยนรูปแบบเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ การลดกำลังพล นายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง  และกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขณะที่ด้านความปลอดภัยจะปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย

 “ในอนาคต 4 ปีข้างหน้า จะเป็น 4 ปีที่รัฐบาลวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้ประเทศ โดยยึดหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ ท้ายที่สุดรัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่า จะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง จะตั้งใจทุ่มเทสรรพกำลังดำเนินนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้ลูกหลาน” นายเศรษฐากล่าว

ทั้งนี้ นายเศรษฐาใช้เวลาแถลงทั้งสิ้นกว่า 50 นาที

จากนั้นเวลา 10.40 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า คำแถลงนโยบายที่ดีต้องเหมือนจีพีเอสที่บอกว่าเป้าหมายตลอด 4 ปีคืออะไร รัฐบาลจะเดินไปเส้นทางไหน เหมือนหรือต่างกับตอนหาเสียงหรือไม่ แต่เมื่อนั่งฟังนโยบายรัฐบาลจนจบ  พบว่าไม่มีอะไรแตกต่างจากเอกสารที่ออกมาก่อนหน้านี้ ถ้าเปรียบเป็นจีพีเอสเหมือนประเทศกำลังหลงทาง ขาดความชัดเจน และหากเปรียบเทียบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการกำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนมากกว่า

“สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องบรรจุนโยบายที่หาเสียงไว้ เพราะเป็นสัญญาที่เอาไว้แลกกับคะแนนเสียง หากพรรคไหนคิดกลับคำตระบัดสัตย์ ไม่บรรจุนโยบายที่หาเสียงไว้ในนโยบายรัฐบาล คงถือว่าพรรคการเมืองนั้นทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน” น.ส.ศิริกัญญาระบุ

ให้คะแนนประยุทธ์ดีกว่า

น.ส.ศิริกัญญาอภิปรายอีกว่า หากตัดเกรดคำแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ขอให้อยู่เกรดเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์แถลงได้ดีกว่าด้วยซ้้ำเพราะแถลงยาวกว่า และถือว่าพรรคเพื่อไทยมาตรฐานตก เพราะไม่สามารถรักษามาตรฐานได้จากสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่แถลงนโยบายได้อย่างชัดเจน มีนโยบายที่หาเสียงทั้งหมดและกำหนดกรอบเวลา 

“การแถลงนโยบายไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่เป็นรูปธรรม เขียนแบบพูดอีกก็ถูกอีก เหมือนพูดว่าน้ำเป็นของเหลว จึงเท่ากับว่ารัฐบาลนี้ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีการอธิบายรายละเอียดของนโยบาย การเขียนนโยบายต้องไม่ใช่เขียนนโยบายเหมือนเป็นแค่คำอธิษฐาน นโยบายที่หาเสียงไว้ก็หาแทบไม่เจอ แม้มีนโยบายของพรรคเพื่อไทยอยู่บ้าง แต่ของพรรคร่วมแทบไม่เห็น” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

               น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า นายกฯ ปัจจุบันมาจากภาคเอกชน เราหวังว่าจะเอาแนวทางบริหารแบบเอกชนมาปรับใช้บริหารราชการแผ่นดินในบางเรื่อง การแถลงนโยบายครั้งนี้ถ้าท่านคือซีอีโอใหม่ที่กำลังแสดงวิสัยทัศน์กับบอร์ด อยากถามว่าเป็นท่านจะฟังต่อหรือลุกเดินหนี ตอนอยู่เอกชนท่านมีเป้าหมายชัดเจน มีตัวเลขชี้วัด นั่นคือตัวอย่างที่ดี แต่น่าเสียดายที่ไม่นำมาใช้แถลงนโยบายครั้งนี้ คำแถลงขาดความทะเยอทะยานทำให้สังคมก้าวหน้า สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับประเทศ เหมือนท่านหลับตาข้างหนึ่งแล้วก้าวข้ามความขัดแย้ง ทำเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ท่านไม่กล้าแตะเรื่องยากๆ ซึ่งตอนหาเสียงท่านกล้าหาญกว่านี้มาก ซึ่งการเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วเป็นรัฐบาลคนละขั้วหาข้อตกลงกันไม่ได้ จึงต้องเขียนให้ลอยและกว้างเอาไว้ มีความเกรงใจกลุ่มอำนาจเก่า จึงไม่กล้าทำเรื่องยากๆ ที่จะต้องปะทะกับใครเลย

น.ส.ศิริกัญญาอภิปรายถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่ใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาทว่า แหล่งที่มาของงบประมาณเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าใช้งบประมาณแผ่นดินต้องพิจารณาว่างบพอหรือไม่ หรือมีเงินสดพอหรือไม่ หรือใช้เงินนอกงบประมาณ เพราะงบที่เหลือจริงๆ ที่ท่านจะใช้ได้คือ 4 แสนล้านบาท ท่านได้ถามพรรคร่วมรัฐบาลอื่นหรือยังที่จะเอางบที่เหลือมาลงกับดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากเลือกใช้เงินนอกงบประมาณก็ไม่สามารถทำได้หากไม่แก้กรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งนายกฯ บอกว่าเคร่งครัดเรื่องวินัยการเงินการคลัง แต่งานแรกจะเริ่มต้นด้วยการทลายกรอบวินัยการเงินการคลังเลยหรือ

  “ดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอน แต่ขอให้ท่านจัดลำดับความสำคัญให้ดี การบริหารราชการแผ่นดินไม่ใช่การพนัน จะเทหมดหน้าตักแล้วไปหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

ซัดนโยบายน้ำท่วมทุ่ง

ต่อมาเวลา 11.25 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า นโยบายที่นายกฯ แถลงไปได้ดูอย่างละเอียด มีความเห็นเหมือนสาธารณชนทั่วไปและสมาชิกหลายคนที่อภิปราย ว่า มาตรฐานรัฐบาลชุดนี้สวนทางกับความสูงของนายกฯ จริงๆ การตั้งโจทย์ประเทศคลุมเครือ นโยบายเลื่อนลอยขาดความชัดเจน หากใครอ่านครบจะพบว่าฟุ่มเฟือยด้วยวาทกรรมวกไปวนมา กลายเป็นนโยบายน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ที่สำคัญที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ นโยบายที่นายเศรษฐาแถลงเมื่อสักครู่กับนโยบายหาเสียงเป็นหนังคนละม้วน เป็นนโยบายไม่ตรงปกอย่างที่วิจารณ์กัน

นายจุรินทร์อภิปรายว่า นโยบายแรกเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ตอนหาเสียงอึกทึกครึกโครม สร้างความหวังให้เด็กกำลังจะเรียนจบ วันนี้นโยบายนี้หายไปไหนเสียแล้ว กลายเป็นนโยบายนินจาเพราะหายไปอย่างไร้ร่องรอย นโยบายที่สองค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันในปี 2570 แต่ที่แถลงระบุไว้เพียงแค่บรรทัดเดียวว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมคือสิ่งที่จะทำ นโยบายที่สาม รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำทันที ล่องหนไปอีกนโยบาย นโยบายที่สี่ลดความเหลื่อมล้ำ เติมเงินให้ทุกครอบครัวที่รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาททุกเดือน มีเกือบ 20 ล้านครอบครัว หากจะทำต้องเติมเงินหลักแสนล้าน จะนำเงินมาจากไหน หรือสุดท้ายจะกลายเป็นนโยบายล่องหน และนโยบายที่ห้าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตอนหาเสียงบอกจะจัดเลือกตั้งผู้ว่าราชการในจังหวัดที่มีความพร้อม วันนี้ที่แถลงไม่มีสักคำ และยังถูกแปลงโฉมจากผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้ง ไปเป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอ 

“ผมหยิบ 5 นโยบายมาเป็นตัวอย่างเพื่อจะบอกว่า แค่ลมปากตอนหาเสียง เพราะท่านไม่เขียนในนโยบายที่แถลง ผมต้องพูดเพราะมีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารแทนประชาชน และต้องพูดให้รัฐบาลได้ตระหนักว่า หาเสียงได้แต่ต้องมีความรับผิดชอบ อย่าให้เหมือนตอนไล่หนูตีงูเห่า  สุดท้ายทั้งหนูทั้งงูเห่าอยู่ด้วยกัน แล้วก็กลายเป็นแค่เทคนิคการหาเสียงหรือแค่นโยบายการละคร สิ่งนี้ประชาชนไม่ต้องการเห็น ต้องการยกระดับมาตรฐานการหาเสียงของพรรคการเมืองให้สูงกว่านี้ พูดแล้วต้องทำอย่างที่ประชาชนคาดหวัง” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์อภิปรายต่อว่า นโยบายที่หกนโยบายการเกษตร นายเศรษฐากล่าวที่ จ.ขอนแก่นชัดเจน ว่ารัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายจำนำข้าวและประกันรายได้เกษตรกร ไม่มีนโยบายจำนำข้าวดีแล้วเพราะเป็นต้นเหตุการทุจริตคอร์รัปชัน สร้างภาระหนี้ให้ประเทศ 884,000 ล้านบาท ประเทศไทยยังค้างชำระหนี้โครงการนี้อยู่ 254,000 ล้านบาท 

โดยเมื่ออภิปรายถึงช่วงนี้ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) ลุกขึ้นประท้วงว่า ผู้อภิปรายกำลังอภิปรายเลยกรอบ เรากำลังอภิปรายรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต และการอภิปรายเป็นเท็จ ขอให้ถอนคำพูดที่บอกโครงการจำนำข้าวในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์สร้างความเสียหาย ซึ่งต่อมานายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรค พท.ก็ลุกขึ้นประท้วงเช่นกันว่า อยากให้ความเป็นธรรมกับเรื่องนี้ ไม่อยากให้พูดกันต่อ เพราะทั้งการจำนำข้าวหรือการประกันราคาข้าวเป็นการช่วยเหลือชาวนา

จากนั้นนายจุรินทร์ได้อภิปรายต่อว่า กำลังอภิปรายถึงรัฐบาลชุดนี้ที่นายกฯ บอกว่าไม่ทำจำนำข้าว ซึ่งถือว่าดีแล้วและพร้อมสนับสนุน เพราะจำนำข้าวรัฐบาลนี้ต้องมาใช้หนี้ 250,000 ล้านบาท แต่คำถามคือถ้านายกฯ ไม่ทำจำนำข้าวและไม่ทำประกันรายได้เกษตรกร แปลว่าต่อไปนี้ข้าว  มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด จะไม่มีเงินส่วนต่างแล้วใช่หรือไม่ และถ้าวันหนึ่งพืชผลเกษตรเหล่านี้ราคาตก อะไรจะกลายเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรยังชีพอยู่ได้

“นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลต้องทำเพราะเป็นสัญญาที่หาเสียงไว้ แต่มีคำถามคือทำอย่างไรและเอาเงินมาจากไหน ขอเตือนว่าอย่าให้นโยบายนี้กลายเป็นการทุจริตเชิงนโยบายเด็ดขาด และเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเป็นห่วงว่ารัฐบาลเอาจริงแค่ไหน เพราะทั้งเล่มนโยบายป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันมี 2 บรรทัด ซึ่งรัฐบาลต้องตระหนักว่าจะไม่ทำเหมือนอดีต เพราะรัฐบาลท่านในอดีตเคยถูดยึดอำนาจ 2 ครั้ง เพราะเหตุแห่งการทุจริตและออกกฎหมายล้างการทุจริต จนคนออกมาเป็นล้าน และในที่สุดนำมาสู่การยึดอำนาจ ท่านจะต้องไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ไปซ้ำรอยเดิมอีก” นายจุรินทร์กล่าว

ทำให้นายครูมานิตย์ลุกขึ้นประท้วงอีกครั้งว่า ไม่สบายใจ เพราะผู้อภิปรายระบุว่าพรรครัฐบาลในอดีตโดนปฏิวัติเนื่องจากทุจริต เป็นการใส่ร้ายเกินเหตุความเป็นจริง สังคมรู้บางพรรคอาศัยบุญบารมีของคณะปฏิวัติ วันนี้เริ่มสูญเสียอำนาจและกำลังสูญเสียอะไรหลายๆ อย่าง ต้องถอนคำว่าทุจริต

ปชป.ย้ำนิติธรรม

นายจุรินทร์อภิปรายต่อว่า นโยบายที่นายกรัฐมนตรีประกาศชัดเจนว่าจะฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่มีความเข้มแข็ง รัฐบาลข้ามขั้ว แม้เปลี่ยนเป็นรัฐบาลสลายขั้วก็สลายความขัดแย้งไม่ได้ มีแค่หลักนิติธรรมที่เข้มแข็งเท่านั้น ซึ่งหลักนิติธรรมคือทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน ซึ่งนโยบายดังกล่าวคือจุดเริ่มต้นของความหวัง จะศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นจริงได้อยู่ที่ตัวของนายกฯ และรัฐบาล การพระราชทานอภัยโทษที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 ก.ย. นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษต้องสำนึก และรัฐบาลก็ต้องสำนึกว่าผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษยังเป็นผู้มีความผิด หากมีคำพิพากษาศาลในคดีใดเกิดขึ้นอีกว่ามีการกระทำความผิด ก็ต้องรับโทษใหม่ในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตระหนักว่า เป็นหน้าที่ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายโดยหลักนิติธรรมเท่าเทียมกับคนไทยทุกคนต่อไป โอกาสนี้เป็นโอกาสสำคัญของรัฐบาลที่จะทำให้วลีที่เราพูดกันว่า คุกมีไว้แค่ขังคนจนกับคนไม่มีอำนาจ ให้หายไปได้

จากนั้นเวลา 11.19 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.อภิปรายว่า นโยบายเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ถือว่าเป็นนโยบายสุ่มเสี่ยง ซึ่งการเทหมดหน้าตักในครั้งนี้ ไม่ใช่หน้าตักของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นหน้าตักของประเทศไทยใช่หรือไม่ ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าอาจเหมือนโครงการรับจำนำข้าวเมื่อ 10 ปีก่อนหรือไม่ เพราะแหล่งที่มาของเงินมีปัญหาไม่ชัดเจน อาจไปแตะสินทรัพย์อื่นในประเทศ เช่นเงินสำรองระหว่างประเทศ เหมือนรัฐบาลพรรคท่านในอดีตที่ตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ แต่ไม่อาจตั้งได้

ต่อมานายวันชัย สอนศิริ สว. อภิปรายว่า เมื่อรัฐบาลปรองดองกันแล้วขออย่าให้หยุดแค่ตรงนี้ ขอให้ท่านช่วยลบ ล้าง สลายความขัดแย้งที่ร้าวลึกไปที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่าย ให้หันหน้าเข้าหากัน คดีความใดๆ ที่มีต่อกันทั้งแพ่งและอาญา ที่เกิดจากการเมืองไม่ว่าจะระดับใด เลิกได้ควรเลิก จบได้ควรจบ รัฐบาลควรดำเนินการโดยเร็วเพราะคาราคาซังมานานแล้ว รวมทั้งการเยียวยาต้องดำเนินการควบคู่กันไป ถ้าทำได้จะทำให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองสมานฉันท์

ต่อมาบรรดา สส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ สว.ต่างสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นอภิปราย ซึ่งก็มีทั้งสนับสนุน และวิจารณ์เสนอแนะต่างๆ

จากนั้นเวลา 17.33 น. นายเศรษฐาลุกขึ้นชี้แจงว่า รัฐบาลยืนยันจะปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แก้หมวด 1 ความมั่นคงของรัฐ และหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สำคัญจะดำรงไว้ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลตระหนักดีถึงปัญหาชนบทที่มีร้านค้าไม่เพียงพอ ซึ่งจะขอไปดูรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนเวลาการใช้งาน 6 เดือน จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก ส่วนเรื่องความห่วงใยเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญในความโปร่งใส โดยเราจะใช้ระบบดิจิทัลให้มากขึ้นเพื่อลดการทุจริตมิชอบ

“ค่าแรงขั้นต่ำนั้นสมควรได้รับการปรับโดยเร็ว และตั้งเป้าหมายว่าเราจะทำให้เศรษฐกิจโตเฉลี่ย 5% ต่อปี ตลอดเวลา 4 ปี ทำให้ค่าแรงขึ้น 600 บาทต่อวัน และปริญญา 25,000 บาทต่อเดือนได้ ส่วนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้นก็ยังคงมีอยู่” นายเศรษฐากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง