คลังเล็งรีดเลือดแบงก์รัฐ! ชวน-อู๊ดด้ารอสับนโยบาย

ภูมิธรรมมั่นใจแถลงนโยบายไร้ปัญหา รมต.พร้อมแจงหากถูกพาดพิง “อนุทิน” ปลื้มเพื่อไทยบรรจุนโยบายกัญชา “กฤษฎา” ยันแจกเงินหมื่นทำได้แน่ โวไม่มีออกพระราชกำหนดกู้ แย้มอาจขูดเงินแบงก์รัฐ “จุรินทร์” ยันพรรคเตรียม 15 ขุนพลไว้ชำแหละ มีทั้งตัวเองและ “ชวน” พร้อมอภิปราย

เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ก.ย.2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญในวันที่ 11-12 ก.ย.ว่า ในการประชุม ครม.นัดพิเศษ นายกรัฐมนตรีได้มอบเล่มนโยบายให้รัฐมนตรีแต่ละคนไปพิจารณา ซึ่งพรรค พท.ได้วางกรอบหลักไว้ และได้การยอมรับจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหากนโยบายของพรรคร่วมไม่ได้ขัดกับกรอบหลัก ก็สามารถนำมาปรับเพิ่มเติมได้ หากนายกฯ ได้อ่านแถลงนโยบายเสร็จสิ้น ก็ถือว่าการแถลงนโยบายจบ แต่ยินดีรับฟังความเห็นจากฝ่ายค้านที่จะอภิปราย

“กรอบนี้เป็นกรอบใหญ่ที่ครอบคลุมทุกประเด็นที่เราหาเสียงไว้ และพรรคร่วมต่างๆ ได้หารือร่วมกัน ไม่ขัดต่อกรอบที่พูดคุยกันไว้ ส่วนรายละเอียดอาจใช้เวลาของสภามากเกินไป จึงคิดว่ากำหนดไว้ในการอภิปราย 2 วันน่าจะเหมาะสม ส่วนรายละเอียดอันไหนขาดความชัดเจนก็ไปสอบถามจากรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงได้ ทุกคนสามารถชี้แจงได้ ไม่มีอะไรน่ากังวล” นายภูมิธรรมกล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ  และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) นำนโยบายกัญชาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไว้ในนโยบาย ว่า ต้องขอบพระคุณหัวหน้าพรรค พท.  เพราะในช่วงที่เรามีการหารือกัน ทางพรรค ภท.ได้ทำความเข้าใจและอธิบายว่ากัญชาไม่ได้นำมาเป็นสันทนาการ ไม่ได้มอมเมา แต่เอามาเน้นประโยชน์ในด้านการแพทย์ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งนายกฯ และพรรค พท.ก็เข้าใจ โดยยังถามด้วยว่าทำไมก่อนหน้านี้ข่าวที่ออกมาถึงผิดเพี้ยนไปอีกทาง

“ขณะนี้กฎหมายยังไม่ผ่าน ถ้ากฎหมายผ่านสิ่งที่กลัวกันก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้พรรคภูมิใจไทยจะเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภา เพราะกฎหมายเก่าถือว่าตกไปแล้ว ซึ่งเร็วๆ นี้จะเร่งดำเนินการ โดยจะเสนอร่างพระราชบัญญัติการควบคุมการใช้กัญชาเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งถือว่าต้องนับหนึ่งใหม่ แต่โครงสร้างพื้นฐานมันมีอยู่แล้ว ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข และนายกฯ ก็คงจะได้พิจารณาเพิ่มเติมอะไรที่เป็นประโยชน์มากขึ้น และหวังว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะได้รับการพิจารณารวดเร็วขึ้น เพราะมีพื้นฐานอยู่แล้ว และในร่างนโยบายของรัฐบาลก็เห็นเนื้อความในด้านนี้ปรากฏอยู่” นายอนุทินกล่าว

ขณะที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง กล่าวถึงมาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า ที่ผ่านมาได้หารือร่วมกันไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ ที่คาดการณ์ว่าอยู่ที่ราว 5.6 แสนล้านบาท โดยจะมาจากหลายส่วน เช่น การกู้เงิน แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินมาใช้ในโครงการเหมือนที่ผ่านมาแน่นอน รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่คาดว่าจะมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าที่ประชุม ครม.ทันที ภายในครั้งที่ 1 หรือ 2 เพื่อดูว่ามีความจำเป็นต้องมีการเกลี่ยงบใหม่หรือไม่ จะมีงบใดมาใช้ได้หรือไม่

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า นอกจากการกู้เงินแล้ว ยังมีแหล่งรายได้ เช่น การจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้วงเงินนอกงบประมาณ ภายใต้มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ โดยในปีงบ 2566 คงเหลืออยู่ราวหมื่นล้านบาทที่อาจนำไปใช้ได้ และคาดว่าจะมีวงเงินทยอยชำระคืนจากส่วนนี้ในปีงบประมาณ 2567 อีกราว 1 แสนล้านบาทที่ยังนำมาใช้ได้เช่นกัน เพราะแนวโน้มราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทำให้ไม่มีการใช้วงเงินมาก และบางโครงการที่อาจไม่ทำแล้วก็เฉลี่ยมาใช้ได้

“วิธีการจ่ายเงินดิจิทัลยังไม่ได้ข้อสรุป  ซึ่งหากต่างคนต่างพูดไปแล้วอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ที่ผ่านมาก็หารือกันในระดับหนึ่งแล้ว มีการคุยกันหลากหลายแนวทาง เช่น กรณีใช้ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ ก็มีการพูดกันเป็นออปชันหนึ่ง เป็นช่องทางที่ดี  แต่ยังไม่ได้มีข้อสรุปแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ล่าช้า คาดว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นภายในเร็วๆ นี้” นายกฤษฎากล่าว

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า งบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันว่าไม่มีปัญหา คิดว่าไปได้แน่นอน ส่วนผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขึ้นอยู่กับว่าการใช้จ่ายเงินจะหมุนไปได้กี่รอบ ส่วนปี 2566 เริ่มเห็นสัญญาณการบริโภคภาครัฐและการลงทุนของเอกชนและรัฐ หลังมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ไว้ที่ 2.6% ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า การจ่ายเงินดิจิทัลสามารถทำได้ไม่ขัด พ.ร.บ.เงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ผิดกฎหมายแน่นอน

ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  (ปชป.) กล่าวถึงการอภิปรายการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า พรรคได้รับการจัดสรรเวลาจากฝ่ายค้าน 2 ชั่วโมง 15 นาที แต่ใจจริงอยากได้ 3 ชั่วโมง แต่ได้เท่านี้ก็ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา เพราะเสียง สส.เราไม่มากนัก และไม่ขัดข้องหมองใจใดๆ โดยพรรค ปชป.จะเน้นอภิปรายทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมี สส.แจ้งความจำนงอภิปรายมา 15 คน โดยตนเองจะเป็นผู้อภิปรายคนแรกในส่วนของพรรค ปชป.ถัดจากพรรคก้าวไกล นอกจากนั้นจะมีนายชวน หลีกภัย  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ สส.ใหม่ของพรรคอีกหลายคนที่ได้เตรียมการไว้

“จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล โดยเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา ตามเนื้อผ้า ให้คำเสนอแนะ และตั้งคำถามที่บางนโยบายยังขาดความชัดเจน ซึ่งเป็นการตั้งคำถามแทนประชาชนที่บางเรื่องคลุมเครือและบางนโยบายไม่ตรงปกส่วนจะเน้น ตรงไหน ขอให้รอวันแถลง ยกตัวอย่างบางเรื่องเช่นกรณีที่มีการสัญญาไว้ในช่วงหาเสียง แต่ไม่มีในนโยบาย และไม่มีเยอะด้วย โดยจะให้ความเห็นตามเนื้อผ้าตรงไปตรงมา สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินและประชาชนผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง” นายจุรินทร์ระบุ

นายจุรินทร์ยืนยันว่า จะทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านอย่างเต็มกำลังความสามารถ เป็นฝ่ายค้านของประชาชน  พร้อมยืนยันไม่มีปัญหาในการทำงานกับพรรค ก.ก.หรือพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ เพราะป็นภาคบังคับ และเป็นเรื่องปกติ บางเรื่องก็เห็นตรงกัน แต่พรรค ปชป.ยังคงจุดยืนเรื่องความแตกต่าง เช่นไม่เห็นด้วยที่จะแตะต้องมาตรา 112 ที่เรายังยึดและประกาศมาตั้งแต่ต้น  อะไรที่ต้องทำหน้าที่ร่วมกัน เช่น ตรวจสอบรัฐบาล เป็นหน้าที่ตรวจสอบแทน ประชาชน ซึ่งเข้าใจว่าพรรค ก.ก.ก็จะตระหนักในตรงนี้ แต่ยังไม่ถึงขั้นมีการแชร์ข้อมูลร่วมกับพรรค ก.ก. เพราะการอภิปรายนโยบายไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกพรรครู้หน้าที่เป็นอย่างดี

เมื่อถามถึงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่ยังติดปัญหา นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นภารกิจของพรรคก้าวไกล ซึ่งยังไม่ถึงเวลาที่จะบอกว่าพรรค  ปชป.พร้อมที่จะรับตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่ เพราะเป็นสิทธิ์ที่พรรค ก.ก.จะพิจารณาก่อนจนกว่าจะมีข้อยุติ แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น จึงไม่ขอตอบประเด็นนี้

ถามต่อถึงการเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นเรื่องภายในพรรคที่ยืนยันไม่มีลับลมคมใน และขอจัดการกันภายในพรรค ซึ่งขณะที่แม้ยังไม่มี กก.บห.ชุดใหม่ แต่ กก.บห.ชุดรักษาการก็มีอำนาจเต็มในการบริหาร  แต่ยืนยันว่าไม่ได้อยากอยู่รักษาการไปนานๆ ต้องขอให้มีเวลาบริหารจัดการภายในก่อน ซึ่งเบื้องต้นได้มีการคุยกันภายในพรรคประชาธิปัตย์แล้ว แต่จะนานแค่ไหนกว่าจะได้ข้อสรุปนั้นยังไม่ทราบ เมื่อถึงเวลาจะเรียนให้ทราบ

นายจุรินทร์กล่าวด้วยว่า พรรคได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี 16 สส. ไปลงมติเห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ หลังจากมีข้อร้องเรียนว่าขัดกับมติพรรคแล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยข้อมูล แม้ไม่ใช่เป็นความลับ  ซึ่งทั้งหมดจะเป็นไปตามข้อบังคับพรรค  หากมีผลออกมาเป็นอย่างไรก็ดำเนินการไปตามที่ได้ตรวจสอบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง