ชูแจกหมื่นปลุกศก. นโยบายด่วนรัฐบาล‘เศรษฐา’ส่อกู้-รีดภาษีโปะ

"เศรษฐา" ยิ้มแย้ม ถก "ครม." นัดพิเศษคึกคัก ไฟเขียวร่างคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 11 ก.ย. เคาะตั้ง "หมอมิ้ง" นั่งเลขาฯ นายกฯ กำชับ รมต.ห้ามซื้อขายเก้าอี้ ขรก. รับเป็นนายกฯ กดดัน ปชช.คาดหวังสูง ยันมีอิสระทางความคิด หลังถูกถามคนตระกูลชินวัตรยังเคลื่อนไหว ย้ำรถไฟฟ้า  20 บาทตลอดสายทำแน่ แต่ขอเวลาก่อน เปิด 5 นโยบายเร่งด่วน "รัฐบาลเศรษฐา 1" แถลงต่อรัฐสภา "แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น-ยกหนี้เกษตรพ่วง SME-ลดค่าไฟน้ำมัน-กระตุ้นท่องเที่ยว-แก้ รธน." พร้อมปฏิรูปกองทัพ เกณฑ์ทหารสมัครใจ จับตาหารายได้เข้ารัฐขยับเก็บภาษีเพิ่ม "พรหมินทร์" ชม "เสี่ยนิด-ทักษิณ"  ทำงานเร็ว เยอะ คล้ายกัน

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 6 ก.ย. ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า ทั้งในส่วนของข้าราชการทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน  รวมทั้งคณะทำงานของคณะรัฐมนตรี ทยอยเดินทางเข้ามาปฏิบัติงาน ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ  รมว.การคลัง เดินทางออกจากบ้านพักเมื่อเวลา 07.17 น. และเดินทางถึงทำเนียบรัฐบาลด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสในเวลา 07.38 น.

โดยทันทีที่มาถึงนายเศรษฐาได้พักผ่อนอิริยาบถภายในตึกไทยคู่ฟ้า และได้เชิญรองนายกฯ และรัฐมนตรีขึ้นไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมกัน ประกอบด้วย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ,   นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน,  พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ, นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ

เวลา 08.01 น. นายกฯ ได้นำสักการะพระพรหมบนตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมถวายพวงมาลัยดอกดาวเรืองสีเหลืองเพื่อเป็นสิริมงคล และได้หันมาดูทิวทัศน์บริเวณโดยรอบของทำเนียบรัฐบาล พร้อมโบกมือทักทายสื่อมวลชนและช่างภาพที่รออยู่ด้านล่าง จากนั้นนายกฯ ได้เข้าไปนั่งที่ห้องทำงานเป็นพิธี เอาฤกษ์เอาชัย ก่อนที่จะลงมาสักการะพระภูมิเจ้าที่ ศาลตาศาลยาย 

นายเศรษฐากล่าวภายหลังสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบฯ ว่า สบายใจ ได้ขอพรให้คุ้มครองปกป้องบ้านเมืองในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภัยเศรษฐกิจ  ภัยสังคม ภัยของความแตกแยก เมื่อถามว่ามีการเตรียมนโยบายไว้เรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรียบร้อยแล้วครับ

กระทั่งเวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐาเป็นประธานการประชุม ครม. (นัดพิเศษ) โดยได้กล่าวชี้แจงกับ ครม.ถึงแนวทางการทำงานร่วมกันว่า ในฐานะรัฐบาลของประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งได้พูดไปแล้วในหลายเวทีว่าจะเป็นรัฐบาลของประชาชน จะทำงานเพื่อประชาชน ที่ปฏิบัติตัวเคร่งครัดตามรัฐธรรม และตามกฎหมาย มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาสังคม รวมถึงปัญหาความแตกแยกทางด้านความคิดทั้งหลาย

นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลจะพยายามทำงานแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อะไรที่ทำได้ก่อนโดยไม่ติดข้อกฎหมายขอให้ทุกท่านรีบทำ รีบสร้างผลงานออกมา เพราะว่าพี่น้องประชาชนทุกคนกำลังเดือดร้อน กำลังรอคอยการทำงานของรัฐบาล เมื่อทุกท่านเข้ากระทรวงแล้วขอเก็บรวบรวมข้อมูลมาประกอบการทำงาน

ย้ำ ครม.ทำงานโปร่งใส

"ขอเน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสในการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องการโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ขอให้เข้าใจ เห็นใจข้าราชการที่ตั้งใจทำงานมาตลอดทั้งชีวิต ต้องการความก้าวหน้าทางด้านการงาน เรื่องซื้อขายตำแหน่งไม่ต้องการให้เอาเปรียบข้าราชการ ขอให้ทุกท่านให้เกียรติข้าราชการ ส่วนการจัดเตรียมงบประมาณประจำปี ขอให้ ครม.ช่วยไปดูกระทรวงในกำกับว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการแถลงนโยบาย" นายเศรษฐากล่าว

ช่วงท้าย นายกฯ กล่าวย้ำว่า ขอให้ ครม.ตระหนักว่าเป็นรัฐบาลเพื่อประชาชน ขอให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่าให้มีการแบ่งแยกพรรรคพวก เป็นรัฐบาลที่ทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ

มีรายงานว่า ในการประชุม ครม.นัดพิเศษครั้งนี้ ใช้เวลาประมาณ 45 นาที โดยได้มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอร่างคำแถลงนโยบายของ ครม.ต่อรัฐสภา และมอบหมายให้ สลค.ประสาน รวมทั้งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดพิมพ์ และแจกจ่ายเอกสารคำแถลงนโยบายของ ครม.ต่อรัฐสภา ซึ่งกำหนดวันแถลงนโยบายวันที่ 11 ก.ย. และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศแปลคำแถลงนโยบายของครม.เป็นภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ ครม.มีมติเห็นชอบกำหนดวิธีการประชุม ครม. ตามที่ สลค.เสนอ โดยจัดให้มีการประชุม ครม.อย่างเป็นทางการกรณีปกติในทุกวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้ง ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ต่อมานายเศรษฐาแถลงหลังประชุมครม.ว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลโยกย้ายพอดี และเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าเรื่องพวกนี้ (ซื้อขายตำแหน่ง) มักมีเกิดขึ้นอยู่ตลอดไม่ใช่แค่ว่าช่วงนี้ ซึ่งหลายๆ ช่วงรัฐบาลไหนก็ตามที ซึ่งตนอยากจะเน้นย้ำข้าราชการเป็นภาคส่วน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนประเทศ เขาทำงานมาตลอดชีวิต อยากได้ความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน การปูนบำเหน็จทั้งหลายก็ขออยากให้เป็นธรรมด้วยผลงาน ไม่ใช่จากการซื้อขายตำแหน่ง

ถามถึงการแถลงนโยบาย นายกฯ จะเป็นผู้แถลง แล้วหากมีการพาดพิงจะมอบหมายให้รัฐมนตรีและคนอื่นที่เกี่ยวข้องชี้แจงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า หากกระทรวงไหนที่เกี่ยวข้องหรือถูกพาดพิง หรือต้องการการอธิบายในเชิงลึก ตนเชื่อว่ารัฐมนตรีทุกท่านเตรียมพร้อม และวันนี้ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้

ซักถึงการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่   นายเศรษฐากล่าวว่า ตนจะไปนั่งประธาน ก.ตร.เอง กำลังหาวันที่เหมาะสมไปประชุม ก.ตร. เมื่อถามว่า ตำแหน่ง ผบ.ตร.คนใหม่มีชื่ออยู่ในใจหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ยังครับๆ ตอนนี้ยังไม่ได้เข้าบริหารราชการเลย ขออาทิตย์หน้าหลังแถลงนโยบายก่อน ย้ำว่าเรื่องห้ามการซื้อขายตำแหน่งจะรวมไปถึงในส่วนของตำรวจด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เปล่าครับ ทุกๆ ภาคส่วนของข้าราชการ ไม่ได้เจาะจงหรือบอกว่าหน่วยงานไหนมีปัญหามากเป็นพิเศษ เมื่อถามว่าจะพิจารณาถึงผลงานและความอาวุโสด้วยหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ทั้ง 2 อย่างครับ

นายกฯ ยอมรับว่า การเป็นรัฐบาลมีความกดดันอยู่แล้ว เพราะปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ อาสาเข้ามาทำงานแล้วก็ต้องยอมรับเรื่องพวกนี้ มีความตั้งใจจริง ขอเวลานิดนึง ขอบคุณครับ

จากนั้นนายกฯ ออกจากโพเดียมพร้อมยกมือไหว้ ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ รู้สึกหรือไม่ว่าตัวเองไหว้สวย มีคนทักเยอะหรือไม่ นายกฯ โค้งตัวรับพร้อมยิ้ม เมื่อถามว่านายกฯ จะเข้ากระทรวงการคลังเมื่อไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ขอดูฤกษ์ที่ดีนิดนึง เมื่อถามว่าจะใช้ฤกษ์สะดวกหรือใช้ฤกษ์ตามฮวงจุ้ย นายกฯ กล่าวว่า คงทั้ง 2 อย่าง

โอ่มีอิสระทางความคิด

ถามถึงความเป็นอิสระในการบริหารงานในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างไร  ขณะที่ยังมีพรรคเพื่อไทยและนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เปรียบเสมือนเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และคนในตระกูลชินวัตรก็ยังมีความเคลื่อนไหว จะทำให้การทำงานลำบากหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ขอเวลาในการบริหารราชการ และขอเวลาอีก 3-6 เดือน สื่อมวลชนค่อยมาถามอีกครั้ง

"ผมเชื่อว่าผมมีอิสระทางด้านความคิด ซึ่งไม่ใช่แค่ครอบครัวชินวัตร ถ้าใครมีข้อมูลดีๆ หรือคำแนะนำดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน วันนี้ผมและรัฐบาลนี้เรามาทำงานเพื่อประชาชน อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ใครที่มีข้อมูลหรือมีคำแนะนำที่ดี ผมพร้อมรับฟัง" นายเศรษฐากล่าว

เมื่อถามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ไม่ได้บรรจุอยู่ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา นายกฯ กล่าวว่า เป็นคำแถลงกว้างๆ เพราะเราจะดูเรื่องการขนส่งทั้งหมด ทั้งเรื่องน้ำ อากาศ บก ล้อและราง ในส่วนของเรื่องรถไฟฟ้านั้น เราต้องมาดูว่าเชื่อมต่อทุกสายให้เข้ากัน และใช้บัตรใบเดียว จึงต้องดึงเรื่องกลับมาดูว่าค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมนั้นเท่าไหร่ และรัฐบาลจะต้องชดเชยจุนเจือเท่าไหร่ ในแง่ของงบประมาณทั้งหมด ดังนั้นขอเวลานิดหนึ่ง   แต่ถูกบรรจุไว้เป็นเรื่องคร่าวๆ อยู่แล้ว

ซักว่า หมายความอีก 2 ปีค่อยทำใช่หรือไม่ เพราะช่วงแรกต้องใช้งบประมาณไปทำนโยบายเรื่องอื่นที่จำเป็นมากกว่า นายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่ เราจะทำทันที เริ่มดูแลทันที เราต้องเอาระบบขนส่งทางรางทั้งหมดมาเชื่อมต่อให้เป็นรูปธรรมและเป็นบัตรใบเดียว อยู่ที่ว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเท่าไหร่

ถามย้ำว่า คาดว่าจะได้เห็นภายในกี่ปี นายกฯ กล่าวว่า ขอทำงานก่อนแล้วกัน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมยังไม่ได้เข้ากระทรวงเลย ขอเวลาก่อนนิดหนึ่ง ทราบว่าทุกเรื่องเร่งด่วนหมด

นายเศรษฐายังกล่าวถึงนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องการเกษตรว่า เรื่องของการแก้ปัญหาการเกษตร รัฐบาลตระหนักดี เราจะประชุม ครม.ครั้งแรกในวันที่ 13 ก.ย.นี้ จะมีมาตรการต่างๆออกมาเกี่ยวกับเรื่องเอลนีโญ ขอให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์รวบรวมข้อมูลนิดหนึ่ง

นายกฯ กล่าวถึงการเดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 78 ระหว่างวันที่ 18-26 ก.ย. ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่าตนพยายามที่จะนัดหมายนักธุรกิจระดับโลกหลายท่าน เพื่อพูดถึงการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมีอะไรบ้าง ซึ่งการประชุมนี้ถือเป็นเวลาที่ดีที่เราจะไปพบปะพูดคุย

ถามว่า จะมีโอกาสได้พบกับผู้นำสหรัฐอเมริกาหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า กำลังนัดอยู่ ซึ่งคิดว่าน่าจะได้อยู่แล้ว เพราะจะมีการเลี้ยงอาหารค่ำผู้นำที่เข้าร่วมการประชุม เมื่อถามย้ำว่าเป็นลักษณะทวิภาคี นายเศรษฐากล่าวว่า ก็หวังว่าจะได้มีการหารือแบบทวิภาคี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายเศรษฐาจะออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจงาน "วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566" ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กองยานพาหนะทำเนียบรัฐบาลได้นำรถเบนซ์กันกระสุน รุ่น S 600 ทะเบียน 4 กค 29 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถเบนซ์ประจำตำแหน่งนายกฯ และเป็นรถกันกระสุนมาให้นายเศรษฐาได้ดูและทดลองนั่งบริเวณเบาะหลังเพื่อทดสอบ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่รูปร่างสูง ซึ่งนายเศรษฐาได้แสดงความพึงพอใจ แต่วันนี้ยังไม่ได้ใช้ในการปฏิบัติภารกิจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ทดลองนั่งรถเบนซ์กันกระสุนแล้วเป็นอย่างไรบ้าง นายเศรษฐากล่าวว่า ทดลองนั่งแล้วสบายดี เมื่อถามว่าจะใช้รถคันดังกล่าวใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า “ใช้ครับ  ดีครับ ไม่ต้องซื้อใหม่”

เปิดนโยบาย 'เศรษฐา 1'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำแถลงนโยบายของ ครม.ต่อรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 11 ก.ย.นั้น มีทั้งสิ้น 52 หน้า ซึ่งเป็นเนื้อหาในส่วนนโยบาย 14 หน้า โดยที่น่าสนใจอยู่ในหน้า 12-14 ได้ระบุถึงนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการก่อน  โดยระบุว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยเปรียบเสมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของเราในหลากหลายส่วน ภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายก็ฟื้นฟูได้ช้า จนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นที่มาของความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดการลงทุน และฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจของเราอีกครั้ง

นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี

และที่สำคัญ การดำเนินนโยบายนี้จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชน เปิดประตูให้ภาคธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล การกระตุ้นเศรษฐกิจที่กล่าวไปเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รัฐบาลมีนโยบายอีกหลากหลายประการที่สามารถทำได้โดยเร็ว เพื่อเร่งแก้ปัญหา และช่วยเหลือประชาชนผ่านนโยบายดังต่อไปนี้

นโยบายแรก คือ การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มอื่นๆ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน

นโยบายเร่งด่วนถัดมา คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ รัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที

นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป

นโยบายที่สาม คือ รัฐบาลจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวจะเป็นกุญแจดอกแรกในการสร้างรายได้ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นและสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก เราตั้งเป้าว่าจะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยว ด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การจัดทา Fast Track VISA สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และเพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี

รบ.ส่อเพิ่มภาษีสร้างรายได้

รัฐบาลจะร่วมกับภาคธุรกิจในทุกภาคส่วน เป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแสดงต่างๆ ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันการพัฒนาการบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบคมนาคม ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยจะปรับปรุงสนามบินและจัดการเที่ยวบินของสนามบินทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มปริมาณเที่ยวบินให้สามารถนำนักท่องเที่ยวมาสู่ประเทศไทยได้มากขึ้น แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและปราบปรามการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ซึ่งการรักษาความปลอดภัยจะสร้างความมั่นใจและความประทับใจกับประเทศไทยในระยะยาว

และนโยบายเร่งด่วนสุดท้าย คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

ที่น่าสนใจในช่วงท้ายของนโยบายที่แถลงได้ระบุว่า ในการบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินนโยบายนั้น รัฐบาลจะดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย ทั้งในด้านการเจริญเติบโต การลดความเหลื่อมล้ำ และการรักษาเสถียรภาพ ให้ความสำคัญกับกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด และให้ความสำคัญกับเสถียรภาพ ทางการเงินการคลังของประเทศ ในด้านการใช้จ่ายรัฐบาลจะดำเนินการใช้จ่ายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม โดยพิจารณาใช้จ่ายจากแหล่งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณทั้งในส่วนของเงินกู้และการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายเพื่อลดภาระการลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินและการกู้เงิน

"ขณะเดียวกัน รัฐบาลตระหนักถึงข้อจำกัดด้านรายได้ โดยเฉพาะรายได้จากภาษีของประเทศ รัฐบาลจะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีควบคู่ไปกับการเร่งส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะกลับเข้าสู่ระบบภาษี ที่จะนำไปใช้ในการดำเนินนโยบายต่อไปได้"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคำแถลงของนายเศรษฐานั้น ไม่มีนโยบายหาเสียงที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เคยพูดไว้ในหลายเรื่อง ตั้งแต่รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย, ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน, ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570 ด้วย

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ระบุไว้ในหน้า 18 ว่า รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน โดย (1) จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ (2) ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนให้เป็นแบบสร้างสรรค์ (3) ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง และกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจในปัจจุบัน และอนาคตของประเทศ (4) ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้มีความทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับรูปแบบและความเสี่ยงของภัยคุกคามทั้งในปัจจุบันและอนาคต และ (5) นำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะการใช้เพื่อการเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และการใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการสร้างรายได้ การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างความเข้มแข็งด้านสังคมของประเทศ

'เสี่ยนิด' ทำงานคล้าย 'แม้ว'

วันเดียวกัน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการนายกฯ ว่า เคยมีประสบการณ์เดิม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือภารกิจใหม่ ความท้าทายใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีปัญหามากมาย และเราจะรีบทำงานอย่างรวดเร็ว

 “กลับมาทำงานในรอบ 17 ปี จริงๆ อายุก็มากแล้ว ไม่ควรจะกลับเข้ามาทำงาน แต่ถ้าอะไรที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองและเคยตั้งปณิธานไว้ หากอะไรที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองก็พร้อมจะทำ” นพ.พรหมินทร์กล่าว

ถามว่า ระหว่างนายเศรษฐากับนายทักษิณที่เคยทำงานมาก่อน จะแตกต่างกันหรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า “โอ้โห คล้ายกันเลยครับ ทำงานเร็ว ทำงานเยอะ ผมนี่กลัวจะทำงานไม่ทันท่าน”

ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายแรกที่จะดำเนินการว่า จะเป็นไปตามนโยบายที่เราจะแถลงต่อรัฐสภา เป็นเรื่องแรกที่เราจะต้องทำ ขณะที่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เราจะใช้คำว่ายกระดับ เพราะเป็นโครงการเดิมแล้วปรับตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งเดิมมีลักษณะของคนที่มีรายได้ เมื่อเข้ารับบริการจะเสียค่าธรรมเนียม 30 บาท แต่เมื่อมีการปรับมาเรื่อยๆ ตรงนี้ก็หายไป ตัดออกไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีรายได้ก็ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเมื่อเข้ารับการรักษา

"โครงการใหม่ที่เราจะทำนั้นไม่ได้พูดถึงเรื่องการจ่าย แต่เราพูดถึงเรื่องยกระดับขึ้นมาเพื่อที่จะให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยใช้บัตรประชาชนสามารถเข้ารักษาได้ทุกที่ เป็นการครอบคลุมเรื่องของคุณภาพและประสิทธิภาพ ถ้าระบบเราสมบูรณ์ จะสามารถใช้ได้ทุกที่" นพ.ชลน่านกล่าว

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายว่า เป็นนโยบายเร่งด่วน เนื่องจากต้องใช้เวลาเจรจา มีหลายหน่วยงานและรถไฟฟ้ามีหลายสี แต่ละสีมีระยะสัมปทานที่แตกต่างกัน ขั้นตอนการเจรจาใช้เวลา เมื่อเรามีระบบที่จะให้ราคา 20 บาทตลอดสาย ผู้ประกอบการจะต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในระบบตั๋วร่วม กรณีนี้ทาง รฟม.มีอยู่แล้ว แต่บีทีเอสไม่มี ฉะนั้นก็ต้องเจรจากับบีทีเอสให้ติดตั้งระบบนี้ ต้องใช้งบประมาณพันล้านบาท

ถามว่า จะใช้เวลา 2-3 ปีได้หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ไม่น่าจะเกิน 2 ปี เมื่อถามว่าเรื่องค่ารถไฟฟ้า 20 บาท ไม่มีบรรจุในการแถลงนโยบาย อาจถูกมองว่าเพื่อไทยบิดพลิ้วหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า จากการชี้แจงและคำพูดของตนก็เป็นส่วนหนึ่งของคำสัญญา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอมิ้ง' แจงยังไม่นำรายชื่อ 'ครม.อิ๊งค์ 1' ขึ้นทูลเกล้าฯ

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบประวัติ คุณสมบัติ ในลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญของผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

สุดสับสน! ปรากฏการณ์การเมืองไทย ยุครัฐบาล 'อิ๊งค์'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเฉพาะกลุ่ม สส. แต่หัวหน้าพรรคกลับถูกไล่ออกไม่ให้ร่วมด้วย

'เรืองไกร' ท้า 'นายกฯอิ๊งค์' โชว์ใบลาออก พ้นกรรมการ 20 บริษัท

ายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้แสดงหลักฐานต่อสาธารณะเกี่ยวกับการลาออกจากกรรมการบริษัทต่างๆ รวม 20 บริษัท

'นายกฯอิ๊งค์' อยู่ได้เกิน 6 เดือนไหม! ขึ้นอยู่กับ 2 ทางรอด

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อุ๊งอิ๊งจะอยู่เกิน 6 เดือนไหม