บีบ30วันส่งแม้วกลับคุก

จับตา "น.ช.ทักษิณ" รักษาตัว รพ.ตำรวจ เหตุใกล้ครบ 30 วัน   อธิบดีราชทัณฑ์-แพทย์ใหญ่เตรียมหารือ นอนต่อหรือส่งกลับเรือนจำ พร้อมพ่วงพิจารณาความเห็นแพทย์ "ผบ.ตร." โยน รพ.ตำรวจ-ราชทัณฑ์แจงอาการป่วยเอง   "ศรีสุวรรณ" ร่อนหนังสือถึงกรมราชทัณฑ์ ค้านแนวคิดพักโทษทักษิณ​ ชี้ไม่เป็นธรรมกับนักโทษรายอื่น "ปิยบุตร" จี้ "รัฐบาลเศรษฐา" ผลักดันนิรโทษฯ คดีการเมืองทุกเสื้อสีตั้งแต่ปี 48 จะเป็นการก้าวข้ามขัดแย้งที่แท้จริง

เมื่อวันอังคาร นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งคำถามผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุเนื้อหาสาระเกี่ยวกับระยะเวลาการรักษาตัวนอกเรือนจำของนายทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามกฎกระทรวงยุติธรรม เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ซึ่งลงนามโดยคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมในขณะนั้น พร้อมระบุว่า   หากมีการรักษาตัวนอกเรือนจำนานกว่า 30 วัน จะต้องมีความเห็นจากทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ หากนานกว่า 60 วัน จะต้องมีความเห็นจากทางปลัดกระทรวงยุติธรรม และหากนานเกิน 120 วัน จะต้องมีความเห็นจาก รมว.ยุติธรรม  พร้อมทั้งขอให้มีการแถลงรายละเอียดต่อสาธารณชนเพื่อคลายข้อสงสัยว่าได้มีการเลือกปฏิบัติต่อนายทักษิณหรือไม่

"เรื่องนี้ต้องทำให้เป็นการปฏิบัติที่โปร่งใสและเสมอภาค ผู้ต้องขังไม่ว่าใคร จะยากดีมีหรือจน หากป่วยแล้วโรงพยาบาลราชทัณฑ์รักษาไม่ได้ ก็พึงได้สิทธิและโอกาสในการออกมารักษาตัวนอกเรือนจำเช่นเดียวกัน และอยู่ภายใต้หลักว่าถ้าหายป่วยแล้วก็ต้องกลับไปเข้าเรือนจำ หากไม่ทำดังที่ว่า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่และกระทบรัฐบาลแน่นอน" นายปริญญาระบุ

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า    สำหรับอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังตลอดช่วงระยะเวลาการนอนพักรักษาตัว จะมีความทุเลาดีขึ้นหรืออาการทรงตัวอย่างไร จะเป็นดุลพินิจของนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจที่จะต้องรายงานแจ้งมายังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่ออธิบดีมีความคิดเห็นพิจารณาอนุมัติว่าจะให้รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจต่อเนื่อง หรือพิจารณาอนุมัติให้ย้ายกลับมารักษาที่ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ดังนั้น ในกรณีที่นายทักษิณจะมีการรักษาตัวที่รพ.ตำรวจนานกว่า 30 วันนั้น ทางแพทย์ที่เป็นผู้รักษาจะต้องรายงานอาการความเจ็บป่วยและความคิดเห็นของแพทย์ไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอน และถ้าหากจะมีการรักษานานกว่า 60 วัน ก็จะต้องมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมรับทราบ  ส่วนถ้าจะมีการรักษานานกว่า 120 วัน ก็จะต้องมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องและรายงานรัฐมนตรีทราบ

แหล่งข่าวระบุอีกว่า เมื่อใกล้ครบกำหนดระยะเวลาการนอนพักรักษาตัว 30 วัน ตามหลักการแล้วทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์หรือตัวแทนราชทัณฑ์จะต้องมีการประชุมหารือร่วมกับทีมแพทย์ รพ.ตำรวจ ผู้ทำการรักษา เพื่อมีความเห็นร่วมกันว่าจะอนุมัติให้ยังคงรักษาตัวที่เดิมหรือไม่ อย่างไร

เมื่อถามว่า หากต้องมีการรักษานานเกินกว่า 30 วัน มีแนวโน้มที่นายทักษิณจะย้ายไปรักษาตัวที่ รพ.เอกชน ซึ่งจะมีเครื่องมือทางการแพทย์และแพทย์เฉพาะทางเหมาะสมต่อการรักษาหรือไม่ แหล่งข่าวบอกว่า หาก รพ.ที่ได้ลงนาม MOU กับราชทัณฑ์ (หรือ รพ.แม่ข่าย) ยังคงมีศักยภาพในการรักษา ก็ยังจะต้องเป็น รพ.ของรัฐต่อไป แต่ถ้าหาก รพ.ของรัฐที่ลงนามอยู่นั้นไม่มีเครื่องมือพร้อมในส่วนอื่นใด ก็อาจจะมีความจำเป็นต้องพิจารณาย้ายไปรักษาตัวที่ รพ.เอกชนแทนได้ แต่เท่าที่รับทราบ ยังไม่มีแนวโน้มย้ายนายทักษิณไปรักษาตัวที่รพ.แห่งอื่น

ย้ำต้องรับโทษจำคุก 1 ใน 3

แหล่งข่าวยังระบุถึงโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปว่า ปกติแล้วในเวลา 1 ปี ทางราชทัณฑ์จะมีโครงการอยู่แล้ว ซึ่งเรือนจำจะมีการสำรวจรายชื่อของผู้ต้องขังแล้วก็มีการจัดทำบัญชีรายชื่อเพื่อแจ้งผู้ต้องขัง หากเข้าเกณฑ์ก็ให้ดำเนินการยื่นเอกสารมาทางเรือนจำ และที่สำคัญจะต้องมีการรับรองเนื้อหาเอกสารการเจ็บป่วยด้วย

"อย่างไรก็ตาม ตามเกณฑ์จะต้องมีการรับโทษจำคุกแล้วหนึ่งในสามหรือไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่ในกรณีของนายทักษิณนั้น เข้ามารับโทษจำคุกเพียง 1 ปี หากคำนวณหนึ่งในสามก็เท่ากับ 4 เดือน ซึ่งนายทักษิณก็จะต้องรับโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อน จึงจะเข้าเกณฑ์ยื่นขอเข้าโครงการพักการลงโทษได้ แต่ถ้าหากมีการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในวาระโอกาสสำคัญ ก็จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง" แหล่งข่าวระบุ

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)  กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ถูกย้ายเข้ามารักษาอาการป่วยที่ รพ.ตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า ทางราชทัณฑ์ประสานกับทาง รพ.ตำรวจในการย้ายมาตามปกติ ในส่วนของภาพรวม ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ควบคุมดูแลและประสานการทำงานในภาพรวม ส่วนรายละเอียดเรื่องการรักษาตัวหรือสภาพร่างกายต่างๆ ขึ้นอยู่กับทางโรงพยาบาลที่จะเป็นผู้ให้ข้อมูล

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการรายงานเข้ามาให้ทราบหรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า เป็นรายละเอียดของทางแพทย์ที่ทำการรักษาขอให้เป็นผู้ให้ข้อมูลจะดีกว่า เช่นเดียวกับระยะเวลาที่พักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ซึ่งตามระเบียบหากครบ 30 วันจะต้องพิจารณาว่าจะรักษาตัวที่ รพ.ต่อหรือย้ายกลับไปที่ราชทัณฑ์นั้น เรื่องดังกล่าวขอให้สอบถามกับทางราชทัณฑ์เพราะตนเองไม่มีความชำนาญเรื่องนี้  ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยนั้น ในภาพรวมได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.ดูแล

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า  ภายหลังนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษจาก 8 ปี เหลือเพียง 1 ปีไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้สังคมไทยให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวของนายทักษิณหลังจากนี้ โดยเฉพาะการพูดกันอย่างหนาหูเกี่ยวกับการขอพักโทษ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง  สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมแห่งดับเบิลสแตนดาร์ดหรือ 2 มาตรฐานที่น่ารังเกียจที่ชัดเจนที่สุด

นายศรี​สุวรรณกล่าวว่า แม้ช่องทางการพักโทษจะมีอยู่ 2 ช่องทาง ตามขั้นตอนคือ 1.การรับโทษแล้ว 1 ใน 3 ซึ่งก็จะเข้าเงื่อนไขการเป็นนักโทษชั้นดี สามารถปรับขึ้นได้ตามปกติ หรือขึ้นเป็นในกรณีพิเศษ ซึ่งหากทำตามนี้ ก็จะไปครบในวันที่ 22 ธ.ค. ก็จะเลยวันที่ 13 ต.ค. เลยวันที่ 5 ธ.ค. ส่วนข้อที่ 2 คือ การพักโทษกรณีพิเศษ เช่น สูงวัยอายุเกิน 70 ปี หรือเป็นป่วยหนักมีโรคประจำตัว ก็อาจจะใช้ช่องทางนี้ แต่ถึงแม้จะใช้ช่องทางใดก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการใช้อำนาจหรือดุลยพินิจ หรือเลือกปฏิบัติโดยใช้กฎกระทรวงที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในสมัยที่นายสมศักดิ์ เทพสุทินเป็น รมว.ยุติธรรม เพราะมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญ 2560

 น่าจะมีเจตนาที่จะออกมาเพื่อรองรับ  น.ช.ทักษิณเป็นการเฉพาะ

จี้นิรโทษกรรมทุกเสื้อสี

 "องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงได้ทำหนังสือด่วนถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการราชทัณฑ์ เพื่อขอให้ทบทวนหรือยกเลิกกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ รวมทั้งหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2562 ดังกล่าว ซึ่งอาจมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์เพียงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนักโทษเทวดาบางคนที่ไม่ยอมเข้าคุกจริงๆ ตามคำพิพากษาของศาล กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมจำจะต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มีผลกระทบอื่นอันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน ญาตินักโทษ และหรือนักโทษอีกหลายแสนคนที่อาจต้องป่วยและถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในที่สุด นายทักษิณจะต้องไม่ถูกพักโทษไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่เช่นนั้นคงต้องพึ่งศาลปกครองต่อไป" นายศรี​สุวรรณระบุ

ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล  เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องว่า รัฐบาลเศรษฐาและทุกพรรคในสภาควรเร่งผลักดันการนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมือง นับตั้งแต่คุณทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 22 สิงหาคม และได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี ในวันที่ 1 กันยายน และเตรียมเข้าสู่กระบวนการพักโทษหรือได้รับอภัยโทษตามวโรกาสสำคัญต่อไปนั้น จนถึงตอนนี้ มีคนจำนวนมากตั้งคำถามและไม่เห็นด้วยกับกรณีคุณทักษิณ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน และการตกลงเจรจาต่างๆ  เพียงแต่ว่ามีการแสดงออกมากน้อยต่างกันไป

เพื่อลดทอนการตั้งคำถามเรื่องความไม่เสมอภาค และเพื่อความปรองดองอย่างแท้จริงและเท่าเทียม รัฐบาลเศรษฐา และพรรคการเมืองในสภา ควรเร่งผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนทุกฝักฝ่าย  ทั้งพันธมิตรฯ นปช. กปปส. และกลุ่มเยาวชน และ “ราษฎร” ตั้งแต่ปี 48 จนถึงปัจจุบัน

"นี่ต่างหากที่จะเป็นก้าวแรกของการก้าวข้ามขัดแย้งที่แท้จริง สร้างความปรองดองสมานฉันท์ และเกิดประโยชน์ตกแก่ประชาชนคนธรรมดา นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนลดข้อครหาที่มีต่อรัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยในประเด็นเกี่ยวกับบ่อเกิดของการตั้งรัฐบาลชุดนี้ได้อีกด้วย" นายปิยบุตรระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง