ทนายเผย‘ทักษิณ’ป่วยหนัก ราชทัณฑ์ชี้ต้องติดคุก1ใน3

ยังสาหัส! ทนายเผยยังไม่มีแนวโน้มอาการเจ็บป่วยของ "น.ช.ทักษิณ" จะทุเลาดีขึ้น โรคหัวใจหรือโรคอื่นๆ รวมถึงการรักษาพยาบาลยังคงอยู่ในการประเมินวินิจฉัยของทีมแพทย์ รพ.ตำรวจและเรือนจำแบบวันต่อวัน ทีมทนายหาช่องทางไม่ให้ลูกความติดคุก มีทั้งพักโทษ  ยื่นอภัยโทษ 13 ต.ค., 5 ธ.ค. ขณะที่ราชทัณฑ์ชี้พักโทษ ต้องรับโทษแล้ว 1 ใน 3 เท่านั้น

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความประจำตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายจะเข้าไปพบนายทักษิณ เพื่อพูดคุยเรื่องคดีความคงค้างและเรื่องอื่นๆ ส่วนการเดินทางเข้าเยี่ยมของสมาชิกครอบครัวนายทักษิณ ยังไม่ได้รับรายงานว่าจะมีใครเดินทางเข้ามาบ้างหรือไม่ ขณะที่การเยี่ยมผ่านรูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของญาติคนอื่นๆ ยังไม่ได้รับแจ้งเช่นกัน

เขาเผยว่า ตลอดการเข้าพบพูดคุยกับนายทักษิณที่ผ่านมา นายทักษิณยังคงมีอาการอ่อนเพลียบ้าง แต่ยังพูดคุยตอบโต้ได้ ไม่ถึงขนาดมีอาการเหนื่อยหอบ ส่วนเรื่องอาการของโรคหัวใจหรือโรคอื่นๆ รวมถึงการรักษาพยาบาลยังคงอยู่ในการประเมินวินิจฉัยของทีมแพทย์ รพ.ตำรวจ และทางเรือนจำแบบวันต่อวัน เวลานี้จึงยังไม่มีแนวโน้มว่าอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณทุเลาดีขึ้น หรือจะได้รับการพิจารณาจากแพทย์เพื่อส่งกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่สามารถยืนยันในส่วนนี้ได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องความเป็นไปได้ของนายทักษิณ ที่อาจได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังสูงวัยและมีอาการเจ็บป่วยนั้น นายวิญญัติตอบว่า มีความคิดเห็นหลากหลายของบุคคลในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดถึงประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ก็จะต้องพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์  พ.ศ. 2560 หรือกฎกระทรวงของราชทัณฑ์หรือไม่ และหากเข้าเกณฑ์ก็ต้องดูอีกว่ามีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อไม่ให้ผิดหรือขัดต่อระเบียบที่มีการกำหนดไว้ ถ้ากรมราชทัณฑ์พิจารณาจากหลักเกณฑ์แล้วเห็นว่านายทักษิณเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ก็จะมีการแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องขังรับทราบ ส่วนการจะใช้สิทธิดังกล่าวนี้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนายทักษิณเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดในเรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติใดๆ เป็นเพียงการคาดการณ์และความคิดเห็นของคนในสังคมเท่านั้น อีกทั้งทางเรือนจำก็ยังไม่ได้มีการแจ้งเรื่องการพักการลงโทษมายังตนหรือนายทักษิณ แต่ทราบว่ามีเกณฑ์นี้อยู่ ท้ายสุดเรื่องนี้ก็เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมที่จะดำเนินการ

นายวิญญัติระบุอีกว่า กรณีของนายทักษิณมีหลายช่องทางที่เป็นไปได้ ทั้งเรื่องอาจเข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ หรือเรื่องคุมประพฤติโดยการติดกำไล EM แต่จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใดก็ขึ้นอยู่กับกรมราชทัณฑ์ที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ เพราะหน่วยงานก็ดำเนินไปตามระเบียบกฎหมายกำหนดไว้ แต่ในฐานะทนายความก็ต้องไปศึกษาทั้งหมด ทั้งกฎระเบียบเก่า กฎกระทรวงที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม หรือกฎกระทรวงเดิม นอกจากนี้ในเรื่องการติดหรือไม่ติดกำไล EM มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งหมด เนื่องจากจะมีหลักเกณฑ์รวมถึงข้อยกเว้นอยู่ อยู่ที่ว่าจะเข้าหลักเกณฑ์หรือข้อยกเว้นหรือไม่ หากมีข้อยกเว้นให้สามารถดำเนินการได้ ตนในฐานะทนายความก็ต้องดำเนินการเพื่อลูกความ ถือเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขัง

เมื่อถามว่า ในส่วนของบ้านพักหากนายทักษิณเข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ จะเป็นสถานที่ใด สามารถเป็นบ้านพักที่อยู่ปัจจุบันหรือไม่ นายวิญญัติระบุว่า หากนายทักษิณได้รับการพักการลงโทษจริง ตนไม่สามารถให้ข้อมูลในส่วนนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่นายทักษิณจะต้องมีการพูดคุยกับครอบครัว และร่วมกันพิจารณาตัดสินใจถึงความเหมาะสม แต่อยากให้รออีกสักระยะหนึ่งคงจะได้ทราบความชัดเจนกัน

พักโทษต้องติดคุก 1 ใน 3

ถามว่า นายทักษิณหรือครอบครัวจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษสำหรับวารโอกาสสำคัญหลังจากนี้หรือไม่ เช่นวันที่ 13 ต.ค. หรือ 5 ธ.ค. นายวิญญัติกล่าวว่า การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษที่ผ่านมาและนายทักษิณได้รับการอภัยลดโทษ ก็ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดแล้วในครั้งนั้น ซึ่งตนมองว่าเป็นรายครั้งมากกว่า ส่วนในครั้งถัดไปหากมีวารโอกาสสำคัญหรือวันสำคัญ นายทักษิณก็มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์หรือมีผลเป็นคุณต่อตัวเองได้ในฐานะที่เป็นผู้ต้องขังทั่วไป แต่ก็ต้องดูว่าขณะนี้นายทักษิณจัดว่าเป็นผู้ต้องขังชั้นใดหรืออยู่ในหลักเกณฑ์ใด อีกทั้งยังต้องไปดูในส่วนของพระราชกฤษฎีกา ที่ถ้าหากมีการประกาศออกมานั้น จะมีการระบุหมายเหตุ ข้อยกเว้น หรือสาระเนื้อหาแนบท้ายส่วนได้หรือไม่

นายวิญญัติระบุด้วยว่า หากมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษครั้งถัดไป คาดว่าจะมีการพูดคุยกันภายในครอบครัวของนายทักษิณเอง ซึ่งตนจะไม่ได้รับทราบข้อมูลในส่วนนี้ หรือครอบครัวอาจจะเป็นผู้ดำเนินการประสานกับเรือนจำได้เลย เพราะว่าหน้าที่หลักของตนคือการรับผิดชอบในส่วนของคดีความที่เหลือตามที่ได้รับมอบหมาย จึงไม่สามารถยืนยันข้อมูลได้

ส่วนเรื่อง 10 รายชื่อใหม่ที่นายทักษิณจะต้องมีการระบุว่าอนุญาตให้ใครเข้าเยี่ยมบ้างนั้น ขณะนี้ยังไม่ครบกรอบกำหนดเวลา 30 วัน รอใกล้ๆ วันทางเรือนจำจะมีการสำรวจแจ้งมา คาดว่าจะมีการดำเนินการเรื่องรายชื่อชุดใหม่ประมาณวันที่ 29 ก.ย.นี้ ส่วนจะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขรายชื่ออย่างไรขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายทักษิณเอง

ด้านนายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงประเด็นความชัดเจนเรื่องการพักโทษของนายทักษิณ ว่า ส่วนตัวไม่อยากก้าวล่วงในเรื่องนี้ แต่ในส่วนกระบวนการของผู้ต้องขัง ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันตามกฎหมาย  เมื่อเข้าเรือนจำมาแล้วก็สามารถได้เลื่อนชั้น ถ้าเข้าหลักเกณฑ์ตามกำหนด ตลอดจนได้การลดโทษหรือได้การพักโทษ ถ้ามีความประพฤติดีหรือถ้ามีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ก็จะได้พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษตามวาระทั่วไป หรือเป็นรายบุคคลตามที่กระทรวงยุติธรรมได้ให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้

สำหรับการพักโทษของนายทักษิณ ตนมองว่ามีได้อยู่แล้ว เพราะใครที่มีโรครุมเร้าหรือเจ็บป่วยร้ายแรง ก็จะมีการพักโทษในกรณีพิเศษ แต่ต้องจำคุกไปแล้ว 1 ใน 3 ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ต้องขังหลายรายก็ใช้สิทธิเท่าเทียมกัน และมีการพิจารณากันอยู่แล้วตามลำดับ

ส่วนความหมายของการพักโทษ คือการที่ผู้ต้องขังติดคุกมาตามคำพิพากษาในระยะหนึ่ง แล้วมีความประพฤติดี  มีความอุตสาหะ และมีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ช่วยเหลือ ตลอดจนทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติจากการพักการลงโทษ จึงไม่ต้องอยู่ในเรือนจำให้ครบตามกำหนดโทษ ก็สามารถไปพักโทษอยู่บ้านได้ และใส่กำไลอีเอ็ม โดยจะต้องรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ

เมื่อถามอีกว่า นายทักษิณมีความจำเป็นต้องใส่กำไรอีเอ็มหรือไม่นั้น รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ระบุว่า “แล้วแต่เหตุผลและความจำเป็นของการพิจารณา” ซึ่งเมื่อถามย้ำอีกว่า นายทักษิณเข้าข่ายการพักโทษหรือไม่ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า “ไม่ขอตอบเรื่องนี้”

พักโทษต้องติดคุก 1 ใน 3

ขณะที่ ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือท่านใหม่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง “อภัยทาน” โดยระบุว่า “จากเสียงหนาหูในสื่อสังคมออนไลน์ จึงขออนุญาต ขอเล่าเรื่องสดๆ ร้อนๆ ในช่วงนี้ เวลานี้ ก็คือเรื่องอภัยโทษคุณทักษิณ แต่ก่อนที่จะคุยเรื่องนี้ ผมขอเชิญชวนทุกท่าน โปรดนั่งใช้วิจารณญาณ ตรึกตรองสักนิด แล้วถามตัวเองว่า วันนี้คนไทยรู้จักพระเจ้าแผ่นดินแบบไหน? แบบที่เราต้องหยุดรถ เพื่อรอขบวนเสด็จให้ผ่านไปก่อน หรือแบบต้องยืนตรงถวายความเคารพก่อนดูหนัง หรือแบบต้องร้องตะโกนทรงพระเจริญต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ หรือแบบเข้าหาราษฎรทุกท้องถิ่นโดยไม่ต้องร้องขอ หรือเหมือนสายฝนที่โปรยปรายฉ่ำเย็นโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แบบไหน?

 ผมจะขอเล่าเรื่องที่ในอดีต ปู่ย่า ตายาย เล่าให้ฟังสักนิด คนไทยเรานั้นอยู่กับพระพุทธศาสนามานานมาก ดังนั้น หลักธรรมคำสั่งสอน สอนให้คนไทยเรามีความเมตตา กรุณา รู้จักรักและให้อภัย อโหสิแก่กันและกัน สังคมเราจึงมีรอยยิ้มและอบอุ่นชนิดที่สังคมประเทศอื่นแทบจะไม่มีและไม่เข้าใจ วันนี้คนไทยมากมายอาจไม่เห็นด้วยและไม่ยอม 'ละวาง' หรือ 'ไม่อภัย' ให้แก่กัน เก็บเป็นความแค้นฝังใจ ต้อง 'เอาคืน' ให้ได้

 พระมหากษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดิน หรือในหลวงก็ได้ของเรา ตั้งแต่ครั้งเป็นกรุงสุโขทัยตลอดจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่เพียงต้องมีความเมตตาและกรุณาเท่านั้น แต่พระองค์ยังต้อง 'รักษา' ถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และเป็นแบบอย่างให้ทุกชีวิตในราชอาณาจักร เป็นต้นแบบความดีงาม เป็นหลักของสังคมและเป็นผู้นำของหมู่ชนหรือประเทศรอบๆ ด้วย

พระมหากษัตริย์ต้องดำรงพระองค์อยู่กับหลักปฏิบัติเหล่านี้ตลอดเวลา แน่นอนว่าทำได้ยาก จึงมีข้อปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ที่เรารู้จักกันว่า ทศพิธราชธรรม เป็นหลักให้ยึดถือ และทาน ก็คือข้อแรกในทศพิธราชธรรม (ข้ออื่นๆ ก็สำคัญมาก)

 คำประกาศอภัยโทษคุณทักษิณ เป็นหลักปฏิบัติตาม ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ และขนบ ประเพณี มาแต่โบราณ (พระเจ้าแผ่นดินยุคสมัยก่อนๆ ก็มีมา ค้นคว้าหาอ่านได้) มันเป็นหลักเกณฑ์เดียวกับนักโทษทุกคนในเรือนจำจะได้รับ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะมีเจ้าหน้าที่กลั่นกรองตามลำดับชั้น ซึ่งจะต้องกลั่นกรองและพิจารณาอย่างดีแล้ว จึงทูลเกล้าฯ พูดอีกมุมหนึ่ง มันคือหลักเกณฑ์เดียวกันกับที่พสกนิกรทุกคนต้องได้รับ โดยไม่ยกเว้นไม่ว่าจะรักหรือเกลียดพระองค์

 และเป็นพระราชอำนาจ คำนี้โปรดอย่าเข้าใจผิดว่า 'ตามใจพระราชา' แต่หมายถึง เป็นเกียรติ เป็นศรีถวายแด่พระมหากษัตริย์เพื่อพระองค์เป็นผู้ประกาศ เป็นพระมหากรุณาของผู้ปกครองแว่นแคว้นตามหลักปกครองที่กล่าวข้างต้น

 มีคำถามในหมู่ราษฎรส่วนหนึ่งว่าวันนี้ พระเจ้าแผ่นดินจะอยู่กับโลกยุคใหม่อย่างไร อยากบอกว่า กรณีอภัยโทษ-อภัยทาน คุณทักษิณ ผลานิสงส์แท้จริง ไม่ใช่ตัวคุณทักษิณเป็นหลัก แต่กรณีนี้เป็นแบบอย่างให้คนไทยทุกคนและเจ้าหน้าที่ทุกส่วนราชการ สส. สว. หรือนักการเมือง ได้รู้ว่าการปกครองที่ดีที่สุด ผู้ปกครองควรต้องมีธรรม แม้จะทำได้ยาก แต่ก็ต้องทำ การยึดถือเอาธรรมเป็นหลัก คือการยึดถือผลหรือประโยชน์ของราษฎรทุกคนเป็นที่ตั้ง มีความถูกต้อง ดีงาม สังคมนั้นก็จะมีความสุข

 จริงๆ แล้วพระเจ้าแผ่นดินอยู่กับคนไทยเรามานาน แต่พวกเราบางคนกลุ่ม บางคน ต่างหากที่กำลังตั้งใจจะ ผลักไสให้พระองค์ออกไป… ผมเห็นอย่างนี้จริงๆ ส่วนท่านจะเห็นด้วยหรือเห็นแย้ง ก็ขอสงวนสิทธิ์แสดงความเห็นด้วยความสุภาพนะครับ”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง