ทีดีอาร์ไอแนะ "ครม.เศรษฐา 1" สร้างสมดุล “เสรีนิยม-รัฐสวัสดิการ-อนุรักษนิยม” ชั่งน้ำหนักนโยบายให้เหมาะสถานการณ์ ลดขนาดเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน เพิ่มให้งบสวัสดิการแทน ภาคเอกชนชงมาตรการเร่งด่วนอัดฉีดพยุงจ้างงาน แก้หนี้-ตรึงดีเซล เครือข่ายวีแฟร์สแกน รมต.คุมกระทรวงด้านสังคมกลับไร้นโยบายสวัสดิการ แนะตัดงบกองทัพจ่ายคนแก่ได้สบาย กระตุ้นเศรษฐกิจไม่แพ้แจก 1 หมื่น
เมื่อวันที่ 3 กันยายน เวลา 10.00 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 1/2566 หัวข้อ "การบ้าน ครม.เศรษฐา 1 แก้วิกฤตประเทศ" โดยมีนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย, นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair ร่วมเสวนา
นายนณริฏกล่าวว่า แกนการเมืองจะมี 3 มุม คือ เสรีนิยม รัฐสวัสดิการ และอนุรักษนิยม ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากอนุรักษนิยมมาเป็นเสรีนิยม และเกิดนโยบายใหม่ๆ ที่ต้องมาตกผลึกว่าจะเหมาะสม เกิดผลดีหรือผลเสียกับประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลเศรษฐา 1 รวมกับ 2 ลุง จะมีทั้งฝ่ายของเสรีนิยม สวัสดิการ และอนุรักษนิยมด้วย ในแง่วิชาการไม่มีถูกผิด ขึ้นอยู่กับว่าเรามีรัฐบาลที่ดีหรือไม่ เช่น เสรีนิยม หากเป็นการเมืองที่ดีอยากจะเห็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีนวัตกรรม ผลักดันประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ไม่อยากเห็นทุนผูกขาดกระจุกตัว ขณะที่รัฐสวัสดิการ อยากให้ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาส มีสวัสดิการที่เป็นธรรม มีนโยบายช่วยกลุ่มเปราะบาง แต่ไม่อยากเห็นการแจกเงินโดยไร้ความรับผิดชอบ ไร้จำเป็น และเป็นภาระการคลัง ส่วนสุดท้ายคือสมดุลอนุรักษนิยม ซึ่งไทยมีวัฒนธรรมที่ดี แต่อยากเติบโตแบบโลกยุคใหม่ จึงอยากที่จะอยู่ร่วมกันได้ของสังคม ไม่อยากเห็นการเกรงกลัวต่างชาติเกินไป ปกป้องไม่ลืมหูลืมตา ดังนั้น นับว่าเป็นความท้าทายใหม่ของรัฐบาลที่จะสร้างสมดุลทั้ง 3 รูปแบบนี้ให้อยู่ในรูปแบบการเมืองที่ดี
ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจย้อนหลังปี 2540 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 7.27% หลังจากนั้นตกลงมา 4.8% และตกลงมาเรื่อยๆ กระทั่งหลังโรคโควิด เหลืออยู่ที่ 3% สะท้อนว่าหลังวิกฤต เศรษฐกิจไทยต่ำลง นั่นแปลว่าการทำอะไรแบบเดิมไม่สามารถไปได้ไกล จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ที่ต้องมีมาตรการเสริมเข้ามา อย่างไรก็ตาม ความท้าทายระยะสั้นคือต่อสู้ระหว่างแรงกดดันที่อยากให้รัฐบาลทำตามที่หาเสียง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน จึงควรคัดนโยบายที่สำคัญ เหมาะสมกับช่วงระยะเวลา บางนโยบายอาจจะไม่จำเป็นต้องทำแล้ว บางนโยบายอาจจะปรับขนาด เช่น เงินดิจิทัล 10,000 บาท เรือธงของพรรคเพื่อไทย แต่ต้องดูว่าในปัจจุบันว่าจะต้องกระตุ้นระดับไหน ซึ่งหากประมาณการว่าควรโต 3.7-3.8% แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยโตเพียง 2.8% เท่านั้น แปลว่าหายไป 1% หรือราวๆ 1-2 แสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นการให้งบ 5.6 แสนล้านบาท อาจจะเยอะเกินไป เสี่ยงเกิดภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นหากตัดบางส่วนมาใช้สำหรับรัฐสวัสดิการเป็นทางออกได้
อีกเรื่องคือแก้ปัญหาหนี้สิน ที่ไม่ใช่การยกหนี้ แต่ต้องมีการจัดกลุ่มหนี้ แล้วแก้ปัญหาหนี้นั้นให้ตรงจุด โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีข้อมูลมาร่วมวางแผนแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ต้องพูดถึงการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจการกระจายทรัพยากรเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง ตลอดจนการต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าถึงคนจนจริง และต้องส่งเสริมให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้
ชง รบ.อัดฉีดพยุงจ้างงาน
ด้านนายธนิตกล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นตัวเลือกที่เราไม่มีทางเลือก แต่ดีที่สุดในแคนดิเดตทั้งหลาย สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่ควรทำให้เห็นผล 3 เดือน ไม่ใช่ออกนโยบายมา 24-25 ข้อ แต่เป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้นที่ต้องเร่งสุดคืออัดฉีดเงินในรูปแบบต่างๆ เพื่อพยุงการจ้างงาน เพราะขณะนี้เริ่มมีการเลิกจ้าง แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ธุรกิจ และมีก้อนใหม่มา ส่วนกระเป๋าเงินดิจิทัล แค่อยากถามว่าจะให้ครั้งเดียวหรือตลอดไป เพราะประชาชนหวังว่าจะได้ทุกปี ต้องตอบให้ชัด ส่วนแรงงาน โดยเฉพาะค่าแรง 600 บาทนั้น ถือว่าหนัก แม้จะใช้กรอบ 4 ปี ถ้าเป็นโรงงานใหญ่ไม่สะเทือน แต่เอสเอ็มอีเจ๊งหมด ดังนั้นควรพิจารณาอย่างพอเหมาะ ส่วนเงินเดือนปริญญาตรี ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 10,000 บาท ซึ่งกลุ่มปริญญาตรี รวมเกษตรกร 30% แล้วจะทำให้เด็กตกงาน แล้วดันเด็กอาชีวะเข้าเรียนปริญญาตรีหมด สุดท้ายเรื่องพลังงาน ดีเซลต้องลดหรือตรึงราคาไม่เกิน 32 บาท เพราะราคาน้ำมันเพิ่ม ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม เข้าใจ “รัฐบาลเศรษฐา” ซึ่งเข้ามากับความท้าทาย และมาภายใต้ความคาดหวัง แต่อย่างน้อยเห็นขั้วทั้งหลายมีการจับมือกันแล้ว
รองประธานสภาองค์การนายจ้างฯ เผยว่า เตรียมจะหารือกับ รมว.ศึกษาธิการ รมว.แรงงาน ในเรื่องหลักสูตรพัฒนาฝีมือแรงงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเชิญนายจ้างมาช่วยสะท้อนปัญหาและความต้องการ และสิ่งที่ต้องทำด้วยกันคือการพัฒนาเจ้าของธุรกิจ ส่งเสริมเทคโนโลยีในการทำงาน มีกองทุนเรื่องนี้ชัดเจนสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี กระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ต้องหลุดจากกรอบ 2.0
นายเกียรติอนันต์กล่าวว่า วิกฤตที่เข้ามาจะมี 3 แบบคือ วิกฤตที่มาจากอดีต วิกฤตในอนาคต และวิกฤตที่รัฐบาลจะสร้างเอง เมื่อดูการศึกษากับแรงงาน ต้องทำทั้งกลุ่มวัยเรียนและกลุ่มวัยทำงานที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันโดยเฉพาะคนที่ทำงานแล้ว 12 ล้านคน ต้องมีการเพิ่มทักษะให้สูงขึ้น ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ไม่อย่างนั้นคนจะตกงานเยอะ แต่ยังไม่เห็นนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนที่ชัดเจนเรื่องนี้ ที่ตนมองว่าต้องทำในกลุ่มนี้ก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่จะทำให้เกิดการขยายจีดีพี ทำให้รัฐบาลมีงบในการสร้างคน ใช้ในด้านต่างๆ ถ้า 1 ปียังไม่เป็นรูปธรรม เกรงว่าจะไม่ทัน นอกจากนี้ต้องระวังเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะเวลาคนลำบาก พ่อแม่ต้องทำงานเยอะ ไม่มีเวลาดูแลลูก ค่าใช้จ่ายไม่พอ ทุพโภชนาการ ( กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ความเหลื่อมล้ำ) ในขณะที่ตลาดแรงานที่ต้องการคนเก่ง คนที่ได้เปรียบคือคนมีฐานะดี ดังนั้นหากไม่ได้แก้เรื่องการศึกษาที่ดี อีก 6-7 ปีจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างใหม่ มีคน 20% ไปต่อได้ แต่จะมีกำลังไม่พออุ้มคน 80% อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรอดูการแถลงนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
"ส่วนตัวมองว่าคือการทำเรื่องอาหารอย่างจริงจัง ไปให้สุด เป็นการกินเพื่อชาติ ซึ่งจะไปส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยวด้วย ขณะที่มหาวิทยาลัยต้องกลับไปเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคนทั้งมวล ปรับตัวและสื่อสารเป็นหลักสูตรระยะสั้น พอดีสำหรับการทำงาน เพื่อสะสมความรู้แล้วค่อยรับใบปริญญาในภายหลังก็ได้ ในส่วนของอาชีวศึกษา ต้องถูกอัปเกรดให้มีความรู้ความสามารถที่ทันกับโลกอนาคต หลังจากนี้หลังเด็กจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะไม่ได้เรียนต่อเยอะ หากไม่เตรียมพร้อม คนไทยจะวนอยู่กับการเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ลูกหลานก็จนต่อเนื่อง และพยายามอย่าใช้คำว่า “10 อาชีพดาวรุ่ง” เพราะทำให้คนแห่เรียนเยอะ กลายเป็นตกงานแทน ทั้งนี้ การศึกษาจะช่วยได้มากในการแก้ไขความยากจน ซึ่งความจนนี้หากอยู่กับคนแล้วจะอยู่ไป 3 รุ่น หากแก้ความจนคน 1 รุ่นก็จะแก้ไปได้ 100-200 ปี" นายเกียรติอนันต์ระบุ
ส่วนแผนการปฏิรูปการศึกษา ยกมือไหว้เลย ทุกกระทรวงอย่าทำ เพราะที่ผ่านมาเรามีแผนที่ดีอยู่ เราต้องการคนทำงาน วันแรกต้องทำงานเลย เวลาของประเทศไม่มีแล้ว ช่วงฮันนีมูนจบไปตั้งแต่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ตนมองหน้าตารัฐบาลนี้แล้วเห็นว่ามีความเสี่ยง ซึ่งหลายคนก็ตั้งคำถาม ซึ่งภาคประชาชน วิชาการ สื่อ ต้องร่วมกันตั้งคำถาม ตรวจสอบ ส่งเสียง อย่าหวังว่าเขาจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ไม่ดีก็เตือน ขาดก็เสริม สื่อช่วยส่งเสียง และขอย้ำด้วยว่า เรื่องการตรวจสอบต่างๆ นั้น ควรใช้ไม้บรรทัดอันเดียวกันสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน นักการเมืองทุกคนแบบเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติหรือให้เอกสิทธิ์กับนักการเมืองคนไหน จะส่งผลให้คนมีอำนาจเกิดการละอายใจ เราต้องโลกสวย ต้องมีความหวังและกล้าที่จะเปลี่ยน
ศก.ฟื้นแต่ระวังประชานิยม
นายนิติรัตน์กล่าวว่า หากเอางบประมาณ 5.6 แสนล้านบาทมาเป็นตัวตั้ง เดิมเราเดินสายคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ มี 9 เรื่อง ประกอบด้วยเงินอุดหนุนเด็ก การศึกษาฟรี ระบบสุขภาพ 3 กองทุน ที่อยู่อาศัย แรงงานมีคุณค่า ประกันสังคมครอบคลุม บำนาญถ้วนหน้า สวัสดิการเสมอหน้าเท่าเทียม และการปฏิรูปภาษี หากมองรัฐมนตรีที่นั่งคุมกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการแล้วกลับไม่มีนโยบายด้านนี้เลย ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบรัฐมนตรี เรื่องการพัฒนาเด็กและศูนย์เด็กเล็ก เงินอุดหนุนเด็ก ข้อเสนอของเราไม่ปรากฏนโยบายหาเสียงของพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเพื่อไทย ส่วนเรื่องการศึกษา ซึ่งพรรคภูมิใจไทยดูแล ช่วงท้ายมีการพูดถึงฟรีปริญญาตรี แต่ไม่มีในเอกสารที่ส่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่มีนโยบายหลักที่พูดถึงการพัฒนาเรียนฟรี เงินอุดหนุนการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย ขณะที่เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งพรรคเพื่อไทยเข้ามาดูก็บอกว่าจะยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ประเทศไทยมี 3 กองทุน ซึ่งบัตรทองและประกันสังคมมีงบรายหัวอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท แต่สิทธิข้าราชการอยู่ที่ 15,000 บาท ดังนั้นจะทำอย่างไรให้มีสิทธิเท่ากัน
"สวัสดิการของประชาชนไม่ควรจะตัดไปมากกว่านี้ แล้วถ้าเอางบ 5.6 แสนล้านบาท สำหรับนโยบายเงินดิจิทัลนั้น คิดว่านำมาใช้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐสวัสดิการด้านต่างๆ ได้ 20% และควรพูดถึงการปฏิรูปภาษีต่างๆ การปฏิรูปกองทัพ ซึ่งมีงบกว่าแสนล้านล้านบาท หากลดลง 20% จะได้เงินงบกว่า 4 หมื่นล้านบาท ถ้าลดเงินซื้อเรือดำน้ำอีก 3 หมื่นล้านบาท ก็จะมีเงินในเป็นสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุได้นานถึง 1 ปีทันที แล้วถ้ามองว่านโยบายเงินดิจิทัล เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราว แต่ถ้ามองใหม่ เงินผู้สูงอายุ 3,000 บาท แต่ปรับการให้ปีแรกเป็น 1,000 บาท จากเดิม 600 บาท เท่ากับว่าปรับเพิ่ม 400 บาท แล้วธรรมชาติของผู้สูงอายุเมื่อได้รับเงินแล้วก็มีการใช้จ่ายเลย จึงสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน ที่สำคัญตนมองว่าเรื่องสวัสดิการประชาชนนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจริงๆ ทลายกำแพงระหว่างคนรวยคนจนลงได้" นายนิติรัตน์ระบุ
วันเดียวกัน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจนหลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขับเคลื่อนการบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองลดลง หากรัฐบาลสามารถบริหารนโยบายได้ตามเป้าหมาย น่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทะลุระดับ 19 ล้านล้านบาทได้ และรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีสูงกว่า 270,000 บาทได้ในช่วงปลายปี 2567 มีอัตราการขยายตัวอย่างต่ำ ระดับ 4.5-5%
อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังการใช้นโยบายประชานิยมที่ไม่ได้ยึดถือกรอบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี และไม่ใส่ใจต่อวินัยการเงินการคลัง นอกจากประเทศจะมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 10.92 ล้านล้านบาท คิดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 61.69% แล้ว ในช่วงสองทศวรรษ รัฐบาลต่างๆ ได้ดำเนินนโยบายกึ่งการคลังผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และรัฐบาลยังคงติดค้างหนี้เงินชดเชยรายได้ธนาคารเฉพาะกิจจำนวนมาก ยอดหนี้สาธารณะนี้มีทั้งภาระผูกพันโดยตรง และภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนมาตรการและนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หากทำได้สำเร็จ จะช่วยสร้างรายได้ยั่งยืนให้ประเทศ และจะช่วยลดปัญหาหนี้สินในทุกระดับของประเทศ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"