จ่อแถลงนโยบาย11กันยา

รัฐสภา ๐ “วันนอร์” เผย “เลขาฯ ครม.”    ประสานแถลงนโยบาย รบ. 11 ก.ย.    พร้อมนัดพฤหัสฯ นี้ประชุมวิป 3 ฝ่าย      ด้าน "พิธา" จี้รัฐบาลทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดวิกฤตศรัทธา ลั่นไม่ยึดติดตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน แต่ตาม รธน.ต้องเป็นของก้าวไกล

     เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวถึงวันแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า  ทราบจากทางเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์  เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งว่าอยากได้วันแถลงนโยบายรัฐบาลเป็นวันที่ 11 ก.ย.  หากกำหนดเป็นวันที่ 8 ก.ย. อาจจะไม่พร้อม เพราะถ้าจะประชุมวันดังกล่าวต้องส่งเอกสารนโยบายรัฐบาลมายังสภาตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. เนื่องจากสภาต้องออกหนังสือนัดสมาชิกล่วงหน้า 5 วัน

     นายวันนอร์กล่าวว่า จะนัดประชุมวิป 3 ฝ่ายเพื่อเตรียมความพร้อมในวันที่ 7 ก.ย. เวลา 14.00 น.โดยประมาณ

     ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงคณะรัฐมนตรีภายหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ  แล้วว่า คงตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งคงจะเป็นหลัก ตนคงไม่ได้ดูเป็นตัวบุคคล แต่ดูวิธีในการเข้าสู่อำนาจ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับศรัทธาของพี่น้องประชาชนในการเตรียมมาเป็น ครม.ในการแก้ปัญหา

     ทั้งนี้ สิ่งที่อยากฝากไว้ ก็อยากจะให้รักษาสัจจะตามที่หาเสียงกับพี่น้องประชาชนไว้ เพราะหลายนโยบายตั้งใจที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงๆ ถ้าการแถลงนโยบายประมาณวันที่ 8-9 ก.ย.นี้ ก็คงจะเห็นว่าหลายเรื่องที่เคยหาเสียงไว้ และที่มีดิจิทัลฟุตปรินต์ เสนอนโยบายอย่างไรบ้าง ก็ต้องทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้  เพราะไม่อย่างนั้นวิกฤตศรัทธาจะเกิดขึ้น ศรัทธาเกี่ยวกับการเมือง ศรัทธาเกี่ยวกับรัฐสภา ศรัทธาเกี่ยวกับการทำงานการเมืองของพี่น้องประชาชน ที่คิดว่าจะไปเลือกทำไม จะมีดีเบตกันไปทำไม เพราะไม่รู้ว่าที่พูดไปไม่เกิดขึ้นจริง ตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญ ความรับผิดชอบในคำพูด

     เขากล่าวว่า ฝ่ายค้านก็จะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก ที่มีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เข้มข้น และยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งแน่นอน ทั้งนี้ ในฐานะฝ่ายค้าน จะให้ฝ่ายรัฐบาลทำงานกี่เดือน ถึงจะรุกแบบเข้มข้น ขณะนี้ช้ามาตั้ง 3 เดือน ตั้งแต่การเลือกตั้ง 14 พ.ค. อย่างที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เคยพูดไว้ว่า ไม่มีเวลาฮันนีมูนกัน ต้องรีบทำงานอย่างเต็มที่

     นอกจากนี้ สัญญาประชาคมที่แต่ละพรรคการเมืองทำร่วมกันไว้แล้ว ไม่น่าจะเป็นข้ออ้างได้ว่าเป็นพรรคร่วมแล้วทำไม่ได้ พร้อมเปรียบเทียบตอนที่พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล ได้นำ MOU มาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เลือกพรรคแต่เลือกภารกิจ ดังนั้น น่าจะคุยกันได้แล้วว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร ไม่อย่างนั้นจะใช้เป็นข้ออ้างในทุกครั้งไปว่าพรรคร่วมทำไม่ได้

     "แน่นอนว่าการพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ ผมเข้าใจ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจร่วมรัฐบาลกัน ก็ต้องดูก่อนว่านโยบายจะอย่างไร ขอให้เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เอาสัจจะเป็นที่ตั้ง ถ้าเอา 2 อย่างเป็นที่ตั้ง คิดว่ารัฐบาลจะทำงานได้อย่างดี ขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลรักษาสัจจะให้ได้ ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง"

     ส่วนจะมีการนัดพูดคุยกันในพรรคฝ่ายค้านกับพรรคประชาธิปัตย์ และแบ่งงานอย่างไรหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ตนทำงานนอกสภาเป็นส่วนใหญ่ ก็ให้คำปรึกษากับเพื่อน ส.ส. ทั้งเรื่องการอภิปราย การทำงาน หรืองบประมาณที่จะเข้า ทั้งนี้ สมัยนี้พรรคก้าวไกลได้ ส.ส. มากขึ้น ก็จะได้สัดส่วนกรรมาธิการที่เยอะขึ้น ตนก็จะทำงานแบบนี้จนกว่าที่จะได้รับสิทธิ์คืนมา ประชาชนคอยอยู่ก็จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้ได้ และกลับไปทำงานโดยเร็ว เพื่อจะเข้าไปสู่สภาอีกครั้ง

     สำหรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านจะมีการวางเป้าหมายไว้อย่างไร หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 ระบุว่า ต้องเป็นหัวหน้าพรรคเสียงที่มีมากที่สุดของฝ่ายค้าน แต่ปัญหาคือตนถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นก็เป็นปัญหาที่ไม่สามารถรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ ส่วนตัวก็ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งนี้

     อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นมติพรรคหรือเป็นไปตามรัฐธรรมนูญบังคับให้จะต้องรับ  ก็อาจจะต้องรออีกทีหนึ่ง ดังนั้นจึงยังไม่รีบตัดสินใจ เพราะยังมีเวลาอีกหลายเดือนกว่าที่ตนจะได้กลับไป ส่วนพรรคอื่นก็ขอไม่พาดพิง แต่เท่าที่ติดตาม ก็น่าจะติดเงื่อนไขว่าหัวหน้าพรรคแต่ละพรรคเป็น ส.ส.ในสภาหรือไม่ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องของพรรคอื่น 

     "ถ้าอ่านตามรัฐธรรมนูญ ก็ชัดเจนว่าต้องเป็นพรรคที่มี ส.ส.อันดับหนึ่ง และหัวหน้าพรรคต้องเป็น ส.ส. ซึ่งถ้าผมไม่ได้เป็นอยู่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไหลไปที่พรรคอื่น เท่าที่อ่าน และหากอ่านวรรคสุดท้าย ก็จะเห็นว่าตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านจะสิ้นสุดลงเมื่อเงื่อนไขในพารากราฟแรกเปลี่ยนไป หมายความว่าหากผมกลับไป  ก็ต้องไหลมาที่ผมที่เป็นพรรคอันดับหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ"

     นายพิธายังเผยว่า ส่วนตัวก็คิดว่ายังตั้งใจทำงานเป็น สส.คนหนึ่ง ก็ยังทำงานได้ ไม่ได้ยึดติดกับส่วนตัว แต่ถ้าเป็นเรื่องของกฎหมาย หรือเป็นมติของเพื่อน สส. และของพรรคมา ตนก็ต้องเคารพ และตอนนี้ก็ยังมีเวลาตัดสินใจอีกนาน

     เขาบอกว่า อยากให้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ตั้งใจทำงานในตำแหน่งรองประธานสภาฯ ในช่วงเวลาที่ตนยังไม่ได้กลับเข้าไป อาจจะ 4-6  เดือน ซึ่งคิดว่ายังมีเวลาพอที่จะให้นายปดิพัทธ์ได้ทำหน้าที่รองประธานสภาฯ   อย่างที่เขาหวังไว้ ยังมีเวลาอยู่ และยังรอได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง