ไทยโพสต์ ๐ “วิษณุ” ยืนยัน "น.ช.ทักษิณ" ได้สิทธิ์เหมือนนักโทษทั่วไป โอกาสสำคัญอาจได้รับการลดหย่อนโทษได้อีก สะพัดเลื่อนเป็นนักโทษชั้นดีแล้ว เผยยื่นเอกสารขอทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาตั้งแต่วันแรกที่กลับไทย
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 หลังนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชทานอภัยโทษ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่เคยให้ความเห็นว่านักโทษชายทักษิณไม่สามารถลดหย่อนโทษได้อีก จากที่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ จาก 8 ปี เป็น 1 ปี เพียงแต่ให้ความเห็นว่า ถือเป็นพระราชอำนาจเด็ดขาดเท่านั้น
ซึ่งกรณีของนายทักษิณ ถือว่าเป็นนักโทษที่ถูกจำคุก 1 ปี ซึ่งนักโทษจำคุก 1 ปีคนอื่นได้รับสิทธิประโยชน์อย่างไร นายทักษิณก็จะได้รับสิทธิเช่นนั้น รวมถึงการได้รับการลดหย่อนโทษเมื่อถึงเวลาลดหย่อนทั่วประเทศ ถ้ามีการลดกันก็จะได้สิทธิเหมือนกับนักโทษคนอื่นๆ
“ยังลดโทษได้อีก แต่จะลดไหมไม่รู้ บางคนคาดหมายว่าวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ วันพ่อแห่งชาติ อาจลดได้อีก” นายวิษณุกล่าว
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้สั้นๆ ว่า เป็นสิทธิของนายทักษิณที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ว่า "ทักษิณสำนึกผิด ยอมรับผิดในการกระทำ จึงได้รับพระมหากรุณา โชคดีที่เรามีในหลวงเป็นที่พึ่ง ยินดีด้วยครับ"
ขณะที่พรรคไทยภักดี ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอน้อมรับพระบรมราชวินิจฉัย พระราชทานอภัย "ลด" โทษ (ไม่ใช่อภัยโทษ) นช.ทักษิณ ชินวัตร อันแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพอันหาที่สุดมิได้
จากการที่ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการพระราชทานอภัย "ลด" โทษ (ไม่ใช่อภัยโทษ) น.ช.ทักษิณ ชินวัตร จากโทษจำคุก 8 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปีนั้น พรรคไทยภักดีขอน้อมรับพระบรมราชวินิจฉัย อันแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พรรคไทยภักดีขอชี้แจง ทำความเข้าใจในข้อเท็จจริงกับพี่น้องประชาชนผู้มีความจงรักภักดีดังต่อไปนี้
ตีตราความผิด นช.ทักษิณ
1.ราชกิจจานุเบกษาได้ปรากฏข้อเท็จจริงอันเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ได้กระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการจริง จำนวน 3 คดี ซึ่ง น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ก็ยอมรับในการกระทำความผิด มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจึงพระราชทานอภัย "ลด" โทษ แก่ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่ "พระราชทานอภัยโทษ" แต่อย่างใด ดังนั้น น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ยังมีความผิดมิใช่ได้รับนิรโทษกรรม หรือพ้นจากความผิดที่ได้กระทำไว้ และหากต้องโทษในคดีอื่นๆ ที่มีอยู่ ก็มิอาจขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นการเฉพาะได้อีก เพราะถือเป็นที่สุดแล้ว
2.ราชกิจจานุเบกษาคือการตีตรา บันทึกความผิดของ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร เอาไว้แล้ว ในประวัติศาสตร์ มิมีสิ่งใดจะมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
3.พรรคไทยภักดีขอน้อมรับในพระบรมราชวินิจฉัย อันแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยในการแก้ไขเงื่อนปมแห่งความขัดแย้งแตกแยกของประชาชนชาวไทย ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 17 ปี ซึ่งการยุติเงื่อนปมแห่งปัญหาด้วยพระบรมราชวินิจฉัยดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยความรักความสามัคคีปรองดองของประชาชนทุกหมู่เหล่าในชาติ
4.ครอบครัวชินวัตร พรรคเพื่อไทย รวมถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่น้อมรับในพระมหากรุณาธิคุณ พึงต้องแสดงความจงรักภักดีให้เป็นรูปธรรมเป็นที่ประจักษ์คือ
4.1 ยืนยันต่อระบอบการปกครองราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญดังที่เป็นมา
4.2 ยืนยันอย่างเปิดเผยไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขสาระสำคัญรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2
4.3 ไม่เร่งการแก้รัฐธรรมนูญ มุ่งแก้ปัญหาปากท้องของคนในชาติอันเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่า
4.4 ผลักดันกฎหมายควบคุม NGO ให้ออกมาได้โดยเร็ว เพราะสามารถตรวจสอบเส้นทางเงินของ NGO ที่รับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหวล้มล้างสถาบัน
4.5 ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด สามารถสั่งปิดกับแฟลตฟอร์มต่างชาติ Facebook, X (Twitter เดิม), Tik Tok ที่ปล่อยให้กลุ่มล้มล้างโพสต์ใส่ร้ายสถาบันฯ ต่อเนื่อง
5.ขบวนการปฏิรูปสถาบันฯ และแนวร่วมอันประกอบด้วย คณะก้าวหน้า กลุ่ม NGO (ที่ได้รับเงินต่างชาติ) กลุ่มราษฎร กลุ่มทะลุวัง ย่อมมิอาจอ้างวาทกรรม 'ตุลาการภิวัฒน์' 'นิติสงคราม' วาทกรรมสถาบันแทรกแซงการเมืองผ่านศาล และกองทัพได้อีกต่อไป เพราะ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ได้ยอมรับเองไปแล้วว่าได้กระทำผิดจริง
6.การพระราชทานอภัยลดโทษให้ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร เป็นไปตามระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้ 'ธรรมราช' อันเป็นพระราชอำนาจโดยหลักทศพิธราชธรรม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
เศรษฐามา...ราหูไป
ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า “ผมเคยบอกไว้เมื่อ 27 ส.ค.66 ว่า เศรษฐามา...ราหูไป ความศิวิไลซ์แห่งประเทศจะบังเกิด ที่ไม่เคยเห็นจะได้เห็น... ที่ไม่เคยเป็นจะได้เป็น... ที่ไม่เคยมีจะได้มี... ความสามัคคีปรองดองจะเกิดขึ้น ความขัดแย้งจะไม่มีอีกต่อไป ไพร่ฟ้าหน้าใส คนไทยเป็นสุข... เป็นความมหัศจรรย์พันลึก บรรจงลงตัวพอดี เห็นมั้ยล่ะ... พระสยามเทวาธิราชมีอยู่จริง มีอิทธิฤทธิ์จริงๆ”
วันเดียวกันนี้ เว็บไซต์ท็อปนิวส์ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงถึงฉากทัศน์ความเป็นไปหลังจากนี้ของนักโทษชายว่า เมื่อมีพระราชทานอภัยลดโทษลงมา จึงเหลือเพียงปีเดียว เท่ากับว่านายทักษิณเหลือโทษจำคุกเพียง 1 ปี จากนั้นอาจจะต้องไปดูในเรื่องของชั้นนักโทษของนายทักษิณ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่า ด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและการแยกคุมขัง การเลื่อนหรือลดชั้นนักโทษเด็ดขาด การลดวันต้องโทษจำคุกและการพักการลงโทษ พ.ศ.2559 โดยนายทักษิณเดินทางกลับเข้าประเทศไทยและเข้ามาเป็นนักโทษในเดือนสิงหาคม จึงเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง และถูกปรับเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีโดยอัตโนมัติ ตามระเบียบดังกล่าวที่กำหนดไว้ว่า ให้นักโทษเด็ดขาดที่เข้าเรือนจำฯ ในเดือนสิงหาคม ถูกเลื่อนชั้นจากนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี ทั้งนี้ หากผู้ต้องขังรายใดเข้าเรือนจำฯ ในเดือนกันยายน ก็จะต้องรอรับการปรับชั้นนักโทษในเดือนธันวาคม
เมื่อถามว่า ในกรณีของนายทักษิณนั้น จะได้รับการลดโทษลงอีกในวันสำคัญต่าง ๆ หลังจากนี้หรือไม่ หรือต้องรับโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่มีลดหย่อน ตามที่นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรักษาราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่าเป็นพระราชอำนาจเด็ดขาดนั้น แหล่งข่าวระบุว่า เรื่องของการพระราชทานอภัยโทษตามวันสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะที่จะถึงในเร็ววันนี้ คือวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม เป็นเรื่องของพระราชอำนาจ ซึ่งไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่า ในวันสำคัญต่างๆ นั้นจะมีพระราชทานอภัยโทษ หรือพระราชทานอภัยลดโทษให้อีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่มิอาจก้าวล่วงได้
อย่างไรก็ตาม จะมีเรื่องเกณฑ์อายุของผู้ต้องขัง เช่น กรณีเป็นผู้ต้องขังสูงวัย พ่วงด้วยโรคอาการเจ็บป่วย ซึ่งอาจจะได้รับการพิจารณาพักโทษ ซึ่งทางผู้บัญชาการเรือนจำจะดำเนินการตรวจดูเรื่องหลักเกณฑ์ว่า ผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นดีรายใดเข้าเกณฑ์พักโทษ และรายงานไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ แล้วจะพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาอนุมัติ ท้ายสุดจึงจะแจ้งให้ผู้ต้องขังรับทราบ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบุคคลมีชื่อเสียงหลายรายที่ได้รับการพักโทษและออกมาใช้ชีวิตอยู่ด้านนอก เพียงแต่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการรายงานตัวต่อกรมคุมประพฤติ เช่น กรณีของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย, กรณีของนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นต้น อีกทั้งบางรายอาจจะมีการติดกำไลอีเอ็มสักระยะ แต่หากคณะกรรมการเห็นว่ามารายงานตัวปกติ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ก็จะอนุญาตปลดกำไลอีเอ็ม
เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี
แหล่งข่าวอธิบายอีกว่า ถือเป็นเกณฑ์ปกติสำหรับนักโทษเด็ดขาดที่ได้เข้าเกณฑ์การพักโทษ เช่น การเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี ไม่เคยประพฤติผิดวินัย หรือขณะที่อยู่ในเรือนจำมีความประพฤติดี ซึ่งเรือนจำก็จะมีการเสนอแจ้งไปยังผู้ต้องขังว่าเข้าเกณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ ระหว่างการพักโทษ ผู้ต้องขังจะอยู่พื้นที่ใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะมีเงื่อนไขคือ ห้ามก่อคดี ห้ามกระทำความผิดระหว่างการคุมประพฤติ ดังเช่นในกรณีของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่มีเงื่อนไขห้ามพูดเรื่องการเมือง เป็นต้น
ทำให้ในกรณีของนายทักษิณที่เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี ทางคณะกรรมการอาจพิจารณาการพักโทษตามเงื่อนไขการที่ระบุไว้ข้างตน ส่วนเรื่องจำกัดรัศมีกิโลเมตรหลังการพักโทษนั้น แล้วแต่รายบุคคล เพราะบางรายอาจจะถูกเงื่อนไขจำกัดได้แค่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนถ้าจะไปต่างจังหวัด ก็ต้องดำเนินการแจ้งขออนุญาต อย่างไรก็ตาม การพักโทษจะเป็นความรับผิดชอบของหน้างานกรมคุมประพฤติ และเมื่อจบกระบวนการพักโทษ จึงค่อยดำเนินการรายงานต่อศาล แล้วเข้าสู่กระบวนการปล่อยตัวตามวันเวลา เพราะถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว
เมื่อถามถึงเรื่องการนอนพักรักษาตัวของนายทักษิณที่โรงพยาบาลตำรวจ จะมีกรอบเวลาถึงเมื่อไหร่ แหล่งข่าวระบุว่า การนอนพักรักษาตัวของนายทักษิณที่โรงพยาบาลตำรวจจะนานเท่าใดก็ขึ้นอยู่ที่อาการความเจ็บป่วยหนักหรือเจ็บป่วยเบา ซึ่งจะต้องได้รับการประเมินวินิจฉัยจากแพทย์ผู้ทำการรักษา หากแพทย์ประเมินว่าจะต้องอยู่รับการรักษาต่อเนื่องก็ต้องอยู่ แต่ถ้าประเมินว่าอาการทุเลาดีขึ้นพิจารณาส่งกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็สามารถกลับเข้าไปรับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้
แหล่งข่าวยังยืนยันด้วยว่า นายทักษิณได้ดำเนินการยื่นเอกสารขอทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา อันเป็นวันแรกที่นายทักษิณเดินทางกลับมายังประเทศไทยและถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีเอกสารประกอบการถวายฎีกา ทั้งคำพิพากษาของศาลรายคดี, เอกสารรายงานคุณงามความดี, ข้อมูลประวัติการรักษาอาการเจ็บป่วย และหลักฐานอื่นๆ ส่วนตัว แต่ภายหลังการยื่นนั้น ก็เป็นกระบวนการตรวจสอบเอกสารของทางเรือนจำฯ, กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ไปตามลำดับชั้น จึงเป็นห้วงเวลาตามที่สังคมได้เห็นกัน 10 วันนับแต่วันที่ 22 สิงหาคม ก่อนปรากฏพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษลงวันที่ 31 สิงหาคม 2566.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ