ดีเดย์ต.ค.พักหนี้เกษตรกร โยน‘หมอมิ้ง’คุมลดค่าไฟ

พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช"เศรษฐา" ให้ "หมอมิ้ง" คุมลดพลังงาน ยันพักหนี้เกษตรกรเริ่มได้เดือนตุลา. ควง “ธรรมนัส” แก้ปัญหาประมง ตั้งวันสต็อปช็อปแก้ปัญหาแรงงาน อ้างเสียหายปีละ 5 แสนล้าน แต่ไม่อยากโทษรัฐบาลเก่า

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีความคืบหน้าการลดค่าไฟว่า เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ได้โทร.ไปหาว่าที่ รมว.พลังงาน วันนี้ (1 ก.ย.) ก็จะหารือกันอีกครั้ง โดย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานนโยบายพรรคเพื่อไทย และว่าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะเป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้ ขอให้รออีกนิด  เข้าใจว่าอยากรู้ว่าจำนวนเงินเท่าไหร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการการพูดคุยถึงเรื่องงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ทางประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ก็ได้แสดงความกังวลเรื่องลดค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการ ทั้งค่าไฟ ค่าพลังงาน แน่นอนว่าเราให้ความสำคัญสูงสุด และชี้แจงแล้วว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

เมื่อถามถึงเรื่องความคืบหน้าการพักหนี้เกษตรกร จากที่ได้คุยกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายกฯ ตอบว่า เป็นนโยบายเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทย แต่เราต้องดูรายละเอียดว่าจะใช้จำนวนเงินเท่าไหร่  และจะเป็นการพักทั้งต้นและดอก หลักการเพื่อให้เกษตรกรมีเวลาไปฟื้นฟู ไปทำมาหากิน ไม่ใช่ต้องมาพะวงหน้าพะวงหลังเรื่องหนี้สิน ซึ่งเบื้องต้นประมาณเดือน ต.ค.สามารถทำได้ โดยตอนนี้ได้ให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคาร ธ.ก.ส. ไปดูเรื่องการอนุมัติและประสานกับกระทรวงการคลังด้วย

"เราจะไม่ดูเรื่องหนี้สินแค่เกษตรกร  แต่เราจะดูแลเรื่องหนี้สินของประชาชน รวมถึงตำรวจ และหนี้สินในช่วงที่ประสบกับภัยพิบัติ โควิด เราจะดูแลให้ครบทุกภาคส่วน ซึ่งการพักหนี้ชั่วคราวเป็นแค่การแบ่งเบาความทุกข์ ฟื้นฟูจิตใจ แต่เหนือสิ่งอื่นใด การเพิ่มรายได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นนโยบายของพรรคเพื่อไทยเราก็ได้มีการคุยกันถึงการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำ"

เมื่อถามว่า สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยวออกมาตั้งคำถามว่าการฟรีวีซ่าที่นายกฯ พูดถึงหมายถึงอะไร นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องขอประทานโทษด้วยที่ตนพูดไม่ชัดเจน การฟรีวีซ่าไม่ได้หมายถึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่วีซ่าฟรีหมายถึงไม่ต้องขอวีซ่า หากไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศก็จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่า โดยจะเป็นการยกเว้นขอวีซ่าชั่วคราวในช่วงที่เป็นไฮซีซั่น ซึ่งไม่ใช่แค่กระทรวงการต่างประเทศที่ดูแลเรื่องนี้ แต่ตนได้ดูเรื่องของความมั่นคง และได้มีการคุยกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงการท่าอากาศยานด้วย ซึ่งเราต้องดูทั้งหมดในการที่จะเข้ามาในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการคุยกันหลายเรื่อง และมีการเห็นชอบในหลักการ ทั้งนี้ ได้มีการพูดคุยกับว่าที่ รมว.มหาดไทยด้วย ซึ่งท่านก็บอกว่าเห็นด้วยที่จะช่วยกันผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หวังว่าจะสามารถทำได้ภายใน 1 ต.ค.นี้

ที่ท่าเทียบเรือ โรงน้ำแข็งศิริไพโรจน์ จ.สมุทรสงคราม วันเดียวกันนี้ นายเศรษฐาพร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี  ว่าที่ รมช.คมนาคม และรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์,  นายไผ่ ลิกค์ ว่าที่ รมช.พาณิชย์ เพื่อรับฟังปัญหาจากตัวแทนชาวประมงในพื้นที่ที่ได้รับถึงผลกระทบจากประกาศของ IUU และแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง

 ตัวแทนกลุ่มประมงได้สะท้อนปัญหาการทำประมงแก่นายกฯ และคณะ เช่นขอให้แก้กฎหมายต่างๆ ที่เป็นปัญหาต่อการทำประมง จำนวน 13 ฉบับ ที่จะสามารถทำให้การประมงสามารถขับเคลื่อนได้ และขอให้การบังคับใช้แรงงานต่างด้าวในภาคประมงเหมือนกับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานบนฝั่งที่ภาคประมงจะใช้เวลานาน รวมถึงเสนอว่าการขึ้นค่าแรงที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ขอให้ทำทีละขั้น ไม่ให้ภาคธุรกิจสะดุด

นายเศรษฐากล่าวว่า ตั้งแต่ตนรับสนองพระบรมราชโองการมา ไปดูเรื่องการท่องเที่ยว การแก้ปัญหาหนี้สิน และเรื่องที่สามคือเรื่องประมง เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญสูงสุด เรื่องปัญหาแรงงานเราจะแก้ปัญหา ให้เอกสารอยู่ในวันสต็อปช็อปได้ อะไรอยู่ในอำนาจคณะรัฐมนตรี จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาให้ ร.อ.ธรรมนัสเป็นหัวหน้า  และเชิญผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน

จากนั้นนายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ กรณีการจัดการวันสต็อปช็อป รูปแบบจะเป็นอย่างไร ว่าต้องให้คณะทำงานดูก่อน วันนี้มาดูแล้วเห็นปัญหาว่าแรงงานที่จะทำงานต้องมีเอกสารจำนวนมาก มีหลายกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้อง หากเอกสารขาดก็เห็นใจ อีกทั้งเอกสารต่างๆ  ก็ยังเป็นกระดาษ ก็อยากให้เข้าระบบออนไลน์ทั้งหมด เพื่อความสะดวกและในแง่การตรวจก็จะดีขึ้น

ซักว่า ที่มามุ่งปัญหาประมงเพราะปัญหา 8-9 ปีทำให้ประเทศติดหล่มใช่หรือไม่ นายเศรษฐาระบุว่า ประเทศเสียหายรายได้เป็นจำนวนปีละ 5 แสนล้านผ่านมากี่ปีแล้ว เป็นเงินเท่าไหร่ เราก็ต้องมาแก้ไขเดินหน้าดีกว่า อย่ามองเรื่องปัญหาเก่า อย่าไปว่าใครเลยดีกว่า และมั่นใจว่ากฎหมายต่างๆ ที่ผู้ประกอบการประมงเสนอมา มั่นใจสามารถแก้ไขได้ ต้องฝาก ร.อ.ธรรมนัสเป็นผู้รับผิดชอบ

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง จากนั้นนายกฯ และคณะได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ซึ่งเมนูอาหารประกอบด้วย แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย, ผัดกะเพราทะเล และปลาทูทอดหวาน โดยนายกฯ ได้ลงมือตักอาหารรับประทานด้วยตัวเองด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ปลุกทุกภาคส่วน ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทุกรูปแบบ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านวีดิทัศน์ว่า เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2567

ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)