“ไตรศุลี” ย้ำประกาศมหาดไทยเรื่องเปิดสถานบริการ 24 ชั่วโมง แค่ในสนามบินอู่ตะเภาพื้นที่ 6,500 ไร่เท่านั้น “พัทยา-ระยอง” ไม่เกี่ยว ชี้เป็นเรื่องปกติ สอดคล้องกิจการภายในสนามบิน “จุฬา” ชี้ผู้รับสัมปทาน 50 ปีจะเป็นโต้โผหลักก่อสร้าง คาดใช้เงินลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566 มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวง
เรื่อง กำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ซึ่งลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงในราชกิจจาเล่ม 140 ตอนที่ 51 ก และมีผลบังคับใช้แล้ว
โดยเนื้อหาของประกาศดังกล่าวระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 และมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6/1 แห่งกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ.2547 “ข้อ 6/1 สถานบริการตามมาตรา 3 (1) ถึง (5) ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เรื่อง กำหนดเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 ให้เปิดทำการได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง”
ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 บัญญัติให้การกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และโดยที่ได้มีการกำหนดเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง กำหนดเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก ลงวันที่ 13 ก.พ.2561 สมควรกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกให้เปิดทำการได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินกิจกรรมของเมืองการบิน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประกาศดังกล่าว ที่สังคมบางส่วนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นการอนุญาตที่ครอบคลุมถึงพื้นที่โดยรอบว่า กรณีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยืนยันว่าอนุญาตให้เปิดบริการ 24 ชั่วโมงของสถานบริการ จะมีได้เฉพาะในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เรื่องกำหนดเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก ลงวันที่ 13 ก.พ.2561 ซึ่งอยู่ในสนามบินอู่ตะเภาเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่โดยรอบหรือเมืองท่องเที่ยวต่อเนื่องอื่น เช่น เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี หรือพื้นที่อื่นใน จ.ระยอง โดยพื้นที่อื่นๆ ภายนอกเขตส่งเสริมเมืองการบินยังต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การเปิด-ปิดสถานบริการตามปกติ
“เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกตามประกาศของบอร์ดอีอีซีครอบคลุมพื้นที่ 6,500 ไร่ในสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาเท่านั้น ซึ่งการอนุญาตนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับกิจการภายในสนามบิน ที่ต้องมีการบินเข้า-ออกทั้งในส่วนของผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า ที่จะต้องมีอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจำเป็นต้องมีบริการ กิจการร้านค้าต่างๆ เปิดให้บริการรองรับ เช่นเดียวกับสนามบินนานาชาติอื่นๆ เช่น สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ที่ก็มีการอนุญาตให้ร้านค้าและบริการต่างๆ เปิดบริการในสนามบินได้ 24 ชั่วโมงเช่นกัน และการอนุญาตนี้จะสนับสนุนให้สนามบินอู่ตะเภามีบริการที่ครบวงจร สามารถดึงดูดการท่องเที่ยวและลงทุนให้เกิดในพื้นที่อีอีซีในภาพรวมได้” น.ส.ไตรศุลีกล่าว
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีตามนโยบายของรัฐบาล มีเป้าหมายคือยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี ส่งเสริมให้อีอีซีสามารถเป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออกอย่างสะดวก ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่อาเซียน
สำหรับเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกในสนามบินอู่ตะเภา ประกอบไปโครงการหลักหลายโครงการ เช่น อาคารผู้โดยสารที่รองรับเที่ยวบินพาณิชย์ขนส่งผู้โดยสาร, ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน, เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง, ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ รวมถึงศูนย์ฝึกอบรมการบิน
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การอนุญาตให้ตั้งสถานบริการนั้น จะสร้างสถานบริการให้อยู่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ หรือเขตเมืองการบิน ซึ่งในเขตดังกล่าวจะมีรันเวย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสนามบินอู่ตะเภาทั้งหมด แล้วเมืองการบินที่ติดกับสนามบินอู่ตะเภา มีพื้นที่โดยประมาณ 6,000 ไร่ และไม่มีการสร้างสถานบริการออกนอกเขตดังกล่าว โดยผู้ลงทุนสร้างสถานบริการจะเป็นเอกชน โดยหลักจะเป็นบริษัทผู้ที่ได้รับสัมปทาน 50 ปีในการสร้างสนามบินอู่ตะเภา ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ลงทุนสร้างสถานบริการ ซึ่งอาจมีการร่วมมือกับภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อดึงพันธมิตรเข้าร่วมสร้างสถานบริการให้เกิดกิจกรรมในพื้นที่ในเมืองการบิน ซึ่งประมาณการลงทุนเบื้องต้นอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท
“การสร้างสถานบริการอาจเป็นห้างสรรพสินค้า คอมเพล็กซ์ โรงแรม ร้านอาหาร เอาต์เลต รวมถึงฮอลล์จัดกิจกรรมสำหรับการแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ ไว้สำหรับเชิงพาณิชย์ ซึ่งการขยายเวลา 24 ชั่วโมง จากปกติขายได้เพียง 8 ชั่วโมงในบริเวณเมืองการบิน ก็สอดคล้องกับการให้บริการของสนามบินที่มีผู้ใช้บริการเดินทางด้วยสนามบินอู่ตะเภา เมื่อลงสนามบินสามารถเลือกพักผ่อนในสถานบริการที่มีการสร้างไว้ได้จะเกิดการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งมองว่าจะเป็นแลนด์มาร์กใหม่” นายจุฬากล่าว
นายจุฬาระบุว่า สกพอ.ยังไม่มีโปรเจกต์ใหม่ๆ เสนอรัฐบาลใหม่ และคงไม่เน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ แต่จะผลักดันการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเดิมให้เสร็จสิ้นโดยเร็วขึ้น เพราะโครงการและความรับผิดชอบหลักของ สกพอ. คือการดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ เนื่องจากการลงทุนอุตสาหกรรมที่อีอีซีดูแล ไม่ได้เป็นการลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมสามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง แต่จะมุ่งไปที่พื้นที่ว่างๆ นำมาใช้ประโยชน์และดึงนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุน
“สกพอ.จะเร่งพูดคุยกับรัฐบาลใหม่ในเรื่องที่ดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และยังทำงานช้าอยู่ เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมกรุงเทพฯ กับพื้นที่อีอีซี จะผลักดันให้เกิดการเดินหน้าให้เร็วขึ้น” นายจุฬาระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฟุ้งปีใหม่โอกาสดีทุกคน มั่นใจ‘แม้ว-หนู’ไร้ปัญหา
นายกฯ อิ๊งค์อวยพรปีใหม่ ให้ทุกคนมีจิตใจเบิกบานยันปี 68
ทักษิณจ่อพบอันวาร์ในไทย
"ทักษิณ" ยันเตรียมพบ "อันวาร์" กำลังรอคอนเฟิร์ม
แฉ10โกงทำประเทศจน เอกชนสมคบกับจนท.รัฐ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแฉ 10 กรณีทุจริตแห่งปี 2567 ที่ทำคนไทย “เจ็บ” และ “จน" หลายเรื่องราวยังไม่จบ
สมัครอบจ.คึกคักพท.เกทับปชน.
เปิดรับสมัครนายกและสมาชิก อบจ.วันแรกทั่วไทยสุดคึกคัก
รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง สื่อทำเนียบฯตั้งฉายา‘แพทองโพย’อิ๊งค์มองมุมดีส่งเสริมกัน
สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายาปี 67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง” นายกฯ "แพทองโพย" วาทะแห่งปี
‘แม้ว-หนู’จูบปากตีกอล์ฟ ‘แก้วสรร’ให้ลุ้นกลางปี68
ชื่นมื่น! “ทักษิณ” ควง "อนุทิน” ตีกอล์ฟ สยบรอยร้าวรัฐบาล