ชง2สูตรค่ารถไฟฟ้า20บาท

นักวิชาการเชียร์  “เศรษฐา” ควบขุนคลัง แต่เตือนสติอย่าเอาเทคนิคด้านเอกชนมาใช้กับราชการ   “หอการค้าไทย” เชื่อนโยบายแจกเงินดิจิทัลทำได้ “กรมราง” ขานรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาท เผยหากให้สิทธิแค่ผู้มีรายได้น้อยทำได้ทันที เพราะอุดหนุนแค่ 307 ล้านต่อปี แต่ให้ทุกคนต้องอุ้มถึง 5,446 ล้านบาท/ปี

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ส.ค.2566 ผศ.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่านายเศรษฐาเป็นนักธุรกิจเก่า ซึ่งตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันการนั่ง รมว.การคลัง ก็ได้เสียงตอบรับ  โดยในวันที่ 22 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่เลือกนายกฯ พบว่าหุ้นปรับขึ้นต่อถึงวันที่ 23 ส.ค. แสดงให้เห็นว่าตลาดให้การตอบรับนายกฯ คนที่ 30 เป็นอย่างดี หรือแม้แต่การทำโพลในกลุ่มของคนสนับสนุนนายเศรษฐา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของนักธุรกิจ พนักงานเอกชน และเจ้าของกิจการทั้งหลาย แสดงว่าเขาให้ความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเดินหน้าไปได้

ผศ.สุวิชายังกล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งการขึ้นค่าแรง เงินเดือนปริญญาตรี และเงินดิจิทัล ว่านายเศรษฐาต้องมองสเต็ปให้ชัดเจนออกมาเลยว่าจะทำอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าเศรษฐกิจกำลังเดินหน้า ไม่ใช่ว่าเข้ามาถึงแล้วว่าขอดูก่อน  แต่ขอเตือนว่าเอกชนไม่เหมือนราชการ  มีข้อกฎหมาย มีเงื่อนไขต่างๆ มากมาย จะทำเหมือนตอนเป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เลยไม่ได้

“สิ่งที่นายกฯ คนใหม่ต้องควรระวัง  โดยเฉพาะพฤติกรรมอะไรก็ตาม ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องในภาคธุรกิจเอกชน แต่ไม่ถูกต้องในภาคราชการ อย่านำมาใช้  ซึ่งหลายๆ เรื่องที่คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์  นำออกมาพูด หลายๆ เรื่องเราก็ดูออกว่าในภาคธุรกิจบางเรื่องก็ทำเป็นเทคนิคทางธุรกิจอยู่แล้ว แต่คนข้างนอกอาจมองว่าไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถนำไปใช้กับระบบราชการที่มีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะได้ ต้องบอกว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่โชคดี เข้ามาเป็นรัฐบาลที่กำลังโงหัวขึ้น” ผศ.สุวิชากล่าว

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าสังคมกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องของการพูด ว่าใครพูดอะไรแล้วต้องทำ เชื่อว่านโยบายนี้สามารถทำได้ และมีเงินเพียงพอ แต่รัฐบาลอาจต้องไปตัดบางโครงการที่ไม่จำเป็นออก และทำงบประมาณแบบขาดดุลแทน เพราะงบประมาณปี 2567 สำนักงบประมาณได้กำหนดกรอบไว้ 3.35 ล้านล้านบาท ส่วนเรื่องหนี้สาธารณะนั้นมองว่าไม่น่าจะกระทบ เพราะสำนักงบประมาณมีการวางกรอบการขาดดุลไว้ไม่เกิน 4% ซึ่งจากสถานะทางการเงินตอนนี้อาจขาดดุลงบเพิ่มได้อีกเล็กน้อย ไม่สูงเกินไป โดยขณะนี้เพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ 60% แต่สามารถขยายได้ 70%

นายธนวรรธน์กล่าวว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลต้องใช้งบประมาณรวม 560,000 ล้านบาท จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ คิดเป็น 1-1.5 ล้านล้านบาท ส่วนวิธีการใช้รัฐบาลอาจแบ่งเป็นเฟส เช่น เฟสละ 3,000 บาท เพื่อกระจายให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะเวลาหนึ่ง และกำหนดเงื่อนไขให้ใช้ในการซื้อสินค้าไทย เพื่อให้เม็ดเงินกระจายในประเทศ จะทำให้เงินหมุนหลายรอบ หากไม่กำหนดก็เสี่ยงจะรั่วไหลออกไปกับสินค้าต่างประเทศได้

“แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ที่ 5-7% เนื่องจากจะเริ่มใช้งบประมาณได้ในเดือน เม.ย.2567 หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล และยังมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะแรกตั้งแต่ต้นปี 2567 จากนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” นายธนวรรธน์ระบุ

ส่วนแหล่งข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวถึงนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายว่า ขร.ได้ศึกษาและวิเคราะห์กรณีค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อเตรียมเสนอต่อรัฐบาลใหม่แล้ว โดยการศึกษาและวิเคราะห์นั้นแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีให้สิทธิ 20 บาทตลอดสายกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งกรณีนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากมีความพร้อม ทั้งระบบ อุปกรณ์ รวมถึงงบประมาณที่จะนำมาดำเนินการ และ 2.กรณีให้สิทธิประชาชนผู้ใช้บริการทุกคน ซึ่งการศึกษาครอบคลุมระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งหมดที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว, สายสีทอง, โมโนเรลสายสีเหลือง รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน, สายสีม่วง,  รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์

“กรณีให้สิทธิ 20 บาทตลอดสายกลุ่มผู้มีรายได้น้อยนั้น ขร.ได้ประสานกรมบัญชีกลางเรื่องข้อมูลจำนวนผู้มีรายได้น้อยเพื่อนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ โดยเมื่อพิจารณาจากแบบจำลองพบว่า หากค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะมีปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 6,061 คน-เที่ยว หรือ 0.56% กล่าวคือ จะมีผู้โดยสารใช้บริการ 34,000 คน/วัน จากปัจจุบันที่มีผู้โดยสาร 31,019 คน/วัน เพิ่มขึ้นวันละประมาณ 2,981 คน โดยเงินที่ต้องอุดหนุนกรณีผู้มีรายได้น้อยต้องใช้ 34.63 หรือประมาณ 35 บาทต่อคน โดยคาดว่าจะใช้เงินอุดหนุน 52,190 บาท/วัน รวม 307.86 ล้านบาท/ปี” แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะที่กรณีให้สิทธิ 20 บาทตลอดสาย สำหรับประชาชนผู้ใช้บริการทุกคน จากการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองพบว่า ปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มได้ประมาณ 104,296 คน-เที่ยว หรือ 9.59% คือจะมีผู้โดยสารใช้บริการ 1,191,937 คน/วัน จากปัจจุบันที่มีผู้โดยสาร 1,087,641 คน/วัน เพิ่มขึ้นวันละประมาณ 104,296 คน ส่วนเงินที่ต้องอุดหนุนกรณีให้สิทธิสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการทุกคนจะต้องใช้เงินอุดหนุน 17.47 บาท หรือประมาณ 17 บาทต่อผู้โดยสารที่เดินทางในระบบ คาดว่าจะใช้เงินอุดหนุน 16,502,210 บาท/วัน หรือรวม 5,446 ล้านบาท/ปี

“การดำเนินการต้องศึกษาวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการดำเนินการนโยบายอย่างละเอียดรอบคอบ โดยกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งเมื่อ ครม.อนุมัติแล้ว คาดว่าจะดำเนินการได้ทันที ทั้งนี้ หากดำเนินการได้ในช่วงต้นปี จะช่วยลดปัญหาปริมาณฝุ่น PM 2.5 จากการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับประโยชน์ของนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านจราจรและขนส่ง และผลประโยชน์อื่นๆ คือ 1.ลดระยะเวลาการเดินทางบนถนน/ลดปัญหาการจราจรติดขัด 2.ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน 3.ลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประชาชนในประเทศ 4.ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน 5.ส่งเสริมการใช้ระบบราง 6.ส่งเสริมแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ.2564-2573 และ 7.ส่งเสริมการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน  เพิ่มประสิทธิภาพของเมือง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง