‘ทักษิณ’ขออภัยโทษ

กรุงเทพฯ ๐ "ทักษิณ" เริ่มกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษฯ เผยครอบครัวขยับสอบถามข้อมูลบ้าง อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบและรวบรวมเอกสาร 28 ส.ค.นี้ญาติเข้าเยี่ยมที่ รพ.ตำรวจ ลงชื่อไว้ 10 คน 

     เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีญาติที่จะเข้าเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ เนื่องจากกักตัวครบกำหนด 5 วันแล้วว่า  ญาติสามารถเข้าเยี่ยมได้ที่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากตัวนายทักษิณรักษาตัวอยู่ที่นี่ ลักษณะการเข้าเยี่ยมจะขึ้นอยู่ตามสภาพที่ผู้ต้องขังอยู่ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลระหว่างการเข้าเยี่ยม ให้เว้นระยะการเยี่ยมอย่างเหมาะสม ซึ่งการเข้าเยี่ยมที่โรงพยาบาล เป็นกรณีปกติทั่วไปกับนักโทษรายอื่นๆ ที่รักษาตัวอยู่ ญาติสามารถเข้ามาเยี่ยมที่โรงพยาบาลได้

     เขาบอกว่า การเข้าเยี่ยมขึ้นอยู่กับระเบียบของกรมราชทัณฑ์ โดยผู้เข้าเยี่ยมต้องเป็นญาติที่ลงทะเบียนไว้ไม่เกิน 10 คน หรือเป็นบุคคลที่ผู้ต้องขังประสงค์ให้เข้าเยี่ยม ตอนนี้ลงทะเบียนครบแล้ว 10 คน การเยี่ยมต้องจองผ่านระบบแอปพลิเคชัน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบตามคุณสมบัติตามที่ลงทะเบียนไว้ ก็จะออกบัตรอนุญาตให้กับผู้เยี่ยม จากนั้นจึงจะเข้าเยี่ยมได้

     "ส่วนนี้ได้ประสานกับโรงพยาบาลตำรวจที่เป็นเจ้าของพื้นที่แล้ว ส่วนรายชื่อญาติที่จะเข้ามาเยี่ยมในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นสิทธิของญาติ"

     นายนัสทีกล่าวถึง อาการของนายทักษิณช่วงนี้ยังอยู่ในการดูแลของแพทย์  ส่วนการส่งตัวกลับไปยังโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์นั้น ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล และกรมราชทัณฑ์จะปรึกษาหารือและประเมินอาการ ซึ่งตอนนี้อาการยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องรักษากับโรงพยาบาลตำรวจ

     สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่าจะมีการส่งตัวนายทักษิณไปโรงพยาบาลอื่นๆ นั้น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษฯ ยืนยันว่า ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การส่งต่อผู้ต้องขังนั้น เป็นไปตามหลักอยู่แล้ว ต้องมีการพิจารณาอาการเจ็บป่วย ตามระเบียบและอำนาจตามขั้นตอน ตนมีหน้าที่ดูให้เป็นไปตามกฎหมาย หากระเบียบและกฎหมายไม่ให้ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้

     นายนัสทียังเผยว่า ในเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น ขณะนี้ทางครอบครัวของนายทักษิณได้มีการติดต่อสอบถามข้อมูลมาบ้างแล้ว ในระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบและรวบรวมเอกสารเพื่อขออภัยโทษ ซึ่งกรณีการขออภัยโทษนั้น ก็เป็นกรณีทั่วไปที่ผู้ต้องขังทุกรายสามารถขออภัยโทษได้เมื่อเข้าเรือนจำ

     ด้านนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย  เเถลงการณ์สมาคมฯ ว่า ตามที่ได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมาว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และอดีตนายกฯ ทักษิณมีอภิสิทธิ์มากกว่าผู้ถูกจับรายอื่นนั้น

      ผมขอเสนอความเห็นทางกฎหมายที่บัญญัติคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับไว้ ดังนี้

     (1) การเดินทางกลับประเทศไทยครั้งนี้ อดีตนายกฯ ทักษิณตัดสินใจเดินทางกลับด้วยตนเอง จึงไม่มีเจตนาจะหลบหนี และมิได้ขัดขวางการจับกุม ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้ใช้เครื่องพันธนาการจึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า "ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการจับนั้น"

     (2) การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาตให้อดีตนายกฯ ทักษิณได้พบปะกับญาติและประชาชนที่เดินทางมาต้อนรับ เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 83 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ถ้าผู้ถูกจับมีความประสงค์จะแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุม ซึ่งไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี" 

     (3) ในการควบคุมตัวอดีตนายกทักษิณไปศาลและเรือนจำโดยมีขบวนรถยนต์คุ้มกันหลายคันนั้น เป็นไปตามมาตรา 83 วรรคแรก และมาตรการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากอดีตนายกฯ ทักษิณเป็นนักการเมืองที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน อีกทั้งวันดังกล่าวมีผู้ไปต้อนรับเป็นจำนวนมาก การที่เจ้าหน้าที่ใช้ขบวนรถยนต์รักษาความปลอดภัยหลายคันจึงสมควรแก่กรณี

     ดังนั้น การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้องในการจับอดีตนายกฯ ทักษิณ เพื่อนำตัวไปศาลและเรือนจำ จึงชอบด้วยวิธีการจับตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทุกประการ มิได้เป็นการเลือกปฏิบัติหรือให้สิทธิแก่อดีตนายกฯ เกินเลยจากที่กฎหมายบัญญัติไว้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง