ฮือต้านเลือกปฏิบัติอุ้ม‘นช.ทักษิณ’

จวก “ยุทธการฟ้าใส” ปูทาง น.ช.ทักษิณไม่ต้องนอนคุก “จตุพร” ปูดข้อมูลรีโนเวตแดน 7 รอรับล่วงหน้า ด้าน คปท.-นักสิทธิมนุษยชนข้องใจนักโทษคนอื่นได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียม ขณะที่ “ผบ.เรือนจำ” ยันนอนรักษาตัว รพ.ตำรวจอยู่ เปิดเยี่ยม 28 ส.ค.นี้ ส่ง ตร.ชุดเคลื่อนที่เร็ว รปภ.เข้ม

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่หน้าอาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา  โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่รักษาร่างกายตามอาการป่วยเร่งด่วน ทั้งนี้ นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร  เปิดเผยถึงกระแสข่าวที่มีตลอดคืนที่ผ่านมา ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายตัวนายทักษิณ ไปยังโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากความไม่พร้อม ทั้งเรื่องสถานที่และความชำนาญของแพทย์ที่ต้องดูแลรักษาโรคที่เป็นอยู่

 นายนัสทีระบุว่า ตอนนี้นายทักษิณ ยังรักษาตัวอยู่ภายใน รพ.ตำรวจ ส่วนอาการนั้น ทางเรือนจำจะได้รับรายงานเป็นระยะ ไม่ได้รับรายงานอาการแบบเรียลไทม์ และตอนนี้ยังไม่สามารถให้ใครเข้าเยี่ยมได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงการกักโรค 5 วัน นับตั้งแต่วันที่รับตัวเข้ามารักษาที่รพ.ตำรวจ ในวันที่ 23-27 ส.ค. ซึ่งหลังจากนั้นจะสามารถเข้าเยี่ยมได้ตามปกติ ตามเวลาการให้เยี่ยมของ รพ.ตำรวจ ซึ่งการอนุญาตบุคคลให้คนเข้าเยี่ยม จะเป็นหน้าที่ของฝั่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่จะต้องมีการแจ้งชื่อเข้ามาตามระเบียบ 10 รายชื่อ

ทางด้าน พล.ต.ต.นครินทร์ สุคนธวิท ผบก.น.6 มีบันทึกข้อความด่วนที่สุด  บันทึกข้อความส่วนราชการ เรื่อง จัดชุดเคลื่อนที่เร็วสนับสนุน สน.ปทุมวัน สั่งการถึงรอง ผบก.น.6, ผกก.สน.ในสังกัด และ ฝอ.บก.น.6 ระบุว่า ด้วย สน.ปทุมวัน มีผู้ต้องขังสำคัญของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มาเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งอาจมีบุคคลไม่หวังดีก่อเหตุวุ่นวายจนทำให้กระทบต่อการควบคุมตัว เพื่อให้การควบคุมตัวผู้ต้องขังสำคัญ และการรักษาความปลอดภัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ จึงให้ สน.จัดกำลังชุดเคลื่อนที่เร็วสนับสนุน สน.ปทุมวัน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับ สว. (ผู้ควบคุม) 1 นาย, จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับ รอง สว. (หัวหน้าชุด) 1 นาย, จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ป.) 4 นาย โดยให้จัดกำลังตามข้อสั่งการให้เตรียมพร้อมที่ตั้ง สน. สามารถเรียกได้ภายในเวลา 15 นาที โดยเริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.66 เวลา 07.30 น.เป็นต้นไป  ตามตารางเวรปฏิบัติหน้าที่ ชุดเคลื่อนที่เร็ว ตั้งแต่วันที่ 24-31 ส.ค.66 จนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ

ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวยืนยันว่า นายทักษิณยังอยู่โรงพยาบาลตำรวจ แต่ไม่สามารถเผยแพร่ภาพการรักษาได้ เพราะเป็นตามสิทธิผู้ต้องขัง ทั้งนี้ การดูแลชีวิตผู้ต้องขังเป็นเรื่องจำเป็น หากโรงพยาบาลตำรวจไม่สามารถดูแลและยื้อชีวิตผู้ต้องขังไว้ได้ ก็จำเป็นต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น โดยพิจารณาตามข้อมูลทางการแพทย์ ไม่สามารถใช้ความรู้สึกได้ แต่ตอนนี้ยืนยันยังไม่ต้องย้ายไปโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลอื่นตามที่มีกระแสข่าว และหากจำเป็นต้องย้ายโรงพยาบาล ก็เป็นดุลยพินิจของแพทย์และกรมราชทัณฑ์

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า อาการของนายทักษิณหนักเพียงใดถึงต้องมีการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจและให้กลับมายังเรือนจำ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยว่า เป็นเรื่องปกติที่นักโทษใหม่เข้าไปในเรือนจำจะเกิดภาวะอาการเครียด บวกกับมีโรคประจำตัวถึง 4 โรครุมเร้า โดยเฉพาะอาการความดันโลหิตสูง จึงทำให้นายทักษิณเกิดอาการล้มป่วยง่าย จากนี้หากกลับเรือนจำต้องให้อาการนายทักษิณเข้าสู่ภาวะปกติ และให้แพทย์รายงานมายังกรมราชทัณฑ์ตามอำนาจหน้าที่ เพราะไม่อยากให้เกิดการเจ็บป่วยซ้ำ ล่าสุดตนเห็นนายทักษิณตอนเข้าเรือนจำ ลักษณะเสื้อผ้าใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวและกางเกงสแล็กสีกรมท่า ช่วง 10 วันแรกกักโรคน่าจะยังไม่มีเปลี่ยนชุดอะไร ขึ้นอยู่กับทางเรือนจำพิจารณา และยังไม่ตัดผม จนกว่าพ้นกักโรค และตัวเองไม่เคยพูดคุยกับนายทักษิณ เพราะเป็นหน้าที่ของเรือนจำ เชื่อมั่นว่ากรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติตามระเบียบกติกาและกฎหมาย เชื่อว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่เอื้อปฏิบัติกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ที่อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ นายพิชิต ไชยมงคล พร้อมนายนัสเซอร์ ยีหมะ แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และสมาชิก ยื่นหนังสือถึงนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาพฤตินิสัย ประเด็นการเลือกปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษแก่นายทักษิณ ที่ถูกย้ายตัวออกมารักษาที่ รพ.ตำรวจเช่นกัน พร้อมข้อเสนอว่า 1.ให้ทีมแพทย์จากข้างนอก ร่วมตรวจสอบสุขภาพของนายทักษิณ ซึ่งจะช่วยตอบคำถามของสังคมได้ มีตัวแทนจากกรรมการสิทธิฯ ร่วมสังเกตการณ์ 2.ให้กรมราชทัณฑ์บังคับใช้ระเบียบของผู้ต้องขังอื่นอย่างเท่าเทียมกันกับนายทักษิณ และ 3.กรณีการขออภัยโทษ ต้องผ่านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นักโทษที่ต้องคดีทุจริตคอร์รัปชัน ยื่นอภัยโทษโดยตรง เพราะนักโทษคดีนี้ก็เคยยื่น แต่ยังอยู่ระหว่างการจำคุกอยู่เลย มองว่าอาจจะเลือกปฏิบัติเฉพาะนายทักษิณ ซึ่งกลุ่มตนยอมรับไม่ได้

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ทั้งระบบมีส่วนช่วยนักโทษชายทักษิณ เนื่องจากพฤติการณ์และการกระทำของผู้บริหารของกรมราชทัณฑ์ มีข้อพิรุธอีกมากมายที่สังคมไทยไม่ควรปล่อยให้ระบบราชการของรัฐใช้อำนาจหรือดุลยพินิจที่อาจขัดต่อระเบียบ กฎหมาย และรัฐธรรมนูญ 2560 ม.27 ประกอบ ปอ.ม.157 อันเกี่ยวกับการห้ามการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวกับสภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมได้

ที่โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ในงาน “สมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566” นายสมชาย หอมลออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย  และที่ปรึกษาอาวุโส มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีของนายทักษิณ เป็นตัวอย่างชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมันเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในระบบ ระบอบที่ไม่เป็นไปตามหลักการของความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของปฏิญญา ซึ่งผู้ต้องหาจำนวนมากในที่คุมขังที่มีโรครุมเร้าเหมือนกัน ก็ควรมีโอกาสได้มีสถานะเช่นเดียวกัน ถ้ารัฐบาลใหม่ชุดนี้ตระหนักถึงเรื่องนี้ ก็ควรจะต้องทำ ไม่ใช่เลือกที่จะทำกับคนบางคนหรือคนบางกลุ่มเท่านั้น เพราะเท่าที่ทราบ มีหลายคนที่เสียชีวิตไป อย่างเช่นอากง ซึ่งโดนคดี 112 ที่เสียชีวิตไปโดยไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข และก็มีอีกมากมายที่มีชะตากรรมแบบเดียวกัน

ทางด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ได้เผยแพร่เนื้อหาของการจัดรายการประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน "น่ายินดี?" เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2566 โดยระบุถึงกรณีนายทักษิณ ถูกนำตัวไปส่ง รพ.ตำรวจ ในกลางดึกวันที่ 22 ส.ค.ว่า เกิดความสงสัยว่าเรือนจำนำตัวออกนอกเรือนจำในเวลาใดกันแน่ เพราะบางข่าวรายงานเวลา 4 ทุ่ม และบางส่วนบอกเวลาตีหนึ่ง ซึ่งต้องตรวจสอบจากภาพถ่ายของเรือนจำกัน อีกอย่างอาการป่วยถึงขั้นต้องไป รพ.ตำรวจ หรือไม่ ถ้าเจ็บป่วยจริง กระบวนการรักษาจะว่าอย่างไร อีกทั้งตลอดช่วงทักษิณเดินทางกลับมาไทยนั้น ได้มีการโพสต์ไปตรวจร่างกายเป็นระยะ ถ้าป่วยจริงถึง 4 โรคใหญ่ ไม่ว่าโรคหัวใจ ปอด ความดัน และหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท บรรดาญาติพี่น้องหรือคนในครอบครัวต้องห้ามกลับ เพราะการเข้าอยู่ในเรือนจำสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตอย่างยิ่ง

“หากยังจำที่เคยพูดถึงยุทธการฟ้าใสกันได้แล้ว เหตุการณ์ของทักษิณกลับไทยเข้าตามปฏิบัติการเลย เพราะตามยุทธการนี้ โดยจะแสดงถึงทุกอย่างดีไปหมด และให้ได้ทุกสิ่งอย่างตามต้องการ โดยสังเกตจากถ้าเป็นนักโทษเด็ดขาดต้องถูกคุมขังในเรือนจำแดนแรกรับตัว แต่นักโทษใหม่อย่างทักษิณกลับได้เริ่มติดคุกที่อาคารพยาบาลแดน 7 ซึ่งปรับปรุงห้องใหม่ให้กว้างขวางไว้รองรับ” นายจตุพรกล่าว และว่า ปฏิบัติการของยุทธการฟ้าใสได้สำแดงเดชอย่างสำคัญที่สุด ด้วยเริ่มจากติดคุก ไป รพ.ตำรวจ แล้วจะไป รพ.เอกชน จากนั้นอ้างถึงความเชี่ยวชาญของหมอเฉพาะทางเพื่อไปนอน รพ.เอกชน แม้ก่อนหน้านี้มีนักโทษมีชื่อเสียงได้เคยใช้เส้นทางแบบนี้บ้าง แต่ไม่ได้มากมายอะไร ดังนั้นหากมีการตรวจสอบจะยิ่งเพิ่มความน่าสงสัย

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด  และอาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐาน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ความว่า  สาเหตุที่ไม่มีการขอนับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์นั้น ขออธิบายว่า คดีเอ็กซิมแบงก์ที่ถูกฟ้องเป็นคดีที่สองกลับกลายมาเป็นคดีแรกที่ศาลตัดสินดังที่กล่าวไปในตอนต้น โดยมีคำพิพากษาตัดสินคดีเมื่อวันที่ 23เม.ย.2562 และตัดสินคดีหวยบนดินตามมาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2562

ดังนั้น ถึงแม้ในขณะฟ้องคดีหวยบนดิน เป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะขอนับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงก์ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว แต่เมื่อศาลฎีกาได้ตัดสินคดีเอ็กซิมแบงก์ก่อนคดีหวยบนดินโจทก์ในคดีหวยบนดินคือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดย ป.ป.ช.เข้ามาเป็นคู่ความแทน และเป็นโจทก์ในคดีเอ็กซิมแบงก์ด้วย ยังสามารถขอแก้ไขคำฟ้องคดีหวยบนดิน เพื่อขอให้นับโทษในคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงก์ได้เพราะได้มีการฟ้องคดีและมีการตัดสินคดีเอ็กซิมแบงก์แล้ว ซึ่งแล้วแต่ดุลพินิจของศาลฎีกาว่าจะอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องคดีหวยบนดินเพื่อให้นับโทษต่อจากคดีเอ็กซิมแบงก์หรือไม่ แต่โจทก์คือ ป.ป.ช.ในขณะนั้น ไม่ได้มีการแก้ไขคำฟ้องเพื่อขอให้นับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงก์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง