ทักษิณป่วยนอนห้องหรูรพ.ตร.

หาม "ทักษิณ" ขึ้น ฮ.กลางดึก เข้าห้องวีไอพี รพ.ตำรวจ “ราชทัณฑ์” แจงยิบ สารพัดโรครุมเร้าเสี่ยงชีวิต ขาดแพทย์-อุปกรณ์ดูแล ด้านแพทย์ใหญ่ รพ.ตร.เผย ความดันพุ่ง เหนื่อยหอบ ส่งหมอดูแลใกล้ชิด "หัวใจ-ปอด" ยันรักษาตามสิทธิ์ผู้ป่วยสูงอายุ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ "รองปลัด ยธ." ระบุไม่มีการย้ายไป รพ.เอกชน อาการดีขึ้นต้องกลับเรือนจำ เผยยังไม่ได้รับแจ้งขอพระราชทานอภัยโทษ ขณะที่ "โฆษกศาล" ออกโรงแจงไขข้อสงสัย นับโทษ 3 คดี จำคุก 8 ปี

เมื่อวันพุธ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่า เมื่อเวลา 23.59 น. ของวันที่ 22 ส.ค. พัศดีเวรได้รายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แดน 7 อยู่ระหว่างการกักโรค มีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ

นายสิทธิระบุว่า พยาบาลเวรเรือนจำจึงได้ติดต่อขอคำแนะนำกับแพทย์ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์ได้สอบถามอาการโดยละเอียดแล้ว ตลอดจนพิจารณาจากรายงานประวัติการรักษาของผู้ป่วยโดยแพทย์จากโรงพยาบาลต่างประเทศ (สิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) พบมีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง พังผืดในปอด กระดูกสันหลังเสื่อม

“โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ โรคหัวใจ เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิตจะมีการส่งตัวรักษาให้ทันท่วงที” นายสิทธิระบุ

นายสิทธิกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนั้นเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้นำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งได้รับตัวไว้เพื่อทำการบำบัดรักษาเมื่อเวลา 00.20 น. ของวันที่ 23 ส.ค.2566 โดยเรือนจำได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมตามระเบียบขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์

ที่โรงพยาบาลตำรวจ เจ้าหน้าที่ได้ย้ายตัวนายทักษิณมารักษาด่วนโดยเฮลิคอปเตอร์มาที่ รพ.ตำรวจ อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ชั้น 14 ซึ่งอาการป่วยของนายทักษิณได้ดำเนินการตามมาตรการผู้ต้องขังเข้าใหม่ ทำทะเบียนประวัติ ตรวจสุขภาพโดยแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ เบื้องต้นพบว่านายทักษิณอยู่ในกลุ่มเปราะบาง มีโรคประจำตัวต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และพบประวัติเป็นหลายโรค ได้แก่ 1.โรคหัวใจ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

 2.มีปัญหาปอด เนื่องจากมีประวัติเป็นปอดอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 มีภาวะพังผืดในปอด ส่งผลทำให้มีความผิดปกติต่อการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ทั้ง 2 โรคนี้ต้องได้รับการดูแลโดยทีมแพทย์ 3.ความดันโลหิตสูง 4.ภาวะเสื่อมตามอายุ กระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชั้น 14 รพ.ตำรวจ เป็นหอผู้ป่วยพิเศษระดับสูง เมื่อขึ้นไปบนชั้นดังกล่าว พบว่ามีเจ้าหน้าที่พยาบาลปฏิบัติหน้าที่อยู่ 3 คน เมื่อสอบถามถึงการเข้ารักษาตัวของนายทักษิณ ทางเจ้าหน้าที่พยาบาลปฏิเสธจะให้ความเห็น แต่ให้รายละเอียดว่า ถ้ามีผู้ป่วยจากเรือนจำมาทำการรักษาตัว จะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาคอยกำกับดูแล

 ซึ่งชั้นดังกล่าวมีอยู่แค่ 2 ปีก ปีกละ 1 ห้อง สำหรับนายทักษิณอยู่ที่ห้องรอยัลสูท ห้อง 1401 โดยมีรายงานว่า เบื้องต้นทางแพทย์ศัลยกรรมระบบประสาทได้ให้ยาละลายลิ่มเลือด ยาความดัน ยาคลายเครียด โดยขณะนี้นายทักษิณอยู่ระหว่างการพักผ่อน โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

คุมเข้มความปลอดภัย

ด้าน พล.ต.ต.นครินทร์ สุคนธวิท ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 (ผบก.น.6) ระบุว่า มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากในพื้นที่ สน.ปทุมวัน มาดำเนินการเฝ้าระวัง ตามจำนวนปกติคือ 2 นาย แต่แผนรักษาความปลอดภัยนอกเหนือจากนี้เป็นความลับ ยืนยันว่าในส่วนของตัวนายทักษิณอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจจริง

วันเดียวกัน โรงพยาบาลตำรวจชี้แจงว่า การส่งตัวผู้ป่วยจากเรือนจำมารักษาที่ รพ.ตำรวจ เป็นเรื่องปกติที่ได้ทำมาตลอด โดยมี MOU ระหว่าง ราชทัณฑ์และ ตร. ตั้งแต่ 1 พ.ค.63 เพราะโรงพยาบาลมีความเหมาะสมทั้งในด้าน ศักยภาพการแพทย์ และมีเจ้าหน้าที่สนับสนุนราชทัณฑ์ในการ เฝ้าระวังการรักษาความปลอดภัย

ด้าน พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า นายทักษิณถูกนำตัวมาที่โรงพยาบาลตำรวจด้วยรถราชทัณฑ์ เนื่องจากมีความดันโลหิตสูงถึง 170 มิลลิเมตรปรอท และนำตัวไปที่ชั้น 14 ทันที ซึ่งเดิมชั้นดังกล่าวใช้เป็นพื้นที่กักตัวผู้ป่วยโควิด-19 ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศใช้งานไม่ได้ ต้องใช้พัดลม 2 ตัว ระบายอากาศแทน และห้องพักของทักษิณไม่ได้อยู่ฝั่งที่มองเห็นทัศนียภาพภายนอก เนื่องจากฝั่งดังกล่าวติดกระจก อากาศร้อน

 “แพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการให้น้ำเกลือ พร้อมระดมทีมแพทย์ตั้งเป็นคณะรักษารวม 6 ท่าน มีหมอเชี่ยวชาญด้านหัวใจ ปอด และโควิด-19 อยู่ในทีมดังกล่าว ซึ่งนายทักษิณไม่ได้ใส่เครื่องพันธนาการ เนื่องจากตามกฎหมายผู้ป่วยต้องโทษที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 70 ปีขึ้นไปไม่ต้องใส่เครื่องพันธนาการ เพราะจะทำให้การรักษาเกิดความยุ่งยาก” นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตร.กล่าว

พล.ต.ท.โสภณรัชต์ระบุว่า ยืนยันว่าการรักษาผู้ป่วยสูงอายุไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติตามกระแสสังคม เพราะก่อนหน้านี้มีการส่งผู้ป่วยอายุมากมารักษาเช่นกัน ส่วนการดูแลความปลอดภัยระหว่างรักษา มีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์คอยดูแล 3 คน แต่ในพื้นที่ของโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ของสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันดูแลความปลอดภัย ส่วนจะรักษาอาการนานเท่าใด ยังไม่สามารถตอบได้ ทีมแพทย์จะเป็นผู้ประเมินต่อไป

แพทย์เฝ้าระวังงดเยี่ยม

แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ กล่าวอีกว่า อาการล่าสุดนายทักษิณ เมื่อช่วงเช้าจากการสอบถามทีมแพทย์ที่รักษา นายทักษิณมีอาการดีขึ้นเล็กน้อยกว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ยังใส่สายออกซิเจน ความดันยังสูงอยู่ สามารถสื่อสารได้ แต่ยังมีอาการเหนื่อยหอบ แพทย์ต้องเฝ้าระวังโดยสั่งงดเยี่ยมทุกกรณี ส่วนกรณีถ้าญาติต้องการย้ายตัวไปโรงพยาบาลเอกชน จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจกรมราชทัณฑ์

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการ รมว.ยุติธรรม ระบุว่า ก็เป็นสิทธิ์ของท่าน ส่วนยืนยันว่าเป็นมาตรการปกติในการรับตัวนักโทษหรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ ก็เหมือนส่ง น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) กลุ่มทะลุวัง และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) ไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ

เมื่อถามย้ำว่าในกรณีที่นายทักษิณจะขออภัยโทษสามารถดำเนินการได้เลยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทำได้ตั้งแต่มาถึง จะโดยเจ้าตัวหรือญาติก็ได้ กฎหมายเขียนไว้ในมาตรา 259 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ว่าผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถที่จะยื่นเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ ซึ่งถ้าจบแค่นี้ก็แปลว่าเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จะต้องมอบตัวเข้าสู่กระบวนการก่อน

ด้านนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ยืนยันว่าไม่มีการย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่น และจะรักษาตัวให้พ้นวิกฤตจนกว่าแพทย์ รพ.ตำรวจ จะมีความเห็นอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนกรอบระยะเวลาการรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ จะเป็นอำนาจของแพทย์ที่จะประเมินและมีความเห็น ส่วนถ้าหากญาติและครอบครัวของนายทักษิณ หรือองค์กรต่างๆ จะเข้าเยี่ยม โดยในห้วงการกักโรคโควิด-19 จำนวน 10 วันแรก จะยังไม่ให้มีการเยี่ยม แต่คาดว่าทาง รพ.ตำรวจอาจจะมีการยืดหยุ่นให้ 5 วันแรกเข้าเยี่ยมได้ ถ้าไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่จะเป็นการเยี่ยมตามระเบียบของราชทัณฑ์ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีรายชื่อตามที่อดีตนายกรัฐมนตรีอนุญาตระบุให้เข้าเยี่ยม

รองปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ประเด็นการขอพระราชทานอภัยโทษ อดีตนายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการได้ 2 ช่องทางคือ 1.ครอบครัวรับหน้าที่ดำเนินการเตรียมเอกสาร คำร้องพรรณนาสำหรับการขออภัยโทษ และ 2.เจ้าตัวเป็นผู้เขียนคำร้องพรรณนาสำหรับการขอพระราชทานอภัยโทษด้วยตัวเอง แต่ในตอนนี้ตนเองยังไม่ได้รับรายงานว่านายทักษิณได้แจ้งความประสงค์จะเขียนเอกสารสำหรับเข้าสู่ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษแต่อย่างใด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทักษิณเสือกทุกเรื่อง ฟุ้งกลับมาช่วยปชช.ลืมตาอ้าปาก/ไม่ครอบงำมีแต่อิ๊งค์สั่งพ่อ

เสื้อแดงแห่ต้อนรับ "ทักษิณ" ลงอุดรฯ ขึ้นเวทีปราศรัยช่วยผู้สมัครนายก อบจ.เพื่อไทยหาเสียงครั้งแรกในรอบ 18 ปี