เอกชนดี๊ด๊า หุ้นพุ่ง20จุด ได้ผู้นำใหม่

เอกชนขานรับ "เศรษฐา"   นายกฯ คนที่ 30 ขอเลือกคนเก่ง-ดีนั่งขุนพลเศรษฐกิจ ทำงานร่วมกันเป็นทีม มั่นใจรัฐบาลใหม่ดันจีดีพีโตเกิน 3% พร้อมชง 3 ประเด็นเร่งด่วนดำเนินการทันทีในช่วง 100 วันแรก ชี้ “ทักษิณ” กลับไทยก้าวสำคัญเรื่องปรองดอง

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย   เปิดเผยภายหลังรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่การเลือกนายกฯ ดำเนินการสำเร็จจนเป็นที่เรียบร้อย เป็นไปตามความต้องการของหลายฝ่ายที่ต้องการให้ประเทศไทยมีรัฐบาลชุดใหม่เร็วที่สุด เพื่อเข้าสู่โหมดการเดินหน้าเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยหลังจากนี้คงเป็นไปตามกระบวนการทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญที่จะต้องมีการฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีบุคคลใดมาประกอบเป็น ครม. โดยภาคเอกชนหวังว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งต่างๆ จะมีการพิจารณาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นผู้เชี่ยวชาญและเหมาะสมในแต่ละด้านอย่างแท้จริง

สำหรับประเด็นข้อเร่งด่วนที่หอการค้าฯ ต้องการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลใหม่เพื่อให้เร่งดำเนินการทันทีในช่วง 100 วันแรกของการรับตำแหน่ง ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนภาคเอกชน ทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง  ค่าไฟฟ้า ที่ยังอยู่ในระดับสูง และปัญหาที่กระทบต่อการแข่งขันและการส่งออกของไทย รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ 2.เร่งเสริมความโดดเด่นภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้าย และถือเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว 3.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังค้างท่ออยู่ และจัดทำงบประมาณรายจ่าย 2567 ให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้มีการหารือกับคณะกรรมการและสมาชิกถึง 3 ประเด็นข้างต้น เพื่อนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาดำเนินการทันที

นอกจากนี้ หอการค้าไทยมั่นใจว่าหากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ จะมีการเน้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจังและตรงจุด รวมถึงดำเนินการตาม 3 ประเด็นเร่งด่วนตามข้อเสนอของหอการค้าไทย ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยภาพรวมสามารถเติบโตตามเป้าหมายได้เกิน 3.0%

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเสนอชื่อนายเศรษฐาเป็นนายกฯ เป็นเรื่้องพรรคการเมืองมีมติร่วมกัน สมการดังกล่าวเหล่านี้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมถึง สว. ซึ่งจะทำให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ ภาคเอกชนต้องการฝากไปว่า ให้ช่วยพิจารณากระทรวงหลักทางเศรษฐกิจ  รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจที่จะต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในรูปแบบทีมเดียวกัน ไม่ใช่คนละทีม หรือต่างคนต่างทำ ต้องเลือกทั้งคนเก่ง คนดีที่สังคมยอมรับในฝีมือ ยิ่งหากมีประสบการณ์ดีด้วยยิ่งจะดีมาก รวมถึงทำงานกันได้อย่างเข้าขา และสร้างความเชื่อมั่น เมื่อประกาศออกมาเป็นที่พอใจของประชาชน โดยเมื่อความมั่นใจกลับมาจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟู และพัฒนาประเทศในทุกระดับร่วมกัน

นายเกรียงไกรยังกล่าวถึงการกลับมาประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรีว่า การกลับมาของนายทักษิณถือเป็นสัญลักษณ์ หรือก้าวที่สำคัญของความปรองดองที่พูดกันมาตลอด เนื่องจากไทยอยู่บนท่ามกลางความขัดแย้งและการแบ่งพรรคแบ่งขั้วมานานหลายสิบปี ภาคเอกชนเองมีความยินดีที่ได้เห็นความปรองดองเกิดขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ เดินหน้าเศรษฐกิจ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง