‘ต้านโกง’อย่าอภัยโทษคอร์รัปชัน

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ออกแถลงการณ์คัดค้านการลดหย่อนผ่อนโทษให้กับผู้ต้องขังคดีคอร์รัปชัน ชี้เป็นเรื่องสวนทางกับความรู้สึกของประชาชน บ่อนทำลายความพยายามของ ป.ป.ช. อัยการ และศาล ในการเอาคนผิดมาลงโทษ จี้เอาหลักเกณฑ์ปี 59 ที่ "ไพบูลย์ คุ้มฉายา" องคมนตรี ไม่พิจารณาลดหย่อนผ่อนโทษให้กับคดีคอร์รัปชัน คดีข่มขืน และคดียาเสพติด

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2564 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง คัดค้านการลดหย่อนผ่อนโทษให้กับผู้ต้องขังคดีคอร์รัปชัน โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฯ แก่ผู้ต้องขัง ส่งผลให้ผู้ต้องขังในคดีคอร์รัปชันหลายรายที่ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนความอัปยศอดสูของชาวนา กลายเป็นประเด็นแห่งความชอกช้ำของสังคมอย่างที่ประวัติศาสตร์ไม่อาจจะลืมได้ แต่ขณะนี้กลับได้รับการลดหย่อนโทษอย่างรวดเร็วด้วย

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ในฐานะตัวแทนของสังคมในการสร้างพลังของคนไทยในการล้มล้าง ต่อต้านการคดโกงแผ่นดิน มีข้อสังเกตว่า ในการพระราชทานอภัยโทษฯ เมื่อปี พ.ศ.2559 ได้ยึดหลักว่า จะไม่พิจารณาลดหย่อนผ่อนโทษให้กับคดีคอร์รัปชัน คดีข่มขืนและคดียาเสพติด ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ได้ทำกันมาอยู่แล้ว ตามที่พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรีและอดีต รมว.ยุติธรรม ได้เคยกล่าวไว้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ทราบว่าด้วยเหตุใดและโดยใคร ทำให้หลักเกณฑ์ที่เคยเป็นหลักความเชื่อมั่นของระบบยุติธรรมเปลี่ยนแปลงไป จนเอื้อประโยชน์ในการลดหย่อนผ่อนโทษให้กับนักโทษโดยเฉพาะคดีคอร์รัปชันอย่างไม่น่าได้ลดหย่อนรวดเร็วขนาดนั้น

การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำเสมอว่า คอร์รัปชันเป็นเรื่องร้ายแรงของสังคมไทย ต้องปราบปรามอย่างจริงจัง คนผิดต้องถูกจับติดคุกโดยเร็วด้วยโทษทัณฑ์ที่เด็ดขาดรุนแรง รวมทั้งประกาศให้การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ การลดหย่อนผ่อนโทษขึ้นครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องสวนทางกับความรู้สึกของประชาชน บ่อนทำลายความพยายามของ ป.ป.ช. อัยการ และศาล ในการเอาคนผิดมาลงโทษ ซึ่งเท่ากับส่งเสริมให้คนโกงไม่เกรงกลัว และกลับทำให้คนที่เป็นพยานและคนชี้เบาะแสกลโกงต้องหวาดกลัวว่าคนโกงที่ติดคุกไม่กี่วัน แล้วเมื่อถูกปล่อยตัวออกมาจากคุก อาจกลับมาคุกคามสวัสดิภาพของพวกเขาเหล่านั้นได้

ดังนั้น เพื่อให้คนโกงชาติ ทำร้ายสังคมเกิดความยำเกรงกับบทลงโทษที่รุนแรงให้สาสม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณานำหลักเกณฑ์การอภัยโทษ พ.ศ.2559 กลับมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนในกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการให้อภัยโทษ การลดหย่อนผ่อนโทษ และการพักโทษนั้นจะสามารถกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขใด นอกจากนั้นให้มีการกำหนดเพิ่มเติมถึงข้อห้ามที่เข้มงวดอย่างยิ่งสำหรับคดีคอร์รัปชันร้ายแรงและมีโทษรุนแรงที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

ก.กระทำโดยนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงหรือข้าราชการในกระบวนการยุติธรรม

ข.ความผิดตามที่รัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้

ค.คดีที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมของชาติ

ง.การเสนอชื่อรับสิทธิ์ของผู้ต้องขังคดีร้ายแรงต้องมีกระบวนการทบทวนอย่างเหมาะสม

จ.เงื่อนไขอื่น เช่น ต้องไม่ได้รับสิทธิ์ต่อเนื่องกัน หรือผู้ต้องขังต้องถูกจำคุกแล้วอย่างน้อยกี่ปี เป็นต้น

ในการนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันขอย้ำเสนอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ทบทวนในกรณีดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนยังมีความเชื่อถือ เชื่อมั่นและไว้วางใจว่าคณะรัฐบาลชุดนี้ยังคงให้ความสำคัญต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างจริงใจและจริงจังสมเจตนารมณ์ อย่าให้คนไทยและสังคมรู้สึกว่าได้รับการคดโกงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อระบบยุติธรรมอีกครั้งหนึ่ง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอย้ำว่า เราและคนไทยจะไม่ยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และจะทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

'ดร.เสกสกล'อัด'แม้ว-ปู'

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของ นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า คงหวังจะกอบกู้คะแนนนิยมให้พรรคเพื่อไทยกลับคืนมา เพราะยังเชื่อว่าประชาชนชาวไทยยังชื่นชมอดีตนายกฯ ทั้ง 2 คนนี้อยู่ อีกทั้งก็น่าจะเป็นเพราะปัญหาในพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ที่สมาชิกเตรียมที่จะย้ายพรรคการเมือง เนื่องจากทนพฤติกรรมของพรรคเพื่อไทยไม่ได้แล้ว นอกจากนี้เป็นเพราะช่วงนี้สองพี่น้องคงอยากกลับประเทศไทยแล้ว ทั้งนี้ ตนมองว่าหากอยากกลับประเทศ สามารถกลับได้ แต่ต้องมารับโทษที่ก่อเอาไว้ก่อน

นายเสกสกลระบุว่า การที่นายทักษิณ  น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นถึงอดีตนายกฯ เป็นผู้นำประเทศ แต่ทำผิดกฎหมายกลับไม่ยอมรับกฎหมายของไทย หากเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ ของเศรษฐีของไทย เช่นคดีของนายเปรมชัย กรรณสูต อดีตประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในคดีเสือดำ ตนมองว่านายเปรมชัย ซึ่งเป็นเศรษฐี มีเงินเป็นหมื่นล้านเช่นเดียวกันกับอดีตนายกฯ 2 คน อีกทั้งนายเปรมชัยไม่เคยเป็นนายกฯ ด้วยซ้ำ แต่ทำผิดกฎหมาย ยังยอมรับกฎหมายของไทย ไม่หนี ยอมติดคุก เช่นเดียวกันกับบุคคลอื่นในคดีจำนำข้าว ที่เป็นถึงอดีตรัฐมนตรี เป็นนักธุรกิจ ยังเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายยอมติดคุกเช่นเดียวกัน

"นายทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นถึงอดีตนายกฯ ก็ควรที่จะทำตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าหนีคดีออกไปเสวยสุขในต่างประเทศ และออกมาประกาศตำหนิกระบวนการยุติธรรมของไทย มิหนำซ้ำยังออกมาเคลื่อนไหวพูดผ่านสื่อโซเซียลต่างๆ แบบหน้าไม่อายให้คนทั้งประเทศได้ฟัง ทั้งที่เป็นนักโทษหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ" เจ้าของฉายาแรมโบ้อีสานกล่าว

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าของรัฐสภาชุดนี้ มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง แต่แก้ไขสำเร็จแค่เรื่องของนักการเมือง คือระบบเลือกตั้ง ส่วนประเด็นที่ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยกลับทำไม่สำเร็จ เพราะข้อเสนอเป็นไปได้ยาก ไปพ่วง ไปปน ไปแถม อยู่กับเรื่องอื่น จนสุดท้ายถูกตีตกไปตามๆ กัน แต่แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง คือการล็อกเป้าแก้ไขมาตรา 272 ห้ามสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้าทุกฝ่ายต่างให้เกียรติกัน ไม่ด้อยค่าหน้าที่ของวุฒิสภา เพียงแค่ขอให้รัฐธรรมนูญของไทยยืนอยู่บนหลักประชาธิปไตยมากขึ้น จะทำให้ ส.ว.ทำหน้าที่ได้อย่างภาคภูมิ ให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนต่อไปเข้าทำหน้าที่ได้อย่างสง่างาม

"ธรรมนัส"ให้เตรียมตัว

หัวหน้าพรรคกล้ากล่าวอีกว่า การให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่สร้างประโยชน์ในทางบริหาร เพราะหากอาศัยเสียง ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทันทีที่เริ่มบริหารก็จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทันที จึงเรื่องที่ไม่สอดคล้องทั้งหลักปฏิบัตินิยมและความเป็นประชาธิปไตย พรรคกล้าจึงขอประกาศร่วมสนับสนุนคณะผู้ริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ประกอบด้วยนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ตัวแทนจากหลายพรรคการเมือง รวมถึงตัวแทนจากพรรคกล้า จับมือกับนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ เดินหน้ายกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งภารกิจนี้ควรทำ และมีความเป็นไปได้มากที่สุด

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า เวลา 15.00 น. วันที่ 14 ธ.ค. พรรคพลังประชารัฐจะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรค เพื่อพิจารณาตัดสินใจจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่างลง ทั้งเขต 1 จ.ชุมพร และเขต 6 สงขลาหรือไม่ ซึ่งในวันนั้นจะมีความชัดเจน ขณะที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค จากการเข้าหารือในเบื้องต้นไม่ให้นโยบายอะไร โดยให้มาพูดคุยกันในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค เมื่อถามว่าต้องฟังความเห็นในส่วนของ ส.ส.ใต้หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เรื่องนี้ ส.ส.ใต้ส่วนหนึ่งได้เข้าพูดคุยกับพล.อ.ประวิตรแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งที่ จ.ชุมพรและสงขลา พรรคพลังประชารัฐมีคะแนนมาเป็นอันดับ 2 ทั้ง 2 เขตเลือกตั้ง โดยเขต 1 ชุมพร เดิมนายจุมพล จุลใส ได้เป็น ส.ส. ประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนนเลือกตั้ง 42,683 คะแนน รองลงมาพรรคพลังประชารัฐ นายชวลิต อาจหาญ ได้คะแนน 32,219 คะแนน ส่วนเขต 6 สงขลา นายถาวร เสนเนียม ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 28,465 ขณะที่อันดับ 2 นายสมปอง บริสุทธิ์ พลังประชารัฐ ได้ 19,317 คะแนน

ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค และคณะ เดินทางเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมเลือกตัวแทนเขตพัทลุงทั้ง 3 เขตคือ เขต 1, เขต 2 และเขต 3

ตอนหนึ่งเขากล่าวว่า วันนี้ได้มาพบตัวแทนและสมาชิกพรรคจังหวัดพัทลุง เพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้ เพราะการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน เราจะร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการเข้าไปช่วยขับเคลื่อนนโยบายพรรค และมาพัฒนาเปลี่ยนแปลงพัทลุงให้พัฒนาเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น และหวังว่าจะได้รับโอกาสจากชาวจังหวัดพัทลุง ที่ล้วนแต่มีจิตใจดี ให้ตัวแทนของพรรคเข้ามาดูแลพี่น้องประชาชนในโอกาสการเลือกตั้งครั้งหน้าในอนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง