“สภาพัฒน์” ปรับลดจีดีพีไทยปี 66 เหลือ 2.5-3% หลังไตรมาส 2 ขยายตัวได้แค่ 1.8% โดยมีปัจจัยหลักมาจากส่งออกที่ทรุดต่อเนื่อง 3 ไตรมาส สั่งจับตาสถานการณ์การเมืองฉุดเศรษฐกิจ
เมื่อวันจันทร์ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาสที่ 2/2566 และภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ขยายตัว 1.8% ชะลอลงจากการขยายตัว 2.6% ในไตรมาสแรกของปี 2566 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ขยายตัวได้ 0.2% จากไตรมาสก่อน รวมครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.2%
โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวได้เพียง 1.8% มาจากภาคการส่งออกในไตรมาสนี้ที่ลดลง 5.6% ติดลบต่อเนื่องจากการลดลง 4.5% ในไตรมาสก่อนหน้า และติดลบติดต่อกัน 4 ไตรมาส โดยปริมาณส่งออกลดลง 5.8% ต่อเนื่องจากการลดลง 6.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 โดยลดลง 5.4% เช่นเดียวกับในเรื่องดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง 4.1% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่การอุปโภคภาครัฐลดลง 4.3% จากการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ลดลงในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
นายดนุชากล่าวว่า ในส่วนของเศรษฐกิจไทยปี 2566 สศช.ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีลงจากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 2.7-3.7% มาอยู่ที่ 2.5-3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่จะขยายตัวได้ 5% แต่การใช้จ่ายภาครัฐจะลดลง 3.1% จากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า และ สศช.คาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณ 2567 จะลงสู่ระบบในไตรมาส 2 ของปีหน้า หลังจากที่งบประมาณปี 2567 เริ่มบังคับใช้ได้ในเดือน เม.ย.เป็นต้นไป
ขณะที่การลงทุนรวมจะขยายตัวได้ 1.6% การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ 2% และการส่งออกคาดว่าจะติดลบ 1.8% ตามปริมาณการค้าโลกที่ลดลงต่อเนื่อง ส่วนภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศได้ 28 ล้านคน แต่มีการปรับรายได้จากภาคการท่องเที่ยวลง 1.03 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.27 ล้านล้านบาท เนื่องจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไม่สูงมากนัก
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วปรับลดลงที่ 1.7-2.2% จากเดิม 2.5-3.5% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปีนี้ มาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าคาด หนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร
เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ในส่วนการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับการรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการติดตามป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร และการขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า เพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ส่วนการพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไปนั้น เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาการบริโภคในประเทศ แต่เป็นเรื่องการส่งออก ดังนั้นต้องเร่งรัดการส่งออกเป็นหลัก การจะมีมาตรการใดๆ ออกมาต้องคำนึงถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้นด้วยว่าเป็นอย่างไร และจะมีมาตรการอะไรที่จะเข้ามาช่วยพยุงหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ตรงเป้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะต้องติดตามเศรษฐกิจจีนที่มีความผูกพันกับเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก ตลอดจนปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ และการแข่งขันทางการค้าในช่วงถัดไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น
ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน
ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท