ปิดประตูดันเศรษฐา ไม่ต้องโชว์วิสัยทัศน์/พท.มั่นใจเกิน375/รทสช.สลายสีเสื้อ

มติวิป 3 ฝ่ายอ้างไม่มีข้อกำหนดแคนดิเดตนายกฯ ต้องเข้าแสดงวิสัยทัศน์ในสภา "วันนอร์" แบ่งเวลาอภิปราย "สว." ได้ 2 ชม. "สส." 3 ชม.  "ครม." ขยับประชุมไป 23 ส.ค. "เพื่อไทย" ปิดดีลพรรคร่วม 314 เสียง มั่นใจเสียง สว.หนุนเกินครึ่ง พร้อมเตรียมองครักษ์แจงแทน "เศรษฐา" ทุกประเด็น "เสี่ยนิด" ยันตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติ วอนทุกฝ่ายสนับสนุน "รทสช.-พปชร." ย้ำโหวตหนุนแคนดิเดต พท. ปัดต่อรองเก้าอี้ รมต. "ก.ก." ผิดหวังดึงพรรค 2 ลุงมาร่วม "ศิริกัญญา" บอกทุกการกระทำมีราคาต้องจ่าย "สว." ลับมีดอภิปรายคุณสมบัตินายกฯ "สมชาย" ปูดได้ยินชื่อโหวตนายกฯ ไม่ใช่เศรษฐา "นักวิชาการ" ไม่มั่นใจ 22 ส.ค.จบ

ที่รัฐสภา วันที่ 18 ส.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา  แถลงภายหลังการประชุมวิป 3 ฝ่ายว่า  ในวันที่ 22 ส.ค. เวลา 10.00 น. จะนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อลงมติบุคคลที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดเวลา 5 ชั่วโมง แบ่งเป็นของ สว. 2 ชั่วโมง สส.ไม่เกิน 3 ชั่วโมง โดยคาดว่าจะลงมติในเวลา 15.00 น. และเสร็จสิ้นภายในเวลา 17.30 น.

"ในที่ประชุมยังมีความเห็นว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐสภา เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาไม่ได้กำหนดไว้ ประกอบกับในช่วงที่มีการยกร่างข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ที่ประชุมของรัฐสภาเคยมีมติว่าเห็นชอบให้แสดงวิสัยทัศน์เพียง 47 เสียง และไม่เห็นชอบ 370 เสียงโดยประมาณ" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว 

จากนั้น นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการรัฐสภา ออกหนังสือด่วนมาก   ที่ สผ 0014/ร 6 ถึง สส.และ สว. เรื่อง การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ระบุว่า  เนื่องด้วยประธานรัฐสภาได้มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวันอังคารที่ 22 ส.ค.2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. โดยมีเรื่องด่วนคือ 1.พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช…. (ยกเลิกมาตรา 272) ที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ กับคณะ เป็นผู้เสนอ

ขณะที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ส่งหนังสือแจ้งถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้เข้าร่วมประชุม  และผู้ประสานงานประจำกระทรวง เพื่อแจ้งเลื่อนการประชุม ครม.ครั้งถัดไป ในวันพุธที่ 23 ส.ค. เวลา 09.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล แบบครบองค์ประชุม หลังได้รับหนังสือแจ้งประชุมรัฐสภาจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

มีรายงานจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ว่า วันนี้ทีมเจรจาของพรรค พท. ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค, นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ได้เดินสายพูดคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ ที่แสดงตัวสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พท. เพื่อยืนยันเสียงสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย  ซึ่งทุกพรรคยืนยันสนับสนุน ทำให้ตอนนี้มีเสียงที่แน่นอนแล้ว 314 เสียง

พท.มั่นใจเสียงโหวตเกินครึ่ง

นอกจากนี้ยังได้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและขอเสียงสนับสนุนจาก สว. ซึ่งมีความคืบหน้าไปได้ด้วยดี ทำให้ทางพรรค พท.มั่นใจว่า วันที่ 22 ส.ค. จะมีเสียงเกินครึ่งของรัฐสภา โดยหลังจากนี้ เมื่อทุกอย่างชัดเจนแล้ว พรรค พท.จะเชิญตัวแทนทุกพรรคที่ร่วมสนับสนุนมาแถลงข่าวร่วมกับพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการก่อนโหวตเลือกนายกฯ วันที่ 22 ส.ค.

นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ในการประชุมรัฐสภาครั้งนี้ ประเมินว่าอาจมีผู้ติดใจ พรรค พท.จึงได้เตรียมกระบวนการชี้แจง แถลงข้อกล่าวหาต่างๆ และแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ที่จะเสนอชื่อให้โหวตเป็นนายกฯ ในรัฐสภาเท่าที่พอจะทำได้ภายนอก ก่อนถึงวันโหวตนายกฯ แต่หากในการประชุมรัฐสภามีการตั้งคำถามหรือซักถาม เป็นหน้าที่ของ สส.ของพรรคที่จะรับผิดชอบ

ถามว่า ประเด็นที่จะถูกอภิปรายกังวลหรือไม่ว่าจะไปไกลถึงเรื่องส่วนตัว นายสุทินกล่าวว่า อาจจะมีได้ แต่เชื่อว่าประธานในที่ประชุมคงวางกรอบไว้ หากเกินเลยไปจริงๆ จะให้ สส.ชี้แจงแทน ส่วนประเด็นเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนั้น ตนมองว่าที่ผ่านมาถูกคัดกรองในหลายระดับ ทั้งพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดังนั้นประเด็นคุณสมบัตินั้นไม่มีอะไรที่น่าติดใจ

นายสุทินกล่าวถึงการข้ามจับขั้วพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ว่า พท.ชี้แจงได้ เหตุที่ต้องไปรวมเพราะมีเหตุผลและมีคนที่เป็นต้นเหตุให้ไปรวม  ซึ่งเป็นประเด็นบีบบังคับให้เราต้องไปรวม เจตนารมณ์ของประชาชนต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้ แต่เมื่อขั้วเราบางพรรคเขาไม่ยอมรับ ทำให้เสียงไม่พอ ดังนั้น เพื่อให้การตั้งรัฐบาลได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชน จึงเป็นความจำเป็น

ถามว่า การจับมือกับ รทสช. สังคมทวงถามถึงการลาออกของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน และหัวหน้าพรรค พท. ที่เคยประกาศไว้ นายสุทินกล่าวว่า การพูดของ นพ.ชลน่านนั้นเป็นการแสดงจุดยืนจริง แต่เมื่อผลการเลือกตั้งผิดความคาดหมาย และเพื่อให้ตั้งรัฐบาลบนเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นไปได้ เป็นความจำเป็นต้องไปรวม ตนยืนยันเป็นความจำเป็นในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กล่าวถึงการเรียกร้องให้นายเศรษฐาเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ในสภาว่า เราก็อยากให้มา แต่ทราบว่านายเศรษฐาจะเปิดแถลงข่าวชัดเจนในวันที่ 21 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นคู่กรณีระหว่างบุคคลกับบุคคล ซึ่งพรรคการเมืองขอให้ชาติบ้านเมืองเดินต่อไปได้ เพราะข่าวสารบ้านเมืองที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับคุณสมบัตินายกฯ เพราะนายเศรษฐาและแคนดิเดตนายกฯ ทุกพรรคเป็นการเสนอต่อประชาชน มีการกลั่นกรองโต้เถียงตรวจสอบกันอย่างละเอียด ซึ่งข้อบังคับก็ไม่เปิดโอกาส ดังนั้นจะมาก็ได้หรือไม่มาก็ได้ ยกตัวอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็ไม่ได้มา

"ผมมั่นใจนายเศรษฐาจะผ่านโหวตนายกฯ คิดว่าวันที่ 22 ส.ค.นี้ จะมีข่าวดี ประเทศไทยจะมีนายกฯ แน่นอน เพราะมั่นใจในการหารือกับทุกภาคส่วน และสว.ก็ใช้ระยะเวลาในการไตร่ตรอง ซึ่งเชื่อมั่นในเกียรติของ สว." นายอดิศรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการให้สัมภาษณ์ นายอดิศรได้อ่านกลอนที่ตัวเองเขียนว่า “เตือนตนตลอดเวลา ที่ผ่านมาเห็นอย่างไร เจ็บเนื้อลึกในๆ และเจ็บใจไม่อยากทำ” และกล่าวต่อว่า โลกนี้ไม่มีใครได้อะไรทั้งหมด เพื่อให้ชาติบ้านเมืองเดินทางต่อไปได้ ตนคิดว่าน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งกลอนดังกล่าวข้างต้นตนเขียนให้ตัวเอง

 เมื่อถามว่า เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าถ้าพรรค พท.ไปร่วมกับพรรค รทสช.จะลาออกไปเป็นฝ่ายอิสระ นายอดิศรกล่าวว่า วันนี้ก็ถูกนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา จี้ถามในรายการ ตนก็มานั่งพิจารณาว่าสส.ตนก็ชอบมา 17 ปีแล้วกว่าจะได้มา ตนจะทำหน้าที่ สส.ตรงนี้ให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะไหน

 “กลอนดังกล่าวเขียนให้ตัวเอง ที่รู้สึกเจ็บใจที่พูดไปแบบนั้น เป็น สส.รอมาตั้ง 17 ปี และ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมก็ทำหน้าที่ได้ดี และจะเป็น สส.ต่อไป แต่ถ้าไปเป็น สส.ฝ่ายค้าน ไม่รู้ว่าเขาจะรับผมหรือเปล่า” นายอดิศรกล่าว

เศรษฐาวอนดูความตั้งใจ

ที่พรรค พท. นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมโหวตนายกฯวันที่ 22 ส.ค.นี้ว่า ปัจจุบันคณะเจรจาก็มีการเจรจากับหลายพรรคแล้ว มีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี มีพรรคการเมืองหลายพรรคตอบรับมาแล้วว่าจะโหวตให้ ซึ่งวันนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็โทร.มาบอก 71 เสียงจะยกมือโหวตให้ ตนก็ต้องขอขอบคุณ นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายพรรคที่แสดงเจตจำนงมาแล้ว หาก พท.เสนอชื่อตนในวันที่ 22 ส.ค.นี้

ตนก็มีความพร้อม

"ขอวิงวอนว่าเราก็ต้องการเสียงของ สว.ด้วย และคิดว่าการกระทำและการชี้แจงของผมเป็นที่ประจักษ์ว่ามีความตั้งใจจริง มีความปรารถนาดีกับประเทศชาติ หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจาก สว." นายเศรษฐากล่าว

ถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย นายเศรษฐากล่าวว่า พรรค พท.เรามีความพร้อม และมั่นใจในคณะเจรจาว่าจะตกลงได้กับพรรคร่วมที่จะมาเป็นรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรค พท. เพื่อพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ตนคิดว่าวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีนายกรัฐมนตรี รัฐบาลที่มาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน

จากนั้น นายเศรษฐาได้ตัดบทขอบคุณสื่อมวลชนและเดินออกจากวงสัมภาษณ์ไปขึ้นลิฟต์ทันที

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรค รทสช. กล่าวถึงการพร้อมโหวตแคนดิเดตนายกฯ พรรค พท. ทั้งนายเศรษฐา หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แล้วใช่หรือไม่ ว่าถ้าเราตัดสินใจร่วมรัฐบาลแล้ว ก็อยู่ที่สิทธิ์ของพรรคแกนนำในการที่จะเสนอนายกฯ พวกเราก็พร้อมที่จะดำเนินการตามมติของพรรค ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งในเรื่องคุณสมบัติของนายเศรษฐา ก็ต้องให้ความเป็นธรรม ซึ่งนายเศรษฐาก็ระบุว่าอธิบายได้ ดังนั้นทุกฝ่ายก็จะต้องฟัง

ถามถึงเรื่องโควตารัฐมนตรี นายธนกรกล่าวว่า พรรค รทสช.ไม่มีปัญหาอะไร ตนได้พูดคุยกับเลขาธิการพรรค ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่มีปัญหาอะไร ที่มีข่าวโควตา รมว. 3 เก้าอี้ รมช. 1 เก้าอี้นั้น เราไม่ได้มีเงื่อนไขตรงนั้น และพรรคได้มอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค เป็นคนไปเจรจา

"เท่าที่ฟัง ทุกอย่างไม่ได้มีปัญหาอะไร เราไม่ได้มีเงื่อนไขในเรื่องของกระทรวงต่างๆ ซึ่งพรรคยึดหลักสามารถทำงานให้กับประชาชนได้อย่างเต็มที่ พรรคก็ยินดี ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีควรที่จะพูดคุยกันให้จบก่อนที่จะมีการโหวตนายกฯ เพราะในหลักการของการเมืองเป็นแบบนี้ และการโหวตนายกฯ ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ จะต้องมีการพูดคุยประสานงานกันก่อน หากไม่มีการพูดคุยประสานงานกัน คิดว่าก็อาจจะไม่จบ แต่ในพรรค รทสช.จบแล้ว แต่พรรคอื่นไม่รู้ เพราะไม่ได้ไปก้าวล่วงเขา" นายธนกรกล่าว

ถามว่า การตั้งรัฐบาลสลายขั้วจะทำงานกันราบรื่นหรือไม่ นายธนกรกล่าวว่า คิดว่าวันหนึ่งก็ถึงเวลา ในการที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้สลายสีเสื้อและควรที่จะยึดประโยชน์ของประเทศด้วยความปรองดอง ซึ่งตนคิดว่ามันมีบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศมากกว่า ฉะนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ทุกพรรคจะต้องร่วมมือกันทำงาน

เช่นเดียวกับนายเอกนัฏ ก็ยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาต่อรองเรื่องโควตารัฐมนตรี เราต้องตัดสินใจบนพื้นฐานการเดินหน้าประเทศ ส่วนจำนวนคณิตศาสตร์คำนวณเก้าอี้ยังไม่ทราบชัดเจน แต่ที่สำคัญคณิตศาสตร์ในระบบรัฐสภาต้องมีเสียงสนับสนุนในสภาเกินครึ่ง เนื่องจากมีบทเฉพาะกาล คือการออกมาร่วมโหวตนายกฯ จะต้องผ่านมติด้วยคะแนน 375 เสียง ตอนนี้จะต้องช่วยกันให้ผ่าน

รทสช.-พปชร.ไม่ยึดติดโควตา

ส่วนนายสุพัฒนพงษ์​ พันธ์มีเชาว์ ​ รองนายกรัฐมนตรี​และ รมว.พลังงาน​ ในฐานะทีมเศรษฐกิจพรรค รทสช. กล่าวถึงการดีลตำแหน่ง รมว.พลังงานว่า​ ไม่ทราบ​ เป็นเรื่องของหัวหน้าพรรค

ถามว่า พรรค รทสช.ต้องการเก้าอี้ รมว.พลังงาน​ใช่หรือไม่​ นายสุพัฒนพงษ์ ย้ำคำเดิมว่า​ อันนั้นก็ไม่ทราบเหมือนกัน​ พร้อมปฏิเสธที่จะตอบว่าจำเป็นต้องนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีเดิมหรือไม่

ด้านพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรค พปชร. กล่าวถึงการร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรค พท.ว่า เราไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเราอยากให้การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด โดยในการประชุมวิปร่วม 3 ฝ่าย พรรค พท.บอกแล้วจะแถลงว่าเป็นใครบ้าง ตนคิดว่าไม่เกินก่อนวันโหวตนายกฯ แน่นอน

 "พท.ยืนยันชัดเจน เพราะทาง สว.ถามว่ายังไม่เห็นความชัดเจนว่าเป็นใครและยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะต้องใช้เวลาตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีความกังวลของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง เพราะฉะนั้นขอให้รอแต่จบก่อนที่จะมีการตั้งนายกฯ แน่นอน พรรค พท.บอกจะเคลียร์ทั้งหมด และนายสุทิน คลังแสง สส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรค พท. ก็พูดชัดเจน ผมเชื่อว่าถ้าไม่ทำก็จะทำให้ สว.ไม่สบายใจ" นายไผ่กล่าว

 ถามว่าจะจบอย่างไร เพราะมีกระแสข่าวว่าถ้านายเศรษฐาไม่ผ่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปชร. จะมาเป็นนายกฯ นายไผ่กล่าวว่า ใจเย็นๆ อย่าเปิดประเด็น ตนเชื่อว่า พล.อ.ประวิตรน่ารักกว่าที่คิด และ พล.อ.ประวิตรไม่ได้ตั้งข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อถามว่า การสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรค พท. พล.อ.ประวิตร เห็นด้วยใช่หรือไม่ นายไผ่กล่าวว่า ย้ำจุดยืนเดิม และไม่ขอเปิดประเด็นใหม่ เพราะการเปิดประเด็นใหม่ไม่ได้ตกที่พวกตน แต่จะตกไปที่คนอื่น ซึ่งเราไม่อยากให้ทำอย่างนั้น จึงไม่ขอเปิดประเด็น และตนเชื่อว่าอีกไม่กี่วันก็จะดีขึ้น

เมื่อถามว่า พรรค พปชร.เรียกสินสอดแพงใช่หรือไม่ นายไผ่กล่าวว่า ยังไม่ได้เรียก โดยไม่รู้ว่าจะแพงหรือไม่ ส่วนเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีก็ยังไม่ได้พูดคุยกัน และยังยืนยันว่ายังไม่มีการคุยเรื่องเก้าอี้ แต่เรื่องอย่างนี้คงใช้เวลาไม่นาน คงคุยกันได้ และคนที่จะคุยก็มีหลายคน คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงโควตารัฐมนตรีว่า พรรคยังไม่เคยคุยกันเลย ตนมองว่าเราผ่านการเลือกตั้งมาแล้วกว่า 3 เดือน ยังไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลเลย ทำให้เป็นสุญญากาศ ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจของบ้านเมืองมาก ความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ลดลง ดังนั้นในฐานะที่พรรคชาติพัฒนากล้าเป็นพรรคการเมืองหนึ่ง อะไรที่จะสามารถช่วยสนับสนุนในการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง หรือสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญของพรรคการเมือง

"เราไม่ได้มีข้อแม้ว่าจะต้องได้ตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ ตอนนี้มีหน้าที่เดียวคือทำอย่างไรจะทำให้เราได้มีนายกรัฐมนตรี มีรัฐบาล เข้ามาบริหารประเทศ พรรคชาติพัฒนากล้าก็จะสนับสนุนภารกิจนี้ให้สำเร็จ" นายสุวัจน์กล่าว

สำหรับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กล่าวถึงกรณีพรรค พท.ประกาศร่วมรัฐบาลกับพรรค รทสช.ว่า จุดยืนของพรรค ก.ก.ยังเหมือนเดิม คือไม่โหวตให้กับนายกฯ ในชื่อของนายเศรษฐาจากพรรคเพื่อไทย หรือใครก็ตามหากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

"เรายืนยันไปหลายครั้งว่าถ้ามีลุงไม่มีเรา มันก็จบ อย่างที่เราเคยได้หาเสียงเอาไว้กับประชาชน เป็นคำสัญญาที่ไม่สามารถลืมเลือนได้" นายรังสิมันต์กล่าว

ถามว่า ที่พรรค ก.ก.ประกาศไม่ร่วมรัฐบาลข้ามขั้ว จะถึงขั้นวอล์กเอาต์ในการโหวตนายกฯ หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ยังไม่มีการตัดสินใจในลักษณะนั้น เบื้องต้นคงทำหน้าที่ในกลไกปกติในวันที่ 22 ส.ค. แต่อย่างไรก็ตาม คงมีการพูดคุยกันในพรรคอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถามว่า ในการประชุมพรรคครั้งต่อไป จะมีการพูดคุยถึงตำแหน่งของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานสภาฯ หรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ยังไม่มีกำหนดวาระเรื่องดังกล่าวในการประชุมพรรค และตนไม่แน่ใจว่าเหตุใดถึงต้องคุยตำแหน่งรองประธานสภาฯ

ซักว่า มีการชั่งน้ำหนักตำแหน่งระหว่างผู้นำฝ่ายค้านและตำแหน่งรองประธานสภาฯ ที่ช่วยให้พรรค ก.ก.ทำงานได้อย่างสะดวกหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ถึงที่สุดต้องมีรัฐบาลก่อน และเรื่องดังกล่าวใช้เวลานิดเดียว ไม่ต้องใช้กระบวนการอะไรมาก ดังนั้นการตัดสินใจเวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่สุด

 "ผมเป็น สส.ที่สัมผัสกับประชาชน และพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเราได้รับความรู้สึกจากประชาชนว่าผิดหวังค่อนข้างเยอะ สุดท้ายประเทศของเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เราอยู่แบบเดิม เพิ่มเติมคือพรรคการเมืองที่น่าจะเป็นพันธมิตรกับเรา ยอมรับว่าไม่อยากเห็นภาพแบบนี้ แต่สุดท้ายต้องมูฟออน แล้วเดินต่อ  และทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ตรงไปตรงมาให้ได้” นายรังสิมันต์กล่าว

สว.ขู่อภิปรายเลือดท่วม

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวถึงกรณีพรรค พท.จับมือกับพรรค รทสช.ว่า ก็คงจะชัดเจนแล้วว่ามีทั้ง รทสช.และ พปชร. จึงคิดว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องงดออกเสียง ก็คงจะต้องเป็นไม่เห็นชอบ แต่ก็ต้องรอมติจากที่ประชุม สส. ในวันที่ 21 ก.ค.อีกครั้ง

"การจับมือพรรค 2 ลุงของพรรค พท.ก็พอคาดเดาได้เป็นระยะๆ เพราะสัญญาณก็เริ่มออกตั้งแต่พรรค พท. เชิญ 2 พรรคลุงไปหารือที่พรรค และมีการดื่มช็อกมินต์ร่วมกัน เราก็เริ่มเห็นว่าอาจจะมีการเข้าร่วมรัฐบาลกัน พอเดาทิศทางได้ แต่ก็รู้สึกผิดหวัง ไม่คิดว่าจะมาถึงวันนี้ เพราะเราคิดว่าถ้าเราจับมือกันแน่นก็ยังพอต่อสู้กับอำนาจนอกระบบได้" น.ส.ศิริกัญญากล่าว

ถามว่า สิ่งที่พรรค พท.ทำในตอนนี้จะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เราต้องเคารพการตัดสินใจของพรรค พท. การตัดสินใจอะไรไปต้องมีผลที่ตามมาแน่นอน เราได้พูดไปแล้วว่าการตัดสินใจครั้งนี้มีราคาที่ต้องจ่ายสูง การที่ไม่ฟังเสียงประชาชนและหันหลังให้กับคำสัญญาที่เคยให้ไว้ มันก็คงต้องมีอะไรตอบแทนที่มากไปกว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่อยู่เบื้องหลัง ทำให้จำเป็นที่จะต้องทำ ก็พยายามทำความเข้าใจ         

วันเดียวกัน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการโหวตนายกฯ ว่า สว.ขอเวลาในการอภิปราย 2 ชม. โดยจะอภิปรายเกี่ยวกับคุณสมบัติทั้งหมดของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ แต่วันนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นใคร ซึ่งในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้ซักถามกันว่าตกลงแล้วจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ โดยในที่ประชุมพรรค พท.ยืนยันเป็นนายเศรษฐา แต่จะมีการแถลงในวันที่ 21 ส.ค.อีกครั้งว่าเป็นใคร แต่ตนก็ได้ข่าวว่าชื่อคนเป็นนายกฯ จะเป็นชื่ออื่นไม่ใช่นายเศรษฐา ดังนั้นในวันที่ 21 ส.ค.พรรค พท.จะต้องทำให้เรียบร้อยว่าจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ กันแน่

 ถามว่า หลังจากที่ พท.แถลงวันที่ 21 ส.ค.แล้ว ในการโหวตเสียงของ สว.จะแตกหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า เสียงของ สว.มันแตกเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งก็แล้วแต่ความคิดของแต่ละคนอยู่แล้ว ส่วนการแสดงวิสัยทัศน์ของนายเศรษฐาที่จะแสดงต่อที่ประชุมนั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องดีถ้าเขาจะมา เพราะอาจจะมีคนถาม ทั้งนี้ ได้มีการสอบถามในที่ประชุมไปยังตัวแทนพรรค พท. ระบุว่านายเศรษฐาจะไม่มาแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุม

พอถามถึงพรรค รทสช.และ พปชร.ไปจับขั้วร่วมรัฐบาลด้วยจะส่งสัญญาณให้ สว.เลิกแตกแถวได้หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า ไม่เกี่ยว สว.มีอิสระในการโหวตอยู่แล้ว และต้องพิจารณาเหมือนกับตรวจสอบคุณสมบัติและพฤติกรรมทางจริยธรรมเหมือนเดิม

ส่วนนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. กล่าวว่า เสียง สว.ขณะนี้ยังไม่นิ่ง คาดว่าจะมีความชัดเจนในวันที่ 21 ส.ค.หรือเช้าวันที่ 22 ส.ค.ที่เป็นวันโหวตนายกฯ แต่ดูแนวโน้มแล้วการลงมติเลือกนายกฯวันที่ 22 ส.ค. ดุเดือดแน่นอน เพราะนอกจาก สว.ยังติดใจประเด็นคุณสมบัติความซื่อสัตย์สุจริตของนายเศรษฐาที่ถูกกล่าวหาเรื่องการเลี่ยงภาษีซื้อขายที่ดิน โดยนายเศรษฐาไม่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้ชัดเจนแล้ว ขณะนี้ประเด็นยังลามไปเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่พรรค พท.ยืนยันจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตั้งแต่การประชุม ครม.นัดแรก ดูแล้วเป็นการแก้เพื่อเอาใครกลับบ้านหรือไม่

 “ขอให้จับตาดูบรรยากาศการโหวตนายกฯ วันที่ 22 ส.ค. สว.จะอภิปรายเรื่องคุณสมบัตินายกฯ และการแก้รัฐธรรมนูญอย่างดุเดือด เลือดท่วมจอ มีการเตรียมทีมอภิปรายไว้แล้ว” สว.กิตติศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ดี​ นายยุทธพร อิสรชัย  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการโหวตนายกฯ ว่า โอกาสที่จะโหวตผ่านก็ยัง 50 ต่อ 50 และไม่มั่นใจว่าจะโหวตได้หรือไม่ เพราะว่าในวันนั้นอาจจะมีเกมการเมืองในสภาเกิดขึ้น โดยเฉพาะการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพูดถึง และการจะขอให้มีการทบทวนมติเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ก็มีความเป็นไปได้ และอาจเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ที่เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่การปิดประชุม

"สส.ที่จะมาสนับสนุนพรรค พท.ขณะนี้ก็น่าจะมีการโหวตให้กับแคนดิเดต พท.ครบทั้งหมด แต่จุดที่ต้องจับตาคือเสียงของ สว.จะมาสนับสนุนหรือไม่  เพราะมีเงื่อนไขหลายอย่างสำหรับพรรค พท. โดยเฉพาะถ้ามีการเสนอชื่อนายเศรษฐา ก็จะมีประเด็นที่นายชูวิทย์นำมาโจมตี" นายยุทธพรกล่าว

ที่บริษัท การบินไทยฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ปฏิเสธตอบคำถามเรื่องการเมือง โดยระบุว่า การเมืองไม่ต้องถาม อย่าถามเลย ไปไหนก็การเมืองๆ  มันทำให้สมองทำงานอื่นไม่ค่อยได้ เขาพูดกันไปกันมาก็ต้องปล่อยเขา กลไกมันมีอยู่แล้ว กฎหมายก็มีอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญว่าอย่างไรก็ตามนั้น ไปพูดอย่างอื่นไม่ได้อยู่แล้ว

"วันนี้อยากให้บ้านเมืองเดินหน้าไปให้ได้ และได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง และเป็นอย่างที่ทุกคนต้องการ ทำให้ประเทศชาติดีขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกคนต้องทำต่อกันหมด ทิ้งใครไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเรามองเป็นศัตรูกันไปตลอด มันก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง