ตอกฝาโลงปมชงชื่อซํ้า วันนอร์ให้แค่โรมพล่าม

“วันนอร์” ทุบโต๊ะใช้อำนาจประธาน ไม่ให้ “ก้าวไกล” แง้มฝาโลงเสนอปมโหวตชื่อนายกฯ ซ้ำ แต่ให้โอกาส สส.ใบพลูอภิปรายแทนในวันที่ 22 ส.ค. “โรม” รับสภาพเตรียมถกในที่ประชุม ได้แค่ไหนแค่นั้น

เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2566 นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมร่วมกับตัวแทนของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) และตัวแทนพรรคการเมือง ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ในการประชุมวันที่ 22 ส.ค. ว่ายืนยันเดินหน้าเสนอญัตติขอให้รัฐสภามีมติทบทวนการพิจารณามติเมื่อวันที่ 19 ก.ค. การเสนอชื่อบุคคลเดิมให้รัฐสภาเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่สามารถเสนอคนเดิมได้ เพื่อให้โอกาสรัฐสภาแก้ไขความผิดพลาด ส่วนทิศทางการโหวตนั้น คาดหวังว่าจะชนะ แต่หากมติออกมาแบบเดิม คงทำอะไรไม่ได้   และจะไม่เสนอญัตติทบทวนซ้ำอีกในสมัยประชุมเดียวกัน แต่อนาคตค่อยว่ากัน

 “เป็นเรื่องใหญ่ เพราะได้สร้างบรรทัดฐาน ไม่ใช่แค่ตำแหน่งนายกฯ เท่านั้น แต่ยังมีตำแหน่งอื่นๆ หากที่ผ่านมาต้องการเล่นงานพรรคก้าวไกล และไม่ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ ได้ทำสำเร็จแล้ว ทำไมต้องยืนยันสิ่งที่ทำลายหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด” นายรังสิมันต์ กล่าว

ต่อมานายวันมูหะมัดนอร์แถลงผลประชุมวิป 3 ฝ่าย ถึงญัตติของนายรังสิมันต์ที่ค้างนั้นว่า ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายเห็นว่าให้นายรังสิมันต์อภิปรายได้ในการประชุมวันที่ 22 ส.ค.นี้ แต่มีความเห็นว่า เมื่อมีการวินิจฉัยตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 151 ไม่สามารถนำมาทบทวนได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาว่าเมื่อรัฐสภามีมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วจะพิจารณาทบทวนได้ตลอดเวลา ซึ่งที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายได้ตกลงกันว่าเมื่อมีการเสนอเรื่องนี้เข้ามาให้ประธานแจ้งต่อที่ประชุมยืนยันอำนาจของประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 5 ประกอบข้อที่ 151 รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ว่าที่ประชุมรัฐสภาจะต้องทบทวนมติในวันที่ 19 ก.ค.

ต่อมานายรังสิมันต์แถลงเรื่องนี้ว่า มีการพูดคุยกัน นายวันมูหะมัดนอร์ซึ่งยืนยันว่าจะไม่ให้มีการลงมติในเรื่องของญัตติทบทวนมติที่เราเคยมี โดยให้เหตุผล 2 ข้อ ข้อแรกคือในเรื่องของคำว่าเด็ดขาด ซึ่งมันอยู่ในข้อ 151 ที่ประธานสภาฯ ตีความว่าพอเด็ดขาดแบบนี้ มันเห็นเป็นอื่นไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เราก็ได้ทักท้วงว่าเด็ดขาดที่ว่ามันไม่ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกแล้ว จะต้องเป็นอย่างนี้ต่อไปกัลปาวสาน ซึ่งไม่ใช่ สุดท้ายเป็นอำนาจของที่ประชุมที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงในเมื่อเราเป็นคนออกมติ เราก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเราพิจารณากันอย่างรอบคอบ ถ้าเราทำอะไรผิดพลาดไปแล้วบอกว่าห้ามเปลี่ยนแปลง คิดว่าสภาของเราอันตรายมาก เพราะว่าในการทำงานมันก็มีโอกาสที่จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น แต่เราก็มีอำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

 นายรังสิมันต์กล่าวว่า ข้อสอง มีความพยายามตีความ ซึ่งเข้าใจว่ามาจากทางฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา คือคิดไปไกลว่าการเสนอของเราแบบนี้จะนำไปสู่การเสนอนายพิธาว่าเรามีจุดประสงค์ลึกๆ เป็นแบบนั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องของหลักการล้วนๆ เป็นเรื่องที่เราต้องการให้สภามีอำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงความผิดพลาด

“เราก็อยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมายเหมือนกัน จริงๆ ถ้าเกิดว่ามันเห็นไม่ตรงกันมันก็ต้องลงมติ แต่ว่าประธานสภาฯ  ก็จะไม่เปิดโอกาสตรงนั้น อย่างไรก็ตามเดี๋ยวก็คงต้องพยายามพูดคุยกันในที่ประชุมต่อไป”

เมื่อถามย้ำว่า จะมีการแก้เกมอย่างไร นายรังสิมันต์กล่าวว่า ก็พยายามพูดคุยด้วยเหตุผล เราก็เตรียมผู้อภิปรายไว้ 2-3 คน ถ้าอธิบายด้วยเหตุผลไปแล้วยังมีกระบวนการในการใช้เสียงข้างมากของที่ประชุม ที่จะทำให้เราไม่สามารถที่จะพิจารณาเรื่องนี้ได้ เราก็คงต้องทำอย่างเต็มที่ แต่ถ้าได้แค่นั้น มันก็ต้องได้แค่นั้น

วันเดียวกัน ยังมีประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกัน แต่ยังไม่ตกผลึก มีบางประเด็นในรัฐธรรมนูญที่พรรค รทสช.คิดว่ายังไม่ควรแก้ เช่น หมวดเกี่ยวข้องกับสถาบัน เป็นต้น ดังนั้นจึงจะต้องมาพูดคุยกับพรรคเพื่อไทย (พท.) อีกครั้ง หากจะแก้ไขต้องมีหลักประกันว่าแก้แล้วจะดีขึ้น ไม่กลับมาสร้างปัญหา ซึ่งพรรค พท.ก็เข้าใจ

นายรังสิมันต์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่าเรามีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับใหม่ ซึ่งเป็นฉบับที่ออกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557  โดยในส่วนของ สส.เรามีเพียงพอที่จะเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ว่าการจะแก้ไขให้สำเร็จ ก็ต้องอาศัยเสียงของส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นฝั่งของรัฐบาลถ้าสูตรนี้สำเร็จไปจนถึง สว. ซึ่งก็ต้องเป็นพูดคุยกันและเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา

ถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าหากมีพรรค 2 ลุงร่วมกับพรรคเพื่อไทย จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นไปไม่ได้  นายรังสิมันต์กล่าวว่า ยอมรับว่าเป็นกังวล แต่ถึงที่สุดพรรค พท.ก็ต้องตอบคำถามว่าในเมื่อตัวเองก็มีนโยบายในเรื่องนี้ ต้องให้โอกาสเขาในการดำเนินการ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’

“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ