ศาลรธน.ตีตกชงพิธาซ้ำ

ศาล รธน.ตีตกคำร้องปมโหวตนายกฯ ซ้ำ ชี้ผู้ร้องเรียนไม่เสียหายโดยตรง  พร้อมขยายเวลา 30 วันให้ก้าวไกลชี้แจงนโยบายยกเลิก ม.112 ล้มล้างการปกครอง  ขณะที่ “พิธา” ปล่อยผ่านยันไม่ใช้สิทธิยื่นเรื่อง  ลั่นปัญหาต้องแก้ที่สภา ขณะที่ “กกต.” ก้นร้อน ร่อนแถลงปัดกลั่นแกล้งทางการเมืองหุ้นไอทีวี ด้าน “ศักดิ์สยาม” หายใจโล่งอีกยก คดีหุ้นบุรีเจริญยังไม่ชี้ขาด มั่นใจไม่กระทบโควตา รมต.

เมื่อวันพุธ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมในเวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้วินิจฉัยหรือไม่ หลังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง เป็นญัตติทั่วไป ห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีก ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  มาตรา 272 หรือไม่

โดยข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง และเอกสารประกอบ สรุปได้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากรองศาสตราจารย์พรชัย เทพปัญญา ผู้ร้องเรียนที่หนึ่ง และผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญส่ง ชเลธร ผู้ร้องเรียนที่สอง ซึ่งเป็นบุคคลผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล และนางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล และคณะ ซึ่งเป็นประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งและเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลจำนวน 17 คน (ผู้ร้องที่สาม) กับผู้ร้องเรียนเพิ่มเติมอีก 13 คน ซึ่งเป็นประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

ผู้ร้องเรียนทุกคนกล่าวอ้างว่าการที่รัฐสภามีมติดังกล่าวละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทุกคนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค สอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม และมาตรา 27 และขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีชั่วคราวก่อนวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้มีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ต่อมาเวลา 12.43 น. ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้ารัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2516 มาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจากการกระทำละเมิดโดยใช้อำนาจรัฐ แต่บุคคลที่จะมีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง สำหรับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีมาตรา 272 วรรคหนึ่งประกอบแล้ว ถ้ารัฐธรรมนูญ 159 วรรคหนึ่ง ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเฉพาะจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอและเป็นผู้ที่มีชื่อในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เท่านั้น

 ดังนั้น ผู้มีสิทธิ์ที่จะได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภา ต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลที่รัฐธรรมนูญ 2560 ก่อตั้งขึ้นเป็นหลักการใหม่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกเหนือจากสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในหมวดที่ 3 เมื่อผู้ร้องเรียนทุกคนไม่ใช่บุคคลที่พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อไว้ว่าจะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อต่อรัฐสภา ผู้ร้องเรียนทุกคนจึงไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 กรณีไม่ต้องอาศัยด้วยหลักเกณฑ์  วิธีและเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบมีช่องทางในการยื่นคำร้องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะแล้ว   ดังนั้นผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป

พิธายันไม่ยื่น รธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดี กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ..... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ลงวันที่ 15 ส.ค.66 ขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ข้อกล่าวหาครั้งที่สองออกไปอีก 30 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดขยายระยะเวลาครั้งแรกแล้วมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ

วันเดียวกัน นายพิธาระบุว่า คิดว่าเป็นปัญหาของสภา ดังนั้นก็ควรแก้กันอยู่ที่สภา   อย่างที่นายรังสิมันต์  โรม สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ได้ยื่นญัตติหารือต่อที่ประชุมไปแล้ว ซึ่งตนไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องอะไรกับการสิ้นสุดหรือการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ถ้าประธานสภาฯ บอกว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป ก็คงสามารถที่จะไปต่อได้ และคิดว่าปัญหาที่สภาก็ควรแก้ที่สภา

เมื่อถามว่า จะยื่นศาลเองหรือไม่ เพราะมติที่ตีตกเป็นเพราะผู้ที่มาร้องไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรง นายพิธาระบุว่า ไม่ได้ยื่น อย่างที่บอกว่าเป็นเรื่องของนิติบัญญัติ ก็อยู่ที่นิติบัญญัติ

ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ขยายเวลาการชี้แจงคำร้องเรื่องการหาเสียงแก้ไข ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ จะเป็นผลดีกับพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพิธาระบุว่า ไม่ได้เป็นการล้มล้างอย่างที่ถูกกล่าวหา

อย่างไรก็ตาม วันเดียวกันนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารข่าวเผยแพร่ผลการประชุมกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ ไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยาม ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ในกระบวนการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำร้องดังกล่าว สส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน  54 คน ได้ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

ที่รัฐสภา นายศักดิ์สยามระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าจะนำไปอภิปรายเพื่อที่จะมีการวินิจฉัย ซึ่งหลักฐานคงครบแล้ว ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เรียบร้อย

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะกระทบกับการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีหลังจากนี้หรือไม่ นายศักดิ์สยามกล่าวว่า “ไม่เกี่ยวกันหรอก เป็นคนละเรื่อง”  เมื่อถามกรณีกังวลว่าจะกระทบหากเข้ามาทำหน้าที่ในรัฐบาลใหม่ นายศักดิ์สยามกล่าวว่า  “น้อมรับคำวินิจฉัย ไม่กังวลเรื่องนี้”

ปัดกลั่นแกล้งหุ้นไอทีวี

ที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.)​ ออกเอกสาร​ชี้แจงกรณีที่นายพิธา ​ โพสต์ข้อความ ระบุใจความว่า คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. มีมติยกคำร้องในคดีอาญา มาตรา 151 เป็นที่น่าสงสัยว่าจงใจกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ โดย กกต.ชี้แจงว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเห็นว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าสมาชิกภาพความเป็น สส.ของนายพิธาอาจมีเหตุสิ้นสุดลง จึงเสนอความเห็นต่อ กกต.ให้มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้เป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 82 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต่อไป

กกต.ขอชี้แจงว่า คณะกรรมการฯ ตามที่ได้รับแต่งตั้งจาก กกต. จำนวน 2 คณะ เป็นผู้ที่มีหน้าที่และอำนาจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  โดยมีความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงภายใต้การบังคับบัญชาซึ่งกันและกัน ดังนั้น คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ จะมีความเห็นเป็นเช่นใด ถือได้ว่าเป็นดุลยพินิจอันเป็นความเห็นเบื้องต้น เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสืบสวนและไต่สวนเท่านั้น โดยจะมีกระบวนการและขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบสืบสวนไต่สวนอีกหลายขั้นตอน กระบวนการดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด หลังจากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายแล้ว จะนำเสนอความเห็นต่อ กกต.พิจารณาในลำดับสุดท้าย

การพิจารณาเสนอความเห็นว่า นายพิธากระทำความผิดตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ​สส.หรือไม่ กกต.จะต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ประกอบการตัดสินใจที่จะดำเนินคดีอาญากับนายพิธาหรือไม่ ประการใด อันเป็นหลักประกันว่าบุคคลจะได้รับโทษในทางอาญา เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถนำพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย มาต่อสู้และหักล้างข้อกล่าวหาได้ทุกประเด็น

ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่า นายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประการใด ย่อมส่งผลโดยตรงต่อสมาชิกภาพการเป็น สส.ของนายพิธา เฉพาะตน โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร

ดังนั้น กระบวนการในการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ต่อนายพิธา จึงยังไม่เสร็จสิ้นหรือมีผลเป็นที่สุดเด็ดขาด กกต.จึงไม่ได้กลั่นแกล้งหรือจงใจที่จะทำให้นายพิธาต้องได้รับโทษตามกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น การนำข้อมูลมาเสนอต่อสาธารณชนอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดว่ากระบวนการตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วย​การเลือกตั้ง สส. เป็นกระบวนการเดียวกันกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติตามมาตรา 82 ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง