"วันนอร์" นัด "สส.-สว." โหวตนายกฯ รอบสาม 22 ส.ค. ระบุไม่มีข้อบังคับแคนดิเดตนายกฯ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ "พท." ย้ำดัน "เศรษฐา" สุดตัว มั่นใจโหวตครั้งเดียวผ่าน ยันไม่มีแผนเสนอ "อุ๊งอิ๊ง" เป็นนายกฯ ก๊อกสอง "วรวัจน์" แย้มเคาะโควตา รมต.ก่อนโหวตนายกฯ 1 วัน "อนุทิน" บอกได้กระทรวงเดิมจะช่วยสานงานต่อ ลั่นรับไม่ได้หากขวางเพราะกลัวขยายอิทธิพล "เสี่ยนิด" ขยับแจงปมซื้อขายที่ดิน ยันบริหารแสนสิริยึดธรรมาภิบาล ส่งฝ่าย กม.รวบรวมข้อมูลสู้ตามกระบวนการยุติธรรม "ชูวิทย์" ยื่นศาลฟ้องคืน
ที่รัฐสภา วันที่ 16 ส.ค. มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจ ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีมติที่ประชุมรัฐสภาไม่ให้เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แถลงว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถือว่าสิ่งที่ทางรัฐสภาประชุมไปแล้วเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ถูกต้อง ไม่ขัดต่อสิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปให้พิจารณาว่าระหว่างข้อบังคับกับรัฐธรรมนูญ มีความขัดแย้งกันหรือไม่ อย่างไร ทำให้สิ่งที่สภาทำไปดำเนินการต่อไปได้
นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ในวันที่ 17 ส.ค. เวลา 14.00 น. จะให้ฝ่ายกฎหมายสภา และฝ่ายที่เกี่ยวกับประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้พิจารณารายละเอียด ระเบียบวาระที่ค้างอยู่ และกระบวนการเลือกนายกฯ จากนั้นตนจะนัดประชุมวิป 3 ฝ่าย คือ วุฒิสภา กับสภาทั้งสองฝ่ายเพื่อหาข้อสรุป
"ที่ผมกำหนดไว้แล้วน่าจะออกระเบียบวาระได้หลังฝ่ายกฎหมายให้ความเห็นเรียบร้อยแล้ว และจะเชิญสมาชิกรัฐสภา ประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ซึ่งผมได้หารือประธานวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
ถามถึงกรณีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอญัตติให้ทบทวนมติของที่ประชุมรัฐสภาที่ให้การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก.เป็นนายกฯ รอบสอง เป็นการเสนอญัตติซ้ำ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในวาระการประชุมอยู่แล้ว เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลก็ต้องหารือต่อไป โดยจะดำเนินการตามข้อบังคับ และจะทบทวนอย่างไรต้องอยู่ในกรอบคำวินิจฉัยศาล
ซักว่าการประชุมรัฐสภาวันที่ 22 ส.ค.นี้จะเรียบร้อยใช่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า จะดำเนินการให้เรียบร้อยมากที่สุด แต่จะจบวันที่ 22 ส.ค.นี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าในฐานะประธานรัฐสภาเห็นควรหรือไม่ว่าแคนดิเดตนายกฯ ต้องเข้ามาชี้แจงและแสดงวิสัยทัศน์ด้วย นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ตนไม่สามารถกำหนดได้ แต่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับไม่ได้กำหนดก็ขึ้นอยู่กับสภาว่าจะเห็นสมควรอย่างไร
"ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่ถูกเสนอชื่อด้วยว่าอยู่ที่ไหน หากอยู่ที่นี่และพร้อมแสดงวิสัยทัศน์ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่หากเขาไม่อยู่ที่นี่ก็คงไม่สะดวก เพราะในปี 62 เราก็ได้พิจารณาในข้อนี้ รวมถึงได้สอบถามฝ่ายกฎหมายว่า ตอนที่ร่างข้อบังคับในการเลือกนายกฯ ทำไมจึงไม่ได้กำหนดเหมือนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้รับการชี้แจงเบื้องต้นว่าเดิมได้มีการกำหนดว่าจะให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ แต่ภายหลังผู้ร่างข้อบังคับได้มีการตัดออกไป เพราะเห็นว่าอาจจะเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมของรัฐสภาที่ถูกเสนอชื่อเข้ามา ซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดว่าสามารถเสนอบุคคลภายนอกได้ และเราจะนำข้อกฎหมายนี้พูดคุยในการหารือวิป 3 ฝ่ายด้วย อยากให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ไม่อยากให้มีการกังขาหรือประเด็นอะไรต่างๆ ที่ยืดเยื้อกัน" ประธานรัฐสภาระบุ
ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค พท. ยังคงยืนยันในการโหวตนายกฯ ครั้งนี้มีความมั่นใจนายเศรษฐาจะได้รับความไว้วางใจจากเสียงในที่ประชุมรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง เพราะเราได้รวบเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งแล้วทั้งเสียงจาก สส.และสว. ซึ่งรอประธานรัฐสภาออกหนังสือนัดประชุมที่คาดว่าจะเป็นวันที่ 22 ส.ค.นี้
พท.ไม่มีก๊อก 2 ดัน 'อุ๊งอิ๊ง'
ถามว่า ถ้าหากครั้งนี้ชื่อนายเศรษฐาไม่ผ่านจะมีการเสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ต่อหรือหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า เอาไว้ค่อยคิดกัน แต่มั่นใจว่าครั้งเดียวผ่าน เพราะวันนี้เสียง สส.เกินกว่ากึ่งหนึ่งแล้ว และเสียงจาก สว.เท่าที่ประเมินก็เกินกึ่งหนึ่งแล้ว
"ท่าที สว.ก็ยินดีสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ พรรค พท. ด้วยเหตุผลว่า พรรค พท. สามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งแล้ว ซึ่งพรรค พท.ไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 ทำให้ตรงกับแนวคิด สว. จากเหตุผลทั้งหมดจึงไม่มีเงื่อนไขให้ สว.ไม่สบายใจ" เลขาธิการพรรค พท.กล่าว
ส่วนนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรค พท. กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า ขณะนี้การเจรจาพูดคุยเรื่องกระทรวงกับพรรคร่วมต่างๆ ยังไม่สะเด็ดน้ำ คาดว่าแกนนำของพรรคร่วมจะมีการพูดคุยหารือกันถึงเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ก่อนวันโหวตเลือกนายกฯ 1 วัน
ถามว่าจะต้องมีการเซ็นเอ็มโอยูระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายวรวัจน์กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเซ็น เหมือนการซื้อใจกันก่อนโหวตนายกฯ ส่วนการจัดสรรวางตัวบุคคลจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ นั้น ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการพูดคุยหารือข้อสรุปเรื่องนี้เลย แต่ยอมรับว่าพรรค พท. จำเป็นที่จะต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะดูแลรับผิดชอบ กระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง เป็นต้น
"ถ้าพรรค พท.ได้เป็นรัฐบาลไม่เหมือนเดิมแน่นอน ตอนนี้ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลขึ้นอยู่กับการวัดใจ เพราะการตั้งรัฐบาลครั้งนี้ หากพรรค พท. ตั้งไม่ได้พรรคอื่นก็ตั้งไม่ได้แน่นอน" นายวรวัจน์กล่าว
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงการโหวตนายกฯ รอบสามว่า เบื้องต้นประธานรัฐสภาได้หารือกับนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ระหว่างที่ไปร่วมการประชุมรัฐสภาอาเซียน ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้แจ้งว่าจะนัดประชุมรัฐสภา วันที่ 22 ส.ค. ทำให้นายศุภชัยในฐานะวิปวุฒิสภาได้แจ้งต่อที่ประชุมวิปวุฒิสภาผ่านระบบออนไลน์ เพื่อแจ้งให้สมาชิกรับทราบข้อหารือดังกล่าว
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงผลการประชุม กมธ. เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ในการพิจารณาคำร้องให้ตรวจสอบพฤติกรรมของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษีการซื้อขายที่ดินหรือไม่ว่า ที่ประชุมเห็นควรให้มีหนังสือขอข้อมูลดังกล่าวไปยังสำนักงานที่ดิน โดยขณะนี้ยังรอการส่งเอกสารกลับมา ซึ่งน่าจะส่งกลับมาทันวันโหวตนายกฯ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะโหวตวันไหน เพราะมีทั้งกระแสข่าวทั้งวันที่ 18 ส.ค.และ 22 ส.ค.
"ผมพูดมาเสมอว่าสุดท้ายแล้วการเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกฯ ในระหว่างที่ยังไม่ถึงวันโหวต อาจจะมีเหตุการณ์หรือเรื่องที่ทำให้ต้องพิจารณาตัดสินใจว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรค หรือพรรค พท.เองจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ ซึ่งยังไม่มีอะไรแน่นอน" นายเสรีกล่าว
ถามว่าพรรค ก.ก.แสดงจุดยืนจะไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพท. นายเสรีกล่าวว่า ยังไม่เชื่อ แม้ว่าจะบอกว่าเป็นข้อยุติหรือเป็นการตัดสินใจทางการเมืองแล้ว แต่เหตุการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา กระทั่งทำ MOU เซ็นไว้ก็เปลี่ยนได้ ไม่มีอะไรแน่นอน
เมื่อถามถึงมีการวิเคราะห์หากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มาสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรค พท. จะสามารถดึงเสียงของ สว.มาได้ นายเสรีกล่าวว่า ไม่แน่ เพราะถึงแม้ทั้ง 2 พรรคจะไปรวมกับพรรค พท.ได้ แต่ไม่เชื่อว่าจะมี สว.โหวตตาม เพราะ สว.ก็มีหลักในการพิจารณาผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นบุคคลที่ไม่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่แก้มาตรา 112 ไม่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
กระทรวงเดิมสานต่องาน
ในส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. กล่าวถึงความชัดเจนการแบ่งโควตากระทรวงว่า ขณะนี้รอการนัดพูดคุยกัน ไม่ต้องกังวลการพูดคุยจะไม่ลงตัว
ถามว่า จำเป็นต้องสานต่องานกระทรวงเดิมหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ถ้ามีความต่อเนื่องก็ดีเหมือนกัน แต่เวลาพูดคุยกันก็ไม่ควรตั้งข้อจำกัดอะไร ต้องว่ากันด้วยเหตุและผล คนรู้จักกันทั้งนั้น แต่ถ้าบอกเหตุผลว่าอยู่กระทรวงเดิมไม่ได้เพราะจะขยายอิทธิพล หรือจะทำให้ไม่โปร่งใส อย่างนี้ตนก็รับไม่ได้ แต่ถ้าคุยด้วยเหตุผลอื่น เช่น อยากจะใช้นโยบายของแต่ละพรรคมาทำบ้างก็ต้องมาคุยกัน
ซักว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าต้องโหวตนายกฯ ให้ก่อนถึงจะมีการตกลงเรื่องแบ่งกระทรวง นายอนุทินกล่าวว่า คงไม่ถึงขั้นนั้น เพราะต้องคุยกันก่อน ควรจะคุยให้จบก่อนการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งน่าจะมีการนัดพูดคุยกันอีกใน 2-3 วัน
เมื่อว่าประเมินการโหวตนายกฯ จะจบที่นายเศรษฐาหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ถ้าเราคุยกับพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและพรรคร่วมฯ ให้เรียบร้อย การนำเสนอแคนดิเดตนายกฯ ก็เป็นการเสนอของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ถ้าคุยกันเรียบร้อยทุกอย่าง แถลงข่าวร่วมกัน และเสนอชื่อต่อที่ประชุมสภาก็ต้องเป็นไปในรูปแบบนั้น ทุกคนก็ต้องทำตามข้อตกลงและกติกา ยิ่งมีเงื่อนไขมากก็ยิ่งใช้เวลา เราก็ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน ไม่มีใครกำหนดอะไรได้ฝ่ายเดียวหรอก
"ทุกคนต่างก็อยากได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่จะได้แค่ไหนก็ต้องคุยกัน การรักษาความสัมพันธ์ที่จะอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกัน เมื่อมาทำงานร่วมกันแล้วก็ถือว่าเป็นทีมเดียวกัน ก็ไม่ต้องไปแคร์มากว่าใครจะอยู่ตรงไหน" หัวหน้าพรรค ภท.กล่าว
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวการข้าร่วมรัฐบาลของพรรค รทสช.ว่า หัวหน้าพรรคเขามีหลักการของเขาอยู่แล้วไม่ใช่หรือ อย่าเอาผมไปเกี่ยวๆ กับพรรคไหนทั้งนั้น
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงการโหวตนายกฯ ว่า ที่ประชุม กก.บห.ยังจะไม่พูดคุยกัน ต้องดูความชัดเจนของพรรค พท.ในการเสนอชื่อนายกฯ จะเป็นผู้ใด จากนั้นพรรคจึงจะพิจารณาโดยเป็นเรื่องของส.ส.พรรค อย่างไรก็ตาม อำนาจคณะกก.บห.ชุดรักษาการ ยังมีอำนาจเต็มทุกอย่าง และทุกเรื่องตราบเท่าที่ยังไม่มีชุดใหม่
วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรค พท. ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ถึงกรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินแปลงสุขุมวิท 55 ที่ปัจจุบันคือโครงการคุณบายยู ตอนหนึ่งระบุว่า อดีตเคยบริหารแสนสิริมากว่า 30 ปี บริษัทผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง โดยที่ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งจนเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์แนวหน้าของประเทศ เติบโตมาจนมีทรัพย์สินรวมเกือบ 130,000 ล้านบาท และมีกำไรมากกว่า 4,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับ เชื่อถือ จากทั้งลูกค้า ผู้ถือหุ้น และสังคมทั่วไป น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ระดับหนึ่งว่าบริษัท แสนสิริฯ ได้ถูกบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล
นายเศรษฐาระบุว่า การตรวจสอบจากทุกฝ่ายนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และพร้อมให้ตรวจสอบ แต่การตรวจสอบจะต้องสร้างสรรค์ และทำด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ มีข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และไม่บิดเบือน หรือนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ ในขณะที่ตนเป็นผู้บริหารบริษัท ที่ดินแปลงสารสินซื้อมาตามราคาตลาดที่เหมาะสม ส่วนที่ดินแปลงทองหล่อซื้อมาในราคาตารางวาละ 1,100,000 บาท ซึ่งเป็นราคาตลาดตามปกติในขณะนั้น
"การกระทำใดๆ ที่บิดเบือน ไม่เป็นความจริง ฝ่ายกฎหมายจะรวบรวมข้อมูลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง และต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุดอย่างแน่นอน การที่ฝ่ายกฎหมายของบ้านเมืองเข้ามาตรวจสอบ เป็นเรื่องที่ถูกต้องและพึงกระทำ แต่การที่บุคคลหนึ่งปลุกปั่น ตั้งสมมติฐานขึ้นมาเอง โดยมีเป้าหมายบางประการเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง" นายเศรษฐาระบุ
ที่ศาลอาญา นายชูวิทย์ยื่นฟ้องนายเศรษฐาและนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ในความผิดฐานฟ้องเท็จ, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เรียกค่าเสียหาย จำนวน 9 หมื่นบาท กรณีเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
นายชูวิทย์กล่าวว่า จะไปยื่นร้องมารยาททนายความนายวิญญัติ และในวันที่ 17 ส.ค.จะไปยื่นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ ให้สอบสวนว่านายเศรษฐาทำธุรกรรมซื้อขายโอนจ่ายเช็คถูกต้องหรือไม่ ตนเองในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทแสนสิริในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 2 หมื่นหุ้น จึงถือเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายทุกประการ และจะเดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยื่นเรื่องทั้งหมดให้กับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เพื่อให้สอบสวนกรณีการตั้งนอมินีทำการซื้อขาย ซึ่งจะส่งผลไปถึงเรื่องการยึดทรัพย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีที่นายชูวิทย์ยื่นฟ้องวันนี้ ศาลรับไว้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 2400/2566 พร้อมนัดไต่ส่วนมูลฟ้อง วันที่ 30 ต.ค. เวลา 13.30 น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหนือ-อีสาน อุณหภูมิยังหนาวจัด กทม.16 องศา มีหมอกบาง
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและ
ขอแบ่งเค้ก‘กาสิโน’ แทบทุกหน่วยงานหนุน/รบ.ยกสิงคโปร์โมเดลทำรายได้พุ่ง
รัฐบาลอุ๊งอิ๊งทุบโต๊ะทำคลอด “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”
ห่วงศก.ครึ่งหลัง68แผ่ว แนะฟื้นความเชื่อมั่นจีน
หอการค้าไทยห่วง ศก.ครึ่งหลังปี 68 แผ่วหนัก จี้ฟื้นความเชื่อมั่นจีน
อิ๊งค์ปัดนิติกรรมอำพราง สวนเรืองไกรข่มขู่ให้จ่าย
"อิ๊งค์" ยันปมหนี้ 4 พันล้านของสามีคนใต้ ไม่มีนิติกรรมอำพราง
ปปช.ตั้งกุนซือไต่สวนชั้น14
กลุ่ม คปท.-กองทัพธรรมบุก ตร.จี้ “บิ๊กต่าย”เร่งรัดให้ รพ.ตำรวจส่งเวชระเบียนการรักษา "ทักษิณ" ให้แพทยสภา
‘จ่าเอ็ม’นอนคุก ล่าตัว‘มือชี้เป้า’ โยงคนจ้างวาน
ศาลอาญาอนุญาตฝากขัง "จ่าเอ็ม" เปิดพฤติการณ์ฆ่าโหด