โต้เบี้ยสูงอายุช่วยคนเดือดร้อน

ดรามา! เบี้ยผู้สูงอายุ ยกขบวนรุมถล่ม "รัฐบาลบิ๊กตู่" วางยาทิ้งทวน "อนุพงษ์" ควันออกหู กางหลักเกณฑ์ร่ายยาวโต้กลับทุกเม็ด ชี้ยังไม่มีข้อยุติต้องรอ คกก.ผู้สูงอายุแห่งชาติเคาะอีก แจงยิบ มท.ต้องกำหนดระเบียบให้สอดคล้อง สับ "วิโรจน์" ถามคนอย่างตนควรได้ไหม ด้านโฆษก รบ.สวนกลับ หวังใช้นโยบายการคลังพุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่มคนเดือดร้อน “เด็ก ปชป.” แทงสวนหวั่น "กผส.” ตีเช็คเปล่าในพื้นที่ ขณะที่พรรคการเมืองแห่โหนกันคึกคัก โหมขายนโยบายกันจ้าละหวั่น

เมื่อวันจันทร์ ภายหลังกรณีที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) ออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยกำหนดว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จนเกิดกระแสวิจารณ์อย่างต่อเนื่อง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความจำเป็นอะไรถึงต้องไปเพิ่มเงื่อนไขในคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าว เป็นการทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกปฏิบัติ เลือกให้เฉพาะคนจนหรือคนอนาถา พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้ารัฐบาลรักษาการ แต่ไม่รักษาอาการ เหมือนการวางยาทิ้งทวน ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ ผิดปกติวิสัยที่รัฐบาลรักษาการไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง รัฐบาลรักษาการควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการจะถูกต้องเหมาะสมกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปากประกาศวางมือ แต่ใจเหมือนคิดวางยาหรือไม่ อย่าผูกขาดทวงบุญคุณกับประชาชนว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้นที่จะดูแลผู้สูงอายุได้

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล​ (ก.ก.) ระบุว่า การปรับนโยบายเรื่องสวัสดิการที่เป็นเรื่องใหญ่กระทบกับคนจำนวนมาก ไม่ควรทำในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่เป็นอย่างยิ่ง ตนคิดว่าเมื่อรัฐบาลใหม่ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี คงจะต้องเร่งทบทวนเรื่องนี้ หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ มองว่าการให้สวัสดิการถ้วนหน้าโดยไม่แยกแยะว่าใครรวยหรือจน จะทำให้ใช้ภาษีของประชาชนโดยสิ้นเปลือง แต่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น ที่ผ่านมาการพิสูจน์ความจนนั้นมีปัญหาเยอะ เพราะมีคนตกหล่นจากการพิสูจน์ความจนอยู่ไม่น้อย

ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “เรื่องใหญ่ ลักไก่เปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากเดิมจ่ายแบบถ้วนหน้า ตั้งแต่ 12 สิงหา ต้องมาพิสูจน์ความจน” ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรงมาก เพราะรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลักไก่กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 เสียใหม่

 “แม้ว่าในบทเฉพาะกาล ข้อที่ 17 จะระบุว่า ผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนวันที่ 12 ส.ค. 66 ยังมีสิทธิ์รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป แต่หลักเกณฑ์นี้จะส่งผลกระทบกับสิทธิของประชาชนทุกคน ที่จะทยอยอายุครบ 60 ปีในอนาคต นอกจากนี้ประชาชนที่จะมีอายุครบ 70 ปี 80 ปี 90 ปี ที่ต้องได้รับการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ก็มีคำถามต่อว่าจะได้รับการปรับเพิ่มหรือไม่” นายวิโรจน์ระบุ

หวั่นโดนลอยแพระนาว

นายวิโรจน์ระบุว่า นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่แต่เดิมพอจะมีรายได้จุนเจือตนเองบ้าง ซึ่งตามหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ หากในเวลาต่อมารายได้ที่เคยดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ เกิดหดหายไป ผู้สูงอายุคนนั้นจะไปติดต่อขอรับเบี้ยยังชีพได้ที่ไหนอย่างไร ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (60+ ปี) อยู่ 11 ล้านคน ทราบข่าวมาว่าจะมีการใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจน ในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น โดยผู้สูงอายุอีก 6 ล้านคนจะถูกรัฐลอยแพ

 “นอกจากนี้ ในมาตรา 11 (11) ของ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ได้กำหนดเอาไว้ว่าการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุจะต้องจ่ายเป็นรายเดือน โดยต้องจ่ายให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งก็มีประเด็นว่า การบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจนนั้น อาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุก็เป็นได้ การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในครั้งนี้ ถือเป็นการลักไก่ของรัฐบาลรักษาการ ที่แย่มากๆ เป็นการวางยาทิ้งทวนที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งโดยปกติวิสัยของรัฐบาลรักษาการนั้นไม่ควรทำ ซึ่งประชาชนคงต้องจับตาดูต่อไป ว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ามารับไม้ต่อจะจัดการอย่างไร กับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับนี้” นายวิโรจน์ระบุ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย  กล่าวว่า การเพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าวนี้จะทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า แต่จะตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกให้เฉพาะคนจนหรือคนอนาถา ซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ถนัด นั่นคือการเลือกปฏิบัติ และสร้างบุญคุณในฐานะการช่วยเหลือ เช่น บัตรคนจน หรือเงินอุดหนุนบุตร  เป็นต้น ทั้งที่จริงมันคือสวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว

 “รัฐบาลต้องเลิกทำให้คนไทยกลายเป็นคนอนาถา หยุดรัฐสงเคราะห์ แต่ต้องเริ่มวางรากฐานรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นคน ด้วยการตระหนักถึงหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลพลเมืองอย่างทั่วถึงเสมอหน้า ไม่เอางบประมาณของรัฐมาสร้างบุญคุณหรือมาแบ่งคนจนคนรวย ทั้งนี้ พรรคไทยสร้างไทยพร้อมด้วยเครือข่ายบำนาญประชาชนกว่า 3.2 ล้านคน จะคัดค้านระเบียบกระทรวงนี้อย่างเต็มที่ และจะสนับสนุนให้เกิดบำนาญประชาชนที่มอบเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาทให้กับคนไทย ตามที่ได้หาเสียงเลือกตั้งไว้อย่างสุดความสามารถ” คุณหญิงสุดารัตน์ระบุ

โต้พุ่งเป้าช่วยคนเดือดร้อน

วันเดียวกัน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นร้อนนี้ว่า เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทยหรือไม่นั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม มุ่งแก้ปัญหาประชาชนอย่างมุ่งเป้า ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ วันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ห้าหมื่นล้านต่อปี เพิ่มเป็นแปดหมื่นล้าน และแตะเก้าหมื่นล้านแล้ว ในปีงบประมาณ 2567

 “ดังนั้นหากลดการจ่ายเบี้ยแก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูง หรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้งคือการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ขอฝ่ายการเมืองอย่ามองเป็นการลักไก่เลย” น.ส.รัชดาระบุ

 วันเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงถึงกรณีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ว่า เรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เป็นเจ้าของเรื่อง โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ตามหลักเกณฑ์ แต่งบประมาณส่วนนี้นำมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จ่าย จึงเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย เป็นที่มาว่าโดยกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายได้นั้น กระทรวงมหาดไทยจะต้องออกระเบียบเพื่อที่ให้เขาดำเนินการได้

 “แต่เคยมีปัญหาเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จ่ายเงินตามปกติให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ลงทะเบียนแล้ว แต่เกิดประเด็นว่ากรมบัญชีกลางท้วงคนที่มีรายได้ส่วนอื่นจากของรัฐจะรับอีกไม่ได้ ในช่วงนั้นก็มีการแก้ไขปัญหากัน สรุปว่าที่จ่ายไปแล้วก็ไม่เรียกคืน ที่เรียกคืนไปแล้วเราก็ไปจ่ายเงินคืนให้เหมือนเดิม มาถึงตอนนี้จะจ่ายอย่างไรนั้น จึงอยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนด หลังจากนั้นกระทรวงมหาดไทยก็จะไปออกให้สอดคล้องกับที่กำหนดมา ขณะนี้จะต้องบอกไป เพราะไม่ฉะนั้นเขาจะทำตัวไม่ถูก บอกว่าให้จ่ายแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องรอเกณฑ์ต่างๆ จากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ" พล.อนุพงษ์ระบุ 

มท.แจงต้องรอ กผส.เคาะ

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ส่วนที่บางคนไปเข้าใจผิดว่าตัดหรือไม่ตัดเบี้ยนั้นไม่ใช่ แต่เราบอกไปเพื่อที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จ่ายได้ ส่วนจะจ่ายได้อย่างไรนั้นต้องรอดูจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเงื่อนไขเวลา เกี่ยวกับที่ว่า กผส.จะกำหนดออกมาเมื่อไหร่อย่างไร 

เมื่อถามถึงกรณีโลกโซเชียลมีกระแสดรามาถึงการพิสูจน์ความจน พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า มันก็มีวิธีคิดได้หลายแบบ พร้อมกันนี้ พล.อ.อนุพงษ์ยังย้อนถามว่า “ถ้าคนอย่างผมได้ด้วยเนี่ย คุณว่ายุติธรรมหรือไม่ ผมเองก็เป็นข้าราชการเกษียณแล้ว มีบำนาญ คุณคิดว่าผมควรได้ไหม  ผมเองมีบำนาญ 60,000 กว่าบาท คุณคิดว่าผมควรได้ไหม นั่นแหละเป็นสิ่งที่เขาจะพิจารณาว่าคนแบบใดไม่ควรได้ คนแบบใดควรได้ จึงย้ำว่าเป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนดเรื่องนี้ กระทรวงมหาดไทยก็ออกระเบียบให้สอดคล้องกับเขาเท่านั้นเอง อย่ามองด้านเดียวว่าไปตัดสิทธิ์ สรุปแล้วจะตัดไม่ตัดอย่างไร อยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะกำหนดเกณฑ์มา แตผมคิดว่าต้องตัด คนอย่างผมไม่ควรจะได้" 

เมื่อถามถึงกรณีที่นายวิโรจน์ ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่าเป็นการลักไก่ทำช่วงรัฐบาลรักษาการ พล.อ.อนุพงษ์ ตอบว่า ตนเองก็บอกไปอยู่ว่า ตอนนี้ยังไม่มี ยังไม่มีการทำอะไรเลย จนกว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดมา เพราะฉะนั้น ที่พูดเนี่ยเข้าใจผิด ยังไม่มี ตอบได้หรือว่าจะให้หรือไม่ให้ ตนเองถามใหม่ว่า ถ้าให้เลย ตนเองได้ด้วยนะ อายุ 70 ปี ก็ได้ 700 ด้วย มันเหมาะสมไหม คนอย่างตนเองจะได้ เพราะฉะนั้นขอให้ดูผลของเขา ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ยุติ 

เมื่อถามว่า ระหว่างนี้ก่อนที่จะมีระเบียบจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ออกมา ท้องถิ่นจะทำอย่างไรนั้น พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ก็ต้องหารือไป ถ้าไปถึงวันนั้นแล้วยังไม่มีระเบียบออกมา ต้องหารือกันเพราะถ้าจ่ายไปแล้วไปเรียกคืนก็จะวุ่นอีก ถ้าบอกจ่ายหมด ตนได้ด้วยนะ ถึงวันนั้นคุณจะมาด่าอีกว่าคนอย่างตนไม่ควรจะได้

นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าวถือเป็นการสร้างความสับสนให้ประชาชนเป็นอย่างมาก แต่เมื่อมีการประกาศเกณฑ์ใหม่ กำหนดให้ กผส.เป็นผู้กำหนดนั้น ตนมองว่าอาจเป็นการตีเช็คเปล่าให้ กผส.กำหนดเกณฑ์ได้ตามใจชอบ โดยไม่ได้อ้างอิงกับความเป็นจริงของปัญหาในผู้สูงอายุแต่ละพื้นที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งการออกระเบียบดังกล่าว เป็นการออกประกาศแบบที่ประชาชนไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน เปรียบเสมือนเป็นการลักหลับ โดยมาเฉลยทีหลังว่า ต่อจากนี้ไปผู้สูงอายุที่ยากจนอาจจะไม่ได้เบี้ยยังชีพทุกคน

 “ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการปรับเปลี่ยนระเบียบ โดยกลับไปใช้เกณฑ์เดิมที่ประชาชนคุ้นเคยกันดี เกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการออกระเบียบใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบเป็นระยะๆ ไม่ใช่มาออกระเบียบแบบที่ไม่ให้ใครตั้งตัว จนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้” นายชัยชนะระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง