ปลุกปชช.ร่วมชำเรารธน. สว.แฉจ้องให้สส.ล้วงงบฯ

ยังไม่ทันได้เป็นรัฐบาล เพื่อไทยรีบปลุกประชาชนเตรียมตัว ร่วมกันชำเรารัฐธรรมนูญ 60 เชิญชวนทำประชามติ อ้างตั้ง ส.ส.ร.จัดทำ "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ปิดฉากเครื่องมือสืบทอดอำนาจ คสช. ขณะที่ "สว.สมชาย" แฉเหตุใดบางคนอยากแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 144 หวังให้ สส.ล้วงงบประมาณแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2566 นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่มีสิทธิเลือกตั้งเตรียมตัวไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อใช้แทนฉบับปัจจุบันที่ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งมั่นใจว่าเสียงส่วนใหญ่จะเห็นชอบ ทั้งนี้ พรรคเพื่่อไทยได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 2 และ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ครั้งแรก ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะมีมติ ครม.ให้ทำประชามติโดยกระบวนการจัดตั้ง ส.ส.ร. พรรคเพื่อไทยจะไม่บิดพลิ้วโอ้เอ้ประวิงเวลา เพราะตระหนักดีว่าคนไทยที่รักประชาธิปไตยกำลังรอคอยอยู่ 

เธอบอกว่า สภาสมัยที่ผ่านมา แม้พรรคเพื่อไทยและพรรคต่างๆ จะพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อปิดสวิตช์ สว.แต่ก็ไม่สำเร็จ พยายามจะให้มี ส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน เมื่อย้อนหลังกลับไปจะพบว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้เสนอญัตติให้ลงประชามติเพื่อนำไปสู่การมี ส.ส.ร.มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ แต่เมื่อไปถึงวุฒิสภา วุฒิสภาได้ตั้่งคณะกรรมาธิการไปศึกษาก่อน เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะเมื่อศึกษาเสร็จ วุฒิสภาได้ลงมติไม่เห็นชอบให้ทำประชามติ กระบวนการจึงถูกตัดตอนไปไม่ถึง ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำประชามติ อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยให้ออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง หากจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะจัดทำฉบับใหม่ คือครั้งแรกก่อนจะมี ส.ส.ร.มาจัดทำ กับเมื่อ ส.ส.ร.จัดทำเสร็จแล้วให้ลงประชามติอีกครั้ง หากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเห็นชอบถึงจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้

 รองโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ด่านสำคัญที่พรรคเพื่อไทยจะต้องฝ่าข้ามไปให้ได้ คือการประสานและร่วมมือกับทุกพรรคทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับวุฒิสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนููญ มาตรา 256 เพื่อให้กำเนิด ส.ส.ร. จะมีที่มาอย่างไร จะให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้่งหมดหรือไม่ องค์ประกอบ คุณสมบัติ จำนวน อำนาจหน้าที่ ระยะเวลาการจัดทำรัฐธรรมนูญ และเรื่องอื่นๆ อาจจะดูง่ายดาย แต่เอาเข้าจจริงอาจไม่ง่ายดังที่คิด เพราะการเมืองและอำนาจระยะเปลี่ยนผ่านกรณีการโหวตนายกฯ และการฟอร์มรัฐบาล ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีความยากลำบากอย่างยิ่ง อีกทั้่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เคยกำหนดไว้เป็นโนบายเร่งด่วนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่ผ่านไป 4 ปีก็ไม่ขับเคลื่อนให้เป็นจริง ทั้งๆ ที่มีการเคลื่อนไหวกดดันของหลายฝ่ายก็ไม่เป็นผล ดังนั้นการจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จ พรรคเพื่อไทยจะต้องพยายามเต็มที่ โดยจะส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อมิให้มีกลไกอำนาจใดมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง

นางสาวตรีชฎากล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ร่างโดย ส.ส.ร.เป็นแบบอย่างในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการร่างบทบัญญัติต่างๆ ก็เป็นที่ยอมรับ จัดเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง แต่ใช้ได้เพียง 8 ปี 11 เดือนก็ถูกฉีกโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ต่อมาประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 หลังจากใช้มาได้ 6 ปี 9 เดือน ก็ถูก คสช.ฉีกทิ้งในการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ประกาศใช้วันที่ 6 เมษายน 2560 ถึงวันนี้เป็นเวลา 6 ปี 5 เดือน นับว่านานพอสมควรแล้ว ดังนั้นจะต้องเร่งให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า 

 “พรรคเพื่อไทยจะไม่ทำให้ผิดหวัง ขอยืนยันเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ตามแถลงการณ์และการหาเสียง ซึ่งกำหนดเป็นนโยบายพรรคไว้ชัดเจน ที่ประกาศว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน การสืบทอดอำนาจจะต้องถูกปิดฉากลงเสียที ขอเชิญชวนทุกพรรคทุกฝ่ายมาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศร่วมกัน” รองโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวย้ำ

ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ "รัฐธรรมนูญปราบโกงที่ใครบางคนอยากล้มแล้วร่างใหม่?” ระบุว่า EP.1 มาตรา 144 พ.ร.บ.งบประมาณที่มีข้อจำกัดห้าม สส. สว. มีส่วนได้เสีย  มาตรา 144 ถือเป็นหนึ่งในมาตราหลักในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีหลายฝ่ายอาจอยากแก้ไขมานาน แต่ด้วยเกรงถูกกล่าวหาว่าเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ส่วนตน และถูกกล่าวหาดำเนินคดีได้ จึงเป็นอุปสรรคกับบางพวกบางฝ่ายจนถึงวันนี้ เพราะมีมาตราควบคุมงบประมาณแผ่นดินที่ทำให้ชัดเจนเข้มข้นและมีบทลงโทษที่รุนแรง สมดังฉายา "รัฐธรรมนูญปราบโกง” มีที่มาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เขียนปรับปรุงขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ปรากฏบันทึกไว้ในความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรัฐธรรมนูญ  

ขอสรุปว่าทำไมบางคนจึงอยากแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 144 เพื่อความเข้าใจง่ายๆ ดังนี้ 1.เพื่อห้ามไม่ให้ สส. สว. หรือ กมธ.แปรญัตติหรือมีส่วนในการใช้งบประมาณไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ป้องกันการก้าวก่ายหน้าที่ฝ่ายบริหาร ควบคุมการใช้จ่ายงบให้คุ้มค่า มีประสิทธิภาพและตรงตามความจำเป็นของประชาชน ป้องกันการแปรญัตติงบไปเพื่อหาเสียงหรืออาจเกิดทุจริตเหมือนในอดีต 2.กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยการกระทำดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน โดยให้ สส. สว. 1 ใน 10 ของแต่ละสภาตรวจสอบกันเอง ด้วยการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ 4.กำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจสอบสวนในทางลับ ปกปิดผู้แจ้งเบาะแส และหากมีมูลให้ ป.ป.ช.ยื่นร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ 5.กำหนดบทลงโทษ สส. สว.ที่กระทำผิดให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ และเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 6.กำหนดบทลงโทษคณะรัฐมนตรี ให้พ้นตำแหน่งทั้งคณะหรือบางส่วน ถ้าเป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการ หรือมิได้ห้ามการกระทำนั้น 7.เพิ่มบทคุ้มกันเจ้าหน้าที่รัฐผู้จัดทำโครงการที่สุจริตไม่ต้องรับผิด ถ้าได้แจ้งหนังสือต่อ ป.ป.ช.หรือบันทึกโต้แย้งไว้ 8.กำหนดอายุความ 20 ปีในการเรียกคืนเงินชดใช้ พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่จัดสรรงบประมาณนั้น

เหตุผลและข้อมูลประกอบนี้คงเพียงพอที่ประชาชนไทยจะได้ช่วยกันพิจารณาว่า “จะคงความในมาตรา 144 เพื่อป้องกันการรั่วไหล พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินนี้ไว้ หรือจะปล่อยให้เขาเร่งทำประชามติให้ ส.ส.ร.ไปร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่”

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ผมไม่สบายใจ ที่เห็นไอลอว์ และ NGO ซึ่งรับเงินต่างชาติ มาวุ่นวายกับการแก้รัฐธรรมนูญไทย แก้ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา ทั้งฉบับ”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’

“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ