โพลหนุนมาร์ครั้งหัวหน้าปชป.

นิด้าโพลชี้คนส่วนใหญ่เชียร์ "อภิสิทธิ์" รีเทิร์นนั่ง หน.ปชป. ค้านร่วมรัฐบาลเพื่อไทย "ราเมศ" ยันพรรคไม่ก้าวล่วงจัดตั้ง รบ. ลุยทำงานเชิงรุกในสภา ดันกฎหมายที่ค้างอยู่ 19 ฉบับ ไร้วี่แววนัดประชุม กก.บห. เคาะวันประชุมใหญ่เลือกหัวหน้าใหม่รอบ 3

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เรื่องวุ่นๆ ของพรรคประชาธิปัตย์” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-10 ส.ค.2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง โดยจากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่มีสิทธิ์เลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 58.63 ระบุว่า ไม่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมา ร้อยละ 31.91 ระบุว่า เคยเลือก แต่ไม่ได้เลือกในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.2566 ร้อยละ 9.31 ระบุว่า เคยเลือก รวมถึงในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.2566 และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ยังไม่เคยไปเลือกตั้งเลย  

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.48 ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันดับ 2 ร้อยละ 24.43 ระบุว่าเป็น นายชวน หลีกภัย อันดับ 3 ร้อยละ 9.85 ระบุว่าเป็น ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ดร.เอ้) อันดับ 4 ร้อยละ 4.27 ระบุว่าเป็น น.ส.วทันยา บุนนาค (มาดามเดียร์) อันดับ 5 ร้อยละ 3.05 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อันดับ 6 ร้อยละ 2.90 ระบุว่าเป็น คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อันดับ 7 ร้อยละ 2.67 ระบุว่าเป็น นายอลงกรณ์ พลบุตร อันดับ 8 ร้อยละ 1.76 ระบุว่าเป็น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อันดับ 9 ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็น นายนราพัฒน์ แก้วทอง ร้อยละ 1.46 ระบุอื่นๆ ได้แก่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน นายเดชอิศม์ ขาวทอง นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข และนายสาธิต ปิตุเตชะ และร้อยละ 10.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ    

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนหากพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พบว่า ร้อยละ 44.96 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 19.54 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 16.18 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.62 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

วันเดียวกัน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความเคลื่อนไหวในส่วนของพรรคว่า สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลเป็นภาระหน้าที่ของพรรคแกนนำ ไม่ไปก้าวล่วงว่าจะมีพรรคการเมืองใดเข้าร่วมหรือไม่ร่วม เพราะถือว่าเป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของแต่ละพรรคการเมืองย่อมมีเหตุและผลที่แตกต่างกัน และในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีการพูดคุยกันในเรื่องร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด

"ขณะนี้พรรคเน้นจุดเริ่มต้นการทำงานเชิงรุกในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด การนำปัญหาไปพูดเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนในสภาฯ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาคือหน้าที่หลักอันสำคัญ รวมไปถึงการนำเสนอร่างกฎหมายควบคู่ไปกับการผลักดันร่างกฎหมายที่พรรคได้ยื่นต่อสภาฯ ชุดที่ผ่านมา 19 ฉบับ ที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในสภาฯ ชุดนี้ ผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ เช่น ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ที่จะทำให้คดีทุจริตมีการลดโทษได้ยากขึ้น เป็นมาตรการที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นายราเมศระบุ

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ในส่วนของการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ยังไม่ได้มีการกำหนดนัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการเพื่อกำหนดวันประชุมใหญ่ แต่ขอย้ำว่าคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการยังคงทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด