ชาวบ้านเบรกEIAทีพีไอ ผวาโยงจะนะพันโจรใต้

ชาวบ้าน 3 ตำบลยื่นหนังสือถึง ศอ.บต. เบรก “ทีพีไอ” จัดอีไอเอในวันที่ 13 ธ.ค. พ่วงแก้ผังเมือง ชี้ต้องรอใบอนุญาตของกลุ่มชาวบ้านเรื่องโรงไฟฟ้าก่อน “บรรจง” เสนอ 7 ข้อผ่าทางตันวิกฤตจะนะ “อลงกรณ์” ผวาขาเสี้ยมปั่นผู้ชุมนุมอาจซ้ำรอย 6 ตุลา

เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ธ.ค. ยังคงมีความต่อเนื่องในโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา โดยกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ อ.จะนะ กว่า 20 คน ได้มายื่นหนังสือถึงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อขอให้ยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (อีไอเอ) ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1-4 ที่จะเริ่มในวันที่ 13 ธ.ค. และระงับการแก้ไขผังเมืองของ อ.จะนะ ออกไปก่อนจนกว่ากลุ่มชุมชนต้นแบบจะได้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ นายถาวร บุญศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กระทรวงพลังงาน (พน.) ซึ่งรับหนังสือดังกล่าวระบุว่า เป็นข้อเสนอของพี่น้องในพื้นที่ 3 ตำบลคือ ต.นาทับ, ตลิ่งชัน และสะกอม ซึ่ง ศอ.บต.จะรับไปดำเนินการต่อ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนในกิจการที่เป็นประโยชน์กับพื้นที่

ด้านนายอาทิตย์ หมัดสะอิ รองนายกเทศมนตรี ต.นาทับ กล่าวว่า ได้มายื่นหนังสือให้กับตัวแทน ศอ.บต. เพื่อขอให้ยุติการทำ EIA ไว้ก่อน เพราะข้อเสนอของเราก่อนหน้านี้เรื่องขอใบอนุญาตโรงไฟฟ้ายังไม่คืบหน้า ซึ่งชาวบ้านไม่ค่อยพอใจกับเรื่องนี้มากนัก จึงได้มายื่นหนังสือเพื่อให้ ศอ.บต.ไปพิจารณาต่ออีกครั้งหนึ่ง ในส่วนระยะเวลาก็อยากให้เร็วๆ ถ้าช้าไป EIA มันจะล้มทุกเวที มันก็ไปไม่ได้ทั้งสองฝ่าย คิดว่า ศอ.บต.ต้องเร่งดำเนินการแล้วเรื่องนี้ เพราะชาวบ้านเขาก็ไม่พอใจแล้ว

ส่วนนายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงข้อเสนอแก้ปัญหาการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ 7 ข้อ ว่า 1.นายกรัฐมนตรีควรแสดงความจริงใจด้วยการออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2.เมื่อนายกฯ บอกว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้สลายการชุมนุมในคืนวันที่ 6 ธ.ค. ก็ควรรีบตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง 3.ยุติการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข 4.รีบดำเนินการตามข้อเสนอของผู้ชุมนุมตามบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2563 ทันที 5.สั่งให้บริษัททีพีไอหยุดการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ทันที 6.นำเอาผลและข้อเสนอของกรรมาธิการรัฐสภา 3-4 คณะที่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ มีข้อเสนอให้นำไปปฏิบัติ รวมถึงข้อเสนอจากการยื่นญัตติทั้ง 5 ญัตติของรัฐสภามาออกมาตรการให้มีผลบังคับทันที และ 7.ถ้าคิดว่าปัญหานี้มันทำให้ปวดหัว สับสน ลืมหน้าลืมหลัง ก็ประกาศลาออกไปพักผ่อนเพื่อรักษาสุขภาพก่อนแย่ไปกว่านี้

“ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีทำใน 7 ข้อที่เสนอมา คิดว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และเป็นทางออกของปัญหานี้ แต่ถ้าไม่ดำเนินการใดๆ ก็ตัวใครตัวมันนะครับ”นายบรรจงระบุ

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ 6 ตุลา @จะนะ ระบุว่าเมื่อมีข่าวเขียนโยงกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น กับกลุ่มก่อการร้าย 3 จังหวัด ทำให้ไม่สบายใจอย่างยิ่ง และไม่เห็นด้วยกับการสร้างประเด็นใส่ร้ายแบบนี้ กรณีจะนะเป็นสิทธิของชาวบ้านที่จะคัดค้านหรือสนับสนุน แต่เราไม่ควรกระพือความขัดแย้งด้วยการโยงไปเกี่ยวกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน การใส่ร้ายป้ายสี และการปลุกระดมปลุกปั่นจะก่อให้เกิดความเกลียดชัง ตามมาด้วยความรุนแรงทั้งทางความคิดและการกระทำ จะเป็นวัฏจักรวนเวียนไม่รู้จบในบ้านเมืองของเรา

“ผมมีประสบการณ์ตรงกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ขณะนั้นเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ปี 2 นักศึกษาในธรรมศาสตร์ถูกล้อมฆ่าด้วยการป้ายสีว่าเป็นญวน เป็นคอมมิวนิสต์ จะล้มล้างชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ฯลฯ เช่นเดียวกับท่านชวน หลีกภัย รัฐมนตรีและ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็เผชิญกับการถูกใส่ร้ายป้ายสีเช่นเดียวกัน จนต้องหลบหนีความรุนแรงเพื่อเอาชีวิตรอด ทั้งที่รู้ว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ขออย่าให้ 6 ตุลาเกิดขึ้นอีกที่จะนะ หรือที่ใดๆ บนผืนแผ่นดินไทยของเราอีกเลย” นายอลงกรณ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง