10กย.เลือกตั้งซ่อมบี้‘นครชัย’ชดใช

ปธ.กกต.เผยไม่หนักใจปมศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งแจง 8  ประเด็นจัดการเลือกตั้ง ยันหลังปิดสมัคร สส.ไม่มีหน่วยงานไหนรายงานพบ "พิธา" ถือหุ้นไอทีวี ระบุ คกก.ไต่สวนฯ สรุปสำนวนส่ง สนง.แล้ว กำหนดวันเลือกตั้งซ่อม สส.ระยองเขต 3 วันที่ 10 ก.ย. พร้อมเรียกค่าชดใช้การเลือกตั้งจากอดีต สส.ก้าวไกล

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ที่โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ  ​สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) จัดโครงการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งให้เป็นมืออาชีพ กิจกรรมอบรมหลักสูตรการบริหารงานตำแหน่งอำนวยการระดับสูง  รุ่นที่ 1 

ทั้งนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง  ประธาน กกต. เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า ในวันที่ 11 ส.ค. จะเป็นวันครบรอบ 5 ปีของ กกต.ชุดปัจจุบัน 5 คนแรกที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ โดย กกต.มีวาระแค่ 7 ปี แต่สิ่งที่อยากเห็นคืออนาคตองค์กรพัฒนาแบบไม่หยุดยั้ง ผ่านคลื่นลูกใหม่ ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดความเข้มแข็งและมั่นคง ก้าวหน้ามากยิ่งกว่านี้

ประธาน กกต.กล่าวกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบสั่ง กกต.ชี้แจง 8 ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และกรณีมีมติว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งว่า เบื้องต้นได้ทราบข่าวว่าศาลให้ กกต.ชี้แจง 8 ประเด็น แต่ขณะนี้หนังสือยังมาไม่ถึง จึงยังอยู่ในระหว่างกระบวนการของสำนักงานว่า 8 ประเด็นนั้น กกต.จะตอบว่าอะไรบ้าง แต่ขอให้มั่นใจว่า กกต.จะตอบครบทั้ง 8 ประเด็น

ส่วนที่มีประเด็นคำถามว่า กกต.เคยได้รับทราบหรือมีการชี้แจงจากนายพิธาเรื่องการถือหุ้น บมจ.ไอทีวี เมื่อครั้งนายพิธาเป็น สส.ปี 62 หรือไม่นั้น กกต.ยังไม่ได้รับแจ้งอะไร จึงยังไม่สามารถตอบรายละเอียดได้ แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สส.กว่า 5,000 คน ด้วยกระบวนการเดียวกัน คือมีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านต่างๆ และถ้าได้รับผลมาแล้วพบว่ามีลักษณะต้องห้าม  ก็จะพิจารณาไม่ประกาศชื่อ แต่ถ้าไม่มีลักษณะต้องห้าม ก็จะประกาศชื่อ และก็มีกระบวนการที่ว่าเราประกาศชื่อไปแล้วพบว่ามีลักษณะต้องห้าม ก็จะมีการถอนชื่อได้ ซึ่งก็ดำเนินการเหมือนทุกครั้ง  ซึ่งกรณีการถือหุ้นของนายพิธา มีผู้มาร้องเรียนภายหลัง 3 ราย แต่ตอนที่ กกต.ตรวจคุณสมบัติไม่มีหน่วยงานไหนรายงานมาว่าพบนายพิธาถือหุ้น

นายอิทธิพรยังกล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนเอาผิดนายพิธา กรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังลงสมัคร ตามมาตรา 151 พระราช​บัญญัติ​ประกอบรัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.) ​ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ซึ่งทราบว่ามีการส่งเรื่องมาให้กับสำนักงาน ซึ่งเมื่องานของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนดำเนินการเสร็จแล้วก็จะส่งมายังส่วนกลางที่มีเลขาธิการ กกต. และก่อนได้มีการส่งเรื่องมาให้ กกต.พิจารณา ก็ต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการวินิจฉัยและคดี ซึ่งทราบว่าขณะนี้เรื่องเคลื่อนที่มาอยู่ที่สำนักงานแล้ว

นายอิทธิพรยังกล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมจัดการเลือกตั้งแทน สส.ระยอง เขต 3 แทนนายนครชัย ขุนณรงค์ สส.พรรคก้าวไกล ว่าตามกฎหมาย เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาแล้ว กกต.จะต้องประกาศวันเลือกตั้งและวันรับสมัครอย่างน้อยไม่เกิน 5 วัน ซึ่งในวันที่ 11  ส.ค.นี้ กกต.จะประชุมว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งและวันรับสมัครในวันที่เท่าไหร่ โดยทางสำนักงานจะเสนอให้ประกาศวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 10 ก.ย. 2566 และวันรับสมัครคือ 15-19 ส.ค. 2566 แต่ต้องยืนยันในการประชุมวันที่ 12 ส.ค.

เมื่อถามว่า มีการตั้งกรรมการเพื่อเอาผิดมาตรา 151 กับนายนครชัยหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยแล้ว โดยที่ประชุมขอให้สำนักงานไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ส่วนเรื่องค่าชดใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ก็อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาด้วย ซึ่งสามารถใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ว่าด้วยการละเมิด 

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการทุจริตเลือกตั้ง นายอิทธิพรกล่าวว่า นับจากวันที่ปิดรับคำร้องเรียน พบว่ามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 350 เรื่อง ถือว่าน้อยกว่าปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 592 เรื่อง ขณะนี้ได้พิจารณาไปแล้วกว่า 50% โดยในระเบียบการสืบสวนไต่สวนของ กกต. ได้มีการระบุระยะเวลาการพิจารณาคำร้องว่าต้องเสร็จสิ้นถึงขั้นทำคำวินิจฉัยภายใน 1 ปี และเร็วๆ นี้จะออกประกาศระยะเวลาการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้อง ซึ่งระบุไว้ชัดว่าต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ทั้งนี้ เรื่องร้องเรียนปี 2566 มีหลายประเด็น ส่วนใหญ่เป็นมาตรา 73 (1) ซึ่งเป็นเรื่องการซื้อเสียง ใส่ร้าย รวมถึงเรื่องหาเสียงหลอกลวง และเรื่องอื่นๆ เช่น ป้ายหาเสียง ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ต่างจากที่มีการร้องเรียนเมื่อปี 2562 

เมื่อถามถึงการร่วมรัฐบาลมีการออกมาระบุว่า นโยบายที่เคยหาเสียงไว้ไม่จำเป็นต้องทำตามก็ได้ กกต.มองเรื่องนี้อย่างไร นายอิทธิพรกล่าวว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ประการแรก คือต้องปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 57 ว่าพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายที่ต้องมีการใช้เงิน จะต้องทำอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม หากมีการจับมือตั้งรัฐบาลแล้ว ไม่ได้ทำตามที่หาเสียง ก็ต้องดูว่าถ้ามีคำร้องเข้ามาหรือไม่ ถ้ามี กกต.ก็มีหน้าที่พิจารณาว่า เป็นไปตามที่ร้องว่าเป็นการหลอกลวงหรือไม่ อย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง