‘ประชาธิปัตย์’เละ ส่อเค้าซ้ำรอยกลุ่ม10มกรา ประชุมพรรคเจอโรคเลื่อน

ปชป.ล่มซ้ำ! ชวดเลือกหัวหน้า-กก.บห.ชุดใหม่ "เฉลิมชัย" เดือด ยกพวก 21 สส.ประณามพฤติกรรมเลวทราม เจตนาทำองค์ประชุมไม่ครบ  โอดรอบหน้ากางเต็นท์ประชุม "จุรินทร์"   จ่อหารือเคาะวันประชุมใหญ่รอบ 3  "ชวน" ย้ำชุดรักษาการยังทำหน้าที่ได้เต็มร้อย มีอำนาจตัดสินใจร่วมรัฐบาลหรือไม่ กรีดอย่าปล่อยใครไปทำส่วนตัวเสียหายพรรค กลุ่มหนุน "มาร์ค" ขวางผสมพันธุ์เพื่อไทย ฉุดประชาธิปัตย์ตกต่ำ

ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์  คอนเวนชั่น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 เพื่อเลือกหัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หลังจากการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งแรก วันที่ 9 ก.ค.66 เกิดปัญหาจนทำให้องค์ประชุมล่ม

โดยมีการนัดหมายสมาชิกให้มาร่วมประชุมตั้งแต่เวลา 08.30 น. แต่ปรากฏว่าสมาชิกเดินทางมาร่วมประชุมอย่างบางตา และเริ่มคึกคักเมื่อใกล้เวลาเปิดประชุมเวลา 09.30 น. ซึ่งมีแกนนำพรรคเข้าร่วมประชุม อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค และอดีตหัวหน้าพรรคทั้ง 3 คน ทั้งนายชวน หลีกภัย, นายบัญญัติ  บรรทัดฐาน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  รวมทั้งแกนนำพรรค สส. อดีต สส. และสาขาพรรค ที่เป็นองค์ประชุม โดยแต่ละคนได้กล่าวทักทายและพูดคุยกันอย่างปกติ และยังเชื่อว่าการประชุมน่าจะดำเนินไปได้อย่างปกติ แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดเริ่มประชุม น.ต.สุธรรม ระหงษ์ ผู้อำนวยการพรรค ได้แจ้งว่าขณะนี้มีองค์ประชุม 210 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม เพราะตามข้อบังคับพรรคจะต้องมีองค์ประชุม 250 คนขึ้นไป ดังนั้นขอให้รอสมาชิกที่กำลังเดินทางมาร่วมประชุมก่อน

โดยนายเฉลิมชัยมีสีหน้าเคร่งเครียด และเดินเข้า-ออกห้องประชุมตลอดเวลา พร้อมกับแจ้งกับสื่อมวลชนว่าอย่าไปไหน เพราะจะมีแถลงข่าวใหญ่เร็วๆ นี้

ต่อมาเวลา 10.36 น. น.ต.สุธรรมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าเราได้รอสมาชิกมาเป็นเวลา 1 ชั่วโมงแล้ว แต่มีสมาชิกมาร่วมประชุม 223 คน จึงถือว่าไม่ครบองค์ประชุม จึงไม่สามารถครบองค์ประชุมได้ จึงขออนุญาตนำเรื่องนี้ไปหารือกับรักษาการกรรมการบริหารพรรคเพื่อพิจารณาวันเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่อีกครั้งหนึ่ง ต้องขออภัยสมาชิกทุกท่านด้วย

จากนั้นสมาชิกส่วนหนึ่งได้แยกย้ายเดินทางกลับ ขณะที่บางส่วนยังคงจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงการประชุมล่มกันอย่างเคร่งเครียด

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างรอองค์ประชุม นายเฉลิมชัยได้เดินเข้าไปหานายอภิสิทธิ์ที่นั่งอยู่อีกจุดหนึ่ง โดยนัดดื่มไวน์เพื่อเคลียร์ใจกัน

ขวางผสมพันธุ์เพื่อไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมใหญ่วิสามัญฯ ได้มีความเคลื่อนไหวของสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย โดยช่วงกลางดึกของวันที่ 5 ส.ค. กลุ่มตัวแทนสาขาและเขตเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์อีสาน ออกแถลงการณ์ถึงนายจุรินทร์ โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ขณะนี้มีสองชุดความคิดที่มีความเห็นแตกต่างกัน คือชุดความคิดของอดีตเลขาธิการพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่ได้ประกาศเลิกเล่นการเมืองไปแล้ว เป็นผู้นำทีม สส. เพื่อผลักดันบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค เพื่อเข้าร่วมรัฐบาล กับชุดความคิดของอดีตสี่หัวหน้าพรรค และแกนนำสำคัญของพรรค เช่น นายสาธิต ปิตุเตชะ, นายนิพนธ์ บุญญามณี และผู้อาวุโสอีกหลายคนมีความคิดตรงกันว่า ด้วยจำนวน สส.ที่พรรคมีอยู่จำนวน 25 คน จะไม่สามารถสร้างผลงานและบทบาทให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นได้ ดังนั้น การเข้าร่วมรัฐบาลจึงรังแต่จะทำให้เกียรติภูมิของพรรคตกต่ำลงไป ในทางกลับกัน หากมาทำหน้าที่ในฝ่ายตรวจสอบ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปพรรค จะสามารถสร้างเกียรติภูมิของพรรคให้กลับมาเป็นที่ยอมรับของประชาชนได้ ดังนั้นพวกเราจึงขอสนับสนุนอุดมการณ์และจุดยืนของอดีตหัวหน้าพรรคทั้งสี่และผู้อาวุโสของพรรค  ในการนำพาพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเป็นสถาบันหลักของประเทศต่อไป

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมใหญ่ฯ ถึงการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ว่า เป็นหน้าที่ของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และที่ประชุมร่วม สส.พรรค แต่หากยังไม่มีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่  กรรมการบริหารชุดรักษาการและ สส. จะทำหน้าที่ไปพลางก่อน คิดว่าสถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง และยังไม่มีอะไรชัดเจน ดังนั้นประชาธิปัตย์ก็ต้องนิ่งเป็นเหมือนกัน และต้องไม่ผลีผลามในการที่จะพิจารณาตัดสินใจอะไร ทั้งหมดต้องยึดอุดมการณ์ของพรรคและประโยชน์สูงสุดของบ้านเมืองเป็นหลัก นี่คือสิ่งที่ควรจะเป็น

เมื่อถามว่า เกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า เมื่อถึงเวลามติพรรคก็จะเป็นที่ยุติ แต่การบริหารงานในพรรคประชาธิปัตย์เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย เพราะไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครมาสั่งได้ ไม่ง่ายเหมือนบางพรรคที่ใครคนใดคนหนึ่งคนเดียวสั่งได้แล้วจบ ฉะนั้นต้องอาศัยมติพรรคหรือข้อยุติในที่ประชุม อันนี้อย่ามองว่าเป็นข้อด้อย เพราะเป็นจุดแข็งของพรรค ไม่เช่นนั้นเราอยู่ไม่ได้มาถึงทุกวันนี้

นายบัญญัติกล่าวว่า พรรคได้รับการเลือกตั้งมาน้อยเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน ซึ่งไม่มีเฉพาะภาคอีสานเท่านั้น ซึ่งมีหลายภาคที่พูดว่าเราไม่น่าจะไปร่วมรัฐบาลกับเขาแล้ว แต่ควรใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการฟื้นฟูและกอบกู้พรรคอย่างจริงจัง ดังนั้นคิดว่าเมื่อได้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ คงจะนำความคิดนี้ไปเสนอให้พิจารณา และในอดีตที่ผ่านมากรรมการบริหารพรรครับฟังเสียงจากสมาชิกเป็นสำคัญ

ส่วนที่มีคนถามเรื่องอุดมการณ์พรรค หากไปร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไร นายบัญญัติกล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญ หากมีการพูดถึง เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ต่อต้านระบอบทักษิณ ก็มีการพูดคุยกันว่าแนวคิดนี้ยังคงมีอยู่ในตอนนี้หรือไม่

หนุนมาร์คกอบกู้ ปชป.

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคภาคกลาง พรรคประชาธิปัตย์  กล่าวก่อนการประชุมใหญ่วิสามัญฯ ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค มีความเหมาะสมในสถานการณ์นี้ และตนจะเป็นผู้เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ขึ้นมาอีกครั้ง ส่วนเรื่ององค์ประชุมนั้น ยังมีปัญหา เพราะเกิดข้อถกเถียงเรื่องสัดส่วนเสียงโหวต 70 ต่อ 30 ที่ยังมีปัญหาอยู่ ที่ให้น้ำหนักการโหวตของ สส. ร้อยละ 70 และสมาชิกพรรค ร้อยละ 30 กรณีที่ยังไม่มีการแก้ไขข้อบังคับพรรค เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มี สส. 50 ถึง 100 ที่นั่งขึ้นไป แต่ครั้งนี้พรรคได้ สส.มาเพียง 25 ที่นั่ง จึงต้องมาหารือกันในชั้นต่อไป ดังนั้นหากมีโอกาสจะเสนอญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง ให้ สส.และสมาชิกพรรคมีน้ำหนักในการโหวตเท่ากันคือ 1 ต่อ 1

"แม้ท่านอภิสิทธิ์จะได้รับการโหวตเป็นหัวหน้าพรรคในวันเดียวกันนี้หรือไม่ กลุ่มของผมก็มีจุดยืนว่าจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ขอทำพื้นที่ตัวเองให้ดี และเสนอตัวใหม่อีกครั้งในโอกาสถัดไป ทั้งนี้ เชื่อว่าท่านอภิสิทธิ์เหมาะสมเป็นหัวหน้าพรรคในสถานการณ์นี้ และเชื่อว่าจะนำพาพรรคกลับไปสู่ที่เดิมได้ ส่วนจะเป็นสถานการณ์ไหน ทั้งผมและท่านอภิสิทธิ์ ก็ขอยืนยันจุดเดิมว่าจะไม่ร่วมกับรัฐบาลที่ยุ่งเหยิง" นายสาธิตระบุ

ส่วนนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิเสธว่า ไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะไปร่วมรัฐบาล  แต่การจะไปร่วมรัฐบาลกับใครต้องเป็นไปตามข้อบังคับพรรค ที่เกิดจากสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรคประชุมร่วมกัน แล้วมีมติออกมาว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นที่เป็นข่าวออกมาก็เป็นเพียงข่าว เรื่องการร่วมรัฐบาลยังไม่ไปถึงขั้นตอนนั้น

เมื่อถามว่า หัวหน้าพรรคคนใหม่ที่จะได้ในวันนี้ จะเป็นตัวชี้ทิศทางในการร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง พรรคมีขั้นตอนกระบวนการอยู่แล้ว ที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์จะตัดสินใจเรื่องใดเป็นมติพรรค ไม่มีใครตัดสินใจคนเดียว

เมื่อถามย้ำว่า อุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมกับพรรคเพื่อไทยได้จริงหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า “ก็ต้องไปดูว่าสิ่งที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอ ตรงกับอุดมการณ์ของเราหรือไม่ ถ้าไม่ขัดจุดยืนพรรค ที่บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่คนละขั้วกับพรรคเพื่อไทย เรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้นว่าจะร่วมหรือไม่ร่วม ยังไม่สามารถตอบได้ แต่อุดมการณ์พรรค 10 ข้อ ต้องดูว่าพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนำเสนอมา ขัดต่อหลักการเราหรือไม่

ต่อมาภายหลังองค์ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ล่มครั้งที่ 2 นายจุรินทร์กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปต้องมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และหารือกับเลขาธิการพรรค เพื่อกำหนดวันประชุมใหม่ ทั้งนี้ ข้อบังคับและกฎหมายกำหนดให้องค์ประชุมต้องมี 250 คน ส่วนต้องหารือนอกรอบเพื่อให้ครบองค์ประชุมหรือไม่ ย้ำทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของพรรค

นายจุรินทร์ยืนยันว่า แม้จะอยู่ในช่วงรักษาการ แต่กรรมการบริหารพรรคยังมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ การโหวตมติต่างๆ ในสภา ยังเชื่อว่าการประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อบังคับของพรรค และเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามนี้ จะกลายเป็นว่าการประชุมจะเป็นไปโดยไม่ชอบ และการประชุมครั้งนี้จำเป็นต้องล่มไปก็ต้องนัดประชุมใหม่

เมื่อถามว่า จะส่งผลต่อการร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่มีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการต้องทำหน้าที่ไปก่อนร่วมกับที่ประชุม สส. ย้ำว่าทุกอย่างเดินหน้าไปได้ ไม่ใช่เดินหน้าไปไม่ได้

นายชวนกล่าวว่า แม้จะยังไม่มีการเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ แต่กรรมการบริหารพรรคชุดเดิมยังรักษาการอยู่ ยังทำหน้าที่ร้อยทั้งร้อยอยู่ ยังสามารถตัดสินใจอะไรได้อยู่ทุกอย่าง เช่น ตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพราะหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรคก็ยังอยู่ เพียงแต่เขาต้องหารือกัน ถ้าต่างคนต่างอยู่ไม่หารือกันก็เลื่อนลอย อย่าไปปล่อยให้คนใดคนหนึ่งไปทำอะไรด้วยตัวเอง มันเสียหายต่อภาพพจน์พรรค ที่พรรคเป็นสถาบันมาได้ ไม่ใช่เพราะอยู่นานอย่างเดียว เพราะนอกจากอยู่นานแล้วต้องรักษาหลักการด้วย

เมื่อถามว่า ถ้าจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งในเรื่องการร่วมรัฐบาล กก.บห.พรรคชุดปัจจุบันสามารถตัดสินใจได้เลยใช่หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า สามารถพิจารณาได้เลย ต้องหารือกันแล้วลงมติ ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ และต้องเตือนว่าอะไรที่สมาชิกไปทำส่วนตัวต้องไม่กระทบต่อพรรค อะไรที่เป็นนโยบายที่ต้องทำเพื่อมติพรรคต้องให้พรรคให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่ไปหาส่วนตัว อย่างนี้ไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรกับการที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาล นายชวนกล่าวว่า เรื่องนี้ยังมาไม่ถึง เพราะยังไม่มีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี   แต่ที่พูดกันไปเพราะมีข่าวว่ามีคนไปพบคนนั้นคนนี้ มีการแบ่งเอากระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ตนถามในที่ประชุม สส. สัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจริงหรือไม่ และมีหรือไม่ที่แบ่งกระทรวงกันแล้ว เขาก็ปฏิเสธกัน สิ่งที่หัวหน้าพรรคและโฆษกพรรคได้ชี้แจงคือหลักจริงๆ และคนใดคนหนึ่งที่ไปทำด้วยตัวเอง ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของคนนั้น แต่อะไรที่จะผูกพันพรรคต้องเป็นมติพรรค และคนใดคนหนึ่งก็ไม่ควรจะไปทำอะไรนอกเหนือจากมติพรรค

เฉลิมชัย-21 สส.ฉะเดือด

ขณะที่นายเฉลิมชัยแถลงภายหลังการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคล่มว่า  เป็นพฤติกรรมเลวร้ายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำประกาศอุดมการณ์ของพรรค ข้อที่ 1 พรรคจะดำเนินการโดยวิถีทางอันบริสุทธิ์ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายให้กับพรรคอย่างมาก การที่องค์ประชุมไม่ครบทั้ง 2 ครั้งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากพฤติกรรมของกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งขอโทษสมาชิกพรรคด้วย มีการให้องค์ประชุมออกจากห้องประชุม ไม่ให้ลงชื่อเป็นองค์ประชุม มีการให้องค์ประชุมไปเที่ยวประเทศลาวเพื่อไม่ให้มาประชุม ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เลวทราม ไม่น่าเกิดขึ้นในพรรคที่เป็นสถาบันทางการเมือง

 “เชื่อว่ากลุ่มคนดังกล่าวรู้ว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ แต่ขอให้มีจิตสำนึก เชื่อว่าถ้าจิตสำนึกกลับคืนมาพรรคจะเดินหน้าได้ พรรคมีระเบียบ มีข้อบังคับ ไม่สามารถทำอะไรโดยลำพัง ทำอะไรโดยมีความคิดส่วนตัวได้ ประชาธิปัตย์มีกฎข้อบังคับ แต่ทุกวันนี้หลายคนฉีกกฎข้อบังคับเอง ซึ่งจะทำให้ประชาธิปัตย์เสื่อมถอย สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมส่วนนี้ วันนี้ผมขอประณาม  ถ้ามีจิตสำนึกที่เพียงพอ ขอให้กลับมาช่วยทำให้พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่เล่นเกมการเมืองเพื่อหวังตอบสนองความต้องการของใครบางคน” นายเฉลิมชัยระบุ

นายเฉลิมชัยย้ำว่า พร้อมจะวางมือทางการเมือง และเคยยื่นข้อเสนอไปว่าถ้าตนเป็นอุปสรรคต่อพรรค ขอให้ที่ประชุมดำเนินการตามข้อบังคับพรรค ทั้งนี้ ใครที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรค ขอความกรุณาไม่ต้องแสดงความคิดเห็น  และทราบหรือไม่ว่าการประชุมใหญ่พรรคในแต่ละครั้งใช้งบประมาณ 3-4 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ประชาชนตั้งใจให้พรรคมาทำกิจกรรมทางการเมือง ไม่ใช่นำเงินมาผลาญเล่นกันเช่นนี้ วันนี้ขอเป็นครั้งสุดท้าย และให้ทุกคนตรึกตรองดูว่าพฤติกรรมที่ผ่านมาถูกต้องหรือไม่

เมื่อถามว่า จะนัดประชุมใหม่อีกครั้งเมื่อใด นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ต้องนัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อนัดประชุมอีกครั้ง ทั้งนี้ การประชุมล่มในแต่ละครั้ง ตนทราบก่อนล่วงหน้า 1 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า สิ้นเดือน ส.ค.นี้ จะได้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่หรือไม่ นายเฉลิมชัยกล่าวว่า พูดอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีจิตสำนึกก็จะได้ ส่วนการประชุมครั้งหน้าต้องเปลี่ยนสถานที่หรือไม่นั้น นายเฉลิมชัยกล่าวว่า น่าจะต้องกางเต็นท์ เพราะพรรคจะไม่มีเงินแล้ว

เมื่อถามว่า ขณะที่แถลงข่าวอยู่นี้มี  สส.มาร่วมแถลงด้วยกี่คน นายเฉลิมชัย กล่าวว่า “ต่ำๆ มี  21 คน ฝากบอกกับสื่อด้วยว่าคนที่คิดว่าพรรคจะต้องเดินตามแนวทางนี้มีไม่ต่ำกว่า 21 คน"

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายของการแถลงข่าว นายเฉลิมชัยพร้อมด้วย สส. ได้ยืนให้สื่อมวลชนถ่ายรูป เพื่อแสดงตัวว่าไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมที่ทำให้องค์ประชุมล่ม

สำหรับ 21 สส.กลุ่มของนายเฉลิมชัยที่มาร่วมแถลงข่าว ได้แก่  1.น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สส.ตรัง 2.นายกาญจน์ ตั้งปอง สส.ตรัง 3.นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ สส.ประจวบคีรีขันธ์ 4.นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ 5.นายราชิต สุดพุ่ม สส.นครศรีธรรมราช 6.นายทรงศักดิ์ มุสิกอง สส.นครศรีธรรมราช 7.นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช 8.ว่าที่ร้อยโทยุทธการ รัตนมาศ สส.นครศรีธรรมราช 9.นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช 10.นางอวยพรศรี เชาวลิต สส.นครศรีธรรมราช 11.นายชาตรี หล้าพรหม สส.สกลนคร 12.นายสมยศ พลายด้วง สส.สงขลา 13.นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา 14.น.ส.สุภาพร กำเนิดผล สส.สงขลา 15.พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา 16.นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สส.สงขลา 17.นายยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี 18.นางสุพัชรี ธรรมเพชร สส.พัทลุง 19.นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง 20.นายวุฒิพงษ์ นามบุตร สส.อุบลราชธานี  และ 21.นายสมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ช่วยนักโทษติดคุกหมด เสรีพิศุทธ์ถอนตัวงัดหลักฐานมัดแก๊งชั้น14/ปชป.มีมติร่วมรบ.

"นายกฯ อิ๊งค์" อารมณ์ดีนัดสื่อให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง 30 ส.ค. "ภูมิธรรม" มั่นใจเสถียรภาพรัฐบาล หลังดึง