เลื่อนโหวตหลัง16ส.ค. รอศาลรธน.วินิจฉัยก่อน ดันวาระแก้ม.272มาแทน

ศาล รธน.เลื่อนวินิจฉัยคำร้องมติรัฐสภาห้ามโหวตนายกฯ ซ้ำละเมิดสิทธิหรือไม่ เหตุรอผู้ร้องระบุสถานะเป็นประชาชนหรือสมาชิกรัฐสภา  นัดพิจารณา 16 ส.ค. "วันนอร์" สั่งเลื่อนโหวตนายกฯ รอศาล รธน.วินิจฉัย ดันวาระแก้ ม.272 ขึ้นมาแทน  "สว.สมชาย" ชี้แก้ ม.272 ไม่เป็นประโยชน์ อีก 9-10 เดือนก็หมดความจำเป็น แถมยังต้องทำประชามติสูญงบอีก 4 พันล้าน  "โรม" วอนทุกฝ่ายปิดสวิตช์ ม.272 ยกเลิกอำนาจ สว.เลือกนายกฯ ดักคออย่าใช้วิชามารทำองค์ประชุมล่ม พท.เลื่อนแถลงจัดตั้งรัฐบาลรอคำวินิจฉัยก่อน

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภา (ผู้ถูกร้อง) มีมติตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สองเป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทั้งสาม ประกอบด้วย นายพรชัย เทพปัญญา ที่ 1, นายบุญส่ง ชเลธร ที่ 2 และนางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ และคณะ ที่ 3 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม และมาตรา 27

โดยผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องที่ 1 และ 2 เป็นประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเลือกพรรคก้าวไกลซึ่งมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค​ก้าวไกล เป็นบุคคลเพียงรายชื่อเดียวที่พรรคก้าวไกลเสนอชื่อเป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และผู้ร้องที่ 3 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล  การที่รัฐสภามีมติดังกล่าวละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทั้งสาม และขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยให้มีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

โดยศาลพิจารณาคำร้องผลการพิจารณาคำร้องให้พิจารณาวินิจฉัย (เพิ่มเติม) ของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 27 ก.ค.2566 แล้วมีคำสั่งรับรวมไว้ในสำนวน ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า คำร้องนี้มีประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และมีประเด็นเชิงหลักการการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติม จึงให้เลื่อนการพิจารณาสั่งคำร้อง และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

สำหรับคำขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย ให้รอสั่งในคราวเดียวกันกับการพิจารณาสั่งคำร้อง ทั้งนี้ ให้ผู้ร้องระบุสถานะบุคคลของคณะผู้ร้องเรียนทั้ง 3 ทุกราย ว่า เป็นประชาชนหรือสมาชิกรัฐสภา  โดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันอังคารที่ 15 ส.ค.2566 และให้นัดพิจารณาคำร้องนี้ในวันพุธที่ 16 ส.ค.2566 เวลา 09.30 น.

ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเลื่อนการพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ซ้ำ โดยจะมีการพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 16 ส.ค.นี้ว่า สำหรับการประชุมรัฐสภาในวันที่ 4 ส.ค. คงต้องเลื่อนไปก่อน และจะนำระเบียบวาระที่ 2 เรื่องการพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 272 ขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรกแทน ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรี คงต้องรอหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะมีคำสั่งอย่างไร ในวันที่ 16 ส.ค.อีกครั้ง

รอหน้างานวันที่ 16 ส.ค.

เมื่อถามว่า จะรอคำวินิจฉัยในวันที่ 16 ส.ค.ก่อนแล้วจะนัดใหม่ใช่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า คงต้องรอหน้างานวันที่ 16 ส.ค.ก่อน เพราะเหลือเวลาอีกหลายวัน อาจจะมีวาระอื่นของการประชุมรัฐสภาขึ้นมาคั่น ระหว่างวันที่ 16 ส.ค.นี้ก็ได้ เราไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ เพราะคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา 2 เรื่องคือ เรื่องการโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค. และเรื่องการชะลอพิจารณาคำร้องในวันที่ 16 ส.ค.

เมื่อถามว่า จะสามารถนัดโหวตนายกฯ เร็วที่สุดคือวันที่ 17 ส.ค.ได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า คงเหมือนคราวนี้ เพราะครั้งนี้ศาลนัดว่าจะวินิจฉัยวันนี้ ซึ่งเราก็นัดประชุมไว้คือวันพรุ่งนี้ อย่างไรก็ตามต้องรอดู

ถามย้ำว่า แต่วันนี้ขั้วการจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนแล้ว นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ทั้งหมดต้องรอ เพราะสิ่งสำคัญตอนนี้คือศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินและ สส.จำนวนหนึ่งไปแล้ว

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิภา (สว.) และกรรมการประสานงานฝั่งวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีประธานรัฐสภา สั่งเลื่อนการโหวตนายกฯ ในวันที่ 4 ส.ค. ออกไปก่อนว่า ประธานรัฐสภาควรเลื่อนวันที่ 4 ส.ค.ออกไปทั้งหมด จนกว่าวันที่ 16 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเสียก่อน แล้วค่อยนัดวันที่ 20 ส.ค. หรือวันใดก็ไม่เป็นไร อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดได้โหวตนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ส่วนตัวและฝั่งสว.บางส่วนจะไม่โหวต เพราะถ้าโหวตแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในภายหลังว่ารัฐสภาทำมิชอบ ในอดีตก็มีการฟ้องถอดถอน ส.ส.และ สว.มาแล้ว ดังนั้น ชัดเจนมากว่ารัฐสภาควรรอคำวินิจฉัยให้เสร็จสิ้น

นายสมชายกล่าวว่า วาระพิจารณาขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ สว.เลือกนายกฯ เรื่องนี้เป็นข้อตกลงกันก่อนอยู่แล้วว่าจะต้องโหวตนายกฯ ให้เสร็จก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณามาตรา 272 นี่คือข้อตกลงนอกรอบ ดังนั้น จึงไม่ควรนำมาพิจารณาในวันที่ 4 ส.ค. เพราะถ้ารัฐสภามีมติเห็นชอบในวาระหนึ่ง แล้วเกิดพิจารณาด้วยความรวดเร็ว โหวตให้เลิกอำนาจนี้ในวันที่ 16 ส.ค. ถามว่าประธานจะทำอย่างไรต่อไป

 “มาตรา 272 มีที่มาจากการทำประชามติ ผมยังมีความเห็นว่าหากสภาแก้ไขแล้วต้องทำประชามติด้วย ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าองค์อำนาจประชามติเหนือกว่ารัฐธรรมนูญและที่มาของสภา ประชามติคือองค์ที่ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ เมื่อกฎหมายเกิดผ่าน จะต้องทำประชามติด้วยเงิน 4 พันล้านบาท ทั้งที่มาตราดังกล่าวจะหมดความจำเป็นในอีก 9-10 เดือน หรือเอาจริงๆ หมดความจำเป็นหลังเลือกนายกฯ ด้วยซ้ำไป เมื่อได้นายกฯ แล้วก็ปล่อยมาตรา 272 ไปเฉยๆ เพราะไม่มีเหตุต้องเลือกนายกฯ แล้วมาตราดังกล่าวก็จะยุติไปตามบทเฉพาะกาล”

 นายสมชายกล่าวต่อว่า ขอให้เลื่อนวันที่ 4 ส.ค.ออกไป ทั้งสองวาระ เพราะจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การนำมาตรา 272 มาพิจารณา ตนไม่แน่ใจว่าจะให้ตกหรือไม่ แต่ถึงจะตีตกหรือไม่ตีตกก็เท่ากับยืมมือสภา ถือว่าไม่ถูกต้อง เป็นการดิสเครดิต สว. แต่ถ้าผ่านขึ้นมาจะยุ่งเกิดมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งเล่นการเมือง หวังผลคะแนนเพื่อหวังโหวตผ่าน หากในวาระสาม สว.เห็นด้วยเกิน 1 ใน 3 มีปัญหาว่าในวาระสามต้องมีฝ่ายค้าน 20 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าเมื่อยังไม่ได้รัฐบาล คณะรัฐมนตรี แล้วจะเอาฝ่ายค้านมาจากที่ใด ดังนั้นทำไปก็ไม่มีประโยชน์และเกิดปัญหา ไม่มีความจำเป็นต้องทำ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีการเลื่อนแถลงการจัดตั้งรัฐบาลออกไปว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ เราจึงได้ประสานกับทางประธานรัฐสภาว่าหากเป็นเช่นนี้แล้วจะเป็นเช่นไรต่อ ซึ่งก็ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน โดยจะมีการเลื่อนวาระโหวตนายกฯ ไปจนถึงวันที่ 16 ส.ค. และคาดว่าหากไม่มีปัญหาอะไร ภายใน 1 สัปดาห์ ก็สามารถเลือกนายกฯ ได้ ซึ่งเมื่อการเลือกนายกฯ เลื่อนออกไป ในทุกๆ อย่างก็ไม่ควรจะทำอะไรให้มาก และรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจน 

 “จริงๆ วันนี้เราเรียกประชุมพรรคร่วม ซึ่งเป็นหัวหน้าและเลขาธิการพรรค เพื่อที่จะหารือกันก่อนที่จะมีการแถลงข่าว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เราจึงถือโอกาสเลื่อนไป สำหรับสิ่งที่คิดว่าเราหวั่นใจ หรือว่าเสียงไม่พอ ยืนยันว่าเสียงที่เราได้ตอนนี้เพียงพอในการที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อเลื่อนออกไป เราก็มีเวลาทำงานได้มากขึ้น เพราะการจะแสวงหาความร่วมมือกับทุกฝ่าย ยิ่งได้มากก็ยิ่งดี เรียบร้อยแล้ว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว และประธานรัฐสภาบรรจุวาระแล้ว เราก็จะแถลงข่าว เรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล” นายภูมิธรรม กล่าว

ก.ก.ยังเพ้อแก้ ม.272

น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า พรรคก้าวไกลยกเลิกกำหนดการประชุม สส.ของพรรคในวาระการลงมติเห็นชอบโหวตนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี โดยยังไม่มีกำหนดการนัดหมายว่าจะเลื่อนไปเป็นวันใด เนื่องจากยังต้องรอท่าทีการจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงความคืบหน้ากรณีศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องวินิจฉัยข้อบังคับที่ 41 ของสภา ที่ห้ามเสนอญัตติซ้ำในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงกรณีที่ประธานรัฐสภาสั่งเลื่อนการโหวตเลือกนายกฯ ออกไป โดยจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ปิดสวิตช์สว.ในวันที่ 4 ส.ค.ว่า เราเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องนี้เป็นหล่มทางการเมืองที่มีความสำคัญ เราไม่สามารถมีนายกฯ ตามความต้องการประชาชนได้ จากการโหวตนายกฯ ครั้งที่ผ่านมา คือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ซึ่ง สว.ส่วนใหญ่ไม่ให้ความเห็นชอบ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าถ้าไม่มีมาตรา 272 การโหวตนายกฯ จบแล้ว เรามีนายกฯ แล้ว แต่เนื่องจากมีมาตรานี้ มีรัฐธรรมนูญโดยคณะรัฐประหาร กระบวนการเหล่านี้จึงกลายเป็นหล่มทางการเมืองที่เกิดขึ้นในวันนี้ ดังนั้นเราต้องรีบเอาหล่มทางการเมืองนี้ออกไป เพื่อที่จะได้นายกฯ จากประชาชนอย่างแท้จริง

 “มาตรา 272 เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน ถามว่าเราจะปล่อยให้เป็นอุปสรรคทางการเมืองต่อทำไม คุณทำได้แค่ยื้อเวลา แต่ไม่สามารถเปลี่ยนใจประชาชนได้ ด้วยเหตุผลทั้งหมด เราไม่มีความจำเป็นต้องคงมาตรา 272 อีกต่อไป กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญแล้วปิดสวิตช์ สว. จริงๆ ใช้เวลาไม่นาน ถ้าทุกฝ่ายทำอย่างรวดเร็ว พรุ่งนี้จะโหวตวาระ 1 ได้ โดยที่ 3 วาระ จะจบภายใน 1 เดือนได้ หากนับกระบวนการทูลเกล้าฯ ถวายภายในเดือน ก.ย.66 สว.จะไม่มีสิทธิ์เลือกนายกฯ อีกต่อไป ถ้ากระบวนการนี้จบลง อาจเป็นรูระบายให้ทุกฝ่าย ให้ประเทศเดินหน้าอย่างมั่นคงได้” นายรังสิมันต์กล่าว

  นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า ถ้าเราลงมติให้ความเห็นชอบปิดสวิตช์ สว. จะเป็นโอกาสทางลงบันไดหนีไฟให้ สว.ที่ต้องการปิดสวิตช์ตัวเอง สว.ประมาณ 63 คนเคยลงมติปิดสวิตช์ตัวเองมาแล้ว วันที่ 4 ส.ค. ขอให้ท่านช่วยกันปิดสวิตช์มาตรา 272 เอา สว.ออกจากสมการเลือกนายกฯ อย่างไรก็ตาม ตนได้ยินมาว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจทำให้องค์ประชุมล่มจนไม่สามารถพิจารณายกเลิกมาตรา 272 ได้ ก็หวังว่าไม่ควรมีเหตุผลต้องเลื่อนเรื่องนี้ออกไป สส. สว. อย่าใช้วิชามารใดๆ ให้องค์ประชุมล่ม หรือการพิจารณาไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หวังว่าคงไม่เกิดเหตุผลแบบนี้ และขอฝาก สว.ว่านี่คือโอกาสที่ท่านจะได้ปิดสวิตช์ตัวเอง และหาก 10 พรรคร่วมกับสว. ทำให้องค์ประชุมล่ม คิดว่าต้องละอายต่อประชาชนบ้าง

เมื่อถามถึงกรณีที่นายสมชาย แสวงการ สว. เสนอให้ประธานรัฐสภาเลื่อนระเบียบวาระการประชุมออกไป รวมถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ด้วย  นายรังสิมันต์กล่าวว่า การพิจารณาร่างแก้ไขมาตรา 272 ไม่ต้องรอศาลวินิจฉัย คิดว่านายสมชายต้องกลับไปอ่านให้ดีว่าเป็นคนละเรื่องกันกับกระบวนการโหวตนายกฯ

ส่วนความชัดเจนของพรรคก้าวไกล จะโหวตแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุป โดยการประชุมวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา เลขาธิการพรรคก้าวไกลได้กำชับขอให้ใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานรัฐสภาเลื่อนวาระการโหวตนายกฯ ออกไป จึงยังไม่รู้ว่าพรรคจะยังประชุมเพื่อขอมติในวันนี้หรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ช่วยนักโทษติดคุกหมด เสรีพิศุทธ์ถอนตัวงัดหลักฐานมัดแก๊งชั้น14/ปชป.มีมติร่วมรบ.

"นายกฯ อิ๊งค์" อารมณ์ดีนัดสื่อให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง 30 ส.ค. "ภูมิธรรม" มั่นใจเสถียรภาพรัฐบาล หลังดึง