กางกม.ชี้ศาลรธน.ไม่รับร้อง

"อัยการธนกฤต" ยกจุดชี้ขาดศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินปมชะลอโหวตนายกฯ   เหตุไม่ถูกกระทบสิทธิโดยตรง "พิธา" ไม่ได้ร้องเรียนด้วยตนเอง เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยไม่รับคำร้อง "หมอระวี" ยื่นตีความแก้ไข รธน.

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ดร.ธนกฤต   วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และอาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กว่า จุดชี้ขาดศาลรัฐธรรมนูญรับหรือไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินตามที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาว่า จะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ในวันที่ 3 สิงหาคม 2566 นั้น ขอให้ความเห็นทางวิชาการด้านกฎหมาย โดยไม่มีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองหรือขั้วการเมืองฝ่ายใดทั้งสิ้น

ดร.ธนกฤตระบุว่า จุดชี้ขาดสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินในกรณีนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 โดยพิจารณาจากผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนว่า เป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงหรือไม่ จากการกระทำของรัฐสภาที่ลงมติว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41

สำหรับกรณีนี้ หากพิจารณาข้อกล่าวอ้างในประเด็นเรื่องบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการลงมติของรัฐสภา ถ้าหากจะมีเกิดขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนน่าจะเป็นคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์   ซึ่งถูกละเมิดสิทธิในการได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่คุณพิธาไม่ได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่กลับเป็น สส.และประชาชนจำนวนหนึ่งเป็นผู้ร้องเรียน

"ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า สส.และประชาชนผู้ร้องเรียน ไม่ได้เป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของรัฐสภาที่ลงมติดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ย่อมเป็นอันตกไปด้วย"

ดร.ธนกฤตระบุอีกว่า นอกจากนี้ หากพิจารณาแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มา ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวคำวินิจฉัยมาโดยตลอดว่า ผู้ร้องต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของผู้ถูกร้อง

ดังตัวอย่าง คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 18/2565 ที่วินิจฉัยว่า ตามที่นายระวี มาศฉมาดล สส.พรรคพลังธรรมใหม่ ยื่นคำร้องว่า การลงมติของรัฐสภาที่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยแก้ไขให้มีจำนวน สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และ สส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องในฐานะ สส. ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

"ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของผู้ร้องในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐสภาที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย" ดร.ธนกฤตระบุ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง