ตั้งรัฐบาลเร็วมีผลต่อศก. ส.อ.ท.หวั่นล่าช้าขัดแย้ง

หอการค้าฯ ชี้ การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้ขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวเป็นหลัก ด้าน ส.อ.ท.เผย FTI Poll ตั้งรัฐบาลและความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง กระทบเศรษฐกิจไทยหนักสุดช่วงครึ่งหลังปี 66

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสถานภาพ “หนี้ครัวเรือน” ไทยปี 2566 พบว่า ภาระ “หนี้ครัวเรือน” เพิ่มสูงขึ้น มากที่สุดในรอบ 15 ปี โดยมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 559,408 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 11.5% จากปี 2565 ที่มีหนี้รวม 501,711 บาทต่อครัวเรือน

สาเหตุที่หนี้เพิ่มสูงขึ้น มาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 16.8% มีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 16.2% เช่น รถยนต์ บ้าน มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 13.8% และกลุ่มตัวอย่างถึง 60% ไม่มีการออมเงิน นอกจากนี้ จากผลการสำรวจยังพบว่าคน GEN Y และ GEN Z ถึง 76% ยอมรับว่าใช้เงินแบบไม่วางแผน 60.5% มีการใช้จ่ายเงินเกินตัว และ 47.2% กู้ยืมเงินในอนาคตมาใช้ โดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิต อย่างไรก็ตาม คาดว่า “หนี้ครัวเรือน” จะขึ้นไปสูงสุดในปี 2567 หลังจากที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลยังล่าช้า โดยล่าสุดกระทรวงการคลังได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP เหลือ 3.5% จาก 3.6%

หอการค้าไทยได้มีการเปรียบเทียบรายจ่ายและค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน โดยพบว่า ประเทศไทยมีรายได้ครัวเรือนที่ต่ำกว่า 5,000 บาท 94.1% กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจมีดังนี้ ภาคกลาง 75.4%, กรุงเทพฯ 72.8%, เกษตรกร 81.4%, เกษียณอายุ 81.1%, รับจ้าง 71.4%

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีรายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย 65.8%, รายได้ครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย 32.0%, รายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย 2.2% ส่วนใหญ่แก้ปัญหารายได้น้อยกว่ารายจ่าย ด้วยการกู้ยืมเงิน ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินจากธนาคาร การกดเงินจากบัตรกดเงินสด บริษัทสินเชื่อ กู้ยืมเงินจากญาติพี่น้อง

นายธนวรรธน์ประเมินว่า การจัดตั้งรัฐบาลน่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเห็นความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่จะใช้ขับเคลื่อนประเทศ ทำให้เกิดความมั่นใจต่อการกำหนดแผนการลงทุนในอนาคต และจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยคาดว่าหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในส.ค.หรือ ก.ย.นี้ เศรษฐกิจไทยปี 66 ก็มีโอกาสจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับ 3.5%

"ศก.ไทยมีความเสี่ยง การส่งออกอาจติดลบมากขึ้นปีนี้ และปีหน้าการฟื้นตัวก็ยังไม่เด่นชัด หากมีรัฐบาลช้า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า และมีผลต่อหนี้ครัวเรือนให้สูงขึ้นถ้าจีดีพีเพิ่มขึ้นน้อย"  นายธนวรรธน์ระบุ

นายธนวรรธน์กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวเป็นหลัก และเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะไม่มีปัญหาอุปสรรคมาก หากเศรษฐกิจโลกไม่ซึมตัว เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายคงไม่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเพิ่มไปมากกว่านี้ ขณะที่คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ท่ามกลางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ที่จะมีนโยบายดอกเบี้ยเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนัก

"เราเชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1 หรือ 2 ของปีหน้า ส่วนการส่งออกไทยปีนี้ อาจจะ -1 ถึง -2% โดยการท่องเที่ยวจะเป็นพระเอกนำ การท่องเที่ยวปีนี้ มีโอกาสที่จะเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึง 28 ล้านคน ถ้าการเมืองนิ่ง ไม่มีเหตุชุมนุมประท้วง เรามองว่าปีนี้จะโตได้ 3.1-3.5% บวกลบเล็กน้อย" นายธนวรรธน์กล่าว

ส่วนปี 67 เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโต 3-4% แต่ก็ต้องขึ้นกับว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่เกินเดือน ก.ย.นี้หรือไม่ เพราะถ้าล่าช้าไปมากกว่านี้ การจัดทำงบประมาณจะยิ่งลำบาก เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าขึ้น และเข้าสู่โหมดความเสี่ยง  ซึ่งอาจจะได้เห็นจีดีพีโตใกล้ปีนี้ 3.1-3.5% หรืออาจโตต่ำกว่านี้ได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าการเมืองมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน

ด้านนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 31 ในเดือนกรกฎาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ "ประเด็นกังวลที่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง 2566" ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ มองว่าความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลและความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง เป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2566

และส่งผลกระทบทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงหากการชุมนุมประท้วงของประชาชนทวีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ตอนนี้เราต้องอาศัยภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ด้านปัจจัยภายนอกประเทศ ส.อ.ท. ยังคงกังวลกับปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะส่งผลทำให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูหนาวในยุโรปที่จะทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง