นัดโหวตนายกฯ4ส.ค. หากศาลรธน.สั่งไม่ชะลอ เสื้อแดงหนุนพท.ฉีกMOU

"วันนอร์" เล็งประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ 4 ส.ค. หากศาลรธน.สั่งไม่ชะลอ หากโดนเบรกยังถกวาระแก้อำนาจ สว.มาตรา 272 ได้ ยัน "ทักษิณ" กลับบ้านไม่เกี่ยวไทม์ไลน์เลือกนายกฯ "อนุทิน" ย้ำจุดยืน ภท.ไม่เปลี่ยนแปลง "พท." คึก! สส.รับลูก "แม้ว" ดัน "เศรษฐา" ว่าที่นายกฯ "เสี่ยนิด" ย่องเข้าพรรคหลบสื่อ "คนเสื้อแดง" หนุนฉีก MOU ขอพรรคเห็นแก่ ปท. "วิโรจน์" ยังฝันลากยาวรอ 10 เดือน "สมาคมทนายความฯ" จี้ ก.ก.เสียสละปม 112 "พี่ศรี"  ฮึ่ม! ดีลลับฮ่องกงเข้าข่ายผิด กม.เจอแน่

ที่รัฐสภา วันที่ 27 ก.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา  กล่าวถึงการเดินทางไปประชุมรัฐสภาอาเซียนว่า ตนและสมาชิกรัฐสภาจะเดินทางไปในวันที่ 5-10 ส.ค. ที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่การประชุมรัฐสภาคงจะไม่เกี่ยวกับการประชุมรัฐสภาอาเซียนเพียงแค่ตนและ สส.บางคนไปเท่านั้น ดังนั้นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา และการประชุมรัฐสภา  ถ้ามีวาระก็สามารถประชุมตามปกติได้

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ในส่วนการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เราได้เลื่อนจากวันที่ 27 ก.ค.ออกไป เนื่องจากเราต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเช้านี้ (27 ก.ค.) ตนได้รับทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว เราก็ต้องรอว่าศาล รธน.จะรับหรือไม่รับ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาในครั้งแรกเบื้องต้นวันที่ 3 ส.ค. คิดว่าถ้าเขาพิจารณาว่าจะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ ถ้ารับแล้วจะพิจารณาอย่างไร รวมทั้งสั่งให้สภาชะลอการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปอย่างไร ซึ่งจะร่วมประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อดูว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 3 ส.ค. เราสามารถที่จะประชุมรัฐสภา ในวันที่ 4 ส.ค. โดยมี 2 วาระ วาระแรกคือเลือกนายกรัฐมนตรี วาระที่ 2 คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 272

"หากศาลรธน.ไม่รับคำร้อง เราก็พิจารณาวาระแรก คือ เลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ถ้าศาลรับคำร้องและบอกให้ชะลอ เราก็สามารถประชุมได้อยู่ดี อย่างน้อยเราก็สามารถพิจารณาในวาระที่ 2 คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ได้ ผมจึงต้องขอหารือกับผู้เกี่ยวข้องก่อนเพื่อออกวาระการประชุมสภาในวันที่ 4 ส.ค.ได้หรือไม่ เนื่องจากวันที่ 28 ก.ค.เป็นวันหยุด ถ้าไม่ออกวาระในวันนี้ ถ้าเห็นและจำเป็นว่าสามารถจะประชุมในวันที่ 4 ส.ค.ได้ แล้วจะมารอออกวาระการประชุมในวันที่ 3 ส.ค. ก็จะไม่ทัน ยืนยันว่าถ้าจำเป็นและทำได้ควรจะทำก็จะออกวาระการประชุมในวันนี้"นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

ถามถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 ส.ค. จะมีผลต่อกรอบในการโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ ประธานรัฐสภากล่าวว่า ไม่เกี่ยวกันเลย

ต่อมา นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ออกหนังสือด่วนมาก ที่ สผ 0014/ร 5 เรื่องประชุมร่วมกันของรัฐสภา ถึง สส. สว. เนื่องด้วยประธานรัฐสภา ได้มีคำสั่งให้นัดร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันศุกร์ที่ 4 ส.ค.2566 เวลา 09.30น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารัฐสภา ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. โดยมีวาระเร่งด่วน 2 เรื่อง คือ 1.พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (ยกเลิกมาตรา 272) ที่มีนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ เป็นผู้เสนอ

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงจุดยืนพรรคในการโหวตนายกฯว่า ยังเหมือนเดิม เป็นไปตามแถลงการณ์ของ ภท. ซึ่งในวันที่ 3 ส.ค. มีการประชุมสภา ซึ่งไม่ใช่การประชุมร่วมของสองสภา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องการโหวตนายกฯ และต้องดูด้วยว่าวันที่ 10 ส.ค.เป็นอย่างไร

"มีข่าวมาว่าวันที่ 10 ส.ค.มีการประชุมรัฐสภาอาเซียน ไม่ทราบว่าประธานสภาจะปฏิบัติอย่างไร หรือมอบหมายให้ใครปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ คงต้องไปติดตามระเบียบรัฐสภา ผมยังไม่ได้ไปลงลึกในรายละเอียดขนาดนั้น สิ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบคือหากมีญัตติการเลือกนายกฯ สส.ภท.จะต้องพร้อมที่จะมาลงคะแนน" นายอนุทินระบุ

 ถามถึงกระแสข่าวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า เดินทางไปพบกับนายทักษิณและยอมเป็นฝ่ายค้านเป็นความจริงหรือไม่  นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ทราบ และไม่ใช่เรื่องของตนที่ใครจะไปพบกับใคร คุยกับใคร ของพวกนี้คนละพรรคกัน เขาจะทำอะไรก็เป็นสิทธิของเขา

ชื่อเศรษฐาว่าที่นายกฯ

ซักว่า หากหากพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน สถานการณ์การเมืองจะคลายล็อกได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า มันยังไม่เกิดขึ้น อย่าเพิ่งไปพูด ตอนนี้การเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลยังคงอยู่ใน 8 พรรคนั้น โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นหลักอยู่ คิดว่ายังไม่มีการพูดคุยอะไรนอกเหนือไปจากการที่ไปพบและหารือกันที่พรรค พท. ยังไม่มีอะไรต่อจากนั้น ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เรายังทำหน้าที่อยู่ในสภา 

ถามว่า มีการวิเคราะห์หรือไม่ว่าการที่นายทักษิณกลับไทยแสดงว่ามีความมั่นใจว่า พท.จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายอนุทินกล่าวว่า เรามองเรื่องพรรค จะมองเรื่องบุคคลไม่ได้ พรรคต่อพรรคคุยกัน หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคพูดคุยกัน

"สิ่งใดที่เป็นความร่วมมือกันในจุดไหนสามารถร่วมมือกันได้ สนับสนุนกันได้ พูดคุยกันได้ ก็ยินดีอยู่แล้ว เพราะในความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ไม่ได้มีใครมีปัญหาอะไร ต่างคนต่างทำหน้าที่ ต่างบทบาทที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งโดยส่วนตัวการเลือกนายกฯ ควรจะจบในเดือนส.ค. เพราะประเทศจะได้มีความชัดเจน การขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนในประเทศจากต่างประเทศจะได้มีความชัดเจน ซึ่งเป็นผลดีกับประเทศไทย" นายอนุทินกล่าว 

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายทักษิณวิดีโอคอลมายังที่ประชุม สส.พรรคระบุให้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯอยู่ทำเนียบรัฐบาล และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อยู่พรรคว่า เป็นการพูดติดตลก สิ่งที่นายทักษิณบอกว่านายเศรษฐาก็ไปอยู่ทำเนียบรัฐบาล เพราะนายกฯ มีคนเดียว ดังนั้นอีกหนึ่งคนก็ต้องดูพรรค

ถามว่า แสดงว่าเป็นที่ชัดเจนว่าให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ นายอดิศรกล่าวว่า เรื่องนี้ชัดเจนมานานแล้ว แต่การตั้งรัฐบาลตนไม่มีส่วนในเรื่องนี้ ยืนยันว่าพรรค พท.อ่อนน้อมถ่อมตน มีมิตรมีเพื่อนอยู่ทุกที่ และประเทศชาติต้องเดินหน้าต่อทุกฝ่าย มีศักดิ์ศรี เพื่อให้ชาติบ้านเมืองฝ่าวิกฤตตรงนี้ไปได้ ส่วนการรักษาการนายกฯ อีก 10 เดือนคนก็ไม่เอา เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

ซักถึงกรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จะมีการเปิดเผยหลักฐานบางอย่างที่เกี่ยวกับนายเศรษฐานั้น นายอดิศรกล่าวว่า เปิดให้ดีก็แล้วกัน ถ้าเปิดตามอำเภอใจหรือเปิดตามใบสั่งจะมีทั้งเท็จและจริง ตนขอฝากไปยังรุ่นน้อง รร.เทพศิรินทร์ ชนะอยู่ที่พวกสะดวกอยู่ที่เงิน เจริญอยู่ที่ไหน ฉิบหายอยู่ที่ปาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่พรรค พท. วันนี้ไม่คึกคักเท่าวันที่ 26 ก.ค.ซึ่งเป็นวันเกิดนายทักษิณ มีแกนนำเข้ามาเพียงบางส่วน อาทิ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรค พท. ที่ถูกวางตัวเสนอชื่อโหวตนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเดินทางเข้าพรรคของนายเศรษฐาในวันนี้ไม่ได้เข้าประตูหน้าพรรคเหมือนก่อนหน้านี้ แต่เข้าทางชั้น 1 ด้านหลังตึก เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามดักรอที่รถเพื่อสัมภาษณ์ทางเศรษฐาก็ถูกกันพื้นที่ไม่ให้อยู่ในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ ได้มี สส.พรรคทยอยเดินทางเข้าพรรค อาทิ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ โดยนายครูมานิตย์ได้กล่าวทีเล่นทีจริงกับผู้สื่อข่าวว่า “วันนี้มาพูดคุยงานกับว่าที่นายกฯ”

เช่นเดียวกับกลุ่มเสื้อแดง กทม. 50 เขต เดินทางมาให้กำลังใจพรรค พท. มีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค เป็นผู้มารับหนังสือและแถลงการณ์กลุ่มดังกล่าว

ตัวแทนกลุ่มเสื้อแดง กทม.50 เขตระบุว่า อยากให้พรรค พท.ตั้งรัฐบาลให้ได้ เป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน แม้จะต้องฉีก MOU หรือเข้าร่วมกับพรรคการเมืองอื่นนอกเหนือจาก 8 พรรคเดิมก็ตาม เพราะประเทศจะเสียหายไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องมีผู้นำที่ฝ่าวิกฤตให้ได้โดยเร็วที่สุด จึงเห็นว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนเหมาะสมไปกว่าพรรค พท.แล้ว แม้ประชาชนบางกลุ่มอาจไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังรับมอบเอกสารและอ่านแถลงการณ์จบแล้ว กลุ่มคนเสื้อแดง กทม. 50 เขต ได้หยิบข้าวต้มมัดขึ้นมา พร้อมระบุว่าวันนี้ข้าวต้มมัดได้แยกออกจากกันแล้ว ข้าวต้มมัดต้องแกะออกจากกันถึงจะอยู่รอด

พี่ศรีเขย่าดีลลับฮ่องกง

ในส่วนความเคลื่อนไหวพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “อย่าหลอกลวงประชาชนว่ารัฐบาลรักษาการทำงานไม่ได้ เพื่อหวังสลับขั้วตั้งรัฐบาล 3 ป.” เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า "ถามตรงๆ เลยครับว่า ระหว่างได้รัฐบาล 3 ป. แล้วต้องสิ้นหวังต่อไปอีก 4 ปี กับรอเต็มที่ไม่เกิน 10 เดือน แล้วจะได้รัฐบาลแห่งความหวังของประชาชน มีใครยอมสิ้นหวังไปอีก 4 ปีด้วยหรือครับ ระหว่างที่รอบ้านเมืองก็ไม่ได้อยู่ในสภาวะสุญญากาศนะครับ สส. คณะกรรมาธิการ และรัฐบาลรักษาการ ก็ยังทำงานได้"

นายวิโรจน์ยังได้ยกมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า รัฐบาลรักษาการทำงานได้ครอบคลุมพอสมควร มีข้อห้ามหลักๆ ก็แค่ 3 เรื่องเท่านั้น คือ 1.ห้ามอนุมัติโครงการที่ก่อภาระผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป 2.ห้ามการแต่งตั้งโยกย้ายหรือถอดถอนบุคลากรของรัฐ ซึ่งก็ดีอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้น ระบบตั๋ว และการซื้อขายตำแหน่ง ที่เป็นบ่อเกิดของการทุจริตคอร์รัปชันก็จะรุนแรงขึ้น 3.ห้ามอนุมัติการใช้จ่ายงบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ดังนั้นรัฐบาลรักษาการพอที่จะทำงานได้ครับ ไม่ได้ถึงกับสิ้นสภาพ อย่างที่เอามาขู่ให้กลัวเลย

"รัฐบาลที่ยอมพลิกขั้วยอมเป็นร่างทรง ให้ 3 ป.มาสิงสู่สืบทอดอำนาจ มีแต่จะถูกประชาชนสาปแช่ง บั่นทอนการลงทุนจากต่างประเทศ การที่ สส.จากพรรคอื่นที่ไม่อยู่ใน 8 พรรคร่วมจะบ่นว่าการตั้งรัฐบาลจะเสียเวลารอนานไม่ได้ ผมก็เห็นด้วยว่าควรบ่นครับ ผมก็บ่นเหมือนกัน ไม่มีใครอยากตั้งรัฐบาลช้าหรอกครับ บ่นน่ะได้ แต่ต้องบ่นให้ถูกคน เรามาช่วยกันบ่นไปที่ สว. กลุ่มที่ขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลดีกว่าครับ ถ้าผนึกกำลังช่วยกันบ่น และบ่นให้ถูกคน สักพักรัฐบาลก็จะตั้งได้เองครับ" นายวิโรจน์ระบุ

ด้านนางประภาศรี สุฉันทบุตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่เป็น 1 ใน 13 คนที่ลงมติสนับสนุนให้นายพิธาเป็นนายกฯ กล่าวถึงจุดยืนการโหวตนายกฯรอบสามว่า เมื่อพรรคที่ได้เสียง สส.เป็นอันดับหนึ่งผ่านไปแล้ว ขณะนี้พรรคที่ได้เสียง สส.มาเป็นอันดับสอง กำลังรวบรวมเสียงข้างมากในสภาอยู่ ซึ่งหากรวมเสียงได้ก็จะลงมติโหวตเห็นชอบรายชื่อบุคคลที่พรรคเสนอให้เป็นนายกฯ โดยหากเพื่อไทยเสนอชื่อนายเศรษฐาก็พร้อมลงมติให้ จุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นการลงมติตามหลักการตามระบอบประชาธิปไตย

 “การแก้ไขมาตรา 112 ไม่มีทางทำได้แน่นอน แค่ยื่นร่างแก้ไขมาที่สภา ทางประธานสภาฯ ก็อาจไม่รับไว้ ยิ่งหากจะให้เอาร่างมาอภิปรายมาโหวตกัน ซึ่งทุกคนรักระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ เราจึงไม่กลัวเกินเหตุ เพราะรู้ดีว่าไม่มีทางเข้ามาที่รัฐสภาได้ แม้แต่จะเอามาอภิปรายในสภาก็ไม่ควรนำมาอภิปรายเลยด้วยซ้ำ” สว.ประภาศรีระบุ

ด้านนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย  ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ถึงการจัดตั้งรัฐบาลและการโหวตนายกฯ ว่า แม้พรรค ก.ก.และฝ่ายสนับสนุนจะเห็นว่าประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเพียงข้ออ้าง แท้จริงแล้วฝ่ายที่ต้องการสืบทอดอำนาจไม่ต้องการให้พรรค ก.ก.เป็นรัฐบาล แต่หากพิจารณาจากจำนวน สส.ที่มาจากการเลือกตั้ง จะเห็นว่ามีเพียงพรรค ก.ก.ที่มี สส. 151 คน คิดเป็น 30% ที่ต้องการแก้ไข ในขณะที่ สส.ที่เหลืออีก 70% ไม่ต้องการแก้ไขมาตรา 112

"หากพรรค ก.ก.แถลงถึงความชัดเจนในการสละประเด็นการแก้ไขกฎหมายที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในชาติแล้ว สว.ย่อมไม่มีเหตุอันชอบธรรมที่จะปฏิเสธไม่ให้ความเห็นชอบกับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากเป็นนายกรัฐมนตรี หาก สว.ปฏิเสธไม่ให้ความเห็นชอบอันเป็นการฝืนมติของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งแล้ว ประชาชนจะอยู่ข้างพรรค ก.ก.กับพวก และจะกดดัน ส.ว. ให้ลงมติให้กับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลก็ตาม แต่พรรค ก.ก.จะต้องเสียสละประโยชน์ของพรรคเพื่อรักษาประโยชน์ที่เหนือกว่าคือประโยชน์ของประเทศชาติ” แถลงการณ์ระบุ

วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน กล่าวว่า  ประเด็นที่อยากให้จับตาคือการดีลลับที่ฮ่องกง อาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 ที่ปล่อยให้มีการครอบงำพรรคการเมือง โดยหากมีหลักฐานเพียงพอก็จะยื่นร้องเรียนเช่นกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด