คลังหั่นเป้าจีดีพี ห่วงมีรัฐบาลช้า ฉุดเศรษฐกิจวูบ

“คลัง” หั่นเป้าเศรษฐกิจปีนี้เหลือโต 3.5% รับหวั่นนักท่องเที่ยวจีนหด กดรายได้ท่องเที่ยวทรุด ชี้ส่งออกยังระส่ำ ติดลบหนัก 0.8% ห่วงตั้งรัฐบาลล่าช้า กระทบใช้จ่ายงบ ทุบจีดีพีดิ่งลง -0.07%

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า คลังได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2566 ลงเหลือ 3.5% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3-4% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.6% หลักๆ เป็นผลมาจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะลดลง ขณะที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวมาเลเซียน้อยกว่าจีน ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงเหลือ 1.25 ล้านล้านบาท จากคาดการณ์เดิมที่ 1.3 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าในปี 2566 ภาพรวมการส่งออกของไทยจะขยายตัวติดลบ 0.8% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะติดลบ 0.5% จากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ขณะเดียวกันตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 1/2566 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์  ประกาศว่าขยายตัวที่ 2.7% นั้น ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ เหล่านี้เป็นปัจจัยรวมที่ทำให้คลังมีการปรับจีดีพีในปีนี้ลดลงเหลือ 3.5%

นายพรชัยกล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าว่า คาดว่าจะส่งผลกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจราว -0.07% จากกรณีฐาน จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจ -0.05% หากมีการตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า 6 เดือน ซึ่งหากเหตุการณ์เป็นไปในลักษณะดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คลัง, สำนักงบประมาณ, สภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง เพื่อกำหนดแนวนโยบายเกี่ยวกับการใช้งบประมาณเก่าที่เดิมได้มีการวางแผนใช้ไปพลางก่อน เพราะก่อนหน้านี้สำนักงบประมาณได้ออกหลักเกณฑ์ในการใช้งบเก่าไปพลางก่อนไว้สำหรับกรณีล่าช้า 6 เดือนเท่านั้น ดังนั้นหากหลัง 1 ต.ค. สถานการณ์ยังไม่ชัดเจน สำนักงบประมาณก็ต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติม

 “เราคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการใช้งบประมาณปี 2567 ล่าช้าราว 6 เดือน ซึ่งมีส่วนกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจราว -0.05% จากความไม่ชัดเจนทางการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อมิติเรื่องรายจ่ายภาคสาธารณะเป็นหลัก ส่วนกรณีที่หากการเมืองล่าช้าเป็น 10 เดือนนั้น ยอมรับว่าเป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะยังไม่ได้คุยกับสำนักงบประมาณถึงจุดนั้น แต่หากดูตามข้อมูลเปรียบเทียบโดยเอาการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 จนถึงเดือนที่ 9 พบว่า มีการเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำไปแล้ว 2.08 ล้านล้านบาท ขณะที่รายจ่ายลงทุน ในส่วนที่ได้ผูกพันไว้แล้ว เบิกจ่ายได้ 1.3 แสนล้านบาท ส่วนปีงบ 2567 ผูกพันไว้ 1.5 แสนล้านบาท หากดูตามภาพเปรียบเทียบนี้ ก็เชื่อว่าปีงบ 2567 น่าจะเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำ และงบลงทุน ผูกพันได้สูสีกัน เพราะการเบิกจ่ายภาครัฐยังทำได้ต่อเนื่อง ไม่ได้หยุดทำงาน ส่วนราชการทำงานเต็มที่ ดังนั้นแม้ว่าจะมีความล่าช้าของงบปี 2567 แต่ก็จะยังมีงบรายจ่ายประจำและงบลงทุน ที่ผูกพันที่ยังลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้” นายพรชัยระบุ

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2566 มองว่า หากนักท่องเที่ยวจีนมาตามนัด จะช่วยทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นกับผู้ประกอบการสายการบิน พบว่ามีการขยายเส้นทางการบินไปจีนเพิ่มขึ้น 100% ทั้งความถี่ต่อสัปดาห์ จาก 17 เที่ยวบิน เป็น 35 เที่ยวบิน รวมถึงขยายเมืองเพิ่มขึ้นด้วย เป็นตัวสะท้อนว่านักท่องเที่ยวจีนจะยังเดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจจะไม่เร็วนัก ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2566 คงต้องรอประกาศจากทางสภาพัฒน์

นายพรชัยกล่าวว่า ปัจจัยที่เป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียที่เพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 29.5 ล้านคน เติบโต 164.2% ต่อปี และการบริโภคภาคเอกชน ที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.5% ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้และแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่คลี่คลายลง โดยปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 1.7% ตลอดจนการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6% จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม ไปจนถึงการลงทุนภาครัฐที่ยังมีส่วนช่วยประคอง

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและต้องติดตามใกล้ชิด ได้แก่ ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศหลักๆ เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย, สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีผลต่อทิศทางเงินเฟ้อในประเทศ, สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐและจีน รวมถึงปัจจัยเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง