ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องให้ตีความมติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว “วรวิทย์” ยันทำตามกติกา ไม่อยากเป็นพื้นที่กระสุนตก คาด 26 ก.ค.นี้เข้าไม่ทันแน่ “วันนอร์” แหยงกลัวขัดแย้ง-องค์ประชุมล่มปัญหา สั่งเลื่อนถกวิป 3 ฝ่ายพร้อมเลื่อนโหวตนายกฯ ออกไปไร้กำหนด “เสรี” อัดผู้ตรวจฯ ทำเกินหน้าที่เพราะกลัวทัวร์ลง “อัยการธนกฤต” ชี้คำสั่งคุ้มครองศาลมีผลบังคับแค่ 60 วัน ก้าวไกลจ่อยื่นวาระหารือ “ปธ.รัฐสภา” ทบทวนมติเสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำ
เมื่อวันอังคารที่ 25 ก.ค.2566 พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความกรณีรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2566 ที่ลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมขอให้ศาลสั่งว่าเลื่อนการโหวตนายกฯ ในวันที่ 27 ก.ค.นี้ออกไป จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดออกมา
ด้านแหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า กระบวนการพิจารณาการรับคำร้องจะเป็นไปตามวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการรับเรื่องคำร้องในทางธุรการก่อนที่คณะพิจารณารับคำร้องชุดเล็ก ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาทำความเห็นว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง ก่อนส่งความเห็นไปยังที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งคาดว่าในการประชุมประจำสัปดาห์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 ก.ค.นี้ จะยังไม่มีวาระพิจารณารับคำร้องหรือไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากต้องให้องค์คณะชุดเล็กที่พิจารณารับคำร้องพิจารณาก่อน
นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการดำเนินคดีกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในเรื่องการล้มล้างการปกครอง, คดีการครอบครองหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมถึงคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมติที่ประชุมรัฐสภา จะหยิบคดีไหนจะนำมาพิจารณาก่อน ว่าในเรื่องกระบวนการผู้ตรวจการแผ่นดินเพิ่งส่งเอกสารทาง อิเล็กทรอนิกส์เข้ามา เจ้าหน้าที่รับแล้วก็อยู่ในกระบวนการที่ต้องพิจารณาภายใน 2 วัน และเสนอตุลาการคณะเล็กพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ ซึ่งคณะตุลาการคณะเล็กพิจารณาไปเลยก็ได้ หรือจะเสนอเข้าสู่คณะใหญ่ก็ได้ภายใน 7 วัน ซึ่งเราต้องทำตามขั้นตอน
“ศาลรัฐธรรมนูญจะพูดอะไรกลัวกระสุนตก จะพิจารณาเดี๋ยวก็หาว่าจะช่วยใครหรือไม่ พิจารณาช้าก็หาว่าดึงเรื่อง เพราะฉะนั้นก็เดินตามกติกาของกฎหมายที่เขียนไว้ คงไม่เร็วกว่านี้และไม่ช้ากว่านี้” นายวรวิทย์กล่าว
นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในประเด็นนี้ว่า ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละคดี ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ ขึ้นอยู่กับประเด็นและขอเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแต่ละประเด็นไม่เหมือนกัน โดยถ้าเป็นเรื่องข้อเท็จจริง ต้องมีการนำไต่สวนและมีรายละเอียดมาก ก็เลยไม่สามารถรับรู้ได้ว่าจะหยิบเรื่องไหนขึ้นมาทำก่อน ต้องขึ้นอยู่กับสำนักงานว่าเรื่องไหนพร้อมก่อนก็นำหยิบขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ แต่กระบวนการตรวจสอบก็ดำเนินการต่อเนื่องทุกกรณี
เลื่อนประชุมรัฐสภาไร้กำหนด!
ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวในเรื่องนี้ได้ให้ฝ่ายกฎหมายของสภาพิจารณาแล้วเสนอรายงานต่อในเวลา 14.00 น. ว่าจะให้รัฐสภาดำเนินการอย่างไรในการประชุมรัฐสภาในวันที่ 27 ก.ค.นี้ คงต้องฟังข้อพิจารณาของฝ่ายกฎหมายของสภาก่อน
เมื่อถามว่า ประธานรัฐสภาสามารถตัดสินใจได้เองหรือไม่ หากได้ฟังความเห็นของฝ่ายกฎหมายแล้ว นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ประธานสภาฯ มีอำนาจสั่งงดหรือเลื่อนการประชุมได้ แต่ก็ต้องฟังฝ่ายกฎหมายเสนอก่อนว่าถ้าต้องเลื่อนมีเหตุผลอย่างไร และการเลื่อนก็เช่นกัน ซึ่งยังมีเวลาก่อนถึงวันที่ 27 ก.ค. เพราะในวันที่ 26 ก.ค.ได้นัดวิป 3 ฝ่ายมาพิจารณาว่าจะประชุมในวันที่ 27 ก.ค.หรือไม่ แต่จะฟังข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วน และจะรีบดำเนินการต่อไป
ถามถึงกรณีนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณามติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เราก็รับฟัง แต่ก็ต้องเคารพการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะผูกพันทุกองค์กร รวมทั้งรัฐสภาด้วย
ต่อมาในเวลา 14.50 น. นายวันมูหะมัดนอร์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ได้ประชุมฝ่ายกฎหมายสภาและที่ปรึกษาประธานสภาฯ เพื่อประกอบการวินิจฉัย ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ถ้าประธานรัฐสภาจะสั่งงดการประชุมในวันที่ 27 ก.ค.นี้ จะทำให้เหตุการณ์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 นั้นจะไม่มีความขัดแย้งกับที่รัฐสภา หากมีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในภายหลัง และเมื่องดการประชุมวันที่ 27 ก.ค.แล้ว ดังนั้นการประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 26 ก.ค. จึงต้องงดไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาประชุมกัน ประกอบกับขณะนี้มี สส.และ สว.จำนวนมากมาประสานกับสำนักประธานและกองการประชุมว่า วันที่ 28 ก.ค. ช่วงเช้าจะมีพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาที่ศาลาว่าการจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึง กทม.ด้วย สส.และ สว.เกรงว่าหากมาประชุมวันที่ 27 ก.ค. และการประชุมยืดเยื้อจะไปงานพระราชพิธีวันที่ 28 ก.ค.ไม่ทัน ทำให้ สส.และ สว.อาจไม่มาร่วมประชุมวันที่ 27 ก.ค. องค์ประชุมอาจมีปัญหาได้
“เมื่อพิจารณาแล้ว ควรงดการประชุมรัฐสภาวันที่ 27 ก.ค.ไปก่อน แต่จะไปประชุมวันใด จะสั่งการบรรจุระเบียบวาระต่อไป ขณะที่ในวันที่ 26 ก.ค. ยังคงมีการประชุมสัมมนา สส.ตามกำหนดการเดิม ในเวลา 08.30 น.”
ขณะเดียวกัน ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่มีวาระพิจารณารายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2564 ซึ่งช่วงหนึ่งนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.ได้อภิปรายกรณีผู้ตรวจการฯ มีมติส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าผู้ตรวจการฯ ไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง เพราะข้อมูลที่ยื่นเป็นเพียงข้อมูลด้านเดียว และตอนนี้ที่มีการพูดว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญนั้น ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น
ซัดผู้ตรวจฯ ทำเกินหน้าที่
“ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และเน้นประเด็นว่าข้อบังคับใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ทำให้สังคมเข้าใจผิด สับสน ทั้งที่รายละเอียดของการประชุมนั้นไม่ใช่ อีกทั้งยังมีคนวิจารณ์ประธานรัฐสภาเสียๆ หายๆ ว่าไม่กล้าตัดสินใจทั้งที่ประธานรัฐสภาทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับแล้ว ดังนั้นผมขอให้เอาข้อมูลไปบอกผู้ตรวจการแผ่นดินว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ครบถ้วน และสิ่งที่ทำนั้นท่านไม่มีสิทธิ์ยื่นด้วยซ้ำ” นายเสรีกล่าว
นายเสรีกล่าวต่อว่า เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินทำไปแล้ว โดยเรื่องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา ซึ่งไม่ก้าวล่วง แต่เป็นห่วงการทำงานหลังจากนี้ว่าจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ คุ้มค่ากับงบประมาณที่จัดสรรให้แต่ละปีหรือไม่ การทำงานต้องไม่ทำตามกระแส หรือมีคนยื่น 17 เรื่องเป็นกระแสกดดันให้ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าอาจกลัวทัวร์ลง แต่การทำงานต้องมีมาตรฐาน เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและยึดมั่นรัฐธรรมนูญที่แบ่งอำนาจหน้าที่ไว้ เป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ
นายเสรีกล่าวต่อว่า เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ในสภา ใช้ดุลยพินิจของสมาชิกปัจจุบันที่ทำงานร่วมกัน 750 คน การทำหน้าที่ในรัฐสภาเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ เป็นอำนาจอธิปไตยของชาติ ต้องมีดุลถ่วงอำนาจซึ่งกันและกัน ดังนั้นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230 และ มาตรา 231 กำหนดชัดเจนว่าต้องแก้ปัญหาใน 2-3 เรื่องเท่านั้น ไม่มีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจสูงสุดของประเทศคือ มติของรัฐสภา ไม่เช่นนั้นการใช้อำนาจอาจเกิดปัญหากับชาติได้ การตัดสินเรื่องใด ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องกลั่นกรอง ตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรู้ ความสามารถ ว่าเรื่องใดขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือขัดกับหลักแบ่งแยกอำนาจหรือไม่
“ผู้ตรวจการฯ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรัฐสภาหยุดการเลือกนายกฯ รอบ 3 ไว้ก่อน จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะบ้านเมืองต้องมีนายกฯ ต้องมีรัฐบาล ผู้ตรวจการแผ่นดินทำนั้นทำให้บ้านเมืองเสียหาย ผมไม่ห้ามการใช้ดุลยพินิจ แต่ขอติงว่ากรณีที่ขอให้รัฐสภาไม่ทำหน้าที่ต่อนั้น ไม่ใช่งานของผู้ตรวจการแผ่นดิน และหากจะบอกว่าเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกละเมิด มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพโดยตรงของประชาชน”
นายทิฆัมพร ยะลา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการฯ ชี้แจงว่า จากการทำงานของผู้ตรวจการฯ ที่ผ่านมา มีการประเมินชี้วัดต่างๆ ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าประเมินผลงานอยู่ที่ 62% ถือว่าสูงสุดในองค์กรอิสระ และเป็นพยานยืนยันว่าทำงานมีประสิทธิภาพ ส่วนการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ตรวจการฯ พิจารณาบนข้อกฎหมาย ระเบียบและปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าคำร้องที่ยื่นนั้นมีองค์ประกอบครบถ้วน ส่วนเรื่องที่ขอให้ชะลอเลือกนายกฯ นั้น มองว่าหากหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อปฏิบัติตามมติรัฐสภาขัดหรือแย้งอาจมีผลเสียกับการเลือกนายกฯ ได้ จึงยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญด้วย ส่วนศาลจะพิจารณาหรือไม่ก็แล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญ
ด้าน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และอาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐานหลายมหาวิทยาลัย ให้ความเห็นทางกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กในเรื่องนี้ว่า คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวน่าจะมีประเด็นต่างๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาและวินิจฉัย ดังนี้ 1.การกระทำของรัฐสภาในการลงมติดังกล่าว ต้องไม่ใช่กรณีที่ต้องห้ามใช้สิทธิยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47
2.คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าว เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 วรรค 3 3.ผู้ร้องเรียนเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองหรือไม่ 4.การกระทำของรัฐสภาในการลงมติดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง หรือไม่ และ 5.มีเหตุที่จะต้องกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัย ด้วยการมีคำสั่งให้รัฐสภายุติการเลือกนายกฯ ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยหรือไม่
แจงคำสั่งศาลใช้ได้แค่ 60 วัน
ดร.ธนกฤตโพสต์ต่อว่า ในการพิจารณาว่ามีเหตุที่จะต้องกำหนดมาตรการชั่วคราวดังกล่าวก่อนมีคำวินิจฉัยหรือไม่ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 71 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาดังนี้ 1.มีเหตุที่จะต้องป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง หรือเพื่อป้องกันความรุนแรงอันใกล้จะถึงหรือไม่ และ 2.คําร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินมีเหตุอันมีน้ำหนักที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้เป็นไปตามคําร้องหรือไม่ นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราว มาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับได้เพียงไม่เกิน 60 วัน นับจากวันที่ศาลกำหนดมาตรการชั่วคราวเท่านั้น
ที่อาคารไทยซัมมิท นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยภายหลังการประชุม สส.ของพรรคว่า การที่เรารอคอยว่าสุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไรต่อไป ทำให้การพิจารณาเรื่องการเลือกนายกฯ อยู่บนความไม่แน่นอน ส่งผลให้การเลือกนายกฯ ช้าออกไป โดยที่สภาไม่สามารถหาทางออกให้กับสังคมได้ พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นในการทำงานของสภา และในการโหวตเลือกนายกฯ ที่ควรจะเป็นครั้งที่ 2 ในการเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ แต่สุดท้ายรัฐสภามีมติตามขัอบังคับที่ 41 ประกอบข้อ 151 ว่าการจะเสนอชื่อนายพิธาซ้ำไม่สามารถทำได้ วันนี้ทุกฝ่ายกระจ่างอย่างชัดเจนว่าการตีความเหล่านั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งมีสังคมบางส่วนที่บอกกับพรรคก้าวไกล ว่าเราควรจะร้องศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราไม่อยากเห็นการเข้ามาแทรกแซงอำนาจของรัฐสภาด้วยศาลรัฐธรรมนูญอีกแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่เราสามารถจัดการกันเองได้ในสภา
"วันนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินก็เห็นว่า การตีความข้อบังคับดังกล่าวเป็นการตีความที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลจึงเสนอทางออกให้สังคมเพื่อฝ่าด่านนี้ หากเราพิจารณาข้อบังคับการประชุมในข้อต่างๆ เราสามารถยื่นญัตติขอให้สภาทบทวนญัตติที่เคยมีไปแล้ว ซึ่งสภาสามารถทำได้ เป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่สภา ที่เราจะต้องมีมติและข้อวินิจฉัยที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ในการประชุมครั้งต่อไป เราจะหารือกับประธานรัฐสภา และยื่นญัตติต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาทบทวน ซึ่งหากสภาเห็นด้วยกับข้อเสนอจะทำให้การเสนอนายกฯ ไม่ต้องผูกพันกับข้อมติเดิมอีกต่อไป ทำให้สามารถเสนอบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ ซ้ำได้" นายรังสิมันต์ระบุ
วันเดียวกัน พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพถึงการไปประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในคราวต่อไป ว่าดูตามภารกิจ
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงกรณีนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎรออกมาระบุว่าการเลือกนายกฯ ก็มีความสำคัญเช่นกัน พล.อ.เฉลิมพลไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว
ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนได้สอบถาม พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ว่าจะไปร่วมประชุมรัฐสภาหรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ได้แต่ทำหน้านิ่งและอมยิ้มเท่านั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูศักดิ์ดิ้นหนัก ลุยล็อบบี้กมธ. ปั้นกม.การเงิน
“นายกฯ อิ๊งค์” บอกไม่ได้จบกฎหมายมา โยน “ชูศักดิ์” ดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญ
‘18บอส’นอนตะรางยาว! สายไหมไม่รอดเจอข้อหา
18 บอสดิไอคอนนอนคุกยาว ดีเอสไอยื่นฝากขังผัด 4 พ่วงแจ้งข้อหาใหม่โทษหนักคุก 10 ปี
อิ๊งค์ข้องใจแสนชื่อเลิก‘MOU44’
“หมอวรงค์” นำกลุ่มคนคลั่งชาติยื่น 104,697 รายชื่อร้องยกเลิกเอ็มโอยู 44
ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’
“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ
ทวีโยงคาร์บ๊องป้องแม้วพักชั้น14
ตามคาด "ทักษิณ" ไม่เข้าชี้แจง กมธ.ปมนักโทษชั้น 14 "ทวี" แจงแทน
‘ทักษิณ-พท.’ยิ้มร่า ศาลยกคำร้องล้มล้างฯ เพื่อไทยเล็งฟ้องเอาคืน
ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง