ดัชนีอุตฯขยับ ท่องเที่ยวหนุน จับตาเอลนีโญ

"ส.อ.ท." เผยท่องเที่ยวหนุน ดัชนีอุตฯ มิ.ย. ขยับขึ้นในรอบ 3 เดือน พร้อมจับตาหนี้ครัวเรือน-ส่งออกยังซบเซา แนะขยายเที่ยวบิน พร้อมเตรียมรับมือเอลนีโญ หวังการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามไทม์ไลน์ใน ส.ค.นี้ รอไม่ไหวหากลากยาว 10 เดือนจะกระทบการลงทุน งบฯ ปี 67 ล่าช้าออกไปอีก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 92.5 ในเดือนพฤษภาคม โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ 

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคก่อสร้างขยายตัวโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และโครงการภาครัฐ นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาท และอัตราค่าระวางเรือที่ลดลงช่วยสนับสนุนภาคการส่งออก แต่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, อาเซียนและยุโรป ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังกดดันราคาพลังงานโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับตัวลดลงจาก 104.3 ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง และความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก รวมถึงวิกฤตภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้ 1.ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้างวด 3/2566 (เดือน ก.ย.-ธ.ค.2566) ลงมาอยู่ที่ 4.25 บาท/หน่วย เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการ และบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

2.เสนอให้ภาครัฐปรับเพิ่มเที่ยวบินและการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถโปรโมตสินค้าไทย ไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

3.เสนอให้ภาครัฐเตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และ 4.ขอให้ภาครัฐดูแลและบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง

นายเกรียงไกรกล่าวด้วยว่า เอกชนกำลังติดตามการจัดตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังคงยืนยันอยากให้เป็นไปตามไทม์ไลน์เดิมคือภายในสิงหาคมนี้ และสิ่งสำคัญคือต้องการรัฐบาลเสียงข้างมากและมีเสถียรภาพ ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม กรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ 8 พรรคผนึกกำลังเพื่อรอให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สิ้นสุดวาระใน 10 เดือนนั้น จะมีผลกระทบต่อการลงทุน แต่จะมากน้อยเพียงใด ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการศึกษาในภาพรวม

 “เอกชนเองก็อยากให้ได้ภายใน ส.ค. หากยิ่งช้าก็ยิ่งกระทบ กรณีให้รอ 10 เดือนนั้นได้มอบหมายให้นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท.ไปศึกษาผลกระทบในทุกด้าน แต่หากถามว่ารอได้ไหมนั้น นักลงทุนแต่ละชาติรอได้ไม่เท่ากัน อย่างนักลงทุนไทยบางส่วนอาจรอได้ 6 เดือนถึง 1 ปี แต่นักลงทุนต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยการเมืองไทยเช่นสหรัฐฯ และยุโรปคงไม่รอ ญี่ปุ่นเองอยู่เมืองไทยจนเข้าใจก็อาจรอได้ ดังนั้นเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องศึกษา เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยเองก็เปราะบางอยู่แล้วจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องเร่งเข้ามาแก้ไขคือ ปัญหาเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ซึ่งกระทบต่อการส่งออกของไทยที่ปีนี้มีแนวโน้มเติบโต 0 ถึง -2% แม้ว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว แต่หากการเมืองไม่นิ่งจนนำไปสู่การประท้วง อาจฉุดความเชื่อมั่นทำให้นักท่องเที่ยวไม่มาปลายปีที่เป็นไฮซีซัน ซึ่งนั่นก็จะกระทบเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ต้องเร่งเตรียมพร้อม รวมไปถึงค่าครองชีพประชาชนในประเทศที่ยังคงสูง

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคธุรกิจอยากเห็นความมีเสถียรภาพทางการเมือง กรณีที่เสนอแนะให้รอ 10 เดือนคงจะรอไม่ไหว เพราะเศรษฐกิจไทยจะต้องมีมาตรการมาช่วยขับเคลื่อน ที่ต้องอาศัยงบประมาณโดยเฉพาะงบปี 2567 หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้างบก็จะยิ่งล่าช้าออกไป ทั้งนี้มองว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ได้ ขอให้มีเสถียรภาพและเข้าใจเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง