สว.ขีดเส้นมีก.ก.ร่วมไม่โหวต

เพื่อไทยส่ง "สุริยะ" นำทีมเจรจาดีลสภาสูง สรุปผล 24 ก.ค. ก่อนแถลงผล ส.ว.ประสานเสียงปิดสวิตช์ก้าวไกล ยินดีโหวตให้หาก พท.สลัดทิ้ง งานเข้า! 6 ส.ว.สายหนุนพิธา "เรืองไกร" ร้อง "ป.ป.ช." ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน

ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 23   กรกฎาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการพูดคุยขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่าได้ส่งมอบทีมเจรจา ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ไปพูดคุยขอเสียงสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.แล้ว โดยพูดคุยเป็นตัวบุคคล ไม่สามารถคุยแบบหมู่คณะได้  เนื่องจาก สว.มี 250 ต้องให้เกียรติ สว. ด้วย อย่างไรก็ตาม วันที่ 24 ก.ค. ทีมทำงานจะมาสรุปร่วมกันอีกครั้ง จากนั้นพรรคเพื่อไทยจะแถลงผลการหารือกับ สว. โดยจะกำหนดทิศทางอีกครั้งว่าจะแถลงร่วมกับ สว.หรือไม่ แต่หากจะมีการแถลงร่วมกัน คงใช้สถานที่รัฐสภา เพื่อความสะดวกของ สว.

ทางด้าน นายสมชาย แสวงการ สว. ในฐานะเลขานุการวิปวุฒิสภา ปฏิเสธได้รับการประสานเพื่อพูดคุยจากพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 24 ก.ค. พร้อมระบุว่า ไม่จำเป็นที่พรรคเพื่อไทยจะต้องติดต่อมาเพื่อพูดคุยกับ สว. เพราะหากเปรียบเป็นงานแต่งงาน สว. เป็นเพียงแขกรับเชิญ ดังนั้น ขอให้เจ้าบ่าว พรรคเพื่อไทย ไปตกลงให้ได้ว่าจะแต่งงานกับใคร แต่หากดูจากการเชิญพรรคการเมืองไปพูดคุย พบว่าเสียงน่าจะเกิน 400 เสียงแล้ว ไม่น่าจะต้องอาศัยเสียงของ สว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ส่วนหลายพรรคการเมืองที่มาพูดคุยตั้งเงื่อนไขว่าต้องไม่มีพรรคก้าวไกล จึงต้องพึ่งเสียง สว.นั้น นายสมชายเสนอว่า "หากยังไม่พร้อม สามารถขอเลื่อนการประชุมจากวันที่ 27 ก.ค.ออกไปก่อนก็ได้ โดยช่วงต้นเดือน ส.ค. น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะหากไม่พร้อมเสนอเข้ามา งานแต่งงานก็ต้องล่มอีก อย่ามาใช้ สว. เพราะที่ผ่านมา สว.ก็เหนื่อยที่เป็นเหยื่อ ที่ให้ไปโหวตคว่ำแทน อีกทั้ง สว.กลายเป็นแพะ ถือว่าไม่เป็นสุภาพบุรุษ คุณจะไม่แต่งกับเจ้าสาวชื่อก้าวไกลนั้นแล้ว เจ้าบ่าวเพื่อไทยก็บอกไป แต่กลับมาให้ สว.บอกเลิกแทน บอกว่าไม่เหมาะสม ถ้าไม่พร้อมอย่าแต่ง ไปตกลงกันให้เรียบร้อย จะได้ม้วนเดียวจบ เพราะการเลือกนายกฯ ไม่ใช่การซื้อของตามห้างสรรพสินค้า"

นายสมชายยังได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "เพื่อไทยจัดขันหมากรัฐบาลใหม่ชวนพรรค 2 ลุง 1 หนู ยิ้มกันหน้าระรื่น ไฉนหม้ายขันหมากก้าวไกล ยังขอทนร่วมรัฐบาลสูตรเหลือง+แดง=น้ำเงิน มีก้าวไกลไม่มีลุง #มีลุงไม่มีก้าวไกล #ด้านไว้ก่อนพ่อสอนไว้"

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับการประสานจากพรรคเพื่อไทยที่จะเข้าพูดคุย นอกเหนือจากทราบผ่านสื่อที่ขอความร่วมมือจาก สว. มา แต่ส่วนตัวขอย้ำจุดยืนเดิมว่า จะไม่สนับสนุนพรรคที่มีนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 ดังนั้น ถ้าพรรคเพื่อไทยกล้าสลัดทิ้งพรรคก้าวไกล ยินดีที่จะโหวตสนับสนุน

สภาสูงย้ำปิดสวิตช์ก้าวไกล

นายจเด็จ อินสว่าง สว. ที่ลงมติโหวตไม่เห็นชอบให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงจุดยืนของตัวเองในการโหวตนายกฯ วันที่ 27 ก.ค.นี้ว่า จุดยืนยังเหมือนเดิมคือ เคารพครรลองของระบอบประชาธิปไตย หากพรรคการเมืองใดรวบรวมเสียงข้างมากในสภาได้คือเกิน 250 เสียงขึ้นไป และไม่มีพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 จะโหวตให้

เมื่อถามว่า หากวันที่ 27 ก.ค.นี้ ถ้ายังมีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมด้วยในการจัดตั้งรัฐบาล จะไม่โหวตเห็นชอบแคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทยใช่หรือไม่ นายจเด็จตอบว่า “ก็จะโหวตไม่เห็นชอบ"

นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร สว. ที่เคยลงมติไม่ให้ความเห็นชอบนายพิธา  กล่าวว่า สถานการณ์หลายอย่างตอนนี้เปลี่ยนไปมากจากการโหวตนายกฯ สองครั้งที่ผ่านมา แต่ที่ต้องดูก็คือพรรคก้าวไกล จะมีการประกาศยกเลิกการเสนอแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ โดยหากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลโดยยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมด้วย และจนถึงวันที่ 27 ก.ค. หากพรรคก้าวไกลไม่ยอมถอย ไม่ประกาศออกมาว่าจะไม่แก้ไขมาตรา 112 ตนเองคงต้องรักษาจุดยืนเดิมแบบตอนโหวตครั้งแรกคือคงไม่โหวตให้ ซึ่งรอดูถึงวันประชุม เพราะมีข่าวว่าก้าวไกลเขาอาจจะยอมถอยเรื่อง 112 และกำลังจะไปคุยกับเพื่อไทยอยู่ แต่หากเขาไม่ถอยคงไม่โหวตให้

พล.อ.สนั่น มะเริงสิทธิ์ สว. กล่าวหลังถูกถามว่า หากการโหวตนายกฯ 27 ก.ค.นี้ ยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมรัฐบาลด้วย จะโหวตไม่เห็นชอบเหมือนเดิมหรือไม่ โดยตอบว่า “ยืนยันเหมือนเดิม จุดยืนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง”

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สว. กล่าวว่า ต้องดูหน้างานวันประชุม 27 ก.ค.นี้ว่า จะมีการเสนอชื่อบุคคลให้ที่ประชุมพิจารณาโหวตเป็นนายกฯ กี่คน ซึ่งหากในวันดังกล่าว พรรคก้าวไกลเป็นผู้ลุกขึ้นเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย เพื่อแสดงว่า 8 พรรคการเมืองยังเหนียวแน่น มัดกันเป็นข้าวต้มเหนียวแน่น มีแนวโน้มที่ สว.จะงดออกเสียง แต่หากเป็นการเสนอชื่อจาก สส.ที่ไม่ใช่พรรคก้าวไกล สถานการณ์จะออกมาอีกแบบหนึ่งทันที

วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีต สว. เปิดเผยว่า จากการย้อนไปตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ สว. ที่ยื่นไว้กรณีเข้ารับตำแหน่ง สว. เมื่อวันที่ 24 พ.ค.62 หลายราย พบว่ามี 6 รายที่ควรขอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่าบัญชีที่ยื่นไว้นั้นเข้าข่ายตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 114 วรรคหนึ่ง หรือไม่ และมีการนำรายได้ที่แจ้งหรือไม่ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช. ไปชำระภาษีให้แก่กรมสรรพากรโดยถูกต้องหรือไม่

ยื่น ปปช.ฟัน '6 สว.หนุนพิธา'

นายเรืองไกรกล่าวว่า วันนี้ (23 พ.ค.) ได้ส่งหนังสือไปถึง ป.ป.ช.แล้วทางไปรษณีย์ EMS โดยทั้ง 6 รายมีข้อเท็จจริงที่ขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ดังนี้ 1.นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ยื่นบัญชีฯ แจ้งในส่วนของคู่สมรสว่า มีรายได้ค่าเช่าอาคาร 300,000 บาทต่อปี โดยในบัญชีโรงเรือน มีรายการเดียวที่แจ้งเป็นของคู่สมรส คือ คอนโดมิเนียม ขนาด 50 ตารางเมตร มูลค่า 3,000,000 บาท กรณีดังกล่าว จึงขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่ารายได้ค่าเช่าอาคาร 300,000 บาทต่อปี มาจากคอนโดมิเนียมดังกล่าวหรือไม่ และรายได้ค่าเช่าอาคารดังกล่าว มีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

2.นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล ยื่นบัญชีฯ ในส่วนของตนเองมีรายได้ค่าเช่าช่วงต่อ 240,000 บาทต่อปี และส่วนของคู่สมรสแจ้งว่า มีรายได้จากการเปิดคลินิก 500,000 บาทต่อปี โดยไม่มีการแสดงรายจ่ายค่าเช่าไว้แต่อย่างใด และของคู่สมรสไม่พบการแจ้งรายการอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบคลินิก ไว้ในรายการทรัพย์สินอื่น จึงขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า ทรัพย์สินที่เช่าคืออะไร รายจ่ายค่าเช่าควรมีหรือไม่ และสถานที่และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบคลินิก ควรมีหรือไม่ และรายได้ค่าเช่าช่วงต่อ กับรายได้จากการเปิดคลินิก มีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

3.พล.ต.ท.จิตติ รอดบางยาง แจ้งว่า มีรายได้เงินประจำตำแหน่ง 854,760 บาทต่อปี เงินเพิ่ม 507,960 บาทต่อปี บวกแล้วได้ 1,362,720 บาท แต่แจ้งรายได้รวม 1,425,600 บาทต่อปี จึงมีผลต่างในส่วนรายได้ที่แตกต่างกัน 62,880 บาทต่อปี และในส่วนของคู่สมรสแจ้งว่า มีรายได้เงินประจำตำแหน่ง 450,000 บาทต่อปี แต่แจ้งรายได้รวม 2,250,000 บาทต่อปี จึงมีผลต่างในส่วนรายได้ 1,600,000 บาท จึงขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่าผลต่างของรายได้ 62,880 บาท และ 1,600,000 บาทคืออะไร นอกจากนี้ ขอให้ตรวจสอบรายการหนี้สินอื่นของคู่สมรสที่แจ้งไว้ 2 รายการ รวม 35,000,000 บาท มีดอกเบี้ยจ่ายหรือไม่ และมีการแจ้งรายจ่ายค่าดอกเบี้ยหรือไม่

4.นายพิศาล มาณวพัฒน์ แจ้งว่า มีรายได้ สว. 1,362,720 บาทต่อปี และรายได้บำนาญ 612,867.60 บาทต่อปี โดยไม่ได้แจ้งรายจ่ายไว้แต่อย่างใด จึงขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่ามีรายจ่ายใดที่ควรแจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบหรือไม่ หากไม่มีรายจ่ายเลย มีใครออกค่าใช้จ่ายในแต่ละปีให้หรือไม่ จำนวนเท่าใด (ทั้งนี้ นายพิศาล มาณวพัฒน์ แจ้งว่า ไม่มีคู่สมรส) 5.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ แจ้งว่า มีรายได้ สว. 1,495,641.72 บาทต่อปี และรายได้บำนาญ 578,193.60 บาทต่อปี โดยแจ้งว่ามีคู่สมรส แต่กลับไม่แจ้งรายได้และรายจ่ายของคู่สมรสไว้เลย จึงขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่าคู่สมรสมีรายได้และรายจ่ายใดที่ควรแจ้งให้ ป.ป.ช. ทราบหรือไม่

และ 6.นางประภาศรี สุฉันทบุตร แจ้งว่า มีรายได้ประจำเป็นเงินเดือนจาก บจก.โรงพยาบาลมุกดาหาร 3,600,000 บาทต่อปี รายได้ค่าเช่าที่ดิน ต.สำราญ อ.เมืองฯ จ.มุกดาหาร 480,000 บาทต่อปี และรายได้จากเงินปันผลจากกิจการ 8,422,579 บาทต่อปี รวมรายได้ 12,502,579 บาทต่อปี แต่กลับไม่มีการแจ้งรายได้จากตำแหน่ง สว.ไว้ และในส่วนของรายจ่าย แจ้งค่าใช้จ่ายทางภาษี 678,500 บาท จึงขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่า ค่าใช้จ่ายทางภาษี 678,500 บาท สอดคล้องกับรายได้หรือไม่ เพราะรายการเงินปันผลจากกิจการ ถ้าถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละสิบตามประมวลรัษฎากร น่าจะเท่ากับ 842,257.90 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายทางภาษีที่แจ้งไว้จะครบถ้วนหรือไม่ นอกจากนี้ ในรายการสิทธิและสัมปทาน ซึ่งมีแจ้งไว้ 2 รายการ คือ สิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุของตนเอง รวม 63,580,000 บาท และสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุของคู่สมรส รวม 30,505,000 บาท ซึ่งสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุของตนเอง ในหน้าบัญชีรวมกลับแจ้งไว้ 67,321,600 บาท เกิดผลต่าง 3,741,600 บาท จึงขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า การแจ้งรายการสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หรือมีการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง