ก้าวไกลวัดใจ‘พท.’ ‘ชัยธวัช’โยนปมเขี่ยทิ้ง/ชลน่านปูด3สูตรคุย‘ภท.’ประเดิม

"ก้าวไกล" อ้างเปิดทางประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย ส่งไม้ "เพื่อไทย" ตั้งรัฐบาล "มติ 8 พรรคร่วมตั้ง รบ."  วาง 3 แนวทางหาเสียงหนุนโหวตนายกฯ   ให้สิทธิ์ "พท." คุยพรรคอื่นได้อิสระ "ชลน่าน" บอกพร้อมรับฟัง "ส.ว." ลดเงื่อนไขม.112 แบะท่าหากดีล "ส.ว.-ส.ส." ถึงทางตันอาจไม่มีบางพรรคอยู่ในสมการ   "ภูมิธรรม" ย้ำ 27 ก.ค.รอบเดียวต้องจบ  เล็งเดินสายคุย "ภท." 22 ก.ค.นี้ "ชัยธวัช" ยันหากเพื่อไทยดึงสองลุงร่วม “ก.ก.” ไม่สังฆกรรมด้วย "ภท.-พปชร.-รทสช.-ปชป." ผนึกกำลังแน่น ลั่นไม่ร่วมพรรคแก้ 112 เด็ดขาด "ส.ว.สมชาย" แนะทำให้ชัดเจนก่อนโหวตนายกฯ

มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจตลอดทั้งวันที่ 21 ก.ค. ในการหาแนวทางโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ภายหลังนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นัดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 27 ก.ค.นี้ เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาวาระเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่ง

ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เวลา 11.00 น. นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก.ก.  แถลงความคืบหน้าการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลว่า ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา  สถานการณ์ชี้ชัดว่าทุกองคาพยพของฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งการเมือง จารีต ทุนผูกขาด และสถาบันองค์กรต่างๆ ที่เป็นบริวารแวดล้อมทั้งหมด ไม่ยอมให้พรรคก.ก.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเอาเรื่องมาตรา 112 มาบังหน้า และอ้างความจงรักภักดีมาปะทะกับการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังตัดสิทธิ์ทางการเมืองของแกนนำพรรค และยุบพรรคก้าวไกลให้ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ฝืนมติมหาชน ไม่โหวตเลือกนายกฯ

 นายชัยธวัชกล่าวว่า การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก.และแคนดิเดตนายกฯ ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ ไม่ได้หมายความว่าภารกิจในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อพลิกขั้วอำนาจรัฐบาลจะไม่สำเร็จไปด้วย เป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะพรรคอันดับ 1 ยังคงอยู่ นั่นคือการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิมให้สำเร็จ สิ่งสำคัญในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องนายพิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แต่คือเรื่องประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่  หยุดการสืบทอดอำนาจได้หรือไม่

"เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรค ก.ก.จะเปิดโอกาสให้ประเทศ ให้พรรคอันดับ 2 คือพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพันธมิตร 8 พรรค ที่เราได้เคยทำเอ็มโอยูร่วมกันเอาไว้ ดังนั้นในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป พรรค ก.ก.จะเสนอชื่อแคนดิเดตจากพรรค พท.เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เช่นเดียวกับที่พรรค พท.เคยสนับสนุนพรรค ก.ก." นายชัยธวัชกล่าว

ถามว่า กรณีเงื่อนไขการแก้ไข ม.112 จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถร่วมกับพรรค ก.ก.​ต่อไปใช่หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับพรรค พท.​ หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่บทบาทของพรรค พท.เป็นหลักในการพูดคุยกันถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันหลังจากนี้

เมื่อถามว่า พรรค พท.​แจ้งมาหรือยังว่าจะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรค พท.เป็นนายกฯ​ นายชัยธวัชกล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่มีการหารือเบื้องต้น ยังไม่มีการสรุปชัดเจนว่าเป็นอย่างไร หลังจากนี้อยู่ที่พรรค พท.จะเสนอแคนดิเดตคนไหนในการประชุมรัฐสภาครั้งหน้า

ซักว่า ยังยืนยันจะจับมือกับพรรค พท.ตั้งรัฐบาลใช่หรือไม่ เลขาธิการพรรค ก.ก.กล่าวว่า ยืนยันตามแถลง เจตจำนงของประชาชนผ่านการเลือกตั้งชัดเจน แม้ตอนนี้จะไม่สามารถผลักดันนายพิธาเป็นนายกฯ สำเร็จ แต่ภารกิจสำคัญที่เหลืออยู่คือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ตามเจตจำนงของประชาชนที่หวังจะเห็นการยุติการสืบทอดอำนาจขั้วรัฐบาลเดิม

ก.ก.ส่งไม้ 'พท.' ตั้งรัฐบาล

พอถามว่า ยังมีเงื่อนไขอยู่ใช่หรือไม่ในเรื่องของ 2 ลุงตามที่พรรคเคยประกาศไว้  เลขาธิการพรรค ก.ก.กล่าวว่า เป็นจุดยืนที่ชัดเจนของก้าวไกล​ ชัดเจนโดยไม่ต้องมีการพูดคุยกัน

ถามว่าหากมีลุง พรรค ก.ก.​จะต้องถอยมาเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ เลขาธิการพรรค ก.ก.กล่าวว่า สิ่งที่เราได้สัญญาพูดคุยกับประชาชนทั่วประเทศในการเลือกตั้ง เราคงไม่สามารถเสียสัจจะเรื่องนี้ได้  ต้องรอดูก่อน อย่าเพิ่งรีบสรุป คิดว่าพรรค พท.คงจะนำมาพูดคุยกับ ก.ก.หลังจากนี้

เลขาธิการพรรค ก.ก.กล่าวถึงกรณีการยุบพรรค ก.ก.ว่า ตอนนี้มีคดีที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ 2 คดี คือหุ้นไอทีวีและคดีล้มล้างการปกครองจากนโยบายแก้ไข ม.112 ซึ่งทั้งสองคดีไม่ได้มีการร้องให้ยุบพรรค แต่ประมาทไม่ได้ แต่ทางพรรคมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ต้องเตรียมการต่อสู้ในทางกฎหมาย เพราะหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้อยู่ในระบบนิติรัฐปกติ องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ถูกตั้งคำถามตลอดเวลาในเรื่องหลักเกณฑ์ การเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่

ต่อมาพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกแถลงการณ์รับมอบภารกิจเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีทั้งหมด 4 ข้อ ระบุว่า 1.พรรคเพื่อไทยขอขอบคุณพรรคก้าวไกล ที่ส่งมอบภารกิจในการจัดตั้งรัฐบาลให้กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นไปตามวิถีทางทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้เงื่อนไขของการร่วมรัฐบาลจาก 8 พรรคการเมืองเดิม ตามที่พรรคก้าวไกลได้แถลงต่อสื่อมวลชนไปแล้ว เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะได้หารือกับ 8 พรรคการเมืองเดิม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

2.พรรคเพื่อไทยเห็นว่าภายใต้ข้อตกลงของ 8 พรรคการเมืองเดิม พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคสามารถรวมเสียงได้ 312 เสียง  ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาไม่เห็นชอบเนื่องจากมีเงื่อนไขสำคัญที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงส่งผลให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

3.พรรคเพื่อไทยจึงมีความจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้เสียงเกินกว่า 375 เสียง เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา และจากพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ในที่สุด

4.หากผลการดำเนินเป็นประการใด  จะได้แจ้งให้ 8 พรรคการเมืองและสาธารณชนทราบต่อไปโดยเร็ว

ที่พรรคเพื่อไทย เวลา 13.30 น. แกนนำพรรค พท. ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค, นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ร่วมกันแถลงข่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า พรรค พท.ขอขอบคุณพรรค ก.ก.ที่ส่งมอบภารกิจในการจัดตั้งรัฐบาลให้กับพรรค พท. ซึ่งเป็นไปตามวิถีทางทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้เงื่อนไขของการร่วมรัฐบาลจาก 8 พรรคการเมืองเดิม ตามที่พรรค ก.ก.ได้แถลงต่อสื่อมวลชนไปแล้ว เบื้องต้นพรรค พท.จะได้หารือกับ 8 พรรคการเมืองเดิม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

"พท.เห็นว่าภายใต้ข้อตกลงของ 8 พรรคการเมืองเดิม สามารถรวมเสียงได้ 312 เสียง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาไม่เห็นชอบ เนื่องจากมีเงื่อนไขสำคัญที่เกี่ยวกับ ม.112 จึงส่งผลให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พท.จึงมีความจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้เสียงเกินกว่า 375 เสียง เบื้องต้นพรรค พท.จะขอเสียงสนับสุนนจาก ส.ว.และจากพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ในที่สุด หากผลการดำเนินเป็นประการใด จะได้แจ้งให้ 8 พรรคการเมืองและสาธารณชนทราบต่อไปโดยเร็ว" นพ.ชลน่านกล่าว

 ถามว่า จะต้องทบทวนเอ็มโอยูที่ได้ทำร่วมกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เอ็มโอยูเป็นบันทึกความเข้าใจระหว่าง 8 พรรคร่วม ซึ่งระหว่างนี้เรากำลังอยู่บนพื้นฐานการพูดคุยระหว่าง 8 พรรค ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะอยู่ในการประชุมหารือ เพราะเป้าหมายอยู่ที่การเพิ่มเสียงให้ได้ 375 เสียง ฉะนั้นหนทางใดที่จะต้องใช้เพื่อการเพิ่มเสียงได้ และไม่สอดคล้องกับเอ็มโอยู ก็จะต้องมาหารือกัน

ลั่น 27 ก.ค.ต้องได้นายกฯ

เมื่อถามว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 27 ก.ค. จะมีการเสนอชื่อนายเศรษฐาเลยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นกระบวนการที่พรรค พท.ต้องมาดำเนินการภายในพรรค ซึ่งส่วนหนึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคได้ทำหน้าที่เรื่องนี้ ได้มอบหมายให้ตนในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นผู้ดำเนินการแทน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมพรรคในวันที่ 26 ก.ค. เวลา 17.00 น.

ซักว่า กลัวว่าการโหวตจะมีผลออกมาซ้ำรอยเดิมหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นสิ่งที่เรานำมาเป็นโจทย์หลักในการดำเนินการแสวงหาเสียงเพิ่ม ดังนั้นกลไกที่จะใช้ในการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้มาซึ่ง 375 เสียง ก็ต้องมีการเจรจากันทั้งหมด

ถามว่า มาตรา 112 ของพรรค ก.ก.จะเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่  นายภูมิธรรมกล่าวว่า วันนี้จะหารือ ถือเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อให้เห็นปัญหาตรงกันว่าขณะนี้ที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้คืออะไร มีมาตรา 112 เป็นประเด็นหรือไม่ รวมทั้งจะได้ความเห็นจาก 8 พรรคร่วมว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งสำคัญต้องมองว่ามีประเด็นปัญหาอะไร และต้องฝ่าปัญหาอย่างไร

"ยืนยันว่าเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อออกจากสภาพเดิมๆ เรารอมา 2 เดือนแล้ว เราจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ เป้าหมายขอเราคือจะต้องได้นายกฯ ในวันที่ 27 ก.ค.นี้ให้ได้" นายภูมิธรรมกล่าว

เมื่อถามว่า โจทย์ของพรรค ก.ก.ที่แถลงวันนี้คือประชาชนต้องการเปลี่ยนขั้ว  หากเสียงไม่พอจะทำความเข้าใจกับพรรคก.ก.อย่างไรในการไปหาเสียงเพิ่มจากฝ่ายต่างๆ นายภูมิธรรมกล่าวว่า คงต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไร หากยืนที่ 312 เสียงเหมือนเดิม เราไม่ขัดข้อง แต่ต้องบอกให้ชัดเจนว่าจะหาเสียงเพิ่มจากไหน

 “วันนี้โจทย์เปลี่ยน เราคงต้องทำหน้าที่ใหม่ เพราะคราวที่แล้วเราทำหน้าที่หาเสียงให้พรรค ก.ก.ในฐานะแกนนำ แต่วันนี้ต้องคุยใหม่ เราจะต้องเริ่มการพูดคุยอย่างเป็นทางการในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” นายภูมิธรรมกล่าว

ถามว่า หากโหวตชื่อนายเศรษฐาไม่ผ่าน พรรค พท.จะดำเนินการอย่างไรต่อ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เราตั้งใจจะทำให้ผ่าน จึงไม่มีคำว่าถ้า และต้องทำอย่างสุดความสามารถให้บรรลุ เราต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ในวันที่ 27 ก.ค.นี้

จากนั้นเวลา 15.00 น. พรรคร่วมจัดรัฐบาลทั้ง 8 พรรค มีการประชุมหารือถึงทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทย โดยมีแกนนำทั้ง 8 พรรคเข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุมกว่า 1.30 ชั่วโมงแกนนำ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย,  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, นายทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ,  พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พรรคเสรีรวมไทย, นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง, นายวรวีร์ มะกูดี รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ และตัวแทนจากพรรคพลังสังคมใหม่ ร่วมกันแถลงผลการหารือ

นพ.ชลน่านกล่าวว่า หลังจากพรรคก.ก.ในฐานะแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้แถลงการณ์และส่งมอบภารกิจให้พรรคอันดับที่ 2 คือพรรค พท.เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เราได้ปรึกษาหารือถึงทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้ได้รัฐบาลของฝ่ายเสรีประชาธิปไตย

วาง 3 แนวทางขอเสียงหนุน

โดยในที่ประชุมมีมติดังนี้ ในการประชุมรัฐสภา วันที่ 27 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ประธานรัฐสภาได้บรรจุระเบียบวาระในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ประชุมมีมติให้พรรค พท.ส่งผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อ  โดยพรรค ก.ก.เป็นผู้เสนอชื่อให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นร่วมกัน ให้เป็นไปตามความคาดหวังของพี่น้องประชาชน 27 ล้านเสียงที่เลือกเรามา

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในส่วนวิธีการที่จะได้มาซึ่งเสียงสนับสนุน ที่ประชุมได้เสนอแนวทางดังต่อไปนี้ 1.พวกเรา 8 พรรคร่วม ซึ่งประกอบด้วย 312 เสียง เราจะดำเนินการแสวงหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ให้ได้ครบจำนวนที่ต้องเติมให้ถึง 375 เสียง หรือคืออีก 63 เสียง โดยอาจจะมีเงื่อนไขที่ ส.ว.ได้ตั้งไว้ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรค พท.จะต้องไปพูดคุย ในกรณีที่ ส.ว.ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลดเงื่อนไขในมาตรา 112 ทางพรรค พท.จะรับฟัง แล้วนำมาพูดคุยกับพรรค ก.ก.และที่ประชุมพรรคร่วมต่อไป

2.กรณีที่ไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ได้เพียงพอ จะให้สิทธิ์พรรค พท.ดำเนินการพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่น ตามที่พรรค พท.เห็นควร เพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ในฝ่ายของสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคการเมืองที่จะไปพูดคุยนั้น ที่ประชุมให้เป็นเสรีภาพของพรรค พท.ในการพิจารณาดำเนินการ และ 3.แนวทางอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ที่ประชุมได้ให้สิทธิ์พรรคเพื่อไทยในการพิจารณาดำเนินการ

"นี่คือแนวทางที่เราจะได้มาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาล 375 เสียง ในการประชุมวันที่ 27 ก.ค.นี้" นพ.ชลน่านกล่าว

ถามถึงกระแสข่าวจะให้พรรค ก.ก.ลดเพดานการแก้ไขมาตรา 112 นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในที่ประชุมร่วมได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ โดยมีแนวทางว่าพรรค ก.ก.อยากได้รายละเอียดว่าเงื่อนไขในการลดเพดานนั้นคืออะไร ซึ่งมอบให้พรรค พท.ไปประสานและพูดคุยกับ ส.ว.แต่ละท่านว่าต้องการให้ลดอะไร และนำไปพิจารณาต่อไป

นายชัยธวัชกล่าวเสริมว่า พรรค ก.ก.ต้องให้เวลาพรรค พท.ไปพูดคุยกับ ส.ว.ว่ารูปแบบใดที่จะปลดล็อกความไม่สบายใจของทุกท่าน และแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลหลังปลดล็อกจะเป็นอย่างไร เพื่อให้พรรค ก.ก.นำไปพิจารณาภายในพรรค

"ขอยืนยันว่าเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ถูกใช้เป็นแค่ข้ออ้าง แต่เป้าหมายสูงสุดที่เราอยากจะเห็นตามเจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ต้องการอยากจะเห็นการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล เราในฐานะที่ได้รับเสียงมาเป็นที่ 1 เราจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ตอนนี้โดยมารยาท ต้องมอบหมายบทบาทหลักให้พรรค พท.ในการบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ ซึ่งพรรค พท.คงจะต้องไปพูดคุยกับ ส.ว.ว่าจะมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม" นายชัยธวัชกล่าว

ถามต่อว่า ท่าทีของพรรคภูมิใจ​ไทย ​ ประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชา​รัฐ ที่จะไม่ร่วมรัฐบาลถ้ามีพรรคก้าวไกลอยู่ด้วย นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นแนวทางอื่นนอกเหนือ 8 พรรคร่วม ซึ่งให้สิทธิ์กับพรรคการเมือง​เพื่อไทยในการพิจารณาว่าจะทำอย่างไร

ซักว่าจะเอาเสียง ส.ว.เป็นหลักใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นทางเลือกที่ 1 และ 2 คู่ขนาน คือหาคะแนนจาก ส.ส.และพรรคการเมือง​การเมืองอื่น ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต้องพูดคุย เมื่อถามว่าพรรคการเมืองอื่นที่จะโหวตให้จะมีเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นรายละเอียดที่ต้องพูดคุยกัน ถ้าพรรค​การเมืองหนึ่งประกาศว่ายินดียกคะแนนโดยไม่ร่วมรัฐบาล ก็จะเป็นมิติใหม่ของการเมืองไทย

ถึงทางตันส่อตัดทิ้งบางพรรค

พอถามว่า ในวันที่ 27 ก.ค.ที่จะโหวต​นายกฯ ​นั้น พรรค พท.จะเสนอชื่อเพียงคนเดียวหรือไม่ หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า จะเสนอเพียง 1 ท่าน โดยจะประกาศรายชื่อในวันที่ 26 ก.ค.นี้ และมั่นใจว่าในวันโหวตนายกรัฐมนตรี​นั้น เราจะได้เสียงเกิน 375 เสียง

"เรายังดำเนินการตามเอ็มโอยู 8 พรรคร่วมอยู่ เมื่อไปดำเนินการแล้วอะไรที่จำเป็นต้อง​เปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน อย่างบางเรื่องที่เขียนในเอ็มโอยูไม่ตรงก็ต้องมีการปรับแก้" หัวหน้าพรรค พท.ระบุ

เมื่อถามว่า หากการดำเนินการในแนวทางที่ 1 และ 2 ไม่สำเร็จจะทำอย่างไรต่อไป นพ.ชลน่านกล่าวว่า คงต้องใช้แนวทางที่ 3 ซึ่งไม่ใช่ทางเลือกร่วมกันของ 8 พรรคร่วม โดยอาจจะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งอยู่ในสมการนี้ ซึ่งเราจะทำในแนวทางที่ 1 และ 2 ให้สำเร็จก่อน

ถามว่า มีการพูดคุยในเงื่อนไขมีเราไม่มีลุงหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยกัน ยังตอบไม่ได้ เพราะเป็นทางเลือกที่ต้องแสวงหาให้ได้

นายชัยธวัชให้สัมภาษณ์หลังการแถลงข่าวถึงกรณีหากพรรค พท.มีการต่อสายฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้มาร่วมจะคิดอย่างไรว่า พรรค ก.ก.ชัดเจนอยู่แล้ว มีลุงไม่มีเรา เพียงแต่ว่ายังไม่มีการนำเรื่องนี้มาคุยกัน

ถามว่า แสดงว่าหากมีการดึงพรรค 2 ลุงมาร่วม พรรค ก.ก.จะไม่ร่วมใช่หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า “แน่นอนครับ แต่ต้องอธิบายว่าในที่ประชุมยังไม่ได้เอารายละเอียดมาคุยกัน หลังจากนี้พรรค พท.เป็นเจ้าภาพในการที่จะลองทำงานตามแนวทางต่างๆ ที่คุยกันไว้ แล้วเอารายละเอียดมาคุยกันอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นตอนนี้ยังไม่มีการเสนอเรื่องพรรคลุงใดๆ ทั้งสิ้น”

ซักว่ากังวลหรือไม่ว่าแนวทางที่ 3 ของพรรค พท. อาจไม่มีพรรค ก.ก.อยู่ในนั้น นายชัยธวัชกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพรรค พท.

นพ.ชลน่านให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเช่นกันว่า หลังจากนี้จะเริ่มดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 คือการประสานขอคะแนนจาก ส.ว.และ ส.ส. เพื่อสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรค พท. โดยในส่วนของส.ว. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พท. จะเป็นผู้ประสานพูดคุย และในส่วนของ ส.ส. ตนและแกนนำพรรคก็จะประสานต่อสายแล้วเดินทางไปพบพูดคุยกับพรรคการเมือง โดยเป็นการส่งเทียบเชิญ

ถามว่า พรรคการเมืองต่างๆ ตั้งเงื่อนไขไม่ร่วมกับพรรคแก้มาตรา 112 นพ.ชลน่านยอมรับว่า เงื่อนไขที่พรรคการเมืองต่างๆ ยกขึ้นมา คือไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 ทำให้การทำงานประสานยาก แต่ก็ต้องแก้ไขปัญหากันไป

นายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 22 ก.ค.นี้ เวลา 14.00 น. ตนพร้อมด้วยนพ.ชลน่านและนายประเสริฐ จะเดินทางไปพบกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.), นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ฐานะรองหัวหน้าพรรค และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค ที่พรรค ภท. เพื่อขอเสียงสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค พท. ในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 27 ก.ค.นี้

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีพรรค พท.จะขอขั้วรัฐบาลเดิมช่วยโหวตเลือกนายกฯ ว่า “ก็แล้วแต่”

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกฯ รอบใหม่ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากพรรค พท. จึงไม่ทราบว่า พท.จะมีแนวทางอย่างไร ในส่วนของพรรค ภท. มีจุดยืนที่ได้แถลงการณ์และพูดหลายครั้งแล้วว่าเราจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

 “พูดให้ชัดเจนก็คือ พรรคก้าวไกล พรรคเดียวที่มีนโยบายเรื่องนี้ และไม่มีท่าทีที่จะลดระดับ มีแต่จะเพิ่มความแข็งกร้าวขึ้น ทั้งแกนนำพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล มีการผลักดันที่จะให้แก้ไขมาตรา 112 อย่างแข็งกร้าว ไม่รับฟังเสียงทักท้วง คำร้องขอของใครทั้งนั้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าประเด็นนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติ” นายอนุทินกล่าว

พรรค รบ.เสียงแข็งไม่ร่วม 112

หัวหน้าพรรค ภท.ยืนยันอีกครั้งว่า ถ้าเราได้รับการติดต่อจากพรรค พท.ให้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ถ้ายังมีพรรค ก.ก.อยู่ เราเข้าร่วมไม่ได้

เช่นเดียวกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ผมได้รับการสอบถามมาตลอดเวลาว่าแนวทางของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในการโหวตเลือกนายกฯ ต่อไปจะเป็นอย่างไร จึงขอเรียนเพื่อความชัดเจนตรงนี้นะครับ

"เราพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 1.เราเห็นความสำคัญของการจัดตั้งรัฐบาล แต่ความมั่นคงของชาติบ้านเมืองและสถาบันหลักทั้งสามของชาติสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด 2.เรายึดมั่นในสถาบันชาติ  ศาสนา พระมหากษัตริย์ เราจึงไม่เห็นชอบกับบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ที่ผ่านมาทั้งสองครั้ง เพราะเราไม่เชื่อว่าพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่บุคคลดังกล่าวสังกัดอยู่จะมีแนวทางเดียวกับเราอย่างแท้จริง 3.ในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งต่อไปหากยังมีพรรคก้าวไกลร่วมเป็นรัฐบาลด้วย เราก็จะไม่เห็นชอบกับบุคคลใดจากพรรคใดก็ตามที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ เพราะจากการดำเนินการทางการเมืองที่ผ่านมาของพรรคก้าวไกล ทำให้เราไม่เชื่อว่าพรรคดังกล่าวจะเปลี่ยนแนวทางและอุดมการณ์ของพรรคได้ และ 4.เราจะไม่ร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคการเมืองใดก็ตามที่นำพรรคก้าวไกลมาร่วมเป็นรัฐบาลด้วยอย่างเด็ดขาด เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" หัวหน้าพรรค รทสช.ระบุ

ส่วนนายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ในนามของพรรค พปชร. ขอแสดงจุดยืนต่อความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรค พท. ที่มีกระแสข่าวระบุว่าอาจจะมีการทาบทามพรรค พปชร.เข้าร่วม ซึ่งพรรค พปชร.ขอแสดงจุดยืนที่จะไม่เข้าร่วมสนับสนุนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย หากพรรคร่วมรัฐบาลยังมีพรรคที่ชื่อก้าวไกลอยู่ร่วมด้วย

"พรรคพลังประชารัฐได้แถลงการณ์ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าเราไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และเราจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นายไผ่ระบุ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ชทพ.ยินดีสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯที่เสนอโดยพรรค พท. แต่มีเงื่อนไขว่าพรรค พท.จะต้องไม่ทำงานร่วมกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112  เช่น พรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนาคือไม่แตะต้องและไม่แก้ไขมาตรา 112

ถามว่า ทางพรรคเพื่อไทยมีใครโทรศัพท์มาพูดคุยทาบทามแล้วหรือยัง  นายวราวุธกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ยังไม่มี  เพียงแต่เราย้ำว่าหากไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 ชาติไทยพัฒนาก็ยินดีสนับสนุน

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณีพรรค พท.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลว่า ขณะนี้ต้องถือว่า 312 เสียง 8 พรรค ยังมีหน้าที่ในการตั้งรัฐบาลอยู่ พรรค ปชป.ไม่มีการเจรจาอะไรทั้งสิ้น เรายังไม่มีการพิจารณาถึงการจับขั้วรัฐบาล เพราะมีความชัดเจนของพรรคแกนนำทั้ง 312 เสียงอยู่แล้ว ขณะนี้ยังไม่มีการมอบใครไปเจรจาอะไรทั้งสิ้น และตนก็ไม่เคยไปเจรจากับใครในเรื่องของการตั้งรัฐบาล

ถามว่า หากมีพรรค ก.ก.ในขั้วรัฐบาล ปชป.จะมีท่าทีอย่างไร นายจุรินทร์กล่าวว่า ความจริงมีความชัดเจนในเรื่องของตัวบุคคลในการที่หากมีการเสนอชื่อเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี การลงมติก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็มีความชัดเจนในตัวอยู่แล้ว

ซักถึงการจับขั้วรัฐบาลใหม่นำโดย พท. ทาง ปชป.มีแนวทางอย่างไร นายจุรินทร์กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบอะไรได้ เพราะยังไม่มีการคุยกัน การที่จะตอบอะไรสำหรับประชาธิปัตย์ ต้องเป็นเรื่องของมติที่ประชุมร่วมกับกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ของพรรค ซึ่งยังไม่มีการนัดประชุมหารือถึงเรื่องนี้ หากมีการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 พรรค ปชป.ก็จะมีการประชุม ส.ส.ของพรรคอีกครั้งหนึ่ง ก่อนการพิจารณาวันที่ 27 ก.ค. โดยนายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์​ ในฐานะประธาน ส.ส. จะเป็นผู้นัดประชุมอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค ปชป. ยืนยันยังไม่ได้รับการติดต่อขอเสียงสนับสนุน ซึ่งหากพรรค พท.ติดต่อมาจะแจ้งให้รู้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อมา และถ้ายังมีพรรค ก.ก.อยู่ร่วมรัฐบาลกับพรรค พท.นั้น จุดยืนของพรรคเราพูดชัดไปแล้ว

"เราปฏิเสธนโยบายและแนวคิดของพรรคก้าวไกลเรื่องแก้มาตรา 112 ตราบใดที่มาตรา 112 ยังอยู่ในกระบวนการ ของพรรคก้าวไกล เราก็รับไม่ได้" รักษาการเลขาธิการพรรค ปชป.ระบุ

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคปชป. กล่าวถึงกรณีพรรค พท.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลว่า วงประชุม ส.ส.พรรคได้มีการพูดกันเรื่องนี้ แต่ในส่วนของกรรมการบริหารพรรคยังไม่ได้คุยกัน ดังนั้นรายงานข่าวที่ระบุว่า 16 ส.ส. ขอไปร่วมกับพรรค พท. อ้างอิงถึงขั้วของนายเฉลิมชัยนั้น ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะพรรคยังไม่ได้มีการพูดคุยจะร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรค พท. และไม่มีใครตัดสินใจได้คนเดียว จะต้องเป็นการประชุมร่วมกัน ระหว่างกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. ทั้ง 25 คน ซึ่งไม่อยากให้มีการรายงานข่าวลักษณะนี้ เพราะทำให้พรรคเสียหายและประชาชนสับสน  

สว.ขอ พท.ชัดเจนก่อนโหวต

วันเดียวกัน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ยินดีกับการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทย ถือเป็นการเดินตามครรลองประชาธิปไตยที่ถูกต้อง  ดังนั้นจึงขอเสนอผ่านไปยังพรรคเพื่อไทยแกนนำใหม่ ควรแถลงประเด็นของพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องดำเนินการให้ชัดเจนอย่างน้อย ดังนี้

1.ตัวบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี  2.พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ที่ต้องมีนโยบายร่วมสำคัญในการเดินหน้าประเทศให้เจริญก้าวหน้า มีความสงบสันติสุข และไม่มีนโยบายใดๆ จากพรรคร่วมรัฐบาลหรือกลุ่มการเมือง กลุ่มอื่นๆ ที่พรรคการเมืองสนับสนุนในการแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กระทบต่อสถาบันหลักคือ สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์    ทั้งการกระทำโดยตรงของรัฐบาล รมต. ส.ส. และเครือข่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะกระทำเองหรือการให้การสนับสนุนใดๆ อีกต่อไป

3.ไม่นิรโทษกรรมคดีทุจริตและคดี 112 หรือคดีอาชญากรรมร้ายแรง 4.นโยบายด้านเศรษฐกิจนำพาสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม 5.นโยบายด้านการต่างประเทศที่ไม่กระทบความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค 6.นโยบายด้านการทหารและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศในทุกมิติ 7.นโยบายด้านปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาสังคมเพื่อเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากสังคมสื่อโซเชียลที่สร้างความเกลียดชังในปัจจุบัน 8.นโยบายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม 9.นโยบายกระจายความเจริญลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างครอบคลุมทุกมิติ และ 10.นโยบายแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่สนับสนุนการทำประชามติแบ่งแยกดินแดนใดๆ

"ถ้าพรรคเพื่อไทยแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ยังหาข้อสรุปร่วมให้ชัดเจนไม่ได้ ขอเสนอให้ทำเรื่องแจ้งต่อประธานรัฐสภา เพื่อเลื่อนการประชุมรัฐสภาในวันที่ 27 ก.ค.ที่จะถึงนี้ออกไปก่อน เพื่อจะได้เกิดความรอบคอบรัดกุม ให้ชัดเจนในการให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาร่วมกันทำหน้าที่โหวตให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้เสียทีครับ" ส.ว.สมชายระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ช่วยนักโทษติดคุกหมด เสรีพิศุทธ์ถอนตัวงัดหลักฐานมัดแก๊งชั้น14/ปชป.มีมติร่วมรบ.

"นายกฯ อิ๊งค์" อารมณ์ดีนัดสื่อให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง 30 ส.ค. "ภูมิธรรม" มั่นใจเสถียรภาพรัฐบาล หลังดึง

'แม่ยก' ตรอมใจ! ทักษิณ ทำลายประชาธิปัตย์พังคามือ

นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ติ๊งต่าง เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่ม ชาวไทยหัวใจรักสงบ อดีตแม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า#วันนี้เจ็บจี๊ดเข้าไปในหัวใจ