ร้องผู้ตรวจฯมติห้ามชงชื่อซํ้า

“วันนอร์” ย้ำทำหน้าที่เป็นกลาง ฟัง ส.ส.ตลอด แต่เริ่มลังเลเสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำได้หรือไม่ “ธนกร” แขวะ สภาเดินหน้าเลือกนายกฯ ตาม รธน. ไม่ใช่ระบบเลือกประธานาธิบดี ด้าน “สมชัย” ชี้ช่อง 4 ข้อ เข็น “หน.ก้าวไกล”   อีกรอบ

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา  กล่าวถึงการประชุมรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งยังมีบางประเด็นที่ไม่เข้าใจถึงการทำหน้าที่ของประธานการประชุมว่า การประชุมวันนั้นเป็นการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 แต่ก่อนการประชุม มีข้อคิดเห็นที่ยังไม่ตรงกัน คือมีบางฝ่ายเสนอว่าไม่ควรเสนอชื่อซ้ำ เพราะจะไปขัดข้อบังคับข้อที่ 41 แต่มีอีกฝ่ายเห็นว่าการเสนอเลือกนายกฯ ไม่ใช่ญัตติปกติทั่วไป เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม หมวด 9 ที่ได้ออกพิเศษเพื่อเลือกนายกฯ  จึงเกิดการถกเถียงว่าไม่ควรใช้ข้อบังคับข้อที่ 41 และในการประชุมวิป 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงต้องไปขอความคิดเห็นต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค. แต่การถกเถียงยังไม่ได้ข้อสรุป และจากการที่ได้ฟังการอภิปรายตลอด 6 ชั่วโมง ไม่มีใครอภิปรายว่ามีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงตัดสินใจวินิจฉัยให้ลงมติ จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเกิดขึ้น

นายวันมูหะมัดนอร์ยังชี้แจงถึงข้อวิจารณ์ที่ว่า เป็นประธานรัฐสภาสามารถชี้ขาดได้โดยไม่ต้องรอมติที่ประชุม ว่าชี้ขาดได้ แต่ก็มีคนฟ้องได้ ไม่ใช่ไม่กล้าที่จะชี้ขาด แต่วินิจฉัยแล้วว่าไม่มีข้อมูลที่จะชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เป็นเรื่องของข้อขัดแย้ง จึงใช้ข้อบังคับข้อ 151 การให้สภาตีความนั้น ดีกว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ และย้ำว่าไม่ว่ายกไหนจะไม่มีวันที่จะท้อใจ เมื่อรับหน้าที่แล้วจะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด

ประธานรัฐสภาระบุว่า ยืนยันว่าตนเองยึดหลักที่เคยพูดไปแล้ว คือปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ส่วนในการโหวตครั้งที่ 3 จะเสนอชื่อเดิมได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ตอบไม่ถูก ต้องแล้วแต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่หากพรรคก้าวไกลไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ และหากศาลวินิจฉัยออกมาเป็นอย่างไร ต้องดำเนินไปตามนั้น เพราะมีผลผูกพันไปทุกองค์กร ส่วนเรื่องของทัวร์จะลง ทั้งในโซเชียลและสมาชิกรัฐสภานั้น ใครจะทัวร์ลง ใครจะคิดเห็นอย่างไรเป็นสิทธิ์ที่สามารถคิดแตกต่างได้ ส่วนตัวไม่มีปัญหา ยอมรับได้ ขอย้ำว่าได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ทำด้วยความเป็นกลางแล้ว เป็นเรื่องธรรมดา หากต้องตัดสินอะไร ย่อมมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

เขายังเปิดเผยว่า สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในรอบต่อไป ยังเป็นวันที่ 27 ก.ค.นี้ ซึ่งได้ออกหนังสือเชิญประชุมแล้ว และจะประชุมวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 26 ก.ค. เวลา 14.00 น.

นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า วันนี้ทุกอย่างเดินไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้งนายกฯ เมื่อครั้งแรกไม่ได้ ก็เป็นครั้งที่ 2 และเมื่อมาถึงครั้งที่ 3 ต้องเปิดโอกาสให้พรรคอันดับที่ 2 จัดตั้งไปตามกลไก หากอันดับ 2 ไม่ได้ก็ต้องมาที่อันดับที่ 3 เป็นธรรมเนียมทางการเมืองที่ให้เกียรติผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดอยู่แล้ว แต่กระบวนการต่างๆ เข้าใจว่าประธานสภาฯ คงเร่งดำเนินการอยู่ เพราะวันนี้ประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงภาคเอกชน ภาคธุรกิจต่างๆ ก็รอรัฐบาลใหม่อยู่ ดังนั้นจึงต้องเร่งให้ได้รัฐบาลใหม่โดยเร็ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคก้าวไกลยังดึงเกมไม่ยอมประกาศให้เพื่อไทยเสนอชื่อนายกฯ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียที จะทำให้เสียเวลาประชาชนทั้งประเทศหรือไม่ นายธนกรกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าถ้าเป็นแบบนั้นก็จะเป็นการเสียเวลาประชาชนมากเกินไป เพราะวันนี้การเดินเกมกระบวนการต่างๆ ทางการเมืองเข้าใจว่าเป็นสิทธิ์ของทุกพรรคที่จะดำเนินการได้ แต่พรรคก้าวไกลก็เห็นอยู่แล้วว่าสมาชิกรัฐสภาทั้งครั้งที่ 1 และ 2 ก็ไม่สนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะพรรคก้าวไกลมีนโยบายชัดเจนเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และยังเดินหน้าต่อ ไม่ยอมลดเพดาน ซึ่งสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้

นายธนกรกล่าวว่า เราไม่ควรที่จะนำเสียงพี่น้องประชาชนที่บอกว่า 14 ล้านเสียงที่ต้องการให้นายพิธาเป็นนายกฯ  และมองคนที่ไม่เห็นด้วยไปทำลายความฝันของคนไทยทั้งประเทศ การพูดแบบนั้นถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะรู้อยู่แล้วว่าคนไทยมี 60-70 ล้านคน วันนี้การเลือกตั้งของไทยเราไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี เป็นระบบรัฐสภา กลไกการเลือกนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.และ ส.ว. ที่เป็นคนเลือกตามรัฐธรรมนูญ หากโหวตว่าไม่ผ่านก็ถือว่าจบไป แต่แกนนำพรรคก้าวไกลเห็นหลายคนชอบอ้างประชาชน ซึ่งของ รทสช.เกือบ 5 ล้านเสียงที่เป็นเสียงประชาชนเราก็ให้ความสำคัญ

เมื่อถามว่า ในลำดับต่อไปหากเกิดการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล ตอนนี้มีคนของทางพรรคเพื่อไทยส่งสัญญาณทาบทามหรือจีบแล้วหรือไม่ นายธนกรตอบว่า ตอนนี้ยังไม่มีการทาบทามหรือพูดคุยอะไรทั้งนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถพูดคุยกับทุกคนได้อยู่แล้ว แต่ต้องหารือภายในพรรคก่อน เพราะเราไม่ได้อยากเป็นโน่นเป็นนี่ ซึ่งต้องดูเหตุผลหลายด้าน การทำงานการเมืองเราเคารพมติพรรค และยังไม่ไปถึงตรงนั้น ยังมีเวลาอยู่ ยังไม่ได้มีการติดต่ออะไรและไม่ได้ไปแสวงหาที่จะพูดคุย ซึ่งเราอยู่ของเราแบบนี้ ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์  ออกมาวิเคราะห์ถึงการรัฐประหารหรือการยึดอำนาจจากประชาชนโดยวุฒิสมาชิกและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นนวัตกรรมของรัฐประหารรูปแบบใหม่ โดยอาศัยการบิดเบือนระบบกฎหมาย ความไร้จิตสำนึกต่อประเทศชาติ ละเมิดหลักการประชาธิปไตย หลักการทางกฎหมายของบรรดาผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร คสช. การแก้วิกฤตการเมือง เล่นเกมการเมืองของ ส.ว. และพรรคเสียงข้างน้อย ทำลายหลักการทางกฎหมายทำให้ข้อบังคับใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ

นายอนุสรณ์กล่าวด้วยว่า เราไม่อาจเรียกร้องอะไรจากเครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตย และบรรดาสมาชิกวุฒิสภาบางคนที่ไม่ได้มีจิตสำนึกประชาธิปไตย แต่สิ่งที่เราทำได้คือ ช่วยกันสนับสนุนให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ  โดยมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล และขอให้บรรดาองค์กรประชาธิปไตยที่ออกมาต่อสู้เพื่อหลักการประชาธิปไตยระมัดระวังผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์รุนแรงวุ่นวาย เพื่อสร้างเงื่อนไขให้มีการยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร ซึ่งรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้น จะไม่ใช่ตุลาการหรือวุฒิสภารัฐประหาร แต่จะเป็นการรัฐประหารโดยเผด็จการถืออาวุธ                        

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งระบุว่า ผมสนับสนุนพรรคก้าวไกลในการเสนอชื่อพิธาอีกครั้งหนึ่ง เพราะ 1.ก้าวไกลขอ 8 พรรค ในการเข้าชิงนายกฯ ครั้งที่สอง ก่อนจะประเมินว่าจะส่งต่อเพื่อไทยหรือไม่ 2.การลงมติเลือกนายกฯ ครั้งที่สองยังไม่เกิดขึ้น แต่ถูกตัดหน้าจากเสียงข้างมากในสภาวินิจฉัยว่า เสนอชื่อซ้ำไม่ได้ โดยอ้างข้อบังคับการประชุมข้อ 41 ที่ญัตติใดเคยเสนอและตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอซ้ำอีกในสมัยประชุมนั้น

3.การอ้างข้อบังคับดังกล่าว แม้จะเป็นมติเสียงข้างมากของรัฐสภา แต่เป็นการลงมติขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีส่วนใดของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 88, 89 หรือ 272 ที่เขียนไว้เลยว่า ห้ามเสนอชื่อซ้ำ เมื่อไม่เขียนก็หมายความเสนอได้ ดังเช่นกรณีการลงมติเลือก กกต. เมื่อปี 2561 ก็เป็นการเสนอชื่อซ้ำ 4.แม้การเสนอชื่อจะถูกนับว่า เป็นญัตติและต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่ 41 แต่ในส่วนท้ายของข้อดังกล่าวได้เขียนว่า ประธานรัฐสภาสามารถบรรจุญัตติซ้ำที่ตกไปได้ หากมีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นวินิจฉัยของประธานรัฐสภาคนเดียว ไม่ต้องขอมติสภา

"ไม่ยากครับ ลดพรรคเล็กๆ 1 เสียง หรือเพิ่มพรรคเล็กๆ 1 เสียง ก็ถือว่ามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงแล้ว" นายสมชัย ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด