ชงตีความ‘ข้อ41’ อำนาจเหนือรธน.

แกนนำก้าวไกลยังอารมณ์ค้าง ยันกลางสภาคุณสมบัติ "พิธา" ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการเป็นนายกฯ ได้  อ้างข้อบังคับข้อ 41 ยังมีช่องให้ ปธ.รัฐสภาพิจารณาเมื่อมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง "ชลน่าน" ยุ ก.ก.ยื่นศาล รธน. ตาม “บวรศักดิ์” ชี้ช่องไว้ "ศรีสุวรรณ" ฉับไวส่งคำร้องด่วนให้ผู้ตรวจการฯ ส่งศาล รธน.วินิจฉัยข้อบังคับรัฐสภามีอำนาจเหนือ รธน.หรือไม่ 

ที่รัฐสภา วันที่ 20 กรกฎาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบถึงคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในคดีที่ถูกตรวจสอบว่าขาดคุณสมบัติกรณีถือครองหุ้นสื่อหรือไม่  ทำให้ขณะนี้มี ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ จำนวน 499 คน

 จากนั้นนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกหารือต่อประชุมว่า นายพิธาประกาศต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ว่า รับทราบ แต่ไม่ยอมรับ ทั้งนี้ ยืนยันว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ถือว่าไม่มีผลกระทบต่อการถูกเสนอชื่อฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล ดังนั้นนายพิธาจึงมีสถานะครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ ดังนั้นจึงมีโอกาส มีสิทธิ ถูกเสนอชื่อให้ต่อสู้ฐานะแคนดิเดตนายกฯ และลงมติเห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกฯ ได้

 “การให้ความเห็นชอบประเด็นเสนอชื่อนายพิธาให้เป็นนายกฯ นั้น หากให้ผมยืนยันอาจจะเร็วไป แต่สิ่งที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พยายามจะพูดกับที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. แต่ไม่มีโอกาสคือ ข้อบังคับการประชุมข้อ 41 วรรคท้าย กำหนดให้ประธานรัฐสภาพิจารณาต่อได้ หากมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นผมขอยืนยันความสมบูรณ์ครบถ้วนต่อสภาว่า นายพิธาสามารถเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ของประเทศไทย คนไทยทุกคน ไม่เฉพาะคนที่เลือกพรรคก้าวไกลเท่านั้น” นายณัฐวุฒิกล่าว

 นายณัฐวุฒิกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยนายพิธาว่ากระทำผิดหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร ดังนั้นตามหลักการของกฎหมายถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ขณะเดียวศาลจะวินิจฉัยอย่างไร ไม่มีใครทราบ ซึ่งการเลือกนายกฯ  นั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 และมาตรา 272 ดังนั้นนายพิธาจึงมีสถานะและความสมบูรณ์ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ต่อรัฐสภา

นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่รัฐสภามีมติไม่ให้เสนอรายชื่อนายพิธาเข้าสู่กระบวนการโหวตนายกฯ โดยอ้างอิงข้อบังคับการประชุมข้อ 41 ว่า ขอให้ไปสอบถามกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้จะเป็นไปตามที่ประธานรัฐสภานัดเอาไว้ว่าจะโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้

เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐสภามีมติโดยอ้างข้อบังคับการประชุม มีอำนาจใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญหรือไม่  นายชวนกล่าวว่า หากมีปัญหาต่อไปก็ค่อยว่ากันต่อไป ซึ่งรับทราบว่านายวันมูหะมัดนอร์ได้แนะให้ไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณายื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และขออย่าสมมติว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไร แม้ศาลจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร ก็เป็นมติของรัฐสภาไปแล้ว

ถามว่า หากผลชี้ขาดของศาลจะออกมาอย่างไร รัฐสภาพร้อมที่จะยอมรับกระบวนการหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า มติของรัฐสภาก็เป็นมติของรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบ หากแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็จะผูกพันกับทุกองค์กร

'บวรศักดิ์' ชี้ช่องยื่นศาลตีความ

ขณะที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงผลการประชุมร่วมรัฐสภาที่มีมติไม่เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี รอบ 2 ว่า เอาข้อบังคับการประชุมมาทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นง่อย ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะแล้ว น่าสงสารประเทศไทย  ผิดหวัง ส.ส.คนที่ไปร่วมลงมติห้ามเสนอชื่อซ้ำ แม้คุณจะอยู่ฝ่ายค้าน คุณก็ควรรู้ว่าเมื่อไหร่ต้องทิ้งความเป็นฝ่ายค้าน ทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่การตีความของรัฐสภาไม่เป็นที่สุด

"คนที่คิดว่าสิทธิของตนถูกกระทบ ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ ว่ามติรัฐสภา ซึ่งเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญได้ตาม  มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าผู้ตรวจการไม่ส่งศาล ผู้นั้นยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ผมจะรอดูคำร้องว่าการกระทำของรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญ และจะดูว่าศาลรัฐธรรมนูญว่ายังไง สอนรัฐธรรมนูญมา 30 กว่าปีต้องทบทวนแล้วว่าจะสอนต่อไหม" นายบวรศักดิ์ระบุ

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคิดเห็นของนายบวรศักดิ์ว่า นายบวรศักดิ์ไม่เห็นด้วยกับผลการลงมติของรัฐสภา และยังแนะนำว่าใครเห็นว่าถูกละเมิดสิทธิ์สามารถไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้

ถามถึงกระแสข่าวพรรคก้าวไกลจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สมควรยื่น อะไรที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญควรดำเนินการ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์แนะให้พรรคก้าวไกลยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่ามติรัฐสภาที่ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ รอบที่ 2 ว่า เป็นช่องทางที่สามารถดำเนินการได้ และเป็นมุมของนายบวรศักดิ์ ซึ่งในห้องประชุมก็มีสมาชิกหลายร้อยคน เสนอต่อสาธารณะที่คนทั้งประเทศได้ยินแล้วว่ามันขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงเรื่องข้อบังคับอย่างเดียว ซึ่งมีการอภิปรายอย่างชัดเจน ไม่เข้าใจว่านายบวรศักดิ์ดูรายละเอียดครบหรือไม่ หรือเพียงดูตามข่าวที่สรุปย่อๆ ไม่ได้ลงรายละเอียด

"หากพรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อนายพิธาอีกรอบก็เสนอมาได้ เพราะเราจะยังยืนยันหลักการเดิม ไม่ว่าจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็เป็นไปตามกระบวนการ" นายเสรีกล่าว

ส่วนกรณีแชตไลน์หลุดที่อ้างว่าเป็นการส่งข้อความให้ในกลุ่มของ ส.ว.ให้ลงมติไม่เห็นชอบญัตติที่จะเสนอชื่อนายพิธาเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 และให้ลงมติไม่เห็นชอบนายพิธานั้น   นายเสรีกล่าวปฏิเสธว่า ไม่ได้รับข้อความจากแชตไลน์ในกลุ่ม ส.ว. ขอให้ไปสอบถามจาก ส.ส.ก้าวไกล ผู้ที่ออกมาบอกว่าได้ข้อความนี้ว่า มีที่มาจากไหน ใครส่งให้ ต้นตอใครเป็นคนเขียน เพราะมองว่าเป็นการดิสเครดิต ส.ว.อย่างชัดเจน และหากเป็นข้อความในลักษณะใบสั่งจริง ทำไมถึงเพิ่งออกมาเปิดเผยตอนนี้ เพราะตามปกติใบสั่งจะต้องมีมาก่อน ไม่ใช่การประชุมเสร็จแล้วถึงออกมา

วันเดียวกัน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และอาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐาน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามคำแหง นิด้า และแม่ฟ้าหลวง ให้ความเห็นทางกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ด่านกฎหมายที่จะต้องฝ่า หากจะยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีร้องว่า มติรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญ ตามที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ให้ความเห็นว่า มติรัฐสภาที่เห็นว่า การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติ จึงห้ามเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำ เป็นการกระทำทางนิติบัญญัติของรัฐสภาที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

ผู้ที่เห็นว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิ สามารถไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ และหากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นมีสิทธิยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ (มีข้อสังเกตว่า การยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณากรณีอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 นี้ ไม่ได้มีการบัญญัติไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญ มาตรา 230 และ 231 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ที่เป็นบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ได้ถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561)

'พี่ศรี' ยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาล รธน.

ดร.ธนกฤตระบุว่า การยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินที่กว่าจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ ต้องฝ่าด่านกฎหมายหลายด่านด่านแรก ผู้ยื่นคำร้องต้องเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง จากมติของรัฐสภาดังกล่าวด่านที่สอง จะต้องยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 90 วัน ด่านที่สาม ต้องรอระยะเวลา 60 วัน ที่กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าหากผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่มีเหตุที่จะยื่นคำร้อง หรือไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน  ผู้ร้องถึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ และต้องยื่นภายใน 90 วัน

ด่านที่สี่ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาว่าคำร้องที่ยื่นเป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่เป็นสาระ ก็มีอำนาจสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาได้

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 มีมติว่า ญัตติการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ต้องห้ามตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 นั้น แต่ทว่ามีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าญัตติการเสนอชื่อนายพิธา อันเป็นญัตติเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ประกอบมาตรา 159 นั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อตามมาตรา 88 ของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน และการเสนอชื่อต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 50 คน ซึ่งญัตติดังกล่าวนี้ รัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดจำนวนครั้งหรือไม่       

 "องค์การรักชาติ รักแผ่นดิน จึงเร่งทำคำร้องส่งด่วนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้ปฏิบัติหน้าที่โดยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติตามอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ในกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวต่อไป" นายศรีสุวรรณระบุ

ก่อนหน้านี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการ​ (กกต.)​ นายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นคำร้องเพื่อแจ้งหรือชี้เบาะแสให้ กกต. สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีส.ส.พ้นจากตำแหน่ง จำนวน 100 ราย ระหว่างวันที่ 28 ก.พ., 17 มี.ค. และ 20 มี.ค.66 จำนวน 100 คน เมื่อวันที่ 17 ก.ค.66 ที่ผ่านมา ปรากฏว่านายจักรกฤษณ์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกับ ป.ป.ช. ว่าถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ด้วย 40,000 หุ้น แต่มิได้ระบุมูลค่าและวันเดือนปีที่ได้มา

นายศรีสุวรรณระบุว่า กรณีดังกล่าว อาจเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ถือครองหุ้นสื่อไอทีวีไว้ 42,000 หุ้น ที่ถูก กกต.ไต่สวนและมีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปก่อนหน้านี้ แต่อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด เพราะนายจักรกฤษณ์อ้างว่า หุ้นสื่อไอทีวีดังกล่าวของตนได้ยกหุ้นตัวนี้ออกไปให้กับลูกพี่ลูกน้องตั้งแต่ปี 2561 ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งปี 2562 แล้ว ส่วนที่ยังมีอยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่แจ้งกับ ป.ป.ช.นั้น อ้างว่าหุ้นไอทีวีหยุดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ถูกยกเลิกสัมปทานปี 2561 จึงทำสัญญายกหุ้นให้ลูกพี่ลูกน้องก่อนการเลือกตั้ง เพราะไม่สามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งเวลาทำหนังสือไปขอให้ตลาดหลักทรัพย์ออกใบรับรองหุ้น ซึ่งตนมีหุ้นตัวอื่นอยู่ด้วย และจะเห็นชัดเจนว่าไอทีวี 4 หมื่นหุ้นจริง แต่ไม่มีมูลค่า เพราะไม่มีการซื้อขาย และที่สำคัญหุ้นก็คือสังหาริมทรัพย์สามารถทำหนังสือยกให้ ซึ่งก็ถือว่ามีผลสมบูรณ์แล้ว

"คำชี้แจงผ่านสื่อดังกล่าวข้อเท็จจริงเป็นเช่นใดแน่ไม่มีใครรู้ ดังนั้นเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับนายพิธา องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงนำความมาแจ้งหรือชี้เบาะแสให้ กกต.ใช้อำนาจตามกฎหมายในการสืบสวนหรือไต่สวนกรณีดังกล่าวให้ชัดเจน และหากพบว่ามีลักษณะเดียวกันกับนายพิธา ก็ให้ดำเนินการส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้เป็นที่สุดตามครรลองของกฎหมายต่อไป" นายศรีสุวรรณระบุ.    

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป