ตร.ยื่นถอนประกัน‘อานนท์’

สน.ปทุมวันยื่นศาลยกเลิกปล่อยตัวชั่วคราว “อานนท์ นำภา” เหตุทำผิดเงื่อนไขหลังถอดกำไลอีเอ็มนำม็อบ ขณะที่อัยการเผยยังไม่ได้รับเรื่อง ด้านกลุ่มปกป้องสถาบันหอบหลักฐานยื่นศาลเพิกถอนประกัน "แกนนำ 3 นิ้ว"  ยุยงปลุกปั่น บ.ก.ลายจุด นัดมวลชนรวมตัวแยกอโศกอาทิตย์นี้

วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) พร้อมทีมงาน นำพยานหลักฐานยื่นร้องอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อให้พิจารณาเพิกถอนการประกันตัวของนายโสภณ หรือเก็ท สุรฤทธิ์ธำรง จำเลย ในคดีความผิดต่อสถาบันฯ ป.อาญา ม.112 ตามหมายเลขคดีดำที่ 1447/2565

นายอานนท์กล่าวว่า เนื่องจากหลายวันที่ผ่านมา นายโสภณหรือเก็ทได้โพสต์โซเชียลในลักษณะยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องของสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ เมื่อไม่เป็นตามที่คาดหวัง ก็ประกาศเป็นแกนนำม็อบผ่านทางเฟซบุ๊กระดมมวลชนเพื่อไปคุกคาม ส.ว.ที่ไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ จึงได้รวบรวมข้อมูลและหาพยานหลักฐานนำมามอบให้กับท่านอธิบดีศาล เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่า นายโสภณ หรือเก็ท ผิดเงื่อนไขในการประกันตัวหรือไม่อย่างไร เนื่องจากในเงื่อนไขระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามจำเลยกระทําการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์-ศาล, ห้ามโพสต์ข้อความที่เป็นการปลุกปั่นให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในสื่อโซเชียล หรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย โดย ศปปส.จะยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ทางการเมือง ที่มีบางพรรคการเมืองพยายามสร้างความแตกแยก ถ้าพบผิดกฎหมาย เข้าข่ายผิดต่อ ม.112 ศปปส.จะนำมาร้องทุกข์กล่าวโทษทุกรายไม่มีเว้น

นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันได้ทำหนังสือยื่นคำร้องถึงศาลให้ขอยกเลิกการปล่อยตัวชั่วคราว นายอานนท์ นำภา ทนายจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำกลุ่มราษฎร ฐานกระทำผิดเงื่อนไข 3 ข้อ หลังได้รับการถอดกำไลอีเอ็ม ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมานายอานนท์ได้เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมชุมนุมหลายครั้งเพื่อสนับสนุนนายพิธาให้เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งจัดกิจกรรมโจมตีการทำงานของสมาชิกวุฒิสภาในการไม่โหวตให้นายพิธาด้วย

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยกรณีสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันได้ทำหนังสือเพื่อขอให้อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 พิจารณาเพิกถอนการประกันตัวของนายอานนท์ นำภา  ว่าจากการสอบถามนายชวรัตน์ วงศ์ธนะบูรณ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ได้ตรวจสอบเเล้วไม่พบว่าทางพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องดังกล่าวมาทางสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งการยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว กรณีประสบพบเหตุพนักงานสอบสวนสามารถทำได้ 2 วิธี คือ 1.ยื่นต่อศาลโดยตรง ซึ่งศาลก็จะเป็นผู้พิจารณา 2.ยื่นต่อพนักงานอัยการซึ่งพนักงานอัยการเมื่อรับเรื่องก็จะพิจารณาว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขตามที่ศาลออกข้อกำหนดไว้หรือไม่ ก่อนที่จะยื่นเรื่องต่อศาลหรือไม่ เเต่ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการยื่นผ่านอัยการ ส่วนถ้าไปยื่นศาลโดยตรง ทางพนักงานอัยการก็อาจไม่ทราบเรื่องได้

ทางด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวนัดมวลชนรวมตัวในวันอาทิตย์ที่ 23 ก.ค. เวลา 17.00 น. แยกอโศก  "ดี Day อาทิตย์ 23 ก.ค. ยามเย็น 5 โมง แยกอโศก ประชาชนโบกสะบัด ขอนัดพบคนใส่รองเท้าผ้าใบ #พร้อม เราพบกัน พร้อมยังได้โพสต์ข้อความเชิญชวนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มายืนกับประชาชนนอกสภา "เมื่อสภาไม่มีที่ให้ยืน #พร้อม มายืนกับประชาชนนอกสภามั้ยครับ เรียนเชิญ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 หน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง เครือข่ายพลเมืองพัทลุง สมาพันธ์ประชาธิปไตยพัทลุง ประมาณ 10 คน ภายใต้การนำของนายกาจ ดิษฐาอภิชัย นายสำเริง จิตสวาสดิ์ ได้ร่วมกันกิจกรรมการแสดงออกสัญลักษณ์ต่อต้านอำนาจเผด็จการและยกเลิกสภาทาส ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วย การอ่านแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560  โดยเร็วที่สุด การอ่านคำไว้อาลัยรัฐสภาไทย และองค์กรอิสระ การเผาทำลายกระดาษ โจมตีศาลรัฐธรรมนูญ การไว้อาลัย กกต. ป้ายไว้อาลัย ส.ส. ส.ว. กกต. ศาลรัฐธรรมนูญที่รับใช้อำนาจเผด็จการในขณะที่สมาชิกพรรคก้าวไกลได้นำแผ่นปลิวมาแจกจ่ายแก่ผู้ร่วมกิจกรรมด้วย

นายกาจได้อ่านคำไว้อาลัยรัฐสภาไทยและองค์กรอิสระ โดยมีใจความสรุปว่า รัฐสภาไทยตั้งแต่อภิวัฒน์สยาม  2475 เป็นต้นมา เป็นสถานที่ของผู้ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนให้ใช้อำนาจรัฐแทนพวกเขา แต่ถูกดัดแปลงกลืนกลายให้ไปรับใช้กลุ่มคนที่ยึดกุมอำนาจรัฐจนกลายเป็นสภาทาส ทำให้ระเบียบประชุมสภามีความเหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ การกระทำเมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 นั้น เป็นการทำลายหลักการของระบอบประชาธิปไตยไทย ขัดขวางเจตจำนงของประชาชน ทำลายความหวัง ความฝัน และคุณค่าศักดิ์ศรีของคนไทย ละเมิดสิทธิทางการเมือง จนทำให้รัฐรัฐสภาไทย และองค์กรอิสระต้องตายไปจากประชาชน พวกเราจึงมาร่วมกันไว้อาลัยกันดังกล่าว ส่วนการที่ต้องมานัดรวมตัวกันที่หน้าบริเวณหน้าพระบรมรูป  ร.5 นั้น เนื่องจากว่าพระองค์ได้เลิกทาสไปแล้ว แต่ขณะนี้ทาสก็ยังมีอยู่โดยเฉพาะสภาทาส

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองด้วยความห่วงใย พร้อมให้กำลังใจประชาชน ในฐานะรัฐบาลรักษาการที่ดูแลความสงบและความมั่นคงของประเทศ ขอให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเหมาะสมภายใต้กฎหมาย ยึดแนวทางสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยอาจมากถึง 35 ล้านคน

น.ส.รัชดากล่าวว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และจากผลการลงมติโหวต ตามข้อบังคับที่ 41 ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลต่อความรู้สึก สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนส่วนหนึ่ง นายกรัฐมนตรีเข้าใจความรู้สึกประชาชนที่สนับสนุน แต่ขอให้แสดงความคิดเห็น รวมถึงแสดงออกอย่างเหมาะสมภายใต้กฎหมาย ไม่ต้องการให้ความเห็นต่างกลายเป็นความขัดแย้ง บานปลายส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และวิกฤตต่างๆ จนผ่านพ้นไปได้อย่างดี ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่า มีโอกาสเติบโตร้อยละ 3-4 โดยเฉพาะครึ่งหลังของปีคาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.2

"นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นการได้มาซึ่งหัวหน้าฝ่ายบริหาร ผ่านกระบวนการรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ที่อีกไม่นานก็คงจะได้ข้อยุติในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทุกฝ่ายต่างทำงานเพื่อประเทศไทยเดินหน้าต่อในแนวทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นและกิจกรรมทางการเมืองภาคประชาชน ต้องยึดแนวทางสันติภายใต้กฎหมาย ไม่สร้างสถานการณ์หรือใช้ความรุนแรง ทำลายบรรยากาศทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศที่กำลังเดินหน้าไปอย่างดี ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องแข่งขันกับประเทศต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสการทำมาหากินให้คนไทย" น.ส.รัชดากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง