“บสย.” ลุยค้ำประกันสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 9.5 หมื่นล้านบาท เน้นกลยุทธ์ 3 เร่ง หนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุน อ้อนรัฐบาลใหม่ขอเพิ่มวงเงิน PGS10 อีกเท่าตัว รบ.ปลื้มเอสเอ็มอีฟื้นตัวหลังโควิด ขยายตัวดีทั้งจีดีพีและการจ้างงาน
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ บสย.ตั้งเป้าหมายค้ำประกันสินเชื่อรวมไม่ต่ำกว่า 95,000 ล้านบาท โดยปรับเป้าลงมาเล็กน้อยจากเดิมที่ 120,000 ล้านบาท เป็นผลจากกระบวนการทำงานภายใน สำหรับทิศทางการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง บสย.จะยกระดับการค้ำประกันด้วย Digital Technology สู่การเป็น SME Gateway โดยหวังว่าจะช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบให้ได้มากที่สุดในช่วงฟื้นประเทศ
ทั้งนี้ เน้นกลยุทธ์ในการดำเนินงานผ่าน 3 เร่ง คือ 1.เร่งผลักดันการค้ำประกันสินเชื่อ โดย บสย.มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS10 ประมาณ 25,000 ล้านบาท, โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) มีวงเงินรองรับราว 50,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบัน ระยะที่ 7 วงเงินรองรับ 15,000 ล้านบาท 2.เร่งพัฒนาโครงการพัฒนานวัตกรรม บสย. การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทาง Digital Platform และพัฒนา Line @tcgfirst เพื่อเข้าถึงบริการใหม่ เช่น การจองคิวปรึกษาหมอหนี้ ผ่าน Line ตลอด 24 ชั่วโมง และ 3.เร่งยกระดับการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาหมอหนี้ บสย. โครงการพัฒนารูปแบบการให้คำปรึกษาทางการเงิน ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs และโครงการการให้บริการ Credit Mediator เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานการค้ำประกันสินเชื่อในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.2566) อนุมัติวงเงินรวม 67,987 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ 51,427 ราย สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 280,786 ล้านบาท สร้างสินเชื่อสู่ระบบ 76,049 ล้านบาท รักษาการจ้างงานรวม 493,552 ตำแหน่ง ผ่านโครงการประกันสินเชื่อ 4 โครงการ คือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก วงเงิน 30,280 ล้านบาท, โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย.เอสเอ็มอี เข้มแข็ง วงเงิน 24,766 ล้านบาท, โครงการค้ำประกันสินเชื่อสถาบันการเงิน ระยะที่ 7 วงเงิน 8,634 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่ออื่นๆ วงเงิน 4,307 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1.ภาคบริการ สัดส่วน 31% เช่น รับเหมาก่อสร้าง ภัตตาคาร ขนส่ง โรงแรมและหอพัก เป็นต้น 2.ภาคเกษตรกรรม สัดส่วน 11% เช่น ธุรกิจผัก-ผลไม้ ธุรกิจชา กาแฟ ธุรกิจข้าว ธุรกิจสินค้าเกษตร เป็นต้น 3.ภาคการผลิตและสินค้าอื่นๆ สัดส่วน 10% เช่น ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีก ตลาดสด และแผงลอย เป็นต้น
"ในส่วนของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามานั้น อยากให้ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย รวมถึงต้องการให้รัฐบาลใหม่เพิ่มวงเงินเข้า PGS10 อีกเท่าตัว จากปัจจุบันมีวงเงินสินเชื่อในโครงการดังกล่าว 50,000 ล้านบาท" นายสิทธิกรระบุ
ทางด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี แสดงให้เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของผู้ประกอบการหลังโควิด-19 อย่างชัดเจน โดย สสว.ระบุว่า ณ สิ้นปี 65 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีของเอสเอ็มอี อยู่ที่ 1,604,487 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.4 ของจีดีพีรวมของประเทศ ขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากปี 64 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวนั้นมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลต่อเอสเอ็มอีในภาคการค้าและภาคการบริการที่สามารถกลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ การฟื้นตัวในภาพรวมได้ส่งผลให้การจ้างงานของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นด้วย โดย ณ สิ้นปี 65 เอสเอ็มอีมีการจ้างงานแรงงาน 12.74 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70.99 ของจำนวนการจ้างงานทั้งระบบ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.08 ในจำนวนนี้เป็นการจ้างงานของเอสเอ็มอีในระบบประกันสังคมรวม 4,074,240 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.24 และแนวโน้มดีต่อเนื่องมาถึงเดือน ม.ค.66 ที่พบว่าเอสเอ็มอีในระบบประกันสังคมมีการจ้างงานทั้งสิ้น 4,542,330 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.49 จากสิ้นปี 65 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนก่อนหน้า
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ให้นโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น สสว. กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ให้มีการสนับสนุนและสร้างโอกาสการเติบโตให้แก่เอสเอ็มอี ในฐานะที่เป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ทางด้านมาตรการด้านเงินทุน รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนการมีโครงการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุน เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน โครงการทางด่วนแก้หนี้โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีเอสเอ็มอีได้รับความช่วยเหลือ 279,685 บัญชี และเข้าร่วมโครงการพักทรัพย์พักหนี้ 466 ราย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน